Skip to main content

ทำไมเรื่องหลายครั้งเรื่องความพิการต้องเป็นเรื่องน่าเศร้า ทำไมเราต้องทำให้คำว่า "พิการ" เป็นเรื่องที่ เซนซิทีฟในมุมของผู้ที่ไม่พิการ นี่คือคำถามเริ่มต้น ก่อนจะเกิดเป็นงานในครั้งนี้

งานViewShareเรื่องเล่า ไม่เอาน้ำตา

ในบรรยากาศเป็นกันเองที่ The hamlet อารีย์ กับการทอล์ค “เรื่องเล่า ไม่เอาน้ำตา” โดยคนพิการที่นั่งวีลแชร์ ทำให้การพูดคุยดูไม่เครียดจนเกินไปนัก โดยมีเพจ ViewShare ซึ่งรวบรวมคนรุ่นใหม่จากหลากหลายสถาบันและอาชีพที่มีเป้าหมายเดียวกันคืออยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แก่สังคม จนเกิดเป็นงานในครั้งนี้ที่ทุกคนจะได้เรียนรู้และร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดความเข้าใจที่มีต่อคนพิการ โดยมีณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ, บุญธิดา ชินวงษ์เจ้าของวลี "ฝ้าย ใช้เท้าแต่งหน้า" และนลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Thisable.me  นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เข้าร่วมทำมากมาย เช่น จัดดอกไม้ในขวด ทำน้ำสมุนไพร ฯลฯ และพูดคุยถามตอบกับสปีคเกอร์ทั้งสามคนอีกด้วย

กิจกรรมการจัดดอกไม้

ณิชชารีย์ ขึ้นพูดเรื่องการเป็นผู้สำรวจความสุขของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลว่า การเป็นผู้สำรวจความสุขนั้นสามารถสร้างความสุขและแรงบันดาลใจอะไรได้บ้าง นอกจากการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของคนไข้ที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลแล้ว ยังต้องสร้างพื้นที่ที่คนไข้รู้สึกปลอดภัย มีคนรับฟังโดยไม่ถูกจำกัดด้วยเวลา

โดยณิชชารีย์ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเธอเมื่อครั้งไปเรียนภาษาและได้รับอุบัติเหตุจนเสียขาทั้งสองข้างไป แม้ชีวิตจะเปลี่ยนไปอยู่บ้าง จากเดินมาใช้วีลแชร์และขาเทียม แต่พลังการใช้ชีวิตของเธอก็ไม่ได้หายไปพร้อมๆ กับอุบัติเหตุในครั้งนั้น รวมถึงครอบครัวก็พยายามพลักดันให้เธอสามารถกลับไปใช้ชีวิตในแบบวัยรุ่นที่ควรจะเป็นได้

ณิชชารีย์เล่าเรื่องทุกอย่างด้วยรอยยิ้ม สีหน้าเธอดูมีความสุขเป็นพิเศษเมื่อพูดถึงการเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นอาชีพที่เธอชอบ เดิมทีณิชชารีย์ฝันที่อยากจะเป็นหมอ ตามที่ตัวเองร่ำเรียนมาในสายวิทย์-คณิตตั้งแต่มัธยมต้น แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุและคิดว่า อาชีพหมอไม่น่าจะเหมาะกับตัวเธอ จึงหันเหและหาสิ่งอื่นที่ตัวเองชอบ จนพบว่าตัวเองชอบพูด ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนแม้จะอยากเรียนจิตวิทยา แต่ก็คิดว่า การเรียนด้านสื่อสารมวลชนจะทำให้เธอได้เข้าใกล้สิ่งที่ชอบมากขึ้น จึงเลือกเรียนที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บุญธิดา บิวตี้บล็อกเกอร์สาวที่ใช้เท้าแต่งหน้า รับไมค์เพื่อแชร์เรื่องราวชีวิตของตัวเองต่อ กล่าวว่า เนื่องจากตอนเธอเกิดมาไม่มีแขนทั้งสองข้าง และมีขายาวข้างสั้นข้าง คนจึงบอกแม่ว่าให้เอาเธอไปไว้ที่สถานสงเคราะห์ หรือไม่ก็เอาไปทิ้ง แต่แม่บอกว่าไม่เป็นไรเลี้ยงได้ขนาดลูกหมาลูกแมวเรายังเลี้ยงได้เลย แต่นี่ลูกคนทั้งคนทำไมจะเลี้ยงไม่ได้ แต่แม่ก็ยืนยันจะเลี้ยงเธอให้ดีที่สุดและสนับสนุนให้ทำทุกอย่างได้เหมือนเด็กทั่วไป แม่จึงเลี้ยงเธอแบบเปิดเผย ต่างจากบางครอบครัวที่มีลูกพิการแล้วเลี้ยงลูกแบบปิดโดยให้อยู่ในบ้านอย่างเดียว

“ครอบครัวของเราไม่ใช่แบบนั้น พวกเขาดูแล พาเราไปทุกที่เหมือนครอบครัวทั่วไปเลย เราเลยไม่รู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น” เธอกล่าว

เนื่องจากในวันเสาร์ อาทิตย์ เธอใช้เวลาเกือบทั้งหมดนั่งอยู่ที่บ้านในขณะที่แม่ออกไปทำงาน เวลาของเธอจึงใช้ไปกับการดูคลิปสอนแต่งหน้าและรีวิวสินค้าต่างๆ เธอเลยคิดที่จะลองอัดคลิปตัวเองและเริ่มหัดแต่งหน้า โดยใช้ชื่อว่า ฝ้าย ใช้เท้าแต่งหน้า ซึ่งเป็นชื่อเล่นของเธอ หลังจากโพสต์คลิปก็มีคนสนใจมากมายและเริ่มมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งเครื่องสำอางมาให้เธอรีวิวจนตอนนี้ก็กลายเป็นรายได้เสริมที่พอช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ได้ในวัย 18 ปี 

เมื่อพูดถึงแม่ เธอก็เขินมากและกล่าวว่าอยากจะขอบคุณแม่ที่เลี้ยงเธอมาตลอด แม้เคยไปทำบุญแล้วมีคนมาพูดกับแม่ว่า พาลูกไปนั่งขอทานตรงนั้นสิ ได้เงินเยอะนะ แม่กลับตอบไปว่า ไม่ได้พาลูกมาขอทานแต่พาลูกมาทำบุญ แม่เหมือนหญิงแกร่งที่เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กๆ อาบน้ำให้ ทำอะไรให้ทุกอย่าง เธอจึงมีความฝันว่าอยากจะหาเงินซื้อบ้านให้แม่จะอยู่กับแบบสบายๆ

ปิดท้ายงานด้วยเรื่อง บทบาทของการเป็นสื่อในการทำงานเรื่องคนพิการ โดยนลัทพร บรรณาธิการเว็บไซต์ Thisable.me ซึ่งเล่าว่า เธอเริ่มต้นการสื่อสารประเด็นความพิการด้วยการทำเพจเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง แม้เพจนั้นจะเป็นเพียงการบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่ก็เริ่มมีคนที่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือผู้ปกครองที่มีลูกเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงเข้ามาติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากคำถามแค่เรื่องสุขภาพ ก็กลายเป็นคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิต เรียนหรือมีแฟน เธอจึงรู้สึกว่า การพูดถึงเรื่องความพิการยังมีช่องว่าง และยังเป็นเรื่องที่สังคมอยากจะรู้

นลัทพรเริ่มต้นวัยเรียนพร้อมๆ กับเพื่อนวัยไล่เลี่ยกัน แตกต่างกันตรงที่เธอไม่สามารถเดินหรือวิ่งเล่นกับเด็กคนอื่นๆ ได้ ตั้งแต่เด็กเธอจึงเป็นนักเรียนพิการคนเดียวมาโดยตลอด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนเท่ากับการเจอสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ชีวิต เช่น รถสาธารณะที่ขึ้นไม่ได้ ทางเท้าที่ใช้ไม่ได้จริง ฯลฯ

บุญธิดาและนลัทพร ร่วมถ่ายรวมกับทีมงานViewShare

เมื่อเชื่อว่ายังมีปัญหา และต้องได้รับการแก้ไข นลัทพรจึงตัดสินใจทำงานด้านสื่อ เพื่อสื่อสารประเด็นคนพิการให้สังคมได้คุ้นเคยมากขึ้น โดยหวังว่า คนทั่วๆไปในสังคมที่ไม่ได้มีความพิการ จะเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิคนพิการให้มากขึ้นจนเกิดเป็นเว็บไซต์ Thisable.me

 

ถ่ายภาพโดย  กนกพร ศรีวรมย์