Skip to main content

ในวาระครบรอบ 3 ปี ของการต่อสู้เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอส Thisble.me เลยชวนประชาชนผู้ใช้บีทีเอส มาคุยว่าพวกเขารู้สึกยังไงกับ BTS? ที่ผ่านมาเห็น BTS เป็นอย่างไร? และคาดหวังอนาคตกันอย่างไร?

“เลิก เอา เปรียบ”

คุณควรเลิกเอาเปรียบผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ คุณควรพอได้แล้ว

กรรณิการ์  กิจติเวชกุล

รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อช)

Thisable.me 3 ปีที่ผ่านมาเห็น BTS เป็นอย่างไรบ้าง?

“คนใช้ BTS กันเยอะขึ้น รถไฟฟ้ากลายเป็นกระดูกสันหลังของคนกรุงเทพชั้นใน แต่แม้คนใช้มากขึ้น แต่ระบบยังแย่เหมือนเดิม รถขัดข้องบ่อย ในช่วงเวลาที่คนใช้กันเยอะๆ

“ปัญหาเดิมๆ ที่รถไฟฟ้าใหญ่ขนาดนี้ ยังคงความห่วย คือการแลกเหรียญเพื่อไปซื้อบัตรอีกที ถึงแม้มีคนจำนวนหนึ่งที่ถือบัตรแบบเติมเงิน แต่บางคนที่ไม่ได้ใช้ประจำ แล้วจำเป็นต้องใช้ในระยะเวลาเร่งด่วน คิดดูว่าปัญญาอ่อนไหมที่ต้องคอยเข้าคิวกันหลายๆ รอบ 

“นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องระบบที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการอยู่ร่วมกันตามมาตรฐานสากล อย่างเรื่องของแม่เราที่เดินไม่ได้ ถ้าเรามาจากห้างก็ขึ้นไปได้เลย ไม่ได้ลำบากอะไร แต่พอจะลง เราเดินไปถึงลิฟต์ แต่ลิฟต์ล็อค พอถาม รปภ.เขาก็บอกลิฟต์ล็อค แล้วจะมีลิฟต์ไว้ทำไม ระบบแบบนี้แสดงให้เห็นว่า BTS ไม่ได้สนใจเราเลย แต่สิ่งที่เขาทำคือการขึ้นราคา กลายเป็นว่าประเทศไทยมีรถไฟฟ้าที่มีราคาแพงมาก ขนาดคนเกาหลีที่มาวันก่อน เขายังถามว่าทำไมรถไฟฟ้าบ้านคุณถึงแพงขนาดนี้ คือแพงกว่าที่เกาหลีหลายเท่า แต่ค่าครองชีพเกาหลีสูงกว่าเรา นี่คือสิ่งที่เห็นจาก BTS ในตอนนี้ แล้วก็ยังคงตกต่ำลงเรื่อยๆ”

Thisable.me  : แล้ว 3 ปีข้างหน้า คุณอยากเห็น BTS เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

“BTS ควรแก้ปัญหาต่างๆ ที่พูดมาก่อนหน้าให้ได้ ไม่ใช่ 3 ปีต่อมาก็ยังขึ้นราคาอีก กำไรที่ได้เกินจากปกติแล้ว ซึ่งส่วนนี้เขามีสัญญานะ จริงๆ สัญญาจะมีบอกว่าถ้าจำนวนคนเท่าไหร่ คุณจะต้องไม่ขึ้นราคานะ แต่นี่จำนวนคนเกินแล้ว BTS ก็ยังขึ้นราคาอีก รวมทั้งเรื่องการเดินทางของผู้คน คุณควรจัดการพื้นที่การใช้สอยให้ดีกว่านี้ เพราะคนที่ใช้เขามาแบบเร่งรีบกัน แต่ต้องมาหยุดชะงักอยู่ตรงนี้  แทนที่จะเดินทางกันได้อย่างสะดวกสบาย"

“ไม่ ชัด เจน”

คือไม่ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วคุณทำสิ่งอำนวยความสะดวกทุกสถานีไหม ทำที่ไหนบ้าง แล้วเมื่อไหร่จะเสร็จ นี่คือสิ่งไม่ชัดเจนที่เรามองเห็นจาก BTS

ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์

นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ

Thisable.me : 3 ปีที่ผ่านมาเห็น BTS เป็นอย่างไรบ้าง?

“เปลี่ยนไปตรงที่มีทางลาดเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ครบทุกจุด ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามองเห็นปัญหาเดิมๆ คือจุดหนึ่งมีที่ลง อีกจุดหนึ่งไม่มีที่ลง บางสถานีที่เราเคยขึ้น ตอนขึ้นก็ขึ้นได้ แต่ตอนลงเราลงลำบาก บางจุดที่เราต้องการลงก็ไม่มีทางลง ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน จนถึงตอนนี้ธันย์ก็ยังไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก”

Thisable.me : แล้ว 3 ปีข้างหน้า คุณอยากเห็น BTS เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

“ธันย์อยากให้มีทางลาดมากขึ้น อยากให้การเดินทางสมบูรณ์ขึ้นกว่านี้ เราเคยใช้บริการรถไฟฟ้าของต่างประเทศ ที่นู่นเดินทางได้สะดวกสบายมากกว่าที่ไทยเยอะ เส้นทางของเขาก็มีเยอะกว่า มีทางขึ้นลงสำหรับคนพิการครบทุกที่ ไม่เหมือนที่ไทยที่เราต้องมาคอยลุ้นว่า สถานีต่อไปจะมีทางให้เราลงไหม ถ้าพูดถึง 3 ปีข้างหน้า ธันย์ก็อยากให้ทาง BTS แก้ไขปัญหาเรื่องนี้”

“ตระ บัด สัตย์”

เป็นความล่าช้า ที่ไม่สมควรจะล่าช้า คือถ้าเป็นเรื่องของการทำงาน ผมถือว่าคุณสอบตก ถ้าเรื่องแค่นี้ทำไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าจะมาบริหารประเทศและเมืองขนาดนี้ได้ยังไง

สว่าง ศรีสม

ผู้จัดการโครงการขนส่งมวลชน ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้

Thisable.me : 3 ปีที่ผ่านมาเห็น BTS เป็นอย่างไรบ้าง?

“ถ้านับตั้งแต่วันฟ้องคดี (21 ม.ค.2558) ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือการเพิ่มจำนวนลิฟต์ในบางสถานี ที่ต้องบอกว่าบางสถานีเพราะว่า BTS มีแผนจะทำทั้งหมด แต่ว่าบางสถานีก็ทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องพื้นที่ ยังหาที่ไม่ได้ พ่อค้าแม่ค้าไม่ยอม ไปบังหน้าร้านเขา

 “จริงๆ ลิฟต์ควรจะเสร็จตั้งแต่ปีแรกด้วยซ้ำ รวมทั้งคนที่ทำเองก็ไม่ได้ใส่ใจทำให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ บางส่วนทำเสร็จแต่ก็เสีย ใช้ไม่ได้อีก เพราะฉะนั้น ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ช่วยให้การเดินทางของคนพิการเป็นไปได้จริง เช่น ลิฟต์ก็ติดตั้งฝั่งเดียว แล้วถามว่าอีกฝั่งหนึ่งจะขึ้นยังไง เราก็ต้องหาวิธีข้ามถนน บางคนเขาใช้รถวีลแชร์ ต้องเสียค่าแท็กซี่ข้ามถนนก็มี

“ผมว่าปัญหาอยู่ที่ความจริงใจของผู้บริหารของ กทม.เอง ที่ไม่ได้คิดจะเร่งรัดผลักดันให้เสร็จไวๆ เพราะการแก้ปัญหานี้ไม่ได้มีอะไรมาก แค่ติดลิฟต์ บางสถานีทำปล่องลิฟต์เสร็จแล้วด้วยซ้ำ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไม เกิดอะไรขึ้น  เรื่องสถานที่ งบประมาณก็มีการอนุมัติไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้แล้วเสร็จ เพราะฉะนั้นผมถือว่าเป็นการจงใจ หรือไม่จริงใจ ที่จะทำสิ่งนี้ให้กับคนพิการ แค่เรื่องของจำนวนลิฟต์จากชั้นพื้นดิน ที่ทำแค่ฝั่งเดียว ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ตัวคนทำไม่ได้มีความเข้าใจการเดินทางของคนพิการ เขาไม่ได้มองว่าคนพิการจะใช้ BTS อย่างจริงจังในการไปทำงาน ไปร่วมกิจกรรมทางสังคม แต่มองว่าคนพิการนานๆ จะออกมาข้างนอกที เพราะฉะนั้นลิฟต์มีฝั่งเดียวอาจจะลำบากหน่อยก็ไม่น่าเป็นอะไร"

Thisable.me : แล้ว 3 ปีข้างหน้า คุณอยากเห็น BTS เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

“พูดสั้นๆ คือ ขอให้มีลิฟต์เข้าออกทุกทางที่จำเป็น ทำลิฟต์ให้ครบ คนพิการรอมานานแล้ว ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 2542จนปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ก็ยังใช้งานไม่ได้จริง ฉะนั้นไม่อยากให้ BTS และ กทม.ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ปัญหาเกิดขึ้นมานานแล้ว ควรแก้ไขได้แล้ว อย่าคิดว่า คนพิการเป็นคนที่จะทำอะไรก็ได้ จะปฏิบัติกับเขายังไงก็ได้ ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว เขาคงไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำง่ายๆ ขอให้มีความจริงใจ ทำอย่างเต็มที่ อีกนิดเดียวก็จะสมบูรณ์แล้ว ก็กลั้นใจทำอีกหน่อยเถอะ”

“ต้อง การ อิสระ”

อย่างที่บอกเราต้องการอิสระในการเดินทาง แม้เรามีครอบครัว เพื่อน ไปไหนมาไหนด้วยรถส่วนตัว หรือแท็กซี่ก็ได้ แต่ถ้าเราได้รับความสะดวกสบายในการใช้ BTS ด้วย ก็จะเป็นอีกทางเลือกให้กับเรา

นันทิดา จิตภักดีรัตน์

อาชีพอิสระ

Thisable.me 3 : ปีที่ผ่านมาเห็น BTS เป็นอย่างไรบ้าง?

“เมื่อก่อนมองว่าการนั่ง BTS เป็นเรื่องห่างไกลจากคนพิการที่นั่งวีลแชร์อย่างเรา เพราะสถานีไกลบ้าน เราไม่สะดวกในการไปใช้บริการเลย อีกอย่างหนึ่งคือสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ยังมีไม่ครบทุกสถานี เราก็เลยไม่มีแรงจูงใจในการขึ้นรถไฟฟ้า แต่ปัจจุบัน พอเราได้เข้ามาติดตามเรื่องรถไฟฟ้า รู้สึกว่าการเดินทางมีเสน่ห์และมีความหมายขึ้น การใช้รถไฟฟ้านั้นสะดวก เหมาะกับในเมือง ใช้เวลาเดินทางน้อย เส้นทางที่รถไฟฟ้าวิ่ง ก็ผ่านจุดสำคัญๆ ที่ต้องทำธุรกิจหรือธุรกรรม

“ถ้าถามว่าการเดินทางดีขึ้นไหม ก็มีส่วนดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางสถานีลิฟต์ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงทั้งสองฝั่งถนนได้ มีแต่ขาไปไม่มีขากลับ บางที่ก็ยังอยู่ในช่วงการก่อสร้าง อยากให้สมบูรณ์ขึ้นกว่านี้

“คิดว่าปัญหาเกิดจากการที่ BTS และ กทม.ไม่แก้กันอย่างจริงจังมากกว่า คือถ้าเขามีความตั้งใจที่จะแก้ไขจริงๆ ก็น่าจะมีอะไรที่ลุล่วงไปมากกว่านี้ หรือควรเสร็จไปแล้วด้วยซ้ำ ปัญหาลึกๆ ของเขาเราก็ไม่ทราบ แต่ถ้ามองในมุมของเรา ปัญหาเบื้องต้นคงอยู่ตรงนี้”

Thisable.me : แล้ว 3 ปีข้างหน้า คุณอยากเห็น BTS เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

“อยากได้อิสระในการเดินทางและเข้าถึงบริการของระบบขนส่งมากขึ้น รวมทั้งเรื่องของความปลอดภัย อยากให้ BTSพิจารณาเรื่องของทางลาดขึ้นตัวรถไฟฟ้า สิ่งนี้จำเป็นสำหรับคนพิการที่นั่งวีลแชร์ และคงไม่ใช่เฉพาะแค่กับวีลแชร์ นักท่องเที่ยวที่มีกระเป๋าลาก คนท้อง หรือว่าแม่ลูกอ่อนที่ต้องใช้รถเข็นเด็ก ก็สามารถใช้ร่วมกันได้

“แม้คนพิการมีสวัสดิการที่ใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สิ่งที่คิดว่าคนพิการต้องการน่าจะเป็นการเข้าถึงการบริการที่สะดวกและปลอดภัยเสียมากกว่า เสียค่าใช้จ่ายก็ได้ แต่อยากได้บริการที่ดีกว่าเดิม”

“ขนส่ง ไม่แคร์ ค่าแรง”

อยากให้กระทรวงแรงงานคุยกับระบบขนส่งมวลชนในประเทศนี้บ้าง ขึ้นมอไซค์รับจ้างไปต่อรถไฟฟ้า ลงรถไฟฟ้าแล้วต่อมอไซค์เข้าออฟฟิศ ตอนเย็นทำแบบเดียวกัน คิดว่าค่าแรงขั้นต่ำทั้งวันก็หายไปเกินครึ่งแล้ว จบปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 ถ้าต้องจ่ายค่าบ้านเองก็ขึ้น BTS ทุกวันไม่ไหวหรอก

แล้วแบบนี้มันจะเป็นขนส่ง "มวลชน" จริงๆ เหรอ หรือเฉพาะคนมีรายได้ระดับหนึ่งกับนักท่องเที่ยว?

ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่ BTS แต่เป็นทั้งหมดเลย กทม.เคยกำหนดเป้าหมายไหมว่า ค่าใช้จ่ายด้านขนส่งมวลชนของคนในกรุงเทพ แต่ละคนต้องจ่ายไม่เกินเท่าไหร่ต่อเดือน หลายๆ เมืองเขาทำได้ เขาออกตั๋วเดือน จะขึ้นรถเมล์ รถไฟ รถอะไรก็ขึ้นไป ยังไงก็จ่ายไม่เกินเท่านี้

ปัจจุบันเราพูดแต่ตั๋วร่วม ในแง่ว่าใช้ตั๋วเดียวขึ้นได้หลายระบบ แต่มันก็แพงเท่าเดิม

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล

เครือข่ายพลเมืองเน็ต

Thisable.me 3 : ปีที่ผ่านมาเห็น BTS เป็นอย่างไรบ้าง?

“มีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ทำให้แออัดขึ้น โฆษณาตามสถานีมากขึ้น ยังคงใช้เหรียญสองบาทหยอดตู้ไม่ได้เหมือนเดิม เติมเงินที่ตู้ก็ไม่ได้”

Thisable.me : แล้ว 3 ปีข้างหน้า คุณอยากเห็น BTS เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

“อยากให้ BTS ทำตัวเป็นขนส่งมวลชนมากขึ้น เป็นบริษัทโฆษณาให้น้อยลง ทุกวันนี้ BTS ทำตัวเหมือนเฟซบุ๊ก คือหาทางให้คนเข้ามาใช้ระบบเยอะๆ เพื่อจะให้เห็นโฆษณามากมายในสถานี และเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมจากบัตร Rabbit 

“คุณจะหารายได้ก็ทำไปเถอะ แต่กรุณาเข้าใจหน่อยว่า สัมปทานที่รัฐให้ไป มันคือกิจการขนส่งมวลชน

“สำหรับด้านคนใช้บีทีเอส อยากให้ปรับการเข้าแถวให้เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น คนเข้าแถวอยู่แถวหนึ่ง พอแถวเริ่มยาว ก็มีการขึ้นแถวใหม่ตรงหัวลูกศรอีกอัน แล้วพอรถจอดประตูเปิด อ้าวหัวแถวสอง ได้เข้าก่อนหางแถวหนึ่ง ซึ่งอันนี้ไม่แฟร์แน่ๆ  ในไต้หวัน ญี่ปุ่น เขาจะทำเป็นระบบเลย ต้องรอหางแถวหนึ่งหมดก่อน หัวแถวสองค่อยไปได้ ถ้าทางสถานีเขียนหมายเลขกำกับไว้ที่หัวลูกศรหน่อยก็อาจจะช่วยได้ เป็นสัญญาณให้คนใช้ได้รู้”

“ภาพถ่ายที่สถานีอารีย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 ม.ค.61 ในภาพคือลิฟต์กับสะพานเชื่อม จะสังเกตเห็นว่า พื้นไม่เสมอกัน และสะพานที่เชื่อมก็ทำแบบขอไปทีมาก เป็นแผ่นเหล็กพาด คือทำให้รู้ว่ามีแล้วนะ แต่ไม่ได้คิดถึงคนใช้ว่าจะสะดวกสบาย หรือปลอดภัยไหม สุดท้ายการทำลิฟต์ของ BTS ก็เป็นเรื่องทำให้มันจบๆ ไป

ก่อนหน้านี้ไม่สร้าง จะฟ้องก็ฟ้องมา คำนวณแล้วว่าสู้คดีก็น่าจะพอได้ ก็สู้คดี สู้จนศาลสั่งว่าต้องสร้าง เอ้า!สร้างก็สร้าง ช้าบ้างอะไรบ้าง สร้างเสร็จแล้วไม่เปิดใช้ แปะป้ายว่าเสียตลอดเวลาบ้าง สร้างแล้วพื้นไม่เสมอกันบ้าง แต่กูสร้างแล้วนะ”

“ไม่ จริง ใจ”

ขวัญชาย ดำรงขวัญ

แอดมินเพจมนุษย์กรุงเทพฯ

Thisable.me 3 : ปีที่ผ่านมาเห็น BTS เป็นอย่างไรบ้าง?

“เราไม่ค่อยแน่ใจเรื่องข้อกฏหมาย ผู้บริหารบีทีเอสกับ กทม.ควรไปคุยกัน เพราะสิ่งที่เขาตกลงกันไม่ได้ส่งผลต่อคนพิการ เราเคยขึ้้นบีทีเอสกับเพื่อน สถานีที่คิดว่าแย่จริงๆ คือ สะพานควาย ไม่มีลิฟต์และบันไดเลื่อน เลยต้องอุ้มเพื่อนขึ้นไป

“ที่ผ่านมาเราถามพนักงานบีทีเอส ทุกคนก็ตอบเสียงเดียวกันว่า ไม่รู้จะมีเมื่อไหร่ ลิฟต์ยังใช้การไม่ได้ ผมรู้สึกว่า เขาไม่เห็นตัวตนของคนพิการ เพื่อนผมเป็นเคสที่เห็นได้ชัด อีกเคสหนึ่งมีโอกาสได้ไปงานเสวนาที่ทองหล่อ ผู้ร่วมงานนั่งวีลแชร์มาพอถึงสถานีทองหล่อก็ต้องอุ้ม ทั้งขึ้นไม่ได้ ทั้งต้องขอความช่วยเหลือว่า เฮ้ย! ช่วยยกขึ้นหน่อย แม้รู้ว่าคนไทยมีน้ำใจ แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าต้องขอความช่วยเหลือ คนพิการเองคงไม่รู้สึกสบายใจ รวมไปถึงการเอาวีลแชร์ขึ้นบันไดเลื่อน เป็นสิ่งที่ประหลาดมากนะ ผมรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่อง

“ถึงเขาจะบอกว่าBTS ถูกสร้างมาก่อนที่กฎหมายบางตัวจะออก แล้วพอกฎหมายออกมา เขาก็ไม่ผิดกฎหมาย อันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่า ไม่จริงใจ ปัญหามันเกิดขึ้น เขาใช้ไม่ได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ไอเดีย ไม่ใช่แค่คอนเซ็ปสากลอย่าง Universal Design ”

Thisable.me : ในฐานะผู้ใช้ทั่วไปพี่มองเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างตลอด 3 ปีที่ผ่านมา?

“ในฐานะเราเองที่เป็นคนใช้ที่ไม่พิการ ประเด็นที่เห็นชัดคือค่าโดยสารสูงขึ้นเรื่อย ๆ สูงจนน่าตกใจ เติมเงิน 100 บาท ตอนเย็นก็หมดแล้ว เกิดเราทำงานได้วันละ 500 บาท วันหนึ่งก็หมดแล้ว 100 บาท ราคามันสูงมากเลย"

Thisable.me : แล้ว 3 ปีข้างหน้า คุณอยากเห็น BTS เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

“อยากให้ราคาถูกลงกว่านี้ จริงๆ ค่อนข้างพอใจบริการ BTS ในฐานะคนไม่พิการ ส่วนปัญหาคนแน่นในช่วง 8 โมงเช้า และ6โมงเย็น การเพิ่มตู้ก็ไม่น่าจะช่วย แต่ถ้ามองในแง่ของคนพิการทางการเคลื่อนไหวก็อยากให้แก้บางที่มีลิฟต์แต่ไม่เปิดใช้ มีโครงสร้างลิฟต์แล้วแต่ไม่สร้างต่อ ซึ่งเราไม่เข้าใจ

“ยังไงวันหนึ่งคุณก็ต้องสร้างอยู่แล้ว จะเถียงอะไรกันนาน คือถ้าคุณเถียงกัน แล้วไม่ต้องสร้างก็ได้ แบบนั้นคุณก็เถียงได้ แต่นี่ยังไงก็ต้องสร้าง และในเมื่อคุณจะสร้างอยู่แล้ว ก็สร้างเลยสิ ในสังคมของคนพิการทางการเคลื่อนไหว ลิฟต์เป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่ใช่แค่ควรมี แต่ต้องมี หลายครั้งพอใช้ไม่สะดวก แล้วไปโวยวายเจ้าหน้าที่ ก็เหมือนเราไปกดดันเขาอีกทั้งๆ ทีไม่ใช่หน้าที่ของเขา  อยากให้พูดกันให้จบ เพราะมีคนเดือดร้อนในการขึ้นจริงๆ การเอาวีลแชร์ขึ้นบันไดเลื่อนเป็นเรื่องที่อันตรายมาก”