Skip to main content

รมว.ศึกษาธิการเผย มติคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ อนุมัติปรับอัตราเงินอุดหนุนคนพิการเรียนมหาวิทยาลัย ขึ้น-ลง ตามความขาดแคลนของสาขา


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ภาพจาก http://www.qlf.or.th/Home/Contents/973

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เสนอขอแก้ไขปรับปรุงประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการเรื่อง กำหนดอัตราและรายการ ที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2553 และได้อนุมัติร่างประกาศฯ ฉบับใหม่ โดยปรับอัตราให้การอุดหนุนฯ บางสาขาวิชาลดลง เพราะสาขาเหล่านั้นไม่ใช่สาขาที่ขาดแคลน และไม่ได้เป็นความต้องการของประเทศ บางสาขาวิชาให้การอุดหนุนเท่าเดิม และบางสาขาวิชาอุดหนุนเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า การอุดหนุนฯ อัตราใหม่ต่อปีกำหนดดังนี้ สาขาสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ในสาขาที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ บัญชี เศรษฐศาสตร์ สารสนเทศ นิติศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมบริการ โลจิสติกส์ ธุรกิจอุตสาหกรรม และธุรกิจการบิน อุดหนุน 60,000 บาท ส่วนสาขาอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มนี้จะอุดหนุน 50,000 บาท ลดลงจากเดิมที่อุดหนุน 60,000 บาท เท่ากันหมด สาขาศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรศาสตร์ อุดหนุน 70,000 บาทเท่าเดิม สาขาสาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ อุดหนุน 90,000 บาทเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อุดหนุน 80,000 บาท และสาขาแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ อุดหนุน 200,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อุดหนุน 150,000 บาท

ทั้งนี้ สกอ.ยังพบว่า คนพิการมุ่งเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บค่าเล่าเรียนสูงเต็มอัตราที่ระเบียบกำหนด การที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน เปิดรับคนพิการเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อมาตรฐานและคุณภาพของการจัดการศึกษา ดังนั้น จึงได้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอรับการอุดหนุนฯ เช่น การรับนักศึกษาพิการเข้าศึกษาในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความพร้อมของแต่ละสถาบัน หลักสูตรและสาขาวิชา ที่นักศึกษาพิการเรียน ซึ่งต้องได้รับการรับรองและผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เป็นต้น