Skip to main content

Help Us Read หรือ “ช่วยอ่านหน่อยนะ” กลุ่มเฟซบุ๊กของคนไทยที่คอยช่วยอธิบายทุกสิ่งให้กับคนพิการทางการมองเห็น ตั้งแต่วันหมดอายุบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปจนถึงเลกเชอร์ในห้องเรียน เพียงแค่โพสต์ถามลงไปเท่านั้น

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ (บนซ้าย)
ภาพจาก http://www.channelnewsasia.com/news/lifestyle/thailand-help-for-the-blind-is-just-a-facebook-post-away-9387024

เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ชลทิพย์ ยิ้มย่องและณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ทีมผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ ที่ช่วยเป็นตาให้คนที่มองไม่เห็นผ่านการโพสต์ข้อความหรือภาพลงบนเฟซบุ๊กได้เป็นตัวแทนเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ ในนามตัวแทนของเจ้าของกลุ่มเฟซบุ๊กในภูมิภาคนี้ ที่ได้เข้าร่วมประชุมกับทีมบริหารของเฟซบุ๊ก จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเชอรีล แซนด์เบิร์ก ผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีมาร่วมประชุมเพื่อรับฟังที่จัดขึ้นที่รีสอร์ท มารีนา เบย์ แซนด์ ประเทศสิงคโปร์

แซนด์เบิร์กเปิดเผยว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีผู้ใช้เฟซบุ๊กราวร้อยละ 56 หรือราว 420 ล้านคนที่ใช้งานฟังก์ชันกลุ่มในเฟซบุ๊กอยู่ การเติบโตทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาฟังก์ชันต่างๆ ที่รองรับการทำงานของกลุ่มผู้ใช้อย่างหลากหลายบนเฟซบุ๊ก รวมไปถึงผู้ใช้ที่คาดหวังฟังก์ชันและฟีเจอร์ใหม่ๆ ในอนาคตอีกด้วย

อะไรคือ Help Us Read ช่วยอ่านหน่อยนะ

ค่ำคืนหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ ชลทิพย์ วัย 37 ปี อาศัยอยู่ในห้องพักของโรงแรมเพียงลำพัง ชลทิพย์เป็นผู้พิการทางสายตา คืนนั้นชลทิพย์ต้องการปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศและต้องการดื่มน้ำ แต่แทนที่ชลทิพย์จะโทรเรียกให้รูม เซอร์วิสมาช่วยเหลือ เธอใช้วิธีถ่ายภาพรีโมทแอร์และขวดน้ำดื่มลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่เธอเองเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง

“คน(ในกลุ่ม)เข้ามาช่วยอธิบายว่า น้ำขวดนั้นดื่มได้ และในห้องอุณหภูมิเท่าไหร่ ถ้าฉันต้องการอยากจะปรับเปลี่ยนอุณหภูมิจากเดิม” ชลทิพย์กล่าว

ชลทิพย์กลายเป็นคนตาบอดเมื่ออายุได้ 14 ปี เธอเป็นหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า Help Us Read หรือช่วยอ่านหน่อยนะ ชุมชนออนไลน์บนเฟซบุ๊กที่เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยสมาชิกตาดีที่เป็นอาสาสมัครในกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ถ่ายทอดคำบรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้ ตั้งแต่ฉลากผลิตภัณฑ์จนถึงเลกเชอร์เนื้อหาการเรียน โดยอาสาสมัครจะพิมพ์คำบรรยายในโพสต์เป็นตัวหนังสือในคอมเม้นท์ หรือพิมพ์เป็นไฟล์ไมโครซอฟ เวิร์ดหากมีความยาวมากๆ แล้วส่งให้คนตาบอดที่เป็นผู้โพสต์ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถใช้โปรแกรมหรือฟังก์ชันการอ่านช่วยอ่านตัวอักษรจากคำบรรยายเหล่านั้นออกมาเป็นเสียงและรับทราบข้อมูลได้

ปัจจุบัน กลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ มีสมาชิกราว 11,000 คน โดยมีสมาชิกประมาณ 1,000 คนเป็นคนพิการทางการมองเห็น  และสมาชิกที่เหลือเป็นอาสาสมัครตาดีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย ทำหน้าที่เป็นเสมือน ‘ตา’ คอยให้คำอธิบายภาพหรือสื่อต่างๆ ที่คนตาบอดเข้าไม่ถึง ให้เป็นคำบรรยายที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ชลทิพย์ กับการได้รับความช่วยเหลือผ่านทางช่องทางออนไลน์จากคนที่ติดตามเฟซบุ๊ก กรุ๊ป Help Us Read ช่วยอ่านหน่อยนะ  ซึ่งพวกเขาได้อธิบายขวดน้ำดื่มที่เธอสามารถดื่มได้ ในขณะที่เธอพักอยู่ในโรงแรม ณ ประเทศสิงคโปร์โดยลำพัง

“คนตาบอดทุกคนต้องการเป็นอิสระ ดังนั้น แทนที่จะต้องเดินไปถามคนอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ การมีกลุ่มนี้เหมือนมีเพื่อนอยู่กับเราตลอดเวลา ฉันสามารถไปที่ไหนก็ได้ และฉันก็รู้ว่า จะมีใครบางคนที่คอยอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ฉันเสมอ” ชลทิพย์กล่าว

ที่มาของการสร้างสรรค์เฟซบุ๊ก กรุ๊ป Help Us Read ช่วยอ่านหน่อยนะ

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์กลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ กล่าวว่า กลุ่มเฟซบุ๊กนี้เป็นโปรเจคที่ขยายมาจากการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถืออย่าง Read For The Blind แอปพลิเคชันสำหรับการอ่านหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีจุดประสงค์ในการเอื้อให้อาสาสมัครอ่านหนังสือเสียงสามารถอ่านหนังสือและบันทึกเสียงที่ใดก็ได้ตามแต่สะดวก เพื่อให้คนตาบอดมีหนังสือเสียงที่เข้าถึงได้มากที่สุด โดยณัฐวุฒิยังเป็นเจ้าของบริษัทและทำงานเกี่ยวกับอาสาสมัครช่วยคนตาบอดให้กับมูลนิธิคนตาบอดไทยที่ชลทิพย์ทำงานอยู่อีกด้วย

เมื่อชลทิพย์ คุณแม่ผู้มองไม่เห็นได้รับการ์ดวันแม่จากลูกๆ และเด็กๆ ก็อายเกินกว่าจะบอกว่าเขียนอะไรลงในการ์ดแผ่นนั้น ชลทิพย์ได้รับคำบรรยายการ์ดนี้ทันที หลังจากเธอโพสต์ภาพการ์ดวันแม่นี้ลงในกลุ่ม Help Us Read

สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันเกี่ยวกับโซเชียล มีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก มีฟังก์ชัน text-to-speech ในการอ่านข้อความออกมาเป็นเสียง แต่ไม่มีฟังก์ชันไหนที่จะช่วยแปลงหรือบรรยายรูปภาพ ภาพถ่าย หรือไฟล์ PDF ให้คนตาบอดสามารถรู้รายละเอียดของสิ่งเหล่านี้ การมีอาสาสมัครช่วยบรรยายภาพหรือไฟล์ PDF ออกมาเป็นข้อความตัวหนังสือที่คนตาบอดสามารถใช้ฟังก์ชัน text-to-speech ช่วยอ่านออกมาเป็นเสียงอีกทีหนึ่งได้นั้น จึงถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประโยชน์มาก

ณัฐวุฒิเล่าถึงเหตุการณ์ในค่ำคืนหนึ่งเมื่อปี 2558 ที่ชลทิพย์ซึ่งเป็นคนตาบอดขอให้เขาช่วยบรรยายภาพถ่ายที่มีคนส่งมาให้เธอผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp จากเหตุการณ์นี้เอง จุดประกายเขาที่จะให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูล ภาพถ่าย และสื่อต่างๆ แก่คนตาบอดอย่างสะดวกและรวดเร็ว

เมื่อโซเชียล มีเดียอย่างเฟซบุ๊กเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ชลทิพย์และณัฐวุฒิจึงเกิดไอเดียในการสร้างกลุ่มเฟซบุ๊กขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้อาสาสมัครช่วยคนตาบอดที่เข้ามาโพสต์ขอความช่วยเหลือในกลุ่ม ไม่ว่าอาสาสมัครเหล่านี้จะอยู่ที่ไหนก็ตาม

“บางครั้ง พวกเขากลับมาจากโรงพยาบาลและประสบปัญหาไม่รู้ว่ายาที่ได้รับมาตัวไหนเป็นตัวไหน หรือการอ่านตารางเรียนที่มาในรูปแบบ PDF ซึ่งคนตาบอดไม่สามารถใช้ตัวช่วยอ่านใดๆ ในการเข้าถึงได้เลย” ณัฐวุฒิกล่าว

เมื่อชลทิพย์โพสต์รูปภาพของการ์ดวันแม่ ที่เธอได้รับจากลูกของเธอทั้ง 2 คน เด็กๆ เขินเกินกว่าจะบรรยายให้แม่ฟังตรงๆ ว่า เขียนอะไรถึงแม่หรือตกแต่งการ์ดนั้นอย่างไร จึงเป็นหน้าที่ของอาสาสมัครที่จะเข้ามาอธิบายการ์ดแผ่นนั้นให้ชลทิพย์ฟัง


ภาพ Cholatip Yimyong

เรื่องหนึ่งที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ คือการที่อาสาสมัครช่วยกันพิมพ์ข้อสอบกฎหมาย 15 ปีย้อนหลังไว้เป็นไฟล์สำหรับนักศึกษาตาบอดที่เรียนด้านกฎหมายใช้งานและเข้าถึงข้อสอบเหล่านี้ได้ในอนาคต อาสาสมัครกว่า 8,500 คนช่วยกันพิมพ์ข้อสอบเหล่านี้ให้เสร็จสมบูรณ์ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงเดือนเท่านั้น

ส่วนใหญ่แล้ว อาสาสมัครจะเข้ามาให้คำตอบกันแบบเรียล ไทม์เลยทีเดียว หลังจากที่ให้คำตอบกับเจ้าของโพสต์แล้ว จะมีการเตือนขึ้นในเฟซบุ๊กของผู้โพสต์ และคนตาบอดก็จะสามารถใช้ฟังก์ชัน text-to-speech ในการเข้าถึงคำบรรยายหรือคำอธิบายต่างๆ ที่อาสาสมัครเข้ามาตอบให้แก่พวกเขาได้

“อาสาสมัครในกลุ่มนี้สแตนบายตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน คล้ายกับการเล่นเกมที่พวกเขาจะแข่งกันว่า ใครจะเป็นคนที่เข้ามาช่วยและให้คำตอบไวที่สุด” ณัฐวุฒิกล่าว

อย่างไรก็ดี ณัฐวุฒิและทีมงานตั้งใจจะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นต่อไป อาสาสมัครจำนวนมากกล่าวว่า ช่วยอ่านหน่อยนะ เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้พวกเขาได้ทำบางสิ่งเพื่อเพื่อนร่วมสังคมเช่นกัน ไม่ว่าอาสาสมัครจะอยู่ที่ไหน เวลาใด หากมีโพสต์จากคนพิการทางสายตาเข้ามาในกลุ่ม เพื่อขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครตาดี พวกเขาก็สามารถให้ความช่วยเหลือตอบกลับไปได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นเอง