Skip to main content

จากสถิติแล้วมีคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานเพียงไม่กี่เปอเซ็นต์ที่มีงานทำ แม้จะมีกฏหมายที่เข้ามาช่วย หรือมีการจ้างงานแบบใหม่ๆ ที่เอื้อให้คนพิการทำงานใกล้บ้าน แต่การไม่เข้าถึงสิ่งพื้นฐานแรกเริ่มอย่างการศึกษาก็ทำให้คนพิการขาดโอกาสการเข้าถึงอาชีพในอนาคต


ฟังประสบการณ์การทำงานของคนพิการว่า การทำงานเปลี่ยนชีวิต และสร้างโอกาสในการใช้ชีวิตอิสระได้อย่างไร แล้วทำอย่างไรคำว่า คนพิการและอาชีพ จะสามารถรวมกันได้อย่างกลมกลืน

25 ม.ค. 2561 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร จัดงาน การประชุมวิชาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (CBR Forum 2018) Ways toward disability inclusive development : ก้าวข้ามความต่าง สู่เส้นทางพัฒนา ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2561

โดยหัวข้อเสวนาในวันนี้คือ “อาชีพคนพิการ : ปรับแนวคิด เติมเต็มชีวิตคน” มีวิทยากรเข้าร่วมเสวนา 5 คนด้วยกัน ได้แก่ ประวิทย์พงษ์  หน้าใหญ่ ประธานชมรมคนพิการตำบลเมืองน่าน ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ โรงเรียนบ้านน้ำจำ จังหวัดลำปาง, วิชาญ  จิตต์อ่องอำไพ ข้าราชการครู สังกัดกรมการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันช่วยราชการปฏิบัติงานที่โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดลำปาง, สิทธิชัย  ยาวิราช กรรมการชมรมคนพิการตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และบุญชู  แสนคำมี พนักงานรับสาย AIS Call Center ที่มูลนิธิเมตตาธรรม จังหวัดเลย ดำเนินรายการโดยซิสเตอร์รัตนา

 

งานเริ่มด้วยการขึ้นพูดของซิสเตอร์รัตนา ซึ่งกล่าวถึงการประกอบอาชีพว่า

การมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างมีเกียรตินั้นเป็นสุดยอดความปรารถนาของทุกคน เพราะนั่นหมายถึงเราสามารถดำรงชีวิตอิสระ ตัดสินใจและทำตามทางเลือกของเราเองได้ และยังแสดงถึงคุณค่าแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ ถ้าตราบใดก็ตามที่ยังพึ่งพาคนอื่นก็หมายความว่าไม่สามารถดำรงชีวิตอิสระ หรือทำตามทางที่เลือกได้

 

ในขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงการจ้างงาน การสร้างอาชีพสำหรับคนพิการ มีความหมายมากกว่าเรื่องปากท้อง หรือการอยู่ไปวัน ๆ แต่อาชีพยังสะท้อนถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนพิการอีกด้วย ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีคนพิการถึง 1,700,000 คน ในกลุ่มนี้ก็จะมีกลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ 15 – 60 ปี จำนวน 800,000 คน แต่มีคนพิการกว่า 500,000 คนไม่มีอาชีพ

 

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการถอดรหัสกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฉบับปี 2556 และปรับแนวคิดของภาคธุรกิจโดยลดการส่งเงินเข้ากองทุนฯ และจ้างงานคนพิการเข้าทำงานบริการสาธารณะ และส่งเสริมอาชีพคนพิการโดยตรงในชุมชนใกล้บ้านคนพิการ ซึ่งถือเป็นการช่วยลดปัญหาการเดินทางไปทำงานของคนพิการ ซึ่งมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เป็นกลไกเชื่อมต่อกับภาคภาคีเครือข่ายธุรกิจประมาณ 400 แห่งและภาคีเครือข่ายคนพิการทั่วประเทศเพื่อเข้าถึงคนพิการ การที่คนพิการได้ทำงานบริการเพื่อสาธารณะ ทำให้มองเห็นคุณค่าและจุดยืนของตนเองในชุมชน จากที่รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ ได้แต่นั่งเฉย ๆ อยู่บ้าน ก็กลายเป็นมีคุณค่า เพราะสามารถทำประโยชน์เพื่อสังคมได้

 

Q : ช่วยเล่าภูมิหลังของตนเอง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของตนเอง

บุญชู: ยายเป็นคนที่ดูแลหนูมาตั้งแต่เกิดไม่ยอมให้ไปเรียนต่อ ม.ต้นหลังจากเรียนจบ ป.6 เพราะกลัวเป็นภาระเพื่อนเวลาเข้าห้องน้ำ กลัวเพื่อนรำคาน แต่อาจารย์ก็เข้ามาคุยกับยายว่าให้เรียนเถอะ อนาคตจะได้มีงานทำ จนได้เรียนจนจบ ปวส. จนมีงานรองรับทุกวันนี้

ประวิทย์พงษ์ : ผมเรียนจบเครื่องกล มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนครเหนือ จบมาทำงานซ่อมรถที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นร่างกายยังแข็งแรง แต่เมื่อ 3 – 4 ปีที่แล้วล้มแล้วลุกเดินไม่ได้ ตอนนั้นไม่รู้จะทำอย่างไร รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ตอนนั้นเห็นเขาตั้งชมรมคนพิการเลยเข้าไปช่วย เห็นคนพิการที่อยู่ในชนบทขาดโอกาสเข้าถึงงาน ผมทำงานอยู่ที่นี่มา 3 ปีแล้วและเป็นคนนำร่องเรื่องการทำงาน ตอนนี้เป็นฝ่ายติดต่อประสานงานให้เพื่อนคนพิการ

สิทธิชัย : ผมเรียนจบ ปวช. ทำงานด้านเอกสาร การสื่อสารทั่วไป และทำงานที่ตัวเองชอบด้วย เช่น ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ขายของออนไลน์ ปลูกต้นไม้ เพาะต้นไม้ขาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีสมาธิอยู่กับตัวเอง อยู่กับต้นไม้ สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว ขายแม้กระทั่งเม็ดอาโวคาโดกิโลละ 100 บาท รายได้ดีมาก

วิชาญ : ผมเกิดในครอบครัวคนจีน พ่อแม่ไม่มีความรู้เลย จึงปลูกฝังตลอดว่าให้เรียนหนังสือ ต้องได้ดีกว่าพ่อแม่ ตอนนั้นผมยังมองเห็นจนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุทำให้จอประสาทตาลอก ตอนนั้นปี 2537 ทางเลือกไม่เยอะ เราไปเข้าโรงเรียนสอนคนตาบอด คนสมัยนั้นเชื่อว่าโรงเรียนสอนคนตาบอดจะสอนเฉพาะคนที่มองไม่เห็น ทั้งที่จริงแล้วระดับการตาบอดมีตั้งแต่ยังมองเห็น ผมได้เรียนการใช้ไม้เท้าขาวและอักษรเบรลล์ พอสอบเข้ามหาวิทยาลัย เลือกเรียนคณะครุศาสตร์ สาขาการศึกษาพิเศษ พอจะเรียนจบก็นึกไม่ออกว่าจะทำอาชีพอะไรดี คนตาบอดสมัยนั้นส่วนใหญ่ก็ขายล็อตเตอรี่ เป็นโอเปอเรเตอร์ หรือนวด

ผมลองสมัครงานทั่วไปก็ได้รับการปฏิเสธไม่ให้สอบ เขาให้สมัครแต่พอประกาศชื่อผู้มีสิทธิสอบ กลับไม่ให้สอบ จนต้องฟ้องร้องกัน ผู้นำองค์กรคนพิการสมัยช่วยไปเจรจาจนกระทรวงศึกษาธิการยอมให้สอบ เลยมีโอกาสสอบ และได้ทำงานในโรงเรียนอนุบาลดำรงราชานุสรณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

คนตาบอดเป็นของแปลกในสังคมสมัยนั้น พอไปไหนก็เป็นที่ฮือฮา เป็นตัวประหลาด แม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ก็รอดมาได้ เราพัฒนามาตัวเองเรื่อย ๆ หาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะทำให้เราพัฒนางาน และทำให้เราเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือ สื่อการเรียนการสอน หลังจากนั้นมีโอกาสไปต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา  ผมรู้สึกว่าตอนอยู่ที่นั่นเหมือนเราไม่ใช่คนพิการ ความพิการของเราจะถูกกำจัดออกไป เพราะความยากลำบากในชีวิตเราหายไป การเดินทางก็ง่าย เราเข้าถึงได้ คนก็ถูกฝึกฝนให้ช่วยเหลือคนพิการ รู้สึกเข้าใกล้คำว่า สังคมที่นับรวมทุกคน ไม่รู้สึกว่า ตาที่บอดของเราเป็นปมด้อย เป็นความน่ารำคาญเล็กน้อยเท่านั้น สวัสดิการต่าง ๆ ก็จัดให้สำหรับคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า หรือการเดินทางที่สะดวก

 

Q : มีประสบการณ์ในการสมัครงานเหมือนคนอื่นไหม

บุญชู : หลังจากเรียนจบ ก็ไปสมัครงานที่มูลนิธิธิดาเมตตา จังหวัดเลย ตอนที่ไปสมัครงานคนอื่นเป็นคนที่มีแขนสองข้างกันหมดเลย มีแค่หนูที่ไม่มีแขน เลยกังวล แต่สุดท้ายก็สามารถทำงานได้ รู้สึกภาคภูมิใจ มีเงินเก็บในบัญชีเล็กน้อยแล้วก็ได้ประสบการณ์ สามารถดูแลตนเองในโลกภายนอกได้

ประวิทย์พงษ์ : คล้ายคนทั่วไป ตอนได้งานรู้สึกตัวเองมีคุณค่า ชีวิตมีความหมาย พอได้รู้จักเครือข่าย CBR จากที่ไม่เคยคิดทำงานช่วยคนอื่น ก็อาสามาทำงานในชุมชน งานคนพิการ เรายังมีชีวิตที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้

สิทธิชัย : เรียนจบมาก็ขายของออนไลน์รายได้ดีกว่า ไม่ไปสมัครงานที่ไหน ผมชอบปลูกต้นไม้ ชอบทำอาชีพอิสระ แม้ไม่มีเงินทุนมากมาย แต่ถ้าทำเรื่อย ๆ ก็มีคนแวะเวียนมาซื้อ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว และมีเงินเก็บบ้าง

วิชาญ : ผมเคยคิดว่า เอาตัวรอดก็บุญแล้ว แต่พอมีงาน มีอาชีพก็คิดต่อยอดไปได้

การทำงานทำให้มี Self-esteem มากขึ้น รู้สึกว่าเราทำได้ ดีกว่านอนอยู่บ้านเฉย ๆ เป็นผู้ให้มากขึ้น สอนศิษย์ ให้ความรู้แก่ศิษย์ รู้สึก ประสบการณ์ส่วนตัวของเราในฐานะเป็นคนพิการที่ผ่านโลกของการเคยมองเห็นและมองไม่เห็น ช่วยทำให้เราแบ่งปันกับคนอื่นได้มากขึ้น

 

Q : คิดว่างานปัจจุบันมั่นคงไหม

วิชาญ : โอเคเพราะเป็นข้าราชการ

บุญชู : มั่นคงและมีความสุขที่ได้ทำ มีเงินเก็บ มีความสามารถ มีความรู้

ประวิทย์พงษ์ : ถ้าสำหรับมาตรา 33 และ 35 ก็คิดว่ามีความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าปีถัดไป จะได้รับการจ้างงานไหม แล้วถ้าเราไม่รู้จักเก็บออม ก็จะไม่มีเงินสำรองเลี้ยงชีพ

สิทธิชัย : ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับมาตรา 33 และ 35 ปีต่อไปก็ลุ้นครับ

 

Q : คิดยังไงกับประโยคที่ว่า “การจ้างงานคนพิการคือการทำบุญให้ทาน เพิ่มภาระให้หน่วยงานมากกว่าที่จะได้ฟันเฟืองหรือบุคลากรที่มีความสามารถมาส่งเสริมงานขององค์กร”

บุญชู : การทำงานของคนพิการก็เหมือนกับคนไม่พิการ คนพิการก็คือคนนึงที่มีความสามารถและมีเป้าหมาย มีประโยชน์ต่อองค์กรนั้นได้

ประวิทย์พงษ์ : คนที่คิดแบบนั้นเป็นคนที่ไม่รู้จักมองโลกในแง่ดี ความคิดไม่สร้างสรรค์ มองว่าคนพิการเพิ่มภาระให้กับหน่วยงานโดยที่ไม่รู้จักเราดีพอ ทั้งนี้เมื่อเข้าไปทำงานในองค์กรแล้ว องค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับคนพิการเช่นกันครับ

สิทธิชัย : ผมเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ทำงานในองค์กรหรือตำแหน่งนั้นและช่วยขับเคลื่อนงานขององค์กรให้พัฒนาต่อไปได้

วิชาญ : ผมเชื่อว่าศาสนาพุทธเชื่อในเรื่องเวรกรรม แต่เราก็ไม่แน่ใจจริงเท็จแค่ไหน

คำว่า “ให้ทาน” มีนัยยะสำคัญที่แฝงในเรื่องของ Low Expectation คือความคาดหวังต่ำ เช่น คนตาบอดขึ้นบันไดได้ ถูกชมว่า “เก่งจังเลย” แสดงให้เห็นว่าความคาดหวังที่ต่ำนี้แหละที่ทำให้เกิดประโยคนี้ขึ้นมา

สำหรับตัวคนพิการก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วยว่า ทำยังไงให้เราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้า คนพิการต้องมีวิสัยทัศน์ ฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่อง องค์กรที่จ้างคนพิการก็ต้องวางตำแหน่งที่เหมาะสมกับสภาพความพิการ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทำให้คนพิการเข้าถึงได้ สำหรับตัวผมเองอยากให้คนพิการเปลี่ยนแนวคิด มองการไกล ถ้ามีงานก็ควรแสดงศักยภาพออกมาให้เต็มที่ ทำงานให้สมกับเงินเดือน

 

Q : ฝากอะไรถึงองค์กรที่มีคนพิการทำงาน

ประวิทย์พงษ์ : การทำงานกับคนพิการต้องดูบริบทของเขาด้วยว่างานอะไรที่เหมาะสมกับสภาพคนพิการ บางครั้งการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย สามารถทำให้คนพิการทำงานได้ในระยะที่ยาวนานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

Q : ฝากอะไรทิ้งท้ายหน่อย

วิชาญ : ฝากถึงผู้ประกอบการว่า ให้ให้โอกาสคนพิการ อยากให้คาดหวังว่า คนพิการก็ทำได้เหมือนคนทั่วไป ถึงแม้สภาพความพิการอาจจะดูไม่สวยงามบ้าง หรือบริษัทอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการจัดสถานที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็อยากให้ลองให้โอกาสคนพิการสักหน่อย คนพิการเองจะได้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้สังคมน่าอยู่

 

อ่านข่าวอื่นจากงาน CBR Forum ได้ที่นี่