Skip to main content
"เด็กแต่ละคนมีความสามารถและข้อจำกัดทางการเรียนรู้ต่างกันออกไป ความรู้ทางด้านวิชาการบางประเภทอาจไม่ตอบสนองต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กบางคน ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่" ลัดดาวัลย์ ศานตินิรันดร ผู้อำนวยการโรงเรียนภัทรญาณวิทยา จ.นครปฐมกล่าวบนเวทีเสวนาเรื่อง “ทิศทางการเรียนรวมในประเทศไทย”
ทิศทางการเรียนรวมในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2561 สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดการประชุมเชิงวิชาการ “การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (CBR Forum 2018) โดยมีเวทีเสวนาเรื่อง “ทิศทางการเรียนรวมในประเทศไทย” (The Power of Inclusive Education for Disabled Child) นำโดย ดร.สมพร หวานเสร็จ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง กรุงเทพฯ, ลัดดาวัลย์ ศานตินิรันดร ผู้อำนวยการโรงเรียนภัทรญาณวิทยา จ.นครปฐม และ รศ.ดร.ทวี เชื้อสุวรรณทวี จากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมถกถึงแนวทางการพัฒนาเด็กพิเศษในประเทศไทยสู่การเรียนรวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสมชาย รุ่งศิลป์ จากมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ เป็นผู้ดำเนินการสนทนา

ดร.สมพร ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง กรุงเทพฯ ชี้ว่า แนวทางสำคัญในการพัฒนาเด็กเล็กที่มีความต้องการพิเศษคือ ‘การช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม’ ตั้งแต่แรกเกิดเป็นต้นไป โดยประเมินความสามารถพื้นฐานเฉพาะบุคคลจากแพทย์ก่อนนำเด็กเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กให้เติบโตอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการ และทำให้เด็กรู้สึกแตกต่างกับเด็กคนอื่นน้อยที่สุด การดำเนินการนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย ตั้งแต่สมาชิกในครอบครัว ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้และความเข้าใจอันดีต่อการดูแลเด็กมากที่สุด

ดร.สมพร กล่าวต่อว่า กระบวนการที่สำคัญอีกอย่างคือ ช่วงเชื่อมต่อที่เหมาะสม โดยเด็ก ครู และผู้เกี่ยวข้องต้องมีความเข้าใจต่อเด็กเป็นรายบุคคลไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพร้อมและความต่อเนื่องให้แก่เด็กก่อนไปเรียนในระดับชั้นถัดไป รวมถึงการมีกระบวนการนิเทศที่มากำกับ ติดตามผล คอยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กให้ดียิ่งขึ้น

“เด็กต้องการการดูแลอย่างรอบด้านตั้งแต่ร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และนันทนาการ ไม่ต่างจากคนอื่น การดูแลเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะช่วยให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าของตนเองในที่สุด” ดร.สมพร เสริม

 

"เด็กแต่ละคนมีความสามารถและข้อจำกัดทางการเรียนรู้ต่างกันออกไป ความรู้ทางด้านวิชาการบางประเภทอาจไม่ตอบสนองต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กบางคน ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่" ลัดดาวัลย์ ศานตินิรันดร ผู้อำนวยการโรงเรียนภัทรญาณวิทยา จ.นครปฐม

ลัดดาวัลย์ ผอ.โรงเรียนภัทรญาณวิทยา โรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรวม (Inclusive School) กล่าวถึงการพัฒนาเด็กพิเศษในระดับมัธยมฯ ว่า ความต้องการของผู้ปกครองเด็กพิเศษคือ ให้เด็กใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมอย่างไม่แปลกแยก ช่วยเหลือตัวเองและเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสร้างความเข้าใจในการดูแลเด็กกับทุกฝ่าย ตั้งแต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และผู้เกี่ยวข้อง โดยเริ่มตั้งแต่การปรับเจตคติหรือวิธีคิดต่อการดูแลเด็ก ให้มีความเข้าใจและช่วยเหลืออย่างถูกวิธี เตรียมความพร้อมให้เด็กมีสมรรถนะในการเชื่อมต่อองค์ความรู้จากโรงเรียน สู่การดำรงชีวิตประจำวันผ่านกระบวนการเรียนการสอน การพัฒนาครู การจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายให้เหมาะสมกับศักยภาพและพัฒนาการของเด็กมากที่สุด รวมถึงต้องตรวจสอบผลการดำเนินงานเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการทำงานอยู่เสมอ

“แม้จะมีการดูแลและพัฒนาเด็กตามพัฒนาการมากแค่ไหน แต่สิ่งจำกัดพัฒนาการของเด็กก็คือ การทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) หรือการทดสอบทางการศึกษาอื่นใด ทำให้การพัฒนาศักยภาพของเด็กมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลไม่มากพอ เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถและข้อจำกัดทางการเรียนรู้ต่างกันออกไป ความรู้ทางด้านวิชาการบางประเภทอาจไม่ตอบสนองต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กบางคน ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่” ลัดดาวัลย์กล่าว

 

"การช่วยเหลือเด็กไม่ได้มีหลักสูตรสำเร็จ จะต้องผ่านการคิด อ่าน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" รศ.ดร.ทวี เชื้อสุวรรณทวี วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.ดร.ทวี จากภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงการศึกษาของเด็กพิเศษในระดับอุดมศึกษาว่า จากการประเมินสถานการณ์และปัญหาของเด็กพิเศษในระบบการศึกษาของประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันมีเด็กพิเศษอยู่ในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เด็กพิเศษมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีการเปลี่ยนระดับชั้นการศึกษาที่สูงขึ้น ปัญหาการตกหล่นระหว่างช่วงเชื่อมต่อระดับชั้นเป็นไปได้ตั้งแต่การไม่มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาต่อ ต้นทุนทางการเงินต่ำ และจำนวนสถานศึกษาที่รองรับเด็กพิเศษมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เมื่อมาถึงระดับอุดมศึกษาจึงมีเด็กพิเศษเพียงร้อยละ 0.8 จากจำนวนเด็กพิเศษในระบบการศึกษาทั้งหมด

รศ.ดร.ทวี กล่าวต่อว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐ โรงเรียน ผู้ปกครอง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กให้สามารถช่วยเหลือตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ การช่วยเหลือเด็กไม่ได้มีหลักสูตรสำเร็จ จะต้องผ่านการคิด อ่าน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการเริ่มฟื้นฟูจากคนใน โดยเฉพาะบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการกระตุ้นให้เด็กเกิดพัฒนาการและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น บทบาทของผู้ปกครอง โรงเรียนและสถาบันเอกชน ควรได้รับการส่งเสริมขับเคลื่อน ให้สิทธิ และการช่วยเหลือจากรัฐมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ครู บุคลากรทางการศึกษา ทั้งความรู้ ทักษะ จริยธรรม และความก้าวหน้าในอาชีพของหน่วยงานที่รองรับเด็กพิเศษทั้งภาครัฐและเอกชน นำเอาความรู้ ความสามารถ องค์ความรู้ที่ได้จากชีวิตประจำวันและทางวิชาการมาบูรณาการปรับใช้ในการให้ความรู้และส่งเสริมพัฒนาการตามศักยภาพของเด็กแต่ละคนอย่างเหมาะสม

อ่านข่าวอื่นจากงาน CBR Forum ได้ที่นี่