Skip to main content

ในปัจจุบันเรามักพบเห็นผู้ที่มีความพิการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างเป็นปกติตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือรถโดยสารสาธารณะ ในบางสถานการณ์อาจมีถ้อยคำหรือการกระทำที่คนไม่พิการพูดหรือปฏิบัติแล้วไปกระทบจิตใจของพวกเขา นี่คือคำพูดที่ผู้พิการทางการเห็นเคยได้ยินและความรู้สึกต่อคำพูดนั้น ๆ

 

ปัญญ์ชลี พลายโถ คำว่า ชาติที่แล้วคงทำกรรมมาเยอะ

“เคยมีคนพูดกับเราว่า ‘ชาติที่แล้วคงทำกรรมมาเยอะ ชาตินี้เลยมองไม่เห็น’ ได้ยินแบบนั้นก็คิดในใจว่า เฮ้ย! นี่มันโลกสมัยไหนแล้ว เราเข้าใจนะว่าอาจจะเพราะความเชื่อทางศาสนาที่ทำให้เขาคิดแบบนั้น แต่ก็อยากให้เข้าใจด้วยว่าการพิการทางการเห็นมันไม่ใช่เรื่องของวิบากกรรมที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้สักหน่อย” ปัญญ์ชลี พลายโถ จากบริษัทกล่องดินสอ จำกัด

 

ชลธิดา พรหมโสภา คำว่า มองไม่เห็นยังมาอีกเนอะ

“ตอนไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าคนเดียว ได้ยินคนพูดว่า ‘มองไม่เห็นยังมาอีกเนอะ’ ตอนนั้นเราอึ้งไปสักพักเลย คิดในใจว่า อ้าว แล้วเรามาไม่ได้เหรอ? ที่ของเราคือบ้านอย่างเดียวเหรอ? ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจที่จะออกไปข้างนอกเลย แต่พอกลับมาคิดดูอีกที การที่เราไปเที่ยวคนเดียวได้โดยไม่ต้องมีคนคอยช่วย ไม่ต้องพึ่งพาใคร อาจช่วยให้คนไม่พิการมองภาพคนพิการต่างไปจากเดิมว่าเราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่าที่เขาคิดก็ได้นะ” ชลธิดา พรหมโสภา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชสุดา

 

อนุรกษ์ ปฐมลิขิตกาญจน์ คำว่า เก่งจังเลย

“เวลาเราทำงานอะไรได้ เช่น งานเอกสารที่คนตาบอดมักไม่ค่อยได้ทำ จะมีคนชมว่า ‘เก่งจังเลย’ จริง ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่พอเราเป็นคนพิการจึงมักได้รับคำชมแบบเกินความเป็นจริงมากเกินไป เวลาทำงาน เราอยากได้คำวิจารณ์หรือคำแนะนำที่สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้น มากกว่าคำพูดแสดงความสงสาร หรือชื่นชมเรามากเกินไป เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่การมองเห็นของเรามีประสิทธิภาพไม่เท่าคนอื่นเท่านั้นเอง” อนุรักษ์ ปฐมลิขิตกาญจน์ ผู้จัดการกลุ่มเพื่อนตลอดไป สร้างสายใยต่อสังคม 

 

บุญฤทธิ์ จันทร คำว่า จะทำได้เหรอ?

“เรามักเจอคำถามว่า ‘จะทำได้เหรอ?’ เวลาเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานหรือกิจกรรม คำถามแบบนี้เหมือนเป็นการตัดโอกาสในการแสดงศักยภาพของเราไปเลยทั้ง ๆ ที่เราก็อยากมีส่วนช่วยและอยากแสดงความสามารถของเราให้คนอื่นได้รับรู้ ถ้าเราทำไม่ได้คงไม่เอาตัวเองไปอยู่ที่นั่นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” บุญฤทธิ์ จันทร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

นงลักษณ์ สิริภัทรวณิช์ คำว่า ผิวพรรณก็ดีนะ ไม่น่าตาบอดเลย

“บางทีเจอคำพูดที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ อย่างเช่น ตอนนั่งแท็กซี่แล้วคนขับพูดว่า ‘ผิวพรรณก็ดีนะ ไม่น่าตาบอดเลย’ ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรกันเลยสักนิด ไม่ค่อยเข้าใจความคิดแบบนี้เท่าไหร่เลยพยายามมองเป็นเรื่องตลกไป แต่เราก็อยากให้เขาเข้าใจนะว่าการพิการมันไม่เกี่ยวกับรูปร่าง หน้าตา หรือเวรกรรมอะไรแบบนั้น” นงลักษณ์ สิริภัทรวณิช์ จากบริษัทออสิสิริส จำกัด

 

เทอดเกียรติ บุญเที่ยง คำว่า ชาตินี้ถือว่าใช้กรรมแล้วกัน

“เคยเจอคนพูดทำนองว่า ‘มองไม่เห็นชาตินี้ถือว่าใช้กรรมแล้วกัน’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเราเลย ความเชื่อเรื่องวิบากกรรมมันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่เกี่ยวกับความสามารถและศักยภาพในการทำงานของเราด้วย ไม่อยากให้คนที่ไม่พิการคิดว่าคนพิการเพราะชาติที่แล้วไปทำกรรมอะไรมา อยากให้เขามองว่าเราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งเหมือนกันมากกว่า” เทอดเกียรติ บุญเที่ยง เจ้าหน้าที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

 

สุนทร สุขชา คำว่า วันนี้ไปร้องเพลงเหรอ?

“มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนกำลังเดินทางไปทำงานเจอคนถามว่า ‘วันนี้ไปร้องเพลงเหรอ?’ ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลย เหมือนเขาคิดเหมารวมไปแล้วว่าคนพิการทางการเห็นจะประกอบอาชีพอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเดินร้องเพลง ตอนได้ยินแบบนั้นแล้วรู้สึกไม่ดีเลย แต่ก็พยายามไม่เก็บมาคิดมากและตั้งใจทำงานของเราต่อไป” สุนทร สุขชา ฝ่ายกฎหมาย สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

 

ทศพล พื้นแสน คำว่า ไม่เจียมตัว

“ตอนไปเที่ยวสถานบันเทิงกับเพื่อนเจอคนพูดว่า ‘ตาบอดแล้วยังไม่เจียมตัว ออกมาเที่ยวทำไม?’ ได้แต่คิดในใจว่า ตาบอดแล้วไง มาเที่ยวไม่ได้เหรอ? เราก็อยากมีเวลาสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง จะให้อยู่แต่บ้านคงไม่ได้ เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่อยากใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป เพียงแค่เรามองไม่เห็น ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปเที่ยวหรือสังสรรค์กับเพื่อนไม่ได้นี่” ทศพล พื้นแสน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์

 

ปิยะณัฐ ทองมูล คำว่า น่าสงสาร

“เวลาออกไปเที่ยวข้างนอกแล้วมีคนพูดว่า ‘น่าสงสาร’ ที่เรามองไม่เห็น พอได้ยินแบบนั้นมันก็รู้สึกแย่นิดหน่อย เราไม่ได้ต้องการความสงสารหรือเห็นใจจากใครขนาดนั้นเพราะเราก็ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ถ้าเขาอยากช่วยอะไรเรา หรือเวลาที่เราต้องการความช่วยเหลือ อยากให้เขาไม่ต้องกลัวที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม แค่นี้เราก็รู้สึกขอบคุณมากแล้ว” ปิยะณัฐ ทองมูล นักศึกษามหาวิทยาลัยราชสุดา

 

เสาวณีย์ สีสอง คำว่า ไม่มีความสามารถ

“ตอนไปสัมภาษณ์งานที่บริษัทแห่งหนึ่ง เขาถามเชิงว่าเราจะทำอะไรให้เขาได้ เห็นว่าเราไม่มีความสามารถในการทำงาน เหมือนโดนดูถูกและตัดสินไปแล้วว่าเราไม่มีความสามารถ จริงอยู่ที่ด้วยข้อจำกัดทางการมองเห็นเราอาจจะทำงานบางประเภท เช่น งานเอกสารไม่ได้ แต่งานที่ทำผ่านคอมพิวเตอร์และมีเสียงให้ฟังเราสามารถทำได้ พอเจอคำพูดแบบนี้ยิ่งทำให้เราอยากพิสูจน์ความสามารถให้เขาเห็นว่าเรามีศักยภาพมากแค่ไหน” เสาวณีย์ สีสอง เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย