Skip to main content

วันนี้เรามีนัดสัมภาษณ์กับนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติคนหนึ่ง ซึ่งแอบได้ยินมาว่าเธอเป็นคนที่สดใสและอารมณ์ดีมาก  แต่ชีวิตของเธอนั้นต้องมาเปลี่ยนไปเมื่อประสบอุบัติเหตุรถสิบล้อทับขาจนขาด ลึกๆ แล้วถึงแม้อาจจะเศร้าและเสียใจกับเหตุการณ์ในวันนั้น แต่ความรู้สึกพวกนั้นกลับต้องพ่ายแพ้ให้กับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเธอที่ดังและเห็นได้ชัดเจนกว่า แน่ชัดแล้วว่า “การยอมรับความจริง” คงไม่ใช่เรื่องยากและเป็นไปไม่ได้สำหรับเธอ มากไปกว่านั้นยังเดินหน้าต่อแม้ว่าสภาพร่างกายจะไม่เหมือนเดิมแล้วก็ตาม

แล้วอะไรที่ทำให้สาวน้อยคนนี้มีหัวใจที่แข็งแกร่งและพลังงานที่ล้นเหลือได้ขนาดนี้?

ไม่นานนัก “เมย์” ในชุดเดรสสีหวาน ก็หมุนล้อวีลแชร์มาอย่างขะมักเขม้น พร้อมกับรอยยิ้มที่ทำให้เรายิ้มตาม

 

ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง?

ตอนนี้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ, วิ่งมาราธอน, ดำน้ำสคูบา, ปีนผา, Vertical run อย่างวิ่งขึ้นตึกบันยันทรี 61 ชั้น ก็ใช้มือดึ๊บ ๆ ขึ้น(หัวเราะ) คนอื่นเขาวิ่งขึ้นกันแต่เราใช้มือยกตัวขึ้น 1,000 กว่าขั้น ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง

เหตุการณ์อุบัติเหตุในวันนั้นเป็นอย่างไร

เมย์ตอบคำถามอย่างไม่ลังเลว่า ตอนนั้นอายุ 16 นัดกับเพื่อนไว้ว่าจะไปกินเลี้ยงวันเกิดกัน ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปคนเดียวระยะทางประมาณ 20 กว่ากิโล ก่อนหน้านี้เราไม่เคยขับออกถนนใหญ่ ไกลสุดก็ไปแค่ตลาดเลยไม่รู้ว่าพวกรถใหญ่จะมีแรงลม แรงดูด เราก็ขี่ไปตามทางของเราจนช่วงหนึ่งที่ขับอยู่ระหว่างตัวรถพ่วง เราเองก็ยอมรับว่าขับใกล้รถพ่วงด้วย พอเจอแรงลมดูด รถเราเลยล้มแล้วล้อรถพ่วงก็ทับขาเราหลังออกจากบ้านมาได้ประมาณ 2 กิโล

คนขับรถบรรทุกล่ะ รับผิดชอบอะไรไหม

ไม่นะ เขาก็ไปเลย ไม่รู้เหมือนกันว่าเขารู้ตัวหรือเปล่าว่าขับรถทับขาเรา หลังจากโดนทับเราก็ลุกขึ้นมานั่ง ก็ตกใจ เลือดไหลเต็มเลย ชาวบ้านที่อยู่ละแวกนั้นก็ออกมาช่วย พร้อม ๆ กับมีรถกู้ภัยมาพอดี พาเราไปส่งโรงพยาบาลอำเภอ ตอนที่เขาพาไปส่งโรงพยาบาลเราก็โทรหาแม่

“แม่ๆ มาหาหนูหน่อย หนูโดนรถทับขาเละหมดเลย”

พอบอกแม่ไปแบบนี้ แม่ก็เงียบ แต่เรามีสติ ก็เลยโทรบอกเพื่อนอีก 2 คนนัดกันว่า “เฮ้ย..เราไม่ได้ไปแล้วนะ เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย”(หัวเราะ) แล้วก็โทรบอกเพื่อนที่โรงเรียนว่า เราคงไม่ได้ไปโรงเรียนนะ เพราะเป็นช่วงใกล้สอบ พอถึงโรงพยาบาลอำเภอแม่ก็โทรกลับมา และถามว่าอยู่ที่ไหน จนกว่าแม่จะมาถึง หมอก็พันแผลเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะย้ายไปโรงพยาบาลจังหวัดเพราะมีเครื่องมือครบกว่า

 

เราร้องไห้ไปครั้งเดียวตอนลุกขึ้นมาเห็นขาตัวเอง หลังจากนั้นไม่ร้องเลยเพราะเห็นแม่ ป๊า ทุกคนร้องไห้ แล้วเรารู้สึกว่าจะอ่อนแอไม่ได้

 

ทุกวันนี้กลับไปดูรูปทำแผล แล้วก็คิดในใจว่า “ผ่านมาได้ไงวะ” (หัวเราะ)
 

ทำไมตัดสินใจตัดขาตัวเอง

หลังจากย้ายมาที่โรงพยาบาลจังหวัด หมอก็พยายามผ่าตัดต่อขา ต่อเส้นเลือด เส้นประสาท กล้ามเนื้อ พยายามรักษาให้มันปกติ หลังผ่าตัดหมอแตะที่ปลายเท้า แล้วถามว่า

“เป็นไง รู้สึกไหม?” ปรากฎว่าขาข้างซ้ายรู้สึกชาๆ แต่ข้างขวาไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะว่าเลือดไม่ลงไปเลี้ยง หมอจึงกลัวว่าจะติดเชื้อในกระแสเลือด ก็เลยบอกเราว่า “ถ้าไม่ตัดขาทิ้ง จะเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วทำให้ตายได้” ตอนนั้นป๊ากับแม่ก็ร้องไห้ ไม่อยากให้ตัดขาแต่ก็กลัวว่าเราจะเป็นอะไรไปเลยไม่กล้าตัดสินใจ หมอหันมาถามเรา “รักแม่ไหม อยากอยู่กับแม่ไหม ถ้ารักแม่ก็ต้องตัดขานะ เพราะไม่งั้นเดี๋ยวติดเชื้อแล้วเราก็จะตาย” เราเลยบอก “ค่ะ ตัดเลย” (น้ำเสียงเด็ดเดี่ยว) เราไม่มีทางเลือก เราอยากอยู่ต่อ สิ่งที่คิดอย่างเดียวคือ ต้องมีชีวิตอยู่ต่อ ไม่รู้หรอกว่าตัดขาแล้วจะเป็นคนพิการ จะต้องนั่งรถเข็น หรือจะเป็นยังไง ยังไงก็ได้ให้รอด หลังจากนั้นก็เลยตัด

คนรอบข้างเป็นอย่างไร

พอแม่เข้ามาเยี่ยมเราในไอซียู ก็น้ำตาคลอมาเชียว ยิ่งตอนเรียกชื่อเราแค่นั้นแหละ ร้องเลย แต่เราไม่ร้อง กลับขอกระดาษกับปากกาจากพยาบาล ตอนนั้นเราพูดไม่ได้เพราะใส่เครื่องช่วยหายใจ เลยเขียนใส่กระดาษว่า “แม่ ไม่ต้องร้อง หนูไม่เป็นไร” พอแม่อ่านปุ๊บ ร้องอีก! (หัวเราะ) คราวนี้ร้องโฮเลย ตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาลจะได้ของเยี่ยมตลอด มีคนมาเยี่ยมทุกวัน ทุกคนที่มาก็ร้องไห้ เขาอยากให้กำลังใจ แต่ไม่ชินกับเราในสภาพแบบนี้  ไม่คิดว่าวันหนึ่งเราจะเกิดอุบัติเหตุ หลายคนห่วงว่าวันข้างหน้าจะเป็นยังไง เราก็ได้แต่บอกว่าเดี๋ยวก็มีทางไป เดี๋ยวก็ทำได้

เรารู้ว่าครอบครัวรักเรามากก็ตอนนี้แหละ แม่ไม่กลับบ้านเลย อยู่กับเราตลอดเป็นเดือน ๆ เป็นคนดูแลเราทุกอย่างไม่ว่าจะขับถ่ายหรืออะไรก็ตาม เพราะเราต้องใส่แพมเพิส ไม่สามารถลุกนั่งได้ พอออกจากโรงพยาบาล ตาก็จะไปส่งที่โรงพยาบาลเพื่อทำกายภาพทุกเช้า

ชีวิตเปลี่ยนไปไหม

เปลี่ยนทุกอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่หมอบอกคือ เราเคยทำอะไรได้ก็ให้ทำเหมือนเดิม ถ้าอันไหนที่ทำไม่ได้ค่อยเปลี่ยน เราจะได้รู้สึกว่าไม่เปลี่ยนมาก เช่น เคยนอนชั้น 2 ก็นอนเหมือนเดิม ก็กระดึ๊บขึ้นบันได ห้องน้ำก็ไม่ได้ทำทางลาดแต่มีที่เกาะ

ตอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล อาจารย์และผู้อำนวยการโรงเรียนมาเยี่ยม เขาบอก “กลับไปได้นะ ไม่ต้องห่วง รักษาตัวให้หายก่อนแล้วค่อยกลับไปเรียน” พอกลับมาเรียนวันแรก เขาก็ต้อนรับเราด้วยกลอน  พร้อมบูมให้กำลังใจ เราอยู่ท่ามกลางคนเป็นพัน คิดในใจว่า เราไม่ต้องกังวลแล้ว กลับมาวันแรกเขาก็เตรียมพร้อมต้อนรับเรา
 
ช่วงนั้นยังไม่ได้ใช้รถเข็นแบบเข็นเอง ก็ชอบอ้อนให้คนเข็นให้ พอไปโรงเรียนเพื่อนจะเข็นให้ตลอด ตึกเรียนที่ไม่มีลิฟท์เพื่อนก็ยกขึ้น เมื่อก่อนตัวเบาหนัก 34 เอง(หัวเราะ) หลังๆ เริ่มไปห้าง ดูหนัง ร้องคาราโอเกะ ทำทุกอย่างเหมือนเดิม เพื่อนเคยบอกว่า “เราตั้งใจกันไว้แล้วว่า ถ้าเมย์กลับมา เราจะไม่แกล้ง” สุดท้ายก็เหมือนเดิม (เล่าด้วยรอยยิ้ม) เพราะเราเป็นคนน่าแกล้ง แถมยังทำตัวปกติเหมือนเดิม ไม่ได้ซึมเศร้า เราแค่นั่งรถเข็น

 

เริ่มเข็นวีลแชร์เองตอนไหน

ตอนไปทำขาเทียมที่ศูนย์สิรินธรฯ เจ้าหน้าที่ถามว่า “ทำไมต้องให้แม่เข็น ทำไมไม่เข็นรถเอง ไม่ดูแลตัวเอง” เราคิดได้เลยเพราะนั่งรถแบบรอคนเข็นทำให้เราใจร้อน ยิ่งพอช่วยเหลือตัวเองได้น้อยแต่ความต้องการของเรายังเหมือนเดิม เลยเรียกร้องความสนใจมากขึ้น แล้วก็หงุดหงิดที่หยิบนั่นหยิบนี่ไม่ได้ รู้สึกว่าถ้าเราทำได้ก็ทำไปแล้ว เราเลยได้รถเข็นเองมา พร้อมกับคำขู่ว่า ถ้ารอบหน้ายังให้แม่เข็นอีกจะไม่ทำขาเทียมให้ เขาก็อยากให้เราช่วยเหลือตัวเองได้เยอะ ๆ ต้องขอบคุณที่ทำให้รู้ว่ารถเข็นที่เข็นเองได้นั้นดีมาก เพราะว่าเราสามารถไปไหนมาไหนเองได้ ทำอะไรได้มากขึ้น

พอต้องเข็นรถเอง ก็ต้องออกกำลังกายมากขึ้น หมอถามว่า “ว่ายน้ำเป็นไหม” เราบอก “ไม่ว่ายค่ะ ว่ายไม่เป็น แต่ไม่กลัวน้ำ”

 

แล้วมาเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติได้อย่างไร

พอบอกว่ายน้ำไม่เป็น หมอก็ให้เริ่มฝึกง่าย ๆ ก่อนอย่างลอยตัว ก็ยากนะช่วงแรก ๆ พอเลิกเรียนก็มาศิริราชเพื่อฝึกว่ายน้ำ ประมาณ 2 เดือนก็ว่ายได้ หมอจึงชวนไปคัดตัวแข่งอาเซียนพาราเกมส์ ปรากฎว่าเราติดทีมชาติ ในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงทำให้มีเวลาช่วงก่อนเปิดเทอมซ้อมว่ายน้ำ ทั้งเก็บตัวไปด้วย เรียนไปด้วย

เพราะความมุ่งมั่นแข่งขันในฐานะ “ทีมชาติ” หรือเปล่า จนจากที่เรียนคณะบัญชีจึงย้ายไปเรียนสหเวชฯ

ช่วงนั้นเราได้ไปแข่งที่สิงคโปร์ ปีต่อมาไปคัดตัวอีก ก็ติดอีก ไปอีกที่มาเลเซียก็เลยคิดว่า ย้ายมาเรียนสหเวชฯ น่าจะดีกว่า เราทำสองอย่างไม่ได้ ไม่ไหว เราอยากเล่นตรงนี้จริงจัง ก็เลยขอย้ายคณะ มาเรียนสาขาการจัดการการกีฬา

จากว่ายน้ำกลายเป็นสคูบาได้อย่างไร

วันหนึ่งเราเดินตลาดนัด “พี่นุ” ก็เข้ามาทักถามว่า “สนใจอยากไปดำน้ำสคูบาไหม” วันรุ่งขึ้นเราเริ่มเข้าคลาสเรียนเลย สคูบาแบ่งเป็นภาคสระกับภาคทะเล เมื่อเรียนถึงซีซันที่ 3 เราได้ไปสอบทำบัตร Open Water (บัตรดำน้ำสากล) ซึ่งต้องตรวจเช็คร่างกาย เรียนทฤษฎีด้วย เรียนปฏิบัติด้วย แล้วก็มีการสอบใต้น้ำแบบหลักสูตรสากลเหมือนสอบใบขับขี่ เราเป็น 1 ใน 6 คนแรกที่ได้บัตร Open Water สำหรับวีลแชร์ในไทย

สคูบาแตกต่างกับการว่ายน้ำทั่วไปยังไง

จริง ๆ ตื่นเต้นตั้งแต่อยู่ในสระแล้ว เราจะหายใจได้ไหม จะเป็นยังไง เพราะสคูบาไม่เหมือนว่ายน้ำทั่วไป ต้องว่ายช้า ๆ เพราะเวลาอยู่ในทะเล ต้องดูปะการัง ดูปลา ถ้าว่ายเร็วปลาจะตกใจ

เราสอบภาคทะเลที่สิมิลัน น้ำทะเลใสมาก กฏก็คือว่าห้ามจับสัตว์ ห้ามโดน ดูได้แต่ตามืออย่าต้อง เหมือนโลกจินตนาการ ตื่นเต้น ชอบมาก(ยิ้ม) ล่าสุดซื้อทริปไปมัลดีฟ อยากไปดูฉลามวาฬแมนต้า เราเลยเลือกแบบ Live on board คือพักในเรือ ได้ไปอาทิตย์หนึ่งเราก็พยายามเก็บเกี่ยวให้มากที่สุด เพราะค่าทริปแพงมากกกกก(หัวเราะ)

พักหลังพี่ที่ว่ายน้ำกับเราก็ชวนว่า จะมีงานวิ่งของคนพิการที่สวนลุม สนใจไปมั้ย เราก็ไป และเริ่มซ้อมเพราะการวิ่งครั้งแรก 10 กิโลในครั้งแรกนั้นค่อนข้างเยอะ

 

นานไหมกว่าจะเริ่มวิ่งฟูลมาราธอน

ไต่มาเรื่อยๆ จาก Half Marathon เริ่มแข็งแกร่งขึ้น เพราะมีทักษะด้านการว่ายน้ำ การหายใจเราก็ดีขึ้น จนถึง Full Marathon ครั้งแรก ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ตอนนี้ชอบความเหนื่อย(ยิ้ม) เมื่อก่อนที่จบฟูลปุ๊ป ก็จะบอกตัวเองเลยว่าไม่เอาแล้ว วิ่งอะไรใช้เวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง 5 ชั่วโมง บ้าไปแล้ว(หัวเราะ) แต่การวิ่งฟูล มักจะจัดที่ต่างจังหวัด แต่ละสนามมีอะไรที่ไม่เหมือนกัน มีวิว ภูเขา หมอก ทะเล เราก็กลายเป็นชอบฟูลขึ้นมา คุ้มวิ่งอ่ะ จนตอนนี้ก็วิ่งมาเกิน 40 งานแล้ว

ตัวแปรคือสนาม ตัวแปรคือร่างกาย ความพร้อมของเรา เป้าหมายแต่ละสนามไม่เหมือนกัน บางอันลงเพราะอยากได้ถ้วย บางอันลงเพราะเสื้อสวย บางอันลงเพราะอยากเก็บบรรยากาศ บางอันลงแฟนซีเพราะอยากแต่งตัว บางทีก็วิ่งคู่เพราะเพื่อน ฯลฯ เป้าหมายของการวิ่งแต่ละครั้งจึงไม่เหมือนกัน

 

จากหลายๆ กีฬา สู่ไตรกีฬา เป็นมายังไง

เกิดจากโค้ชชวนไปเล่นไตรกีฬาคือ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แล้วก็วิ่ง ว่ายน้ำกับวิ่งมีพื้นฐานอยู่แล้ว แต่จักรยานยังไม่มีทั้งพื้นฐานและอุปกรณ์ (จักรยานคนพิการเป็นรถวีลแชร์คันยาวๆ มีแฮนด์เป็นที่ถีบ) เราซ้อมแค่อาทิตย์เดียวแล้วไปแข่งเลย แต่ก็โดน cut-off ตอนปั่นจักรยาน เพราะจบไม่ทันเวลาที่กำหนด

ถามว่าเสียใจไหม ก็เสียใจนะ แต่ดีตรงที่เราได้ประสบการณ์ ได้รู้ว่าผลของการไม่ซ้อมเป็นยังไง เพราะเราคิดแต่ว่าเราแข็งแรง เรามีพื้นฐานแล้ว

อุปสรรคไหนยากที่สุด

สนามที่จันทบุรีเป็นฟูลมาราธอน ด้วยความที่ประมาทไม่ดูว่าสนามแข่งเป็นยังไง ไม่ได้ดูเส้นทาง ปั่นไปได้เกือบ 8 กิโล ต้องผ่านสองเนินต่อกัน พอขาลงด้วยความที่รถหนักเราก็ปล่อยลงเลย ลงเนินแรกไม่เป็นไร พอลงเนินที่สองเท่านั้นแหละ ข้างหน้าเป็นโค้งหักศอก แล้วเราไม่ได้เบรกเลย ตอนนั้นเบรกจนถุงมือหลุด ด้วยความที่วิ่งเร็วมากประมาณ 20 กม./ชม. แม้ไม่มีถุงมือก็ต้องเบรกที่แฮนด์จนล้อลากแล้วระเบิดเลย เพราะไม่งั้นอาจพุ่งชนที่กั้น ตกลงไป สภาพตอนนั้นคือล้อแตก หยุดตรงที่กั้นพอดี มือพอง ถุงมือขาด นาทีชีวิตเลย ทุกคนก็ตกใจ ตอนนั้นเขาจะให้เรา cut-off แต่ก็ขอเขาไปต่อ แต่เพราะรถพังจึงต้องใช้รถคันนี้ (ชี้ไปที่รถคู่ชีพ) จากนั้นก็ปั่นต่อจนจบ ภูมิใจว่าถึงแม้จะมีอุปสรรค เราก็สู้ต่อจนจบ การเจอแบบนี้ทำให้ความระแวดระวังของเรามากขึ้น ถือเป็นบทเรียนว่าเรซซิ่งควรจะปั่นกับพื้นถนนมากกว่า

วางเป้าหมายไว้อย่างไร

สำหรับมาราธอนก็อยากจะไปสนามเมเจอร์ต่าง ๆ มีประมาณ 6 สนามที่คนทั่วโลกจะไป แต่สนามเหล่านั้นต้องใช้เรซซิ่ง ซึ่งเราก็มีรถแล้วเหลือแค่ซ้อมกับทุน(หัวเราะ) สนามพวกนี้ถ้าสมัครต้องใช้เงินเป็นหมื่น ค่าเดินทางอีก ค่าที่พักอีก ส่วนว่ายน้ำเป็นเรื่องที่เราจริงจัง มีเวลาเก็บตัว มีเบี้ยเลี้ยง มีเงินเดือน

เราชอบเล่นทุกอัน แต่ละอันก็มีสิ่งน่าสนใจ วิ่งขึ้นตึก ปีนผา
มาราธอน ว่ายน้ำ เราลองทุกอย่าง

ปีนผา?

ตอนนั้นเรามาซ้อมร้องเพลงที่โรงยิมคณะบัญชี เห็นคนปีนผาอยู่ ก็เลยหยุดดู เขาเห็นเราดูเลยมาถามว่า “อยากลองเหรอ ลองได้นะ” จะเหลือเหรอคะ(หัวเราะ) ปีนผาสนุก แต่เหนื่อยมากกกก เราไม่มีขาที่จะส่งแรง เราก็ต้องดึงตัวเองขึ้นไปด้วยแขน ทุ กครั้งที่ปีนก็มีเอฟเฟคอยู่ อย่างปวดไหล่ พอขึ้นไปสักพักแล้วจะเริ่มล้า หมดแรง ถ้าหมดปุ๊บไม่ใช่แม้แต่แรงที่จะขึ้นนะ แรงที่จะเกาะก็หมดแล้ว

อยากเล่นอะไรเพิ่มเติมอีก

อะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเครื่องร่อน พาราไกด์ดิ้ง หรือว่ากระโดดร่ม

ต้นเดือนกุมภาฯ ที่ผ่านมา ได้ลองนั่งรถทัวร์คนเดียวไปเชียงคาน เพราะมีงานวิ่งที่เลย ลองเดินทางคนเดียว ซื้อตั๋วแล้วก็ไป แต่เราก็มีการเตรียมตัวหาข้อมูลก่อนเดินทาง เช่น จะขึ้นลงรถยังไง โชคดีพนักงานช่วยอุ้มขึ้นอุ้มลงได้ คอยถามเราว่าเข้าห้องน้ำไหม ออกรถ 7 โมง ไปถึงนู่น 5 โมงเย็น เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าสามารถเดินทางคนเดียวได้ ทุกวันนี้แม่ก็ห่วง แต่ไม่ห่วงว่าจะเป็นอะไร  แต่ห่วงว่าจะเที่ยวเยอะเกินไป(หัวเราะ)

เรามีไอดอลในการท่องเที่ยวนะ อย่าง “พี่โส - โสภณ ฉิมจินดา” ก็เดินทางคนเดียว แบบโบกรถ สกิลเขาสูงกว่า แอดวานซ์กว่า

เราว่าทุกคนมีจุดที่น่าสนใจ และจุดที่เป็นตัวของตัวเองแล้วทำได้ดี อยู่ที่ว่าจะดึงออกมาได้แค่ไหน และเห็นคุณค่ามากแค่ไหน อย่างเราไม่ได้เก่งเรื่องเรียนแต่ชอบกีฬา  ก็พัฒนาสิ่งที่ตัวเองชอบให้ออกมาตามที่ต้องการ ให้คนอื่นยอมรับ

แสดงว่าเราเข้าใจตัวเราเองมากใช่ไหม

เวลาเราได้กำลังใจจากคนอื่นก็รู้สึกดี แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสร้างกำลังใจด้วยตัวเราเอง  หมดไปก็สร้างขึ้นมาใหม่ได้ อีกอย่างเลยคือเราควรจะยอมรับตัวเองให้ได้ ตอนนี้เราเป็นคนพิการนั่งวีลแชร์นะ เราทำอะไรได้บ้าง ลิมิตได้มากน้อยแค่ไหน ยอมรับเลยนะว่าช่วงแรก ๆ เจอสายตาคนอื่นก็แทบจะร้องไห้เหมือนกัน ทำไมต้องมองเราแบบนี้ แต่เมื่อเราก้าวผ่านจุดนั้นมา ก็คิดได้ว่า เขาอาจไม่เคยเห็นเรา เราเป็นคนเปิดโลกคนพิการให้เขา

พอเรายอมรับตัวเองได้ ก็หันมามองว่าเรามีดีอะไร สิ่งดีอะไรที่นึกถึงแล้วมีพลังทำต่อ พัฒนาและดึงมันออกมา ทำจุดด้อยให้มันเด่น อย่างเมื่อก่อนว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุทุกวันนี้ก็อาจจะยังว่ายน้ำไม่เป็น ไม่ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ ไม่ได้เข้าธรรมศาสตร์โครงการนักศึกษาพิการ ไม่ได้มาปั่นมาราธอนหรือดำน้ำ ในเมื่อสิ่งต่าง ๆ  เกิดขึ้นแล้วกลับไปแก้ไขไม่ได้ หายพิการไม่ได้ ทำไมต้องคิดมากขนาดนั้น เรามีความรู้สึกเสียใจได้ แต่ไม่ใช่อยู่กับตรงนั้นนาน แค่คิดว่า อะไรทำได้ก็คือทำได้ ทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้แล้วเราพัฒนาได้ไหม อย่างน้อยก็ลองแล้วทำ พอทำได้กำลังใจจะเพิ่มขึ้นมาเอง เราก็จะเริ่มกล้าทำอะไรที่กว้างขึ้น

 

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุในวันนั้น เมย์จะสนุกกับการลองประสบการณ์ใหม่แบบนี้ไหม

ก็คงชอบเที่ยวเหมือนเดิม ไม่อยากให้คนอื่นคิดว่า เป็นคนพิการแล้วต้องดูดี รักษาภาพพจน์เป็นคนดี ชีวิตคือการเรียนรู้ มันมีรสชาติ มีทั้งดาร์ก ทั้งไม่ดาร์ก ไม่งั้นจะเรียกว่าชีวิตได้ยังไง

เราว่าโลกมันกว้าง ยิ่งเราออกไป ยิ่งทำให้เราอยากรู้มากขึ้น อาจเพราะเราไม่เคยเจอเรื่องที่ไม่ดี เลยไม่ได้มองโลกในแง่ลบ โลกของเราบวก ถ้าเราจริงใจ คนอื่นก็จะจริงใจกับเรา

ถ้ามีเพื่อนที่หมดไฟ จะแนะนำเขายังไง

ให้กลับไปมองรอบตัว สิ่งที่กำลังทำหรือประสบความสำเร็จมาแล้ว อาจจะมีกำลังใจมากขึ้น หมั่นเติมพลังให้ตัวเองเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก สิ่งสำคัญคือทำระหว่างทางให้มีความสุขด้วย มีความสุขกับสิ่งรอบตัว ชีวิตเป็นของเรา เราเป็นคนเลือก และทุกอย่างคือประสบการณ์ อยากทำอะไรก็ลองทำ กล้าที่จะก้าวออกมา กล้าที่จะลอง และพยายามกระตุ้นตัวเองตลอดเวลา คิดถึงความสำเร็จที่ต้องการ ความรู้สึกดีใจ แล้วเราก็จะแข็งแกร่งขึ้น