Skip to main content

อาจารย์เทคโนโลยีราชมงคลพระนครออกแบบโต๊ะสำหรับเด็กพิการทางร่างกาย ไม่ว่าจะใช้มือ เท้าหรือปากในการเขียนก็สามารถทำได้อย่างสะดวก เชื่ออุปกรณ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพ

 

ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ อาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และทีมวิจัยกล่าวว่า เด็กที่มีความพิการด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกายมักมีความผิดปกติที่แขน ขา ลำตัว รวมไปถึงศีรษะ ซึ่งทำให้ต้องได้รับการศึกษาพิเศษ รวมถึงการฝึกฝนด้วยอุปกรณ์ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษามากที่สุด ทำให้การเจริญเติบโตตามพัฒนาการไม่สมวัย จากข้อมูลนี้ พวกเขาจึงศึกษาเด็กในระดับชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนศรีสังวาลย์ จนพบว่าประเภทเด็กพิการกับกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นไม่สัมพันธ์กัน ส่งผลให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ จึงออกแบบโต๊ะเรียนสำหรับเด็กพิการในระดับชั้นอนุบาล ที่มีรูปแบบเหมาะสมกับพฤติกรรมการเรียนการสอนและรองรับกับประเภทความพิการ จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทผลิตภัณฑ์ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต THAILAND GREEN DESIGN AWARD 2018

ข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบมีจำนวนคนพิการราว 1.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งประเทศ มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายกว่า 8 แสนคนหรือร้อยละ 48.76 สูงกว่าประเภทอื่นๆ เช่น ความพิการทางการได้ยิน 3 แสนคนหรือร้อยละ 18.28 ทางการมองเห็น 1 แสนคนหรือร้อยละ 10.43 ทางการเรียนรู้ 1 หมื่นคนหรือร้อยละ 0.57 เป็นต้น

ดร.เกษม กล่าวว่า โต๊ะเรียนแบ่งเป็น 3 ประเภท คือประเภทใช้มือเขียน ประเภทใช้ปากเขียน และประเภทใช้เท้าเขียน ออกแบบสร้างในรูปแบบที่เรียบง่าย เน้นโครงสร้างที่แข็งแรง วัสดุจากไม้ยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีน้ำหนักที่เหมาะสมต่อการเคลื่อนย้าย สามารถถอดประกอบได้ด้วยมือเปล่า มีรูปลักษณ์ที่เหมาะสมต่อพฤติกรรมความบกพร่องของร่างกาย ทำให้เด็กใช้สอยโต๊ะได้สอดรับกับความพิการ เน้นการช่วยเหลือตนเองเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือ นอกจากนี้โต๊ะเรียนยังผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโต๊ะเรียน 1494-2541 ตามเกณฑ์ สามารถนำมาใช้ในงานเพื่อรองรับต่อพฤติกรรมการเรียนการสอนของนักเรียนผู้มีความบกพร่องทุกเพศทุกวัย