Skip to main content

ในงานสัปดาห์หูหนวกโลกครั้งล่าสุด ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ เราได้ชวน อ้อ-กัญจน์ชญา เรืองศิริกานต์ นักศึกษาหูหนวกภาควิชาภาษามือไทย มาเดินเที่ยว ฟังเสวนา กันในงานที่จัดขึ้น แม้อ้อจะต้องใส่เครื่องช่วยฟัง เพื่อขยายเสียงรอบข้างให้ดังขึ้นและเพื่อให้คุยกับเราได้ชัดเจนขึ้น แต่เราก็จะเห็นอ้อคุยกับคนหูหนวกคนอื่นๆ ด้วยภาษามืออย่างคล่องแคล่ว เราจึงชวนอ้อเม้าท์มอยกันเรื่องความพิการของเธอ อุปสรรคในการสื่อสาร ปัญหาที่เธอมักเจอเวลาได้ยินใจความต่างๆ ไม่ครบ เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมของคนหูหนวกให้ดียิ่งขึ้น


กัญจน์ชญา เรืองศิริกานต์
ภาพ ชนากานต์ ตระกูลสุนทรชัย

ช่วยเล่าเรื่องความพิการของตัวเองให้ฟังหน่อย

กัญจน์ชญา: ก็พอได้ยินบ้าง แต่ก็อาจจะได้ยินลดลง รู้ว่าเป็นตั้งแต่อายุ 3 ขวบ พอรู้ว่าเป็นที่บ้านก็พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ต้องตรวจหลายอย่างว่าสาเหตุมาจากอะไร ต้องตรวจเลือดพ่อแม่ดูว่าเป็นจากดีเอ็นเอรึเปล่า ที่เราเป็นเกิดจากดีเอ็นเอที่มีความไม่ตรงกัน พอมันไม่เข้าล็อค อาจทำให้ลูกที่เกิดมามีภาวะปัญญาอ่อน แขนขาขาด เกิดความไม่สมบูรณ์ แต่กรณีของเราคือหูหนวก ก็เลยทำให้เป็นแบบนี้ พี่เป็นแล้วน้องก็เป็นด้วย ทั้งๆ ที่คนอื่นในบ้านไม่ได้มีใครเป็นเลย

อะไรเป็นปัญหามากที่สุดเมื่อได้ยินไม่ชัด

ปัญหาก็คือ เราได้ยินเขาพูด แต่ไม่แน่ใจว่าเขาพูดอะไร ได้ยินเสียงแต่ไม่สามารถเรียบเรียงประโยคว่าเขาพูดถึงอะไร แล้วเราก็จะห๊ะ? ห๊ะ? คนเขาฟังก็จะรู้สึกรำคาญ

แล้วถึงจะได้ยินแบบนี้ แต่เป็นคนที่พูดไม่ชัด พอเวลาพูดไป คนฟังเขาก็เข้าใจอีกอย่างหนึ่ง เวลาได้ของมาก็เลยได้อีกแบบ ซึ่งไม่ใช่ที่เราต้องการ 

ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

อย่างเช่นเวลาที่เราจะซื้อของ แล้วบอกว่าจะเอาอะไร เช่น ไก่ ด้วยความที่ประโยคมันไม่ชัด มันเลยได้ไข่มา คำแบบนี้ออกเสียงใกล้ๆกัน แต่ถ้าปัญหาเวลาเขาพูดกับเรา ก็คือเราจะได้ยินเสียงเขาเพี้ยน เหมือนว่าเราฟังไม่ชัด

เวลาคนเห็นเราใช้ภาษามือเขาแสดงออกยังไง

ถ้าในเมืองคนอื่นก็ดูไม่ได้สนใจอะไร แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดเขาก็จะสงสัย คนไม่เคยเห็น บางทีก็อยากรู้ว่าคุยอะไรกันอยู่ หรือทำอะไรกัน

ทำไมถึงเลือกเรียนภาษามือ

ที่เรียนเพราะ จะได้ใช้ภาษาในช่วงที่ไม่ได้ยินเสียงแล้วสื่อสารแทนการพูด อีกอย่างน้องเราก็เป็นคนหูหนวกเหมือนกัน ที่บ้านไม่มีใครใช้ภาษามือเป็น ถ้าเราเป็นก็จะได้สอนคนที่บ้านเตรียมรับมือในวันข้างหน้าด้วย

ทำไมล่ามภาษามือถึงสำคัญกับคนหูหนวก

ที่ต้องการล่ามมากๆ เพราะต้องการสื่อสารกับคนหูดี อย่างเราเป็นคนหูหนวกแต่พ่อแม่ได้ยินปกติ เพราะฉะนั้นสื่อสารยังไงก็ไม่เข้าใจกัน เขียนยังไงพ่อแม่ก็อ่านไม่รู้เรื่อง พ่อแม่บางคนไม่ได้เรียนหนังสือก็มี แล้วก็ไม่รู้ว่าจะต้องสื่อสารอย่างไร ก็ต้องคุยผ่านล่าม ให้ล่ามเป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่แปล ให้เกิดความเข้าใจชัดเจนมากที่สุด ตอนนี้มี TTRS เป็นตู้บริการล่ามภาษามือออนไลน์ เราก็กด บอกเขาว่าโทรหาพ่อแม่นะเขาก็จะติดต่อฝั่งนู้น แล้วแปลจากภาษามือของเรา พอพ่อแม่พูดอะไรมา ล่ามก็จะแปลให้เราอีกที  การสื่อสารด้วยล่ามทำให้เราเข้าใจชัดเจนมากที่สุด

แสดงว่าภาษาเขียนไม่ชัดเจนเท่าภาษามือ

การเขียนไม่ชัดเจนเท่า เพราะคนหูหนวกใช้ภาษาไทยไม่ค่อยแข็งแรง เขาอยากสื่อสารมาก ต้องการล่ามมาก อยากสื่อสารกับพ่อแม่มากที่สุด แต่ว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจอะไรเลย บางคนก็เข้าใจว่าลูกหนวก พ่อแม่ก็ไปฝึกเรียนภาษามือเพื่อสื่อสารกับลูกก็มี  บางคนพ่อแม่ไม่มีเวลาหรือว่าไม่สนใจว่าจะต้องสื่อสารกับลูกยังไง บางทีพ่อแม่ไม่ได้อยากให้ลูกใช้ภาษามือ อยากให้ลูกพูดได้ ลูกก็ต้องไปฝึกพูดโดยที่ตัวเขาเองไม่ได้ยินเสียง แล้วก็พูดไม่ได้ บางคนพาลูกไปผ่าตัดประสาทหูเทียม โดยไม่นึกว่าลูกจะเจ็บปวดไหม ลูกยอมรับในสิ่งที่เป็นหรือเปล่าเพราะคนที่เจ็บปวดคือคนที่ผ่าไม่ใช่คนที่ไม่ผ่า

ถ้าสมมติว่าผ่าแล้วพูดได้ ฟังได้ ก็โอเค ถ้าทำแล้วฟังไม่ได้ พูดไม่ได้ ก็เปล่าประโยชน์

ที่ผ่านมามีสักกี่เปอร์เซ็นที่ใส่ประสาทหูเทียมแล้วกลับมาได้ยิน

อันนี้บอกไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้ทำงานในส่วนนั้น แต่เท่าที่เห็นมีผ่าเยอะเหมือนกัน คนใกล้ตัวเรามี 5 คนที่ผ่า พูดได้สองคน ที่เหลือไม่พูดเลย แต่ก็พูดไม่ชัด สุดท้ายใช้ภาษามืออยู่ดี การผ่ามันควรจะทำตอนเด็ก อายุน้อยๆ

เพื่อนทั้งหมดที่เล่าให้ฟังผ่าตอนโต ตอนอายุ 20 บ้าง 17 บ้าง เขาบอกว่าไม่ได้อยากผ่าเลยมันเจ็บปวดมาก ผ่าแล้วก็ใช้ภาษามืออยู่ดี พูดก็ไม่ได้ พูดก็ไม่ชัด เรียกก็ไม่ได้ยิน ถ้าเสียงปิดประตูดังปังอาจพอได้ยิน แต่เสียงพูดไม่ได้ยินเลย  แถมเวลาฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ฝนตก ก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ มีผลกระทบจากแม่เหล็กในเครื่อง เวลาเดินผ่านเครื่องสแกน ก็ทำให้ปวดหู

นอกจากนี้ ทุกๆ ปีก็ต้องไปเช็คหู ล้างเครื่อง แต่เพราะเครื่องไม่สามารถถอดออกมาล้างได้ ต้องล้างเข้าไปในหู เจ็บมาก

อยากบอกพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกผ่าตัดหูว่าอะไร

ปัจจุบันมันมีโรงเรียนสอนคนหูหนวก ถ้าลูกไม่ได้ยินเลย ไม่ต้องพาลูกไปผ่า เพราะมันไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าลูกยังพอมีการได้ยิน ก็ให้ใส่เครื่องช่วยฟัง การผ่าหูก็ทำได้ แต่ให้นึกถึงตัวลูกด้วยว่า เขาเจ็บไหม ต่อไปเขาจะเจออะไรบ้าง

มีอะไรที่คนทั่วไปไม่เข้าใจเกี่ยวกับคนหูหนวก

คนมักเข้าใจผิดว่าได้ยินเหมือนเขา เพราะเห็นภายนอกเราปกติทุกอย่าง อย่างแฟนเราภายนอกดูเหมือนได้ยิน แต่คือเขาพูดไม่ได้ หลายคนก็เลยคิดว่าเขาเป็นคนต่างชาติ คิดว่าเป็นคนญี่ปุ่น เลยมักจะโดนโกง ค่าแท็กซี่ เคยนั่งรถจากจตุจักรไปดอนเมือง แล้วแท็กซี่ก็ถามว่าแฟนเป็นคนไทยหรือเปล่า ต้องขอดูบัตรประชาชน ไม่งั้นก็โดนราคาเหมา เขาถึงกดมิเตอร์ให้

ถ้าคนหูดีอยากรู้จักคนหูหนวกต้องเริ่มต้นอย่างไร

ถ้าเจอแล้วก็ไม่ต้องกลัว ลองเปิดใจดู เขาเป็นแบบนี้ คิดว่าจะทำยังไงกับเขาดี ต้องสื่อสารยังไง อาจจะเขียนก็ได้ แสดงท่าทางก็ได้ คนหูหนวกก็พยายามจะเข้าใจเหมือนกัน ถ้าคนหูดีจะเขียนให้คนหูหนวกอ่าน ก็ควรเขียนคำที่ง่ายๆ เพราะถ้าเขียนคำยาก บางคำคนหูหนวกก็ไม่เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง พวกศัพท์วัยรุ่นใหม่ๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก