Skip to main content

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2561 สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณะสุข ได้จัดการประชุมเชิงวิชาการ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (CBR Forum 2018) โดยมีเวที “เพราะเด็กก็คือเด็ก ” (Because a child is a child)  ซึ่งได้รับความสนใจและมีผู้ร่วมเสวนาหลายคน ได้แก่ ปิยะนุช ชัชวรัตน์ ประธานศูนย์บ้านทอฝัน สมาคมสมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จ.เชียงราย, ดร.สุจินต์ สว่างศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนลพบุรีปัญญานุกุล จ.ลพบุรี, ประสานทอง จันทมณี ผู้อำนวยการโรงเรียนเขากลอย จ.สงขลาและจันทนา เจริญวิริยะภาพ ประธานชมรมผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ จ.สงขลา

จันทนา ประธานชมรมผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ กล่าวถึงเรื่องการศึกษาของลูกที่มี่ความต้องการพิเศษว่า ปัจจุบัน ลูกเธออายุ 12 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดเขากลอย ตอนที่รู้ว่าลูกแตกต่างจากเด็กคนอื่น ก็เริ่มคิดถึงเรื่องการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องการเรียน ความเป็นอยู่ และทักษะการใช้ชีวิตต่างๆ

ช่วงแรกลูกเธอยังเรียนอยู่ในโรงเรียนทั่วไป จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุจึงเริ่มคิดเรื่องโรงเรียนที่เหมาะสม พวกเขาย้ายโรงเรียนกันอยู่หลายครั้ง เพราะลูกไม่สามารถอยู่ในโรงเรียนทั่วไปได้ จนตัดสินเปิดห้องเรียนคู่ขนาน หลังพยายามกันอยู่ 4ปี สุดท้ายห้องเรียนก็ต้องปิดลงไป ด้วยเหตุผลหลายอย่าง หลังจากห้องเรียนยุบไป เราก็มองหาห้องเรียนใหม่ให้ลูกที่ตอบโจทย์ความต้องการของเรา ที่อยากให้เขามีชีวิตอย่างเด็กทั่วไป และอยู่ได้ด้วยตัวเอง จนกระทั่งได้รับคำชวนจากผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขากลอยว่าให้ส่งลูกเข้าไปเรียนที่นั่น

ลูกของเธอปรับพฤติกรรมอยู่ 1 ปี เพื่อที่จะเข้าห้องเรียนทั่วไป แต่ก่อนกินข้าวหนึ่งมื้อ อยู่ได้ 3 วัน พอเข้าไปเรียนที่นี่ เขากินข้าว 3 มื้อต่อวัน

ที่โรงเรียนพยายามหาว่าเด็กมีอะไรพิเศษ เขาตอบว่าอยากเป็นเชฟ กลับมาบ้านก็จะถามถึงของกิน ช่วยแม่ล้างจาน หุงข้าว จากเด็กที่ไม่ค่อยพูดกลายเป็นเด็กพูดมาก จนเธอสบายใจแล้วว่า ตายไปก็ไม่ต้องห่วงเขาแล้ว นี่เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันลูกเธอมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีความสุข ทั้งจากแววตาและการสื่อสารเวลาเล่าเรื่องต่างๆ ให้เธอฟัง และเนื่องจากโรงเรียนอยู่ในชุมชน เด็กๆ จึงเข้าไปช่วยเหลือ มิติของชุมชนที่เพิ่มเข้ามา จึงเป็นข้อดีอีกส่วนที่เห็นจากโรงเรียนแห่งนี้

ประสานทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขากลอยกล่าวถึงวิธีการดูแลเด็กพิเศษของโรงเรียนว่า โรงเรียนวัดเขากลอยมีเด็กพิเศษ 54 คน จากทั้งหมด 150 คน ที่นี่เราปรับหลักสูตรการเรียนให้เข้ากับเด็ก ไม่เน้นเวลาเข้าเรียน แต่เน้นการปรับพฤติกรรม และทักษะการใช้ชีวิตให้กับเด็ก โดยใช้ความสุขเป็นเดิมพัน คือนักเรียนทุกคนมีความสุข ใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นได้รวมทั้งลดความสำคัญของการสอบ และเอาตัวเองไปนั่งใต้อาคารเรียน หรือสามแยก เพราะที่เหล่านั้นเป็นที่ที่เด็กทุกคนต้องเดินผ่าน ความสุขของเราอยู่ตรงนี้

ประสานทอง กล่าวต่อว่า ช่วง 2 สัปดาห์แรก เราจะใช้ผ้าขาวม้ามัดมือเด็กไว้กับมือครู เพราะเด็กๆ ซนกันมาก เด็กก็รู้สึกอบอุ่นมากขึ้น เด็กที่นี่เกือบทุกคนต้องทานยา ต้องให้หมอตรวจ เราจะไม่บังคับเด็ก แต่เด็กทุกคนก็นิ่ง ไม่ดื้อเลย

เราใช้หลัก 2 อย่าง ในการปรับพฤติกรรมเด็ก หนึ่งคือเราให้เพื่อนเรียกชื่อเขา 1 ครั้งต่อวัน ตรงนี้สำคัญเพราะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดพลัง พลังที่ทำให้เขาคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ  สองคือเราจะคอยถามคำถามเขา แต่ไม่ได้เน้นคำตอบที่ถูกต้อง แค่อยากให้เด็กได้พูดออกมา

เด็กพิเศษในโรงเรียนเรามี 54 คน แต่จ้างครูได้เพียง 3 คน ผอ.ไม่เคยบ่นว่าโรงเรียนขาดแคลน พยายามเสนอเพื่ออนุมัติครูเพิ่ม แต่ก็เกิดความล่าช้า โรงเรียนปล่อยให้นักเรียนได้ทำตามศักยภาพของตนเอง ปล่อยให้มีอิสระ และให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม เป็นการจัดการศึกษาอย่างมีความสุข  อีกทั้งที่นี่ไม่มีสอบ เด็กต้องเรียน ประเมิน และส่งชิ้นงานที่มีแค่หนึ่งเล่มเราไม่คำนึงถึงเวลาเรียนเพราะสามารถปรับให้เข้ากับผู้เรียนได้ นี่แหละคือความลับทางการศึกษา

ปิยะนุช ประธานศูนย์บ้านทอฝัน สมาคมสมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก กล่าวถึงการก่อตั้งศูนย์บ้านทอฝันว่า เรามีลูกเป็นเด็กออทิสติก ปัจจุบันอายุ 19 ปี ตอนที่รู้ว่าลูกเป็นออทิสติก เชียงรายยังห่างไกลจากความเจริญอยู่มาก หมอผู้เชี่ยวชาญที่ดูเรื่องเด็กพิเศษยังไม่มี มีเพียงนักกิจกรรมบำบัดหนึ่งคน ที่ต้องใช้ร่วมกันไม่จัดแยกผู้ป่วย

ครั้งแรกที่พาลูกไปโรงพยาบาล คุณหมอเขาไม่ยอมบอกเราว่าลูกป่วยเป็นอะไร เพราะกลัวแม่จะรับไม่ได้ เราก็บอกเขาว่า บอกเรามาเถอะ อย่างน้อยเราจะได้หาวิธีที่จะช่วยลูก

เราโตขึ้นตามลูกตอนที่รู้ว่าลูกเป็นเด็กออทิสติก ลูกพึ่งอายุ 4 ขวบ บังเอิญไปเห็นกระดาษติดประกาศ ฝึกอบรมพ่อแม่เกี่ยวกับการดูแลเด็กเป็นออทิสติก แต่เราไม่สะดวกไปอยู่กรุงเทพฯหลายวัน จึงติดต่อไปที่ครูนิ่ม นิสิตา ปีติเจริญ และเขายินดีมากที่จะเดินทางมา เราเลยทำแผ่นไปติดประกาศไว้ตามโรงพยาบาล ใครสนใจเข้าฟังฟรี พ่อแม่ฟังฟรี คุณครูเสียตังค์ 200 บาท เป็นค่าอาหารที่จะจ่ายให้ทางโรงแรม นั่นเป็นการจัดครั้งแรก  

เราทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 45 จนตอนนี้ เราทำงานเกี่ยวกับเด็กออทิสติกมาตลอด หลายคนแนะนำให้เราเป็นครูแต่เราไม่ได้จบด้านนี้ พอมีโอกาสได้ทำงานสายบริหารที่นี่ก็เลยได้ทำงานและเจอกับนักกิจกรรมบำบัดหลายคนที่เข้ามาร่วมกันทำบ้านทอฝัน ในช่วงแรกเราก็ทำกันเล็กๆ พ่อแม่มีความรู้บ้าง ไม่มีความรู้บ้าง ช่วงนั้นหมอมาบ้านเพื่อพูดคุยให้กำลังใจบ่อยมาก หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่เซคชันของการศึกษา และได้เชิญศูนย์การศึกษาพิเศษเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก อีกทั้งเรียนรู้โปรแกรมสำหรับเด็กพิเศษที่โรงพยาบาลยุวประสาทด้วย

ก่อนเปิดบ้านทอฝันเราใช้เวลาเกือบ 8 ปี กว่าจะลงตัวจนเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิเศษได้ เพราะบ้านทอฝันเป็นบ้านของเรา เลยต้องคิดถึงความเป็นส่วนตัวที่จะหายไป โชคดีว่าที่บ้านเข้าใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่ จากบ้านที่ไม่มีฝา เป็นลานโล่ง จนตอนนี้ที่มีอะไรเพิ่มขึ้นมากมาย ในช่วงหลังเราเปิดให้ผู้ปกครองเข้ามาเป็นครู และช่วยดูแลเด็ก โดยเชิญผู้รู้มาสอนและให้ความรู้ด้านต่างๆ เพราะเราอยากให้ศูนย์บริการนั้นยั่งยืน และอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินของภาครัฐ

ดร.สุจินต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนลพบุรีปัญญานุกุล ได้เปิดคลิปแนะนำเกี่ยวกับโรงเรียนลพบุรีปัญญานุกุล ที่เป็นโรงเรียนเฉพาะเด็กพิเศษ โดยในคลิปบอกเล่าเรื่องราวการเรียนการสอน และการใช้ชีวิตของเด็กในโรงเรียน ถ่ายทอดให้เห็นว่าหลังจากเข้ามาเรียนแล้ว เด็กต้องทำอะไรบ้าง และเมื่อจบไปเด็กจะมีหน้าที่การงาน มีเงินเดือน ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา และอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่เป็นภาระต่อสังคม ผู้ปกครองของเด็กทุกคนต่างมีความสุข เมื่อเห็นลูกสามารถอยู่ในสังคม และมีงานทำได้เหมือนคนทั่วไป

ดร.สุจินต์ กล่าวว่า โรงเรียนลพบุรีปัญญานุกุล เป็นโรงเรียนเฉพาะของเด็กพิเศษ ดังนั้นความพยายามลดช่องว่างโดยใช้สังคม และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการจึงจำเป็น เรามีการฝึกงาน และหางานให้เด็กเพื่อที่เขาจบออกไปและก้าวเข้าสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

อ่านข่าวอื่นจากงาน CBR Forum ได้ที่นี่