Skip to main content

เวลาเดินบนทางเท้า หลายคนคงเคยสังเกตเห็นแผ่นกระเบื้องสีเหลือง (หรือบางแห่งเป็นแผ่นโลหะ) ที่มีรูปร่างเป็นแถบนูนเส้นตรงและยังมีแบบจุดนูนกลมตะปุ่มตะปั่มเต็มไปหมดโดยไม่รู้ว่ากระเบื้องพวกนี้มีไว้ทำอะไร มีการใช้งานอย่างไร หรือเอามาเรียงต่อกันเพื่อความสวยงามเท่านั้น?

ปุ่มเหล่านี้เกิดขึ้นโดยครูตาบอดชาวฝรั่งเศสชื่อหลุยส์ เบรลล์ ซึ่งได้คิดค้นสัญลักษณ์แทนตัวอักษรโดยเลือกใช้จุดนูนเล็ก ๆ ใส่ในแต่ละช่องรวมทั้งหมด 6 ตำแหน่ง และจัดวางสลับตำแหน่งไปมาเป็นรหัสแทนตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ ผลจากการคิดค้นของหลุยส์ เบรลล์ ทำให้คนพิการทางการมองเห็นได้มีโอกาสสื่อสาร เรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น จนกระทั่งครูโรงเรียนสอนคนตาบอดชาวญี่ปุ่นชื่อว่า Seiichi Meyaki หยิบมันมาพัฒนาเป็นปุ่มกระเบื้องบนทางเดิน หรือที่เรียกว่า เบรลล์บล็อก (Braille Block) หรือไกด์ดิง บล็อก (Guiding Block) ในปี ค.ศ.1965 และได้มีการนำมาใช้จริงในครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มี.ค.1967 ที่หน้าโรงเรียนสอนคนตาบอดในเมืองโอกายาม่า ประเทศญี่ปุ่น การคิดค้นนี้ได้รับการชื่นชม และถูกนำไปใช้ต่อในอีกหลายที่ เช่น หน่วยงานการรถไฟของประเทศญี่ปุ่น ที่จัดให้มีการปูเบรลล์บล็อกตามสถานีรถไฟ และถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศเช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม หรือแม้แต่ในประเทศไทยก็ดี

รูปแผ่นเบรลล์บล็อกลายธงชาติญุี่ปุ่น
ภาพประกอบโดย TO.pyd

แต่เบรลล์บล็อกนี้ ก็กลายเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดียไทยในช่วงที่ผ่านมา หลังมีภาพเบรลล์บล็อกบนทางเท้าที่จัดวางไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ บ้างก็นำทางไปเจอเสาไฟ้ฟ้า ต้นไม้ แผงขายของ ตู้โทรศัพท์ หรือขาดหายไประหว่างทาง ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยถึงการจัดวางเบรลล์บล็อกบนทางเท้าว่า การจัดวางที่ดีควรเป็นอย่างไร และถ้าทำแล้วไม่มีประสิทธิภาพจะทำไปทำไม?

คนพิการทางการเห็นได้สะท้อนความคิดเห็นต่อเบรลล์บล็อกบนทางเท้าว่า
"ไม่ค่อยได้ใช้งานเบรลล์บล็อกเท่าไหร่เพราะไม่แน่ใจว่าใช้งานแล้วจะปลอดภัย บางทีเดินตามเบรลล์บล็อกแล้วเจอสิ่งกีดขวาง มีคนยืนอยู่ หรือมีร้านค้ามาตั้ง อีกอย่างคือไม่ค่อยมีให้ใช้งานด้วย ยิ่งต่างจังหวัดยิ่งหายาก หากจะปรับปรุงควรทำให้มีการใช้งานสะดวก ทั่วถึงทุกพื้นที่ และถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย" ปิยะณัฐ ทองมูล นักศึกษามหาวิทยาลัยราชสุดากล่าวกับ Thisable.me

"โดยส่วนตัวแทบไม่ได้ใช้งานเบรลล์บล็อกเลย เวลาไปเที่ยวเราต้องมีคนไปด้วยเพราะที่ๆ ไปไม่มีเบรลล์บล็อก และบริเวณที่ทำงานก็ไม่มีให้ใช้ เราเลยต้องทำตัวเองให้ชินกับการที่ไม่มีเบรลล์บล็อก ถ้าจะมีการปรับปรุงก็อยากให้ทำเบรลล์บล็อกให้ทั่วถึงและสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ไม่ใช่เดินแล้วไปเจอเสาไฟฟ้าหรือต้นไม้กีดขวางอยู่" เสาวณีย์ สีสอง เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยกล่าวต่อ

เช่นเดียวกับที่มณเฑียร บุญตัน ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย แสดงความคิดในเว็บไซต์เวิร์คพอยท์ว่า การติดตั้งทางเดินสำหรับคนตาบอดบนสภาพทางเดินเท้าของประเทศไทยนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และยังเป็นการเปลืองงบประมาณ แนะนำให้มีการปฏิรูปการใช้ทางเดินเท้า 6 อย่าง ได้แก่

1. ฝาท่อปิดสนิท
2. พื้นผิวต้องเรียบเสมอกัน
3. ไม่มีเสาไฟฟ้าขวางทาง
4. สายไฟและป้ายต่างๆจะต้องจัดให้เป็นระเบียบและอยู่เหนือศีรษะ
5. ห้ามรถวิ่งอย่างเด็ดขาด
6. จัดระเบียบเรื่องการวางข้าวของระเกะระกะ

หลังจากนั้นจึงค่อยดำเนินการสร้างพื้นผิวต่างสัมผัสให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง

 

แล้วเบรลล์บล็อกที่ติดตั้งถูกต้องนั้นนำทางได้อย่างไร มีการใช้งานและสำคัญอย่างไรตต่อคนตาบอด เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ "เบรลล์บล็อก" กัน

เบรลล์บล็อก (Braille Block) หรือไกด์ดิง บล็อก (Guiding Block) คือทางเดินสำหรับคนพิการทางการเห็นที่ต่อยอดมาจากลักษณะของอักษรเบรลล์เพื่อให้จดจำได้ง่าย มี 2 แบบคือ ปุ่มกลมและเส้นยาวลายตรง

เมื่อคนพิการทางการเห็นกวาดไม้เท้าขาวไปตามทางเดินแล้วเจอแถบกระเบื้องที่เป็นเส้นยาวตรงเรียงต่อกันไป นั่นคือทางตรงที่สามารถเดินไปตามทางนั้นได้เรื่อย ๆ หากเจอกับกระเบื้องที่มีปุ่มกลม นั่นหมายถึงการให้หยุด ทางข้างหน้าอาจมีบันได ทางม้าลาย หรือมีการเปลี่ยนทิศทาง เป็นต้น
เบรลล์บล็อกนิยมใช้สีเหลืองเพื่อความสว่างและมองเห็นง่าย เป็นการอำนวยความสะดวกต่อคนพิการทางการเห็นแบบมองเห็นเลือนรางด้วย เพราะไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนก็สามารถเห็นได้ชัดเจน และควรติดตั้้งห่างจากอุปสรรคที่ต้องการเตือนประมาณ 30 เซนติเมตร


ภาพประกอบโดย TO.pyd

หากไม่มีไม้เท้าขาวล่ะ จะรู้ได้ยังไงว่าทางตรงไหนเดินได้?

ก่อนจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอก คนพิการทางการเห็นจะได้รับการฝึกฝนให้เท้ามีความคุ้นชินเวลาสัมผัสกับเบรลล์บล็อก ทำให้เวลาเดินบนทางเท้าแล้วมีเบรลล์บล็อกเรียงไปตามทางแล้วพวกเขาก็สามารถเดินไปตามทางนั้นได้

 

แล้วถ้าไม่มีทั้งไม้เท้าขาวและบริเวณนั้นไม่มีเบรลล์บล็อกล่ะ เราจะช่วยอะไรได้บ้าง?

หากเจอคนพิการทางการเห็นตามสถานที่สาธารณะ แล้วบริเวณนั้นไม่มีเบรลล์บล็อกบนทางเท้าอยู่เลย ให้เข้าไปถามเขาก่อนว่าเขาจะไปไหน ต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า ถ้าสามารถนำทางไปได้ ให้คนพิการทางการเห็นจับที่ด้านหลังต้นแขนด้านในด้านหนึ่งตามที่เขาถนัดและพาเดินนำทางไป ด้วยความเร็วปกติ
*โปรดหลีกเลี่ยงการจับมือ ดึงแขน และการถูกเนื้อต้องตัวโดยไม่ถามหรือขออนุญาตก่อนเพราะอาจจะพวกเขาทำให้ตกใจได้

 

อย่างไรก็ดี หลังมีภาพการติดเบรลล์บล็อกแบบไม่ถูกต้อง กรมทางหลวงก็รีบเข้าแก้ไขบริเวณทางเท้าถนนแจ้งวัฒนะ โดยระบุว่า กรมทางหลวง โดยแขวงทางหลวงกรุงเทพ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยปรับเปลี่ยนการวางทางเดิน "เบรลล์บล็อก" ให้สามารถนำทางแก่คนพิการทางการมองเห็น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และไม่เป็นอันตรายมากขึ้นอีกด้วย และขออภัยที่ทำให้เกิดความไม่สะดวก นอกจากนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือแจ้งเหตุต่าง ๆ ได้ที่แขวงทางหลวงกรุงเทพ โทร. 0 2354 6668 75 ต่อ 113 หรือ สายด่วนกรมทางหลวง 1586

 

เว็บไซต์อ้างอิง www.bagindesign.com/braille-block/