Skip to main content

สำหรับคนหูหนวก ดนตรีอาจไม่ใช่เพียงแค่เสียง อย่างน้อยก็สำหรับผู้หญิงหูหนวกชาวอเมริกันคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ราเชล คอล์บ

ปัจจุบัน ราเชลเป็นนักวิชาการอยู่ที่โรกส์ และกำลังเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเอโมรี ในสาขาวิชาด้านวรรณคดีอเมริกัน หูหนวกและพิการศึกษา และชีวจริยธรรม

ราเชลกลายเป็นคนพิการทางการได้ยิน ตอนที่เธออายุได้ 20 ปี และอีก 7 ปีต่อจากนั้น ราเชลได้รับการฝังประสาทหูเทียม จึงทำให้เธอได้ยินเสียงบางส่วน ประสบการณ์ของราเชลจะทำให้เรารู้ความรู้สึกของคนหูหนวกคนหนึ่งว่า ดนตรีทำให้คนที่พิการทางการได้ยินนั้นรู้สึกอย่างไร

ราเชลได้รับการฝังประสาทหูเทียมเมื่อ 7 ปีที่แล้ว หลังจากที่เธอต้องใช้ชีวิตอยู่กับการไม่ได้ยินมาตลอดช่วงต้นของชีวิต เมื่อเธอได้รับการฝังประสาทหูเทียม เพื่อช่วยเรื่องการได้ยิน เพื่อนที่ไม่พิการและคนที่รู้จักเธอเริ่มเข้ามาถามเธอด้วยคำถามที่คล้ายๆ กัน อย่างเช่นว่า ราเชลได้ยินเสียงดนตรีแล้วหรือยัง? เธอชอบมันไหม? หรือแม้กระทั่งว่า สำหรับราเชลแล้ว เสียงดนตรีฟังดูเหมือนอะไร?

เมื่อตอนราเชลอายุ 20  เธอจะได้ยินเสียงต่างๆ บ้างจากเครื่องช่วยฟัง ราเชลเล่าว่า เสียงที่เธอได้ยินผ่านอุปกรณ์ช่วยฟังในตอนนั้น ฟังดูเหมือนเสียงบ่นพึมพำอะไรสักอย่างที่ถูกหุ้มด้วยฉนวนหนาๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เรียกได้ว่า ราเชลไม่เคยได้ยินเสียงดนตรีจริงๆ มาก่อนเลยก็ว่าได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าราเชลจะไม่มีความสนใจในทางสายดนตรี ตอนที่ราเชลยังเป็นเด็ก เธอเล่นดนตรีอย่างเปียโนและกีตาร์และยังจดจำความรู้สึกที่เธอมีต่อการเล่นดนตรีของตัวเอง ตอนที่วางมือ กรีดกรายนิ้วไปตามโน้ตดนตรีให้เป็นจังหวะต่างๆ เช่นเดียวกันกับการรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนของซาวน์บอร์ดของกีตาร์ ที่ทาบอยู่กับอกของเธอ หรือแม้แต่การเคาะจังหวะเล็กๆ น้อยๆ กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ในระหว่างที่ทำภารกิจในแต่ละวันของตัวเองก็ตาม

ไม่ใช่เพียงเสียงเพลงจากเครื่องดนตรี แต่หลายปีที่ผ่านมา ราเชลตกหลุมรักจังหวะในการก้าวย่างออกเดิน เธอเดินไปรอบๆ บล็อกที่เธออาศัยอยู่ พร้อมกับการนับจังหวะการเดินในทุกฝีก้าวของตัวเอง เหมือนเวลาที่จะใช้เครื่องนับจังหวะดนตรี หนึ่ง สอง หนึ่ง สอง ไปเรื่อยๆ การชื่นชมกับท่วงทำนองเหล่านี้ หรือแม้แต่การเลื่อนไหลของสายน้ำจนไปถึงการปรบมือ  หรือแม้กระทั่งจังหวะในการใช้ภาษามือที่เธอหลงใหล เป็นจังหวะและท่วงทำนองที่ราเชลสนใจ ถึงแม้ว่าในโลกของการได้ยินสำหรับคนทั่วไป ประสบการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมานี้มักไม่ถูกนับว่าเป็นเสียงดนตรีก็ตาม แต่ในอีกมุมหนึ่ง การที่ราเชลไม่ได้ยินเสียงดนตรีจากสิ่งแวดล้อมและจากผู้คนก็เป็นเหมือนสิ่งที่เกินกว่าจะจินตนาการไปได้สำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้สูญเสียการได้ยิน

“ในตอนนี้ คุณไม่ได้ยินเสียงจังหวะการเต้นเร้าของดนตรีใช่ไหม? ฉันจำได้ มีคนถามฉัน เมื่อตอนที่ฉันยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ฉันและเพื่อนนั่งอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง กำลังซึมซับเอาจังหวะของเสียงดนตรีที่เล่นอยู่ในร้านตามที่พอจะได้ยิน เมื่อฉันตอบไปว่า ไม่ เธอคนนั้นก็บอกว่า นั่นมันฟังดูน่าเศร้าจัง” ราเชลกล่าว


ภาพจาก James Merry

คำว่า “น่าเศร้า” เป็นคำที่คนทั่วไปมักรู้สึก เมื่อรู้ว่าราเชลไม่ได้ยินเสียงดนตรีอย่างคนทั่วไป รวมไปถึงการที่เธอนั้นสูญเสียการได้ยินด้วย แต่เอาเข้าจริงแล้ว การที่ราเชลมีบางอย่างขาดหายไปหรือการที่ไม่ได้ยินเหมือนคนอื่นนั้น จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องทำให้เธอรู้สึกเศร้าใจอย่างที่คนอื่นๆ คิด เธอบอกเล่าว่า ตัวเองขอคัดค้านความคิดแบบนั้น ชีวิตของราเชลสวยงามและสดใสดีแล้วในแบบของเธอเอง แม้จะปราศจากเสียงดนตรีในลักษณะเดียวกับคนทั่วไป เพราะมันก็เป็นเพียงแค่ความแตกต่างของคนแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ชีวิตและการรับรู้ท่วงทำนองแห่งดนตรีของราเชลก็มีความเปลี่ยนแปลง หลังจากที่เธอได้รับการฝังประสาทหูเทียมและตัวส่งสัญญาณเสียงซึ่งจะช่วยเซทระบบในกะโหลกศีรษะและเส้นประสาทการได้ยินของเธอ ราเชลก็มีโอกาสได้รื่นรมย์กับดนตรีมากขึ้น ในแบบที่ตัวเธอเองก็ยากจะอธิบาย จังหวะการเคาะในสมอง การเต้นเป็นจังหวะ ทำนองไวโอลินที่แทรกผ่านและสั่นสะเทือนอยู่ที่บริเวณทรวงอกของเธอนั้น ทำให้หลังจากที่เพลงจบไปแล้ว ยังคงหลงเหลือเสียงดนตรีตกค้างอยู่ และสำหรับทำนองเพลงอื่นๆ ที่อาจจะหนักหน่วง รุนแรง และฟังดูอื้ออึง ถ้าหากราเชลต้องการปิดการรับรู้เสียงดังอึกทึกทั้งหลายเหล่านี้ เธอก็สามารถทำได้ และกลับไปสู่ความเงียบสงบอย่างเดิม

คู่ขัดแย้งใหม่ที่ราเชลค้นพบ หลังจากการฝังประสาทหูเทียม คือเสียงที่ทำให้ตื่นเต้นและความเงียบที่ทำให้ผ่อนคลาย ราเชลอาจจะรับรู้เสียงเหล่านั้นมาตลอดชีวิตของเธอก็เป็นได้ เพียงแต่ว่าเธอไม่สามารถเปล่งเสียงบอกเล่าออกมาได้เท่านั้นเอง ดนตรีไม่ได้เป็นแค่เสียง แต่มันเป็นอะไรที่มากกว่านั้นเสมอ สำหรับราเชลดนตรีเคยเป็นและยังคงเป็นร่างกาย เป็นการสร้างสรรค์ระลอกคลื่นเล็กๆ ขึ้นมาบนโลกใบนี้

----------

ในช่วงฤดูร้อนหลังจากที่ราเชลได้รับการฝังแก้วหูเทียมเรียบร้อยแล้ว ราเชลเริ่มออกค้นหาความหมายของเสียงดนตรีมากกว่าแค่การหาว่า ดนตรีมีความหมายอย่างไรสำหรับตัวเธอ ราเชลกลับไปในคอนเสิร์ตซิมโฟนีเหมือนกับที่เคยทำในครั้งแรกของชีวิต ช่วงเวลาที่ท่วมท้นและสิ่งใหม่ทั้งหมดที่ราเชลกำลังรับรู้ผ่านการได้ยินอยู่ในขณะนั้น ทำให้ราเชลเกิดไอเดียที่จะสร้างสรรค์ท่วงทำนองแห่งดนตรีที่เป็นแบบฉบับของเธอเอง 

ในคอนเสิร์ตซิมโฟนีครั้งนี้ ประสาทหูเทียมของราเชลสั่นสะเทือนด้วยการรับรู้จากเสียงที่เกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ราเชลก็ยังคงหลงใหลในการจ้องมองศิลปะ การขับเคลื่อนร่างกายของนักดนตรีไปพร้อมกับการเล่นเครื่องดนตรีของพวกเขาอยู่นั่นเอง

ไม่นานหลังจากนั้น ราเชลได้รู้จักกับศิลปะผ่านมิวสิกวิดีโอของ American Sign Language สมาคมแห่งชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษามืออเมริกันและคนพิการทางการได้ยินในสหรัฐอเมริกา โดยมิวสิกวิดีโอที่ราเชลได้ดู เป็นผลงานของศิลปินหูหนวกอย่าง เจสัน ลิสต์แมน และ โรซา ลี ทิมม์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์การรับรู้ทางดนตรีสำหรับคนพิการทางการได้ยินอย่างเธอเองเช่นกัน


ภาพจาก James Merry

ไม่นานหลังจากที่ได้ชมมิวสิกวิดีโอ ราเชลตัดสินใจลองลุกขึ้นมาหัดเต้น อันที่จริงก็ไม่ใช่ว่าเธอจะไม่เคยเต้นรำมาก่อน แต่นี่เป็นการลุกขึ้นมาเต้นรำอีกครั้ง ครั้งนี้เธอได้ค้นพบตัวเองบนฟลอร์เต้นรำที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนที่ได้ยินปกติ แต่ราเชลก็ไม่วายได้รับคำถามเดิมๆ อย่างที่เคยถูกถามก่อนหน้านี้จากคนทั่วไปว่า เธอได้ยินเสียงดนตรีมากขนาดไหน? และคำตอบของเธอก็คือ ไม่หรอก ราเชลไม่ได้ยินเสียงดนตรีมากมายอะไร ซึ่งนั่นตอกย้ำเสมอว่า ทำไมเธอถึงมาอยู่ที่นี่?

ไม่ใช่ราเชลเท่านั้นที่สนใจและมีประสบการณ์ด้านเสียงดนตรี นายแบบหูหนวกอย่าง ไนล์ ดิมาร์โค ก็เคยได้ร่วมโชว์ในรายการ “Dancing With the Star” ซึ่งรายการนี้เป็นรายการที่แข่งขันกันด้วยการเต้นรำประกอบเสียงเพลง ฉะนั้นคำตอบเรื่องการได้ยินเสียงดนตรีของนายแบบหูหนวกคนนี้ก็คงไม่ต่างอะไรจากราเชล

นอกจากฟังเพลง ในที่สุดราเชลได้ลองพยายามดูอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีเพื่อนคนหนึ่งชักชวนให้เธอลุกขึ้นมาเต้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เธอมีความสุขกับการได้ฟังได้ยินเสียงดนตรี เพลงที่ราเชลชอบเป็นเพลงที่มีจังหวะทุ้มลึกและมีจังหวะเบสสั่นสะเทือน ซึ่งสามารถส่งผ่านเข้ามายังการรับรู้ของเธอได้ ราเชลไม่ได้เพียงแค่เต้นตามจังหวะดนตรีที่เธอได้ยิน แต่ราเชลยังเต้นไปตามที่เธอ “รู้สึก” อีกด้วย

เมื่อราเชลปลดปล่อยตัวเองไปกับเสียงดนตรี เธอเคลื่อนไหวไปพร้อมกับจังหวะการเต้นของตัวเอง เธอหมุนไปรอบตัว เมื่อราเชลและเพื่อนเริ่มร้องเพลงตามไปด้วย เธอก็ตระหนักรู้ถึงคำถามและคำตอบขึ้นมาทันทีว่า ความรื่นเริง ความรู้สึก การเคลื่อนไหว การรับรู้ และการเข้าใจภาษาของเธอในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้และทำให้เธอซึมซับกับสิ่งเหล่านี้ได้เพราะเธอมีโอกาสได้สัมผัสและมีประสบการณ์ตรงกับดนตรีด้วยตนเองนั่นเอง

“คุณได้ยินเสียงดนตรีไหม? แม้ว่าตอนนี้ฉันจะสามารถได้ยินมากกว่าแต่ก่อน แต่คำถามนี้ก็ยังฟังดูผิดประเด็นไปหน่อย ดนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่การได้ยิน แต่ดนตรียังเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็น เคลื่อนไหว และสัมผัสได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ด้วยวิธีการรับรู้เหล่านี้ ดนตรีจะปล่อยคลื่นของจังหวะดนตรีผ่านชีวิตพวกเราทุกคน ถ้าเป็นตอนนี้ ฉันคิดว่า คำถามที่น่าถามและควรถามให้ไกลกว่านั้นคือ ดนตรีทำให้คุณรู้สึกถึงอะไรได้บ้าง?” ราเชลกล่าว

ดนตรีสำหรับคนทั่วไปอาจรับรู้ได้ด้วยการฟัง แต่สำหรับคนพิการทางการได้ยินแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่าการได้ยินเสียงดนตรีคือ ดนตรีส่งผลอย่างไรต่อการรับรู้และความรู้สึก ถ้าดนตรีเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้คนหูหนวกสนุกสนานและมีความสุขกับชีวิตได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสนใจหรอกว่า พวกเขาได้ยินเสียงดนตรีหรือไม่ มากหรือน้อยเพียงใด

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Sensations of Sound - On Deafness and Music