Skip to main content

หลังวงการเกมของไทยพัฒนามาสู่รุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนที่เหล่าเกมเมอร์จะต้องเล่นเกมของต่างประเทศ จนในปัจจุบัน ไทยเองก็ซื้อลิขสิทธิ์เกมต่างๆ เข้ามามากมาย หนึ่งในผู้ติดตามวงการนี้อย่างใกล้ชิดคือหนุ่มวัย 20 ปีที่เริ่มต้นชีวิตวัยรุ่นของเขา พร้อมๆ กับการเข้ามาของเกมออนไลน์ยุคแรกๆ

หากตอนนี้คุณอายุสัก 20 ต้นๆ ก็มั่นใจว่า เกมปังย่าคงเป็นเกมออนไลน์แรกๆ ที่คุณเคยเห็น หรือเคยเล่น เช่นเดียวกับกัมปนาท บุญรอด หรือแบงค์ เกมเมอร์หนุ่มนั่งวีลแชร์ ด้วยภาวะเส้นประสาทไขสันหลังเสื่อมหรือ SMA- Spinal Muscular Atrophy ตั้งแต่เกิด จึงทำให้เวลาว่างที่แบงค์มีถูกทุ่มเทให้กับเกมออนไลน์ และการแข่งขันโกะ กีฬาที่เขาชื่นชอบ

คุยกับกัมปนาท เรื่องเกมๆ และการใช้ชีวิตของเขาที่ล้วนได้รับอิทธิพลจากเกม ทำไมโลกออนไลน์จึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่โดยไร้การเสนอแต้มต่อ

ตอนนี้เล่นเกมอะไรบ้าง

กัมปนาท: ฮาร์ทสโตน (HeartStone) เล่นได้ทั้งในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ เกมอื่นๆ เราก็เล่นไปเรื่อย ROV ก็เล่น เลเวล29 แล้ว ชอบเล่นเป็นไวโอเลต ที่แยกไปดันป้อม

ตั้งแต่เด็กลองเกมมาหมด พอร่างกายอ่อนแรงลงก็เล่นเกมพวกยิงปืน ต่อยมวยไม่ไหวแล้วเพราะต้องกดปุ่มเยอะและเร็ว ก็เลยไปเล่นเกมวางแผน หรือเกมการ์ดแทน อย่างตอนเล่นโกะ ก็ต้องวางแผนทุกการเคลื่อนไหว

เริ่มต้นเล่นเกมได้ยังไง

เริ่มจากปังย่า เป็นเกมตีกอล์ฟ เมเปิ้ล และไล่มาครบทุกเกม

เราไม่มีอะไรให้เลือกมาก ยิ่งสิบกว่าปีก่อนก็ยิ่งมีให้เลือกน้อย เริ่มจากเล่นเกมเพลย์ต่อกับทีวี โตมาหน่อยก็ไปร้านเกม สักพักก็เปลี่ยนมาเล่นหมากล้อม

ตอนนั้นอยู่ ม.1 เลิกเรียนบ่าย 3 โมงครึ่งก็รีบกลับบ้านเอากระเป๋ามาโยนไว้ แล้วรีบออกไปร้านเกม แต่พอเราสัก ม.3 ก็คิดว่าที่เราเป็นนั้นติดเกมมากเกินไป ก็เลยขยับไปเล่นหมากล้อม และเริ่มเล่นเกมน้อยลง

เห็นพัฒนาการอะไรในเกมบ้าง

กราฟิกเปลี่ยน แนวเกมเปลี่ยน อย่าง ROV ที่เป็นเกมแบบโมบ้า คือเกมวางแผนเป็นทีม ตอนเราเล่นเกมแรกๆ เกมแนวนี้ยังไม่บูม สมัยนั้นฮิตเกมตีกัน ฆ่ามอนสเตอร์ อัพเลเวล อัพของ แล้วออกมาต่อสู้กัน แต่พอหลังๆ เกมแนวโมบ้ามาเยอะ คนเลิกเล่นเกมเก็บเวลไปโดยปริยาย

โมบ้าไม่ได้เพิ่งมา แต่มาเป็น 10 ปีแล้ว เสน่ห์คือเกมสร้างจบในเกมเดียว ทำให้คนตามเล่นได้ง่าย หากเป็นเกมแบบเก็บเลเวล คนที่เล่นมา 1 วันกับคนที่เล่นมา 1 เดือนก็ไม่มีทางสู้กันได้เพราะเลเวลต่างกัน แต่โมบ้าจะเล่นด้วยกันได้เลย

ทุกวันนี้เกมค่อนข้างหลากหลาย ยิ่งมีมือถือยิ่งไม่มีข้อจำกัด เกมมือถือเล่นได้แทบทุกแนว และทุกวันนี้ชีวิตก็ค่อนข้างต้องการความรวดเร็ว การเล่นเกมโมบ้าจึงอาจตอบโจทย์ได้มากกว่า เพราะบางเกมเล่น 10- 20 นาทีก็รู้ผลแล้ว เหมือนเราแข่งกับเวลา

เล่นเกมเยอะขนาดไหน

บางทีเล่นหมากล้อมแล้วเครียด ก็มาเล่นเกม แต่เรียกได้ว่า แทบจะอยู่หน้าคอมตลอดเวลา เล่นเกมราวๆ 2-4 ชั่วโมง ถ้าช่วงไหนมีแข่งก็เล่นเยอะหน่อย

แข่งคืออะไร

มี 2 แบบ ออนไลน์ กับออฟไลน์ ออนไลน์ก็คือแข่งอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ออฟไลน์ต้องไปเจอกันในสถานที่แห่งหนึ่ง นั่งโต๊ะหันหลังชนกัน

ส่วนใหญ่คนชอบออฟไลน์มากกว่า เพราะได้เจอกัน ถ้าออนไลน์เราไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีใครนั่งอยู่ด้วยหรือเปล่า ไม่รู้ว่าเล่นเองหรือเปล่า อยู่หลายคนก็อาจช่วยกันคิดรอบคอบมากขึ้น

เราเคยแข่งออฟไลน์ 3-4 ครั้ง รายการไทยแลนเมเจอร์ เอเชียแปซิฟิก ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ มีคนมาแข่งกว่า 200 คน ก็ตื่นเต้นดี เพิ่งแข่งปีล่าสุดเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว ชนะ 2 แพ้ 2 ก็เลยไม่ได้เข้ารอบ

วันนั้นเราเริ่มแข่งตั้งแต่ 10-11 โมง เสร็จ 2 ทุ่ม คนมามุงดูเพียบ ลุ้นกันใหญ่ เราก็แอบเสียดายแต่พอเค้าชนะเค้าก็กระโดดตัวดีใจ แล้วก็มาจับมือเรา (ยิ้ม)

คิดยังไงกับคำว่า เด็กติดเกม

คำว่าติด ติดอะไรมันก็ไม่ดีทั้งนั้น เราต้องพอดี เด็กแบ่งเวลาไม่ได้ก็ไม่ได้แปลว่าเล่นเกมแล้วผิด แต่ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน เรามักโทษอย่างอื่นก่อนตัวเองเสมอ

เล่นเกมได้อะไรและเอาไปใช้ทำอะไร

ได้ภาษาอังกฤษเยอะเลย เพราะต้องใช้ในเกม ยิ่งเมื่อก่อนเกมต่างประเทศยังไม่มีลิขสิทธิ์ภาษาไทย ได้ฝึกวางแผน และทำงานเป็นทีม นอกจากในเกม ก็เอามาใช้ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน การแบ่งเวลา ว่าในแต่ละวันทำอะไรบ้าง

เราชอบดูการเเข่งทัวร์นาเมนท์เกมฮาร์ดสโตนว่าคนเก่งๆ เขาเล่นกันยังไง เหมือนทำการบ้านไปในตัว

สมมติเราเห็นเพื่อนเล่นพลาดก็ส่งข้อความไปแนะนำ แลกเปลี่ยนเขา ส่วนอาชีพด้านเกมถ้าจะต่อยอดก็เป็นได้หลากหลาย แต่สำหรับเราคงไม่ทำเป็นอาชีพขนาดนั้น อย่างมากก็คงถ่ายคลิปลงยูทิวป์

ในวงการเกมมีพื้นที่สำหรับคนพิการแค่ไหน

อันนี้คือข้อดีของเกมออนไลน์ เพราะในโลกออนไลน์เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาเป็นใคร อะไรยังไง เรารู้แค่ว่า คนชื่อแบบนี้เล่นเก่งก็พอ พอมาเจอตัวจริงเค้าก็ตกใจเล็กน้อยว่าคนที่เขาแพ้เป็นคนพิการ อันนี้คืออีกข้อที่เราชอบเกมออนไลน์

เค้าไม่ต้องรู้ว่าเราเป็นใคร รู้แค่ว่าเราเก่ง แค่นั้นก็พอ

เราว่าไม่ว่าจะอยู่วงการไหนก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ทั้งโกะ ทั้งเกม ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ พอเราเก่งแล้วทุกคนก็จะเข้าหาเราเอง เราต้องทำให้ได้ระดับมาตรฐานเดียวกับทุกคน ถ้าสูงกว่าก็ดี ถ้าเราอยากเก่งกว่าคนอื่น เราก็ต้องทุ่มเทมากกว่า

การไม่รู้ว่าเราเป็นใคร สำคัญยังไง

เอาง่ายๆ เลย ความพิการมักมาคู่กับความสงสาร ใครๆ เห็นก็มักจะรู้สึกสงสาร จะเรื่องอะไรก็ตามเค้าก็พยายามเสนอแต้มต่อให้เรา อย่างตอนไปโรงเรียนครูให้เพื่อนทำการบ้าน 5 หน้า แต่ให้เราทำ 4 หน้า ซึ่งเราไม่ต้องการ เราขอแค่ความเท่าเทียม เพราะหลายครั้งพอคนเห็นเรานั่งวีลแชร์เค้าก็ตัดสินไปก่อนแล้วว่าคนนี้ต้องการความช่วยเหลือนะ คนนี้ด้อยกว่าเรานะ

เราไม่ได้กลัวการรับรู้ว่าพิการ แต่แค่โลกออนไลน์นั้นให้ความรู้สึก"ปกติ" เป็นโลกที่ไม่ต้องมีใครมาเสนอแต้มต่อให้ ไม่ต้องมีใครมาสงสาร มันเป็นโลกอีกใบ

อยากให้คนในสังคมปฏิบัติอย่างไรกับคนพิการ

เป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่จะเห็นว่าอันนั้น อันโน้นดีกับคนพิการและคิดแทน ตัดสินใจแทนเพื่อที่จะเสนอหรือยัดเยียดนั่นนี่ให้ แต่บางทีไม่ต้องก็ได้ แค่ถามว่าเราต้องการอะไรมั้ยก็เพียงพอ

ถ่ายภาพโดย นลัทพร ไกรฤกษ์

 

 

แถม: ไม่ชอบฮีโร่ตัวไหนในROV

ซุปเปอร์แม๊นนนนนนนน บินเร็วม๊าก (หัวเราะ) ไล่จับยาก ปล่อยไว้ก็ยิงโครตแรง เราเล่นแครี่  ไม่มีสตันท์ เป็นลูกไก่ในกำมือ แต่ถ้าให้เล่นเองก็ไม่ชอบ