Skip to main content

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ตั้งทีมคัดกรองเด็กพิการ พร้อมพัฒนาโรงเรียนการศึกษาพิเศษเอกชน 19 แห่ง หวังดูแลเด็กพิการให้ดียิ่งขึ้น

พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เผยถึงการจัดการศึกษาพิเศษ หรือการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการของโรงเรียนเอกชนว่า ขณะนี้มีโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่จัดการศึกษาพิเศษจำนวน 19 แห่ง ขณะเดียวกันมีโรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบเรียนร่วมกระจายอยู่ทั่วประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย แต่เพื่อให้โรงเรียนเอกชนที่การจัดการศึกษาพิเศษมีความเข้มแข็งและสามารถให้บริการกับเด็กพิการได้ดีขึ้น จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเตรียมการสนับสนุนและพัฒนาโรงเรียนการศึกษาพิเศษ และโรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบเรียนร่วมเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคัดกรองเด็ก

พะโยมกล่าวว่า ที่ผ่านมาการคัดกรองเด็กพิการของโรงเรียนเอกชนยังต้องอาศัยศูนย์การศึกษาพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าเด็กมีความพิการด้านใดจะได้ส่งต่อเด็กให้เข้าเรียนในโรงเรียนได้ถูกประเภท แต่ศูนย์คัดกรองเด็กของ สพฐ.ก็มีภาระในการคัดกรองเด็กที่จะเข้าโรงเรียนสังกัด สพฐ.อยู่แล้ว ดังนั้นการจะมาช่วยคัดกรองเด็กของโรงเรียนเอกชนจึงอาจจะมีความล่าช้า ตนจึงต้องการให้มีการพัฒนาระบบคัดกรองเด็กเบื้องต้นของโรงเรียนเอกชนเอง นอกจากนี้ สช.จะทำโครงการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนเอกชน เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการคัดกรองเด็กพิการในเบื้องต้น โดยจะเสนอโครงการไปยังกองทุนการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อของบประมาณมาอบรมพัฒนาครูโรงเรียนการศึกษาพิเศษทั้ง 19 แห่ง และโรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบเรียนร่วม ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบและได้รับงบประมาณตามที่เสนอโครงการ ก็จะเร่งจัดการอบรมครูเพื่อพัฒนาระบบคัดกรองเด็กได้ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนปีการศึกษา 2560 นี้ได้

พะโยม กล่าวด้วยว่า หากโรงเรียนเอกชนสามารถคัดกรองเด็กได้เองว่าเป็นเด็กที่มีความพิการประเภทใดบ้าง จะทำให้สามารถขอเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวได้ถูกต้องและเหมาะสมตามประเภทของความพิการ รวมถึงยังสามารถของบประมาณในส่วนของสื่อการเรียนการสอนและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กได้หัวละ 2,000 บาทด้วย