Skip to main content

บนรถไฟฟ้าบีทีเอสในช่วงเวลาที่คนกำลังแน่นขนัด ผู้โดยสารวีลแชร์คนหนึ่งคุยโทรศัพท์เสียงดัง “ลงไหนนะ สถานีนานา ตรงนั้นไม่มีลิฟต์ไม่ใช่เหรอ แล้วกูจะลงยังไง” สิ้นสุดเสียงโทรศัพท์ผู้โดยสารคนเดิมก็หันไปถามคนที่ยืนข้างๆ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ อีกเสียงของผู้โดยสารดังมาจากไกลๆ เพื่อยืนยันว่านานาไม่มีลิฟต์  หลายคนเริ่มคุยกันถึงวิธีที่วีลแชร์จะลงจากสถานี ล่วงเลยไปถึงประสิทธิภาพของการให้บริการ บ้างก็พูดถึงราคาค่าโดยสารที่แพง ทั้งๆ ที่มีโฆษณามาก จนเกิดวงถกเถียงวุ่นวายขนาดย่อม หลายคนเข้าร่วมการสนทนา บางคนฟังแต่ไม่พูดอะไร บางคนไม่สนใจ จากนั้นไม่นานเสียงก็เงียบหาย คนในวงสนทนานั้นทยอยลงจากขบวนรถไฟ

บางคนอาจคิดว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่ความจริงแล้วนี่คือส่วนหนึ่งของกระบวนการละครปฏิบัติการสด (Invisible Theater) ละครเวทีบนสถานที่จริงแบบผู้ชมไม่รู้ตัว ผ่านนักแสดงกว่าสิบคนที่เข้ามาร่วมสร้างสถานการณ์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเข้าสู่บทสนทนาและพูดคุย ในชื่อคณะละคร “มาร็องดู” ละครของผู้ถูกกดขี่ ที่เลือกเล่นประเด็นของลิฟต์บีทีเอสที่ยังสร้างไม่ครบ โดยมีฉั่ว-ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย นักการละครเป็นผู้ก่อตั้ง ศรชัยจะพาเราไปรู้จักความเป็นมาของละครปฏิบัติการสด ร่วมถึงแนวคิดที่สำคัญของละครที่ทำหน้าที่มากกว่าแค่ความบันเทิง

ไอเดียของละครปฏิบัติการสด (Invisible Theater) คืออะไร

ศรชัย: มาจากแนวคิดละครของผู้ถูกกดขี่โดยนักการละครชาวบราซิลที่ชื่อ ออกุสโต บูอัล ในตอนแรกออกุสโตทำละครธรรมดา จนวันหนึ่งได้ไปทำละครเกี่ยวกับการต่อต้านรัฐบาลให้ชาวบ้านดู หลังดูจบชาวบ้านรู้สึกหึกเฮิมอยากทำการปฏิวัติจริงๆ ออกุสโตซึ่งเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจชาวบ้านในครั้งนั้นถูกชวนให้ไปร่วมทำการปฏิวัติด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเขาปฏิเสธ เพราะออกุสโตเป็นนักการละคร ไม่ใช่นักรบ เขารบไม่เป็น ชาวบ้านเลยบอกว่า คุณนี่แย่มากเลยนะ “พวกเราจะหลั่งเลือดตัวเอง แต่คุณกลับไม่ยอมเสียเลือดสักหยด”  หลังคำพูดนั้น เขาตัดสินใจว่า ต้องทำละครแบบใหม่ เพราะสิ่งที่ทำอยู่เหมือนกับการไปหยิบยื่นคำตอบให้ แต่ไม่รับผิดชอบกับคำตอบ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของละครหลากหลายแนวที่เขาคิดขึ้น และหนึ่งในนั้นก็คือละครปฏิบัติการสด

ละครปฏิบัติการสดเป็นการแสดงที่เกิดขึ้นและเล่นกับสภาพปัญหาจริง เพื่อดูการแสดงออกและการตอบสนองของคนที่อยู่บริเวณนั้น ว่าจะมีคนเข้ามาแก้ปัญหาหรือเปล่า ละครจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่สังคมไม่อยากพูด เป็นเรื่องที่เราซุกไว้ใต้พรม หยิบขึ้นมากระตุ้นให้คนได้พูดเรื่องปัญหาเพื่อทำลายมายาคติบางอย่างในตัวเขา

ตัวอย่างละครปฏิบัติการสดเรื่องหนึ่งที่พอยกตัวอย่างได้ คือ เหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งเดินเข้าไปในร้านอาหารร้านหรู และเริ่มสั่งอาหารราคาถูกแต่กินแล้วไม่อร่อย จึงเปลี่ยนไปสั่งอาหารราคาแพง พอกินหมดไม่มีเงินจ่ายเลยขอล้างจานแลกค่าอาหารแทน เขาเรียกพนักงานของร้านมาและถามว่า “เป็นพนักงานล้างจานที่นี่ได้ค่าจ้างเท่าไหร่” พอพนักงานตอบชายคนนั้นก็ย้อนถามไปอีกว่า “คุณต้องเป็นพนักงานล้างจานกี่ชั่วโมงถึงจะได้กินอาหารจานนี้”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อให้พนักงานตั้งคำถามต่อตัวเองว่า เขากำลังทำงานที่กดขี่รายได้อยู่ เขาบอกว่าต้องทำงานถึง 8 ชั่วโมงถึงจะได้กินอาหารจานนี้ จากนั้นก็ถามผู้จัดการร้านด้วยคำถามเดิม ซึ่งเขาบ่ายเบี่ยงและไม่ตอบ จากนั้นจึงชวนลูกค้าในร้านที่เป็นนักแสดงคุยกันเพื่อให้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม จนกระทั่งชวนลูกค้าที่อยู่ในร้านคุยต่อ เพื่อกระตุ้นความคิดทั้งพนักงานและแขกที่มากินอาหารในร้าน

พี่ฉั่ว

การทำละครแทรกสดแต่ละครั้งเป็นอย่างไรบ้าง

ทำมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง  ครั้งแรกก็ทำเรื่องคนพิการ เราพาคนพิการนั่งวีลแชร์ 5 คน ขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อไปลงที่อนุสาวรีย์ชัยซึ่งตอนนั้นยังไม่มีลิฟต์ลงไปชั้นพื้นดิน ตอนนั้น รปภ. ประสานงานกันวุ่นวายเพราะไม่มีทางลง เขาเลยยื่นข้อเสนอว่าจะลงก็ได้ แต่ต้องใช้เวลาเตรียมคนมาขนวีลแชร์ลงบันได ทั้งนี้บทบาทของแต่คนก็จะไม่เหมือนกัน คนนั่งวีลแชร์บางคนไม่พอใจ บางคนโอเค บางคนยอมแพ้กลับบ้าน มีนักแสดงที่เป็นหน้าม้าแสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคนนั่งวีลแชร์ ตอนนั้นเราพยายามสร้างการแลกเปลี่ยนกับผู้โดยสารรอบข้าง แต่ปรากฏว่าล้มเหลว มีคนมายืนดูแต่ไม่มีส่วนร่วมเลย อาจจะด้วยหลายเหตุผลทั้งรถไฟฟ้าที่เสียงดังมาก หรืออาจรู้สึกว่า นี่เป็นเหตุการณ์คนทะเลาะกัน กลายเป็นไทยมุงกันไป เลยออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ครั้งที่ 2 ที่โคราชในหลายปีต่อมา ตอนนั้นเป็นประเด็นเรื่องของเสื้อสีดำในช่วงไว้อาลัย และมีการโจมตีคนที่ใส่เสื้อสีอื่น เราเลยลองไปที่ร้านอาหารร้านหนึ่ง โดยให้นักแสดงใส่เสื้อสีที่สดมากๆ ส่วนอีกคนก็ใส่เสื้อดำแบบใส่ไปงานพิธีทางการ เหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นตอนกำลังต่อแถวเพื่อซื้ออาหาร คนที่แต่งชุดดำเข้าไปต่อว่าคนที่ใส่เสื้อสีสดด้วยเสียงค่อนข้างดัง ปรากฏว่าคนมอง หนึ่งในนั้นคือพ่อที่เขาพาลูกใส่เสื้อสีสดมากินข้าว จนเขาต้องพาลูกไปกินร้านอื่น ท้ายที่สุดเราก็เฉลยว่ากระบวนการนี้เป็นการแสดง

ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  เราทำเรื่องอาจารย์ที่แซงคิวนักศึกษาขึ้นลิฟต์ โดยในมหาวิทยาลัยก็จะมีอาคารเรียนรวมที่คนมาต่อแถวยาวรอขึ้นลิฟต์ ซึ่งทั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องใช้ลิฟต์ตัวเดียวกัน ละครสร้างสถานการณ์โดยให้อาจารย์คนหนึ่งโผล่เข้าไปพยายามแซงเข้าลิฟต์ และมีกลุ่มนักศึกษาที่เป็นนักแสดงเหมือนกันต่อว่าอาจารย์ เวลานั้นคนรอแถวเข้าลิฟต์เยอะมาก แต่ปรากฏว่ามีคนร่วมแจมน้อยมาก เพราะเรื่องมีความขัดแย้งก็ทำให้คนไม่กล้าเข้ามา บางคนทำเหมือนกดมือถือแต่ก็ฟังทุกคำ อย่างไรก็ดีอาจารย์คนอื่นที่เข้ามาเห็นเหตุการณ์ รวมถึงเพื่อนนักศึกษาบางคนก็รู้สึกว่าการต่อว่าอาจารย์ในครั้งนั้นไม่ถูกต้อง เรื่องนี้เป็นบทเรียนเหมือนกันว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเหมือนกับที่เรามองเห็นเสมอไป ในสังคมมีคนหลายแบบ ทั้งที่เห็นใจคนที่กดขี่ก็มี สังคมจริงๆ เป็นแบบนี้  

สถานีบีทีเอส

ทำไมถึงสนใจเรื่องความพิการ

เราเคยป่วยเป็นโรคไขข้ออักเสบแบบยึดติดจนต้องนั่งวีลแชร์ โรคนี้รักษาไม่หายทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ อาการจะเป็นภูมิแพ้คล้ายโรคพุ่มพวง แต่ว่าเป็นที่ข้อ ภูมิคุ้มกันเราทำร้ายตัวเอง คนที่เป็นหนักมากๆ หลังจะโก่งเพราะไขข้ออักเสบ พอเดินไม่ได้เวลาจะเข้าห้องน้ำครั้งหนึ่ง เป็นสิ่งที่ยากลำบากมาก เรื่องง่ายๆ แค่นี้ทำไมเราทำไม่ได้ รู้สึกไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปเลย ทำให้เรารู้ว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน

ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเพื่อนนั่งวีลแชร์ จนได้มาทำกิจกรรมพัฒนาขับเคลื่อนสังคมและรู้จักเพื่อนคนพิการคนหนึ่ง เราได้เรียนรู้ร่วมกับเขา จากนั้นก็เจอคนพิการในแบบอื่นมากขึ้น ก็เลยชวนมาทำละครด้วยกัน ทั้งหมดเรามองว่าพวกเขาเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ ไม่ได้มองในมุมว่าต้องเห็นใจคนพิการ เลยนำเสนอมุมที่เขาโดนสังคมกระทำอะไรเสียมากกว่า

คนพิการคือผู้ที่ถูกกดขี่จากอะไร?

เยอะแยะ กดขี่จากระบบการจัดการของสังคมที่กีดกันให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างคนไม่พิการได้ แค่ระบบโครงสร้างอย่างอนามัยชุมชนก็ไม่มีทางลาดให้วีลแชร์ขึ้นไปชั้นสอง แล้วเขาจะขึ้นไปยังไง เราเห็นถึงความไม่เท่าเทียมของความเป็นคน ส่วนเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการกดทับภายใน ถ้าถามว่าเราเติบโตมามีเพื่อนที่เป็นคนพิการสักกี่คน ความพิการอย่างสายตาเลือนราง เราเองก็เพิ่งมารู้จักตอนโต เพราะไม่เคยมีโอกาสอยู่ร่วมกันเลย แล้วคุณจะไปให้เขาเห็นอกเห็นใจกันได้อย่างไร เราคิดว่า ระบบคิดของประเทศมีปัญหา ก็เลยแยกคนพิการออกไป และส่งผลให้ระบบโครงสร้างมีปัญหา เคยได้ไปโรงเรียนขนาดเล็กของอเมริกา นักเรียนมีแค่ 18 คน แต่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ดีหมดเลย เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วต่างกันมาก เพราะระบบความคิดไม่เหมือนกัน

 

แล้วละครเล่นสดที่แสดงบนบีทีเอสครั้งล่าสุดมีที่มาอย่างไร

เริ่มต้นจากที่ซาบะ หรือมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ กับเครือข่าย มองเห็นว่าปัญหาเรื่องลิฟต์รถไฟฟ้าไม่เคยได้รับการตอบสนอง แม้จะขับเคลื่อนด้านกฏหมาย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง จึงเห็นว่าละครน่าจะเป็นเครื่องมือในการพลักดัน ซาบะเลยชวนเรามาทำละครปฏิบัติการสดครั้งนี้

ในเรื่องของเนื้อหา เริ่มจากการพูดคุยถึงปัญหา ไอเดียแรกได้จากสมาชิกในกลุ่มที่ชอบตั้งคำถาม ถามนู่นถามนี่ตลอดเวลา เราเลยให้เขาไปถามคนแปลกหน้า แล้วปรากฏว่าคนแปลกหน้าก็ตอบกลับมาจริงๆ เลยนำมาออกแบบบทของคนพิการที่ถามหาวิธีลงจากสถานีรถไฟฟ้าที่ไม่มีลิฟต์ แล้วนำไปสู่บทสนทนาปัญหาเรื่องการใช้ลิฟต์ต่างๆ เช่นปัญหาเครื่องหยอดเหรียญ โฆษณา ฯลฯ

ในเรื่องจะมีตัวละครหลายแบบ ทั้งบทบาทของคนขี้สงสาร คนที่ชมคนพิการเกินหน้าเกินตา หรือคนที่เข้ามาถามแต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร จุดมุ่งหมายของการมีตัวละครเหล่านี้คืออะไร ?

ละครก็เหมือนวงออเคสตรา ต้องมีหลายรสหลายชาติ ไม่ควรมีตัวละครที่เป็นแบบเดียวกันหมด ไม่งั้นจะรู้สึกว่ามิตินั้นแบนมากๆ แต่ละบทบาทเป็นตัวแทนของคนหลายแบบที่มีอยู่ในสังคม ถ้าเราอยากให้คนหลายแบบเข้าร่วมวงสนทนา ก็ต้องมีคนหลายแบบอยู่ด้วย อย่างตัวละครหนึ่งที่ชื่อสุกิจ ที่ทำหน้าที่ถามนู่นถามนี่อยู่ตลอด แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร เป็นการดึงความสนใจให้คนแถวนั้นแทรกตัวมาตอบคำถามและช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแทนสุกิจ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าหน้าที่ของเราคือการโยนโจทย์ โยนคำถาม เราไม่ได้มีหน้าที่ตอบ แต่เราสร้างคำถาม

สมาชิกที่มาเล่นส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ทำไมไม่ใช่นักแสดงจริงๆ มาเล่น ?

สำหรับนักแสดง ถ้าไม่ใช่ประเด็นทางสังคมที่เขาแคร์ ก็ไม่ได้ผลดี อย่าลืมว่านี่คือละครด้นสด เราอาจจะต้องพูดสิ่งที่ไม่มีอยู่ในบท ตรงนี้แหละที่สำคัญคือถ้าเขาไม่ได้สนใจในประเด็นของละครเลย เขาก็พูดไม่ได้ เพราะไม่มีจิตใจ ขาดจิตวิญญาณในเรื่องนั้น ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวด เพราะไม่ได้รู้สึกถูกกดขี่อะไร

จริงๆ น่าคุยไปต่อถึงเรื่อง Political Consciousness หรือความตระหนักรู้ทางด้านการเมืองของสังคมเรา ว่าต้องบ่มเพาะ เหมือนกับในหนังสือเรื่องการศึกษาของผู้ถูกกดขี่ ของเปาโล เฟรรี ที่อธิบายว่า จิตสำนึกทางการเมืองต้องถูกสร้าง ไม่ใช่สิ่งที่มีมาโดยธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นได้โดยการศึกษา และควรเป็นการศึกษาจากมุมของผู้ถูกกดขี่หรือคนที่ด้อยกว่าในเชิงอำนาจ เพราะถ้ามาจากผู้ที่อยู่เหนือกว่า การศึกษานั้นก็จะเป็นการศึกษาที่กล่อมเกลาให้เราอยู่ใต้อำนาจ เช่น เราจะเป็นพลเมืองที่ดี เราจะไม่ต่อต้านกับอำนาจ ต่อให้ผู้ใช้อำนาจใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เราก็จะไม่ต่อต้าน นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นการศึกษาในแบบของผู้ถูกกดขี่ จึงไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย เพราะสังคมไทยไม่ชอบ แต่เราชอบอะไรที่สามัคคี เห็นคล้อยตาม ปรองดอง สมานฉันท์ เรากำลังกดขี่พลเมืองให้ด้อยกว่าที่เขาจะเป็นได้ ด้วยการไม่บอกเขาว่า ศักดิศรีความเป็นมนุษย์เป็นยังไง

 
 

คาดหวังให้คนดูได้รับอะไร

ภาพหนึ่งคืออยากเห็นคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ อาจเป็นนักการเมืองหรือผู้บริหารมาเห็นเหตุการณ์  เราอยากรู้ว่าเขาจะคิดยังไง พูดยังไง ตัดสินใจหรือให้ข้อมูลอะไร จะเสนอทางออกให้เราไหม หรืออาจจะนำเราไปสู่การถกเถียงเกินจากที่เราคาดคิดก็ได้ เราอยากเห็นอะไรแบบนั้น ถามว่าเราเชื่อในคนมีอำนาจไหม เราไม่ได้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาจากคนข้างบนสุดเสมอไป เพราะยิ่งเขาอยู่สูง เดิมพันของเขาก็เยอะ แต่สิ่งที่เราคาดหวังมาจากที่ฐานรากมากกว่า อยากให้คนมีจิตสำนึกทางการเมืองมากขึ้น  และรู้สึกโอเคที่จะคุยเรื่องการเมืองได้ในที่สาธารณะ

ทำไมเราต้องคุยกันเรื่องความขัดแย้งได้

เพราะว่าที่ผ่านมาเราไม่ทำอะไร พอเราไม่ทำแล้วเห็นไหมว่าประเทศเป็นยังไง ดังนั้นทุกคนต้องลองเผชิญกับปัญหา ผลลัพธ์อาจจะไม่ดีที่สุด แต่คุณก็ได้ลองทำ ตอนนี้คุณยังไม่ได้ลองทำให้ถึงที่สุดเลย แล้วจะมาบอกว่าไม่ดีไม่ได้

ที่ผ่านมาทุกคนต้องการทั้งความสงบเรียบร้อย ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และการปิดปาก ส่วนหนึ่งเพราะว่าคุณไม่เคยคิดที่จะเผชิญกับความเสียหน้า หรือข้อเสียในตัวคุณเอง แนะนำว่า คุณต้องลองเผชิญกับความเสียหน้า หรือสิ่งโง่ๆ ในตัวเองว่าเป็นยังไง อาจรู้สึกแย่ใช่ไหม แต่นั่นก็คือการเรียนรู้

กระบวนการละครทำให้เห็นปัญหาชัดเจนกว่าการนำเสนอข้อมูลหรือไม่

เรามองว่ามนุษย์มีอารมณ์และความรู้สึก ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียว แต่มนุษย์มีเซ้นส์ ทักษะ ความรู้สึกทางร่างกายและจิตใจ

แล้วทำไมเรื่องเล่าถึงมีพลัง เพราะเรื่องเล่าเล่นกับทักษะส่วนนี้ของมนุษย์ เรื่องเล่าถึงแม้จะหยิบยืมภาษามาเล่า แต่เรื่องเล่าทำงานมากกว่าภาษาเพราะทำงานกับจิตใจคนด้วย จะเห็นว่าอะไรที่เป็นเรื่องเล่า เราไม่ต้องพยายามจำ แต่ข้อมูลดิบเป็นสิ่งที่เราจำได้ยาก กลับกันถ้าเราเอาข้อมูลดิบเหล่านั้นมาทำเป็นเรื่องเล่า คนจะจำได้มากกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องเล่าจะเข้าไปถึงจิตใจของคนมากกว่า

คาดหวังให้ละครนำไปสู่อะไร

เราพูดคำนี้อยู่ตลอดคือ คาดได้แต่อย่าหวัง สิ่งที่คาดคือ ละครเรื่องนี้จะกลายเป็นปัจจัยให้คนมาสนใจ ว่าที่ตรงนี้มีปัญหาจริงและเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน แค่นี้พอแล้วที่อยากได้เพราะเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงใครได้ขนาดนั้น เราถึงไม่พูดว่าละครสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะละครไม่ได้ทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นอกจากว่าคนที่ดูละครจะลุกออกไปทำอะไรบางอย่าง นั่นต่างหากจะทำให้สังคมเปลี่ยน สังคมไม่ได้เปลี่ยนด้วยละคร สังคมเปลี่ยนด้วยคนที่ลุกออกไปทำอะไรจริงๆ

ประเด็นที่อยากทำในอนาคตคืออะไร

สนใจเรื่องการคุกคามทางเพศ เพราะมีเรื่องนี้ในสังคมเยอะ อย่างอิมเมจ สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ ที่ออกมาพูดเรื่องนมเมื่อไม่กี่วันก่อน เราสามารถเล่นเรื่องนี้ได้ เช่น ให้ผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาโดนผู้ชายแซวในที่สาธารณะ แล้วลองมาดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือไม่ก็เชิญอิมเมจมาเล่นแต่งตัววาบหวิวหน่อย แล้วมีผู้ชายแซว ให้อิมเมจเดินเข้าไปถามว่า มีปัญหาอะไรกับดิฉันหรือเปล่าคะ วางภาพอิมเมจเชิงวิชาการ ส่วนผู้ชายมาแนวลามกสองแง่สองง่าม หัวเราะกัน เหมือนบูลลี่อิมเมจ แล้วเราก็ชวนทุกคนมาถกกันเรื่องนี้ วางแผนให้บางคนพูดว่า แต่งตัวอย่างนี้ไงถึงโดนข่มขืน หรือมีแม่ที่เข้ามาพูดว่า แต่งตัวแบบนี้ไม่ได้นะลูก เราเป็นผู้หญิงต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย เพื่อสร้างให้คนอื่นเข้ามามีบทบาทสนทนาและถกปัญหาเรื่องนี้

 
อ่านเพิ่มเติม

ย้อนดู 26 ปีการต่อสู้เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอส

https://thisable.me/content/2018/01/361

รายงาน: ‘แตกต่าง..เป็นบางเวลา’ ละครของผู้ถูกกดขี่ เวทีที่ผู้ชมกลายเป็นผู้แสดง

https://prachatai.com/journal/2015/11/62250