Skip to main content

ทวิตเตอร์ตอบสนองข้อเรียกร้องจากผู้ใช้งานด้วยการอัพเดทแพลตฟอร์มใหม่ โดยให้ความพิการเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ทวิตเตอร์คุ้มครองผ่านการทวีต (Tweet) ข้อความบนหน้าทวิตเตอร์ รวมทั้งหากพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพที่เป็นการข่มขู่ คุกคามอันเนื่องมาจากความเกลียดชังความพิการ ก็สามารถแจ้งต่อทวิตเตอร์ได้เช่นกัน

 

แต่เดิมแม้จะมีการคุ้มครองจากการถูกละเมิดข้อบังคับของทวิตเตอร์ ทั้งเรื่องโจมตีหรือข่มขู่ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องความพิการด้วยนั้น แต่ก็ยังไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงมากนัก การพัฒนาในครั้งนี้จึงจะทำให้นโยบายมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นไปอีก ด้วยการจัดให้ความพิการเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ทวิตเตอร์จะให้ความคุ้มครองจากพฤติกรรมอันเกิดจากความเกลียดชังหรือความรุนแรงใดๆ ก็ตามบนหน้าทวิตเตอร์และสามารถรายงานแก่ทวิตเตอร์ได้โดยตรง โดยยังคงให้การคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายเดิมอย่าง บุคคลที่อยู่ในความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศความเชื่อ ฯลฯ

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ นาตาลี วีเวอร์ คุณแม่ชาวนอร์ธ แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีลูกสาวที่ป่วยจากโรคในกลุ่มอาการเรตต์ (Rett Syndrome) กลุ่มอาการเรตต์ เป็นความบกพร่องทางพัฒนาการแบบรอบด้าน (PDDs - Pervasive Developmental Disorders) พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงก่อนคลอดมักตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่หลังจากที่อายุราว 5 เดือน จะเริ่มมีความผิดปกติทางพัฒนาการให้เห็น การเจริญเติบโตของศีรษะช้าลงกว่าปกติ สูญเสียทักษะการใช้มือ ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของมือ ตามความต้องการได้ ตามด้วยการเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติของมือซ้ำๆ อยู่บริเวณกึ่งกลางลำตัว เช่น ทำมือหมุนบิดไปมา หรือทำท่าคล้ายกำลังล้างมือ การประสานงานของกล้ามเนื้อในการเดิน หรือขยับลำตัว ไม่ดีอย่างชัดเจน เคลื่อนไหวเชื่องช้า เดินเซ และอาจเดินไม่ได้ในที่สุด

วีเวอร์เรียกร้องให้ทวิตเตอร์คุ้มครองคนพิการ หลังจากที่ลูกสาวถูกนำไปพูดถึงในทวีต ซึ่งรวมไปถึงมีการนำภาพถ่ายของเด็กหญิงไปโพสต์ และกล่าวอ้างว่า สนับสนุนให้มีการทำแท้งเด็กตั้งแต่ในครรภ์อีกด้วย

วีเวอร์กล่าวกับสำนักข่าว CNN ว่าในขั้นต้น ทวิตเตอร์กล่าวว่าทวีตดังกล่าว ไม่ละเมิดกฎข้อบังคับตามนโยบายของทวิตเตอร์ แต่หลังจากที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและเป็นที่จับตามอง พวกเขาได้รับทราบถึงความผิดพลาด และจัดการลบทวีตที่มีเนื้อหาไม่เมาะสมเกี่ยวกับลูกสาวของวีเวอร์ไปในที่สุด ทวิตเตอร์ชี้แจงว่า เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากเครื่องมือในการตรวจสอบการละเมิดผ่านทางทวิตเตอร์นั้น มีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะบรรจุให้ความพิการ เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ทางทวิตเตอร์จะต้องให้การคุ้มครอง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ความพิการถูกจัดเป็นหนึ่งกลุ่มคนที่ทวิตเตอร์ได้ให้ความคุ้มครองผ่านการทวีตบนหน้าทวิตเตอร์แล้ว และวีเวอร์ได้ทวีตข้อความของเธอ เพื่ออัพเดทเรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงนี้โดยขอบคุณสำหรับการเพิ่มความพิการเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับการตุ้มครองจากการละเมิดและเธอหวังว่า ทีมงานทวิตเตอร์จะตรวจพบความรุนแรงเมื่อมีคนถูกคุกคามเนื่องจากความพิการ หรือมีข้อจำกัดทางสุขภาพ

ปัจจุบัน ทวิตเตอร์เป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก และได้มีการวางนโยบายสำหรับผู้ใช้งานและข้อบังคับต่างๆ รวมไปถึงการวางนโยบายด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงความเกลียดชัง ซึ่งนอกจากการให้ความคุ้มครองกลุ่มคนในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฯลฯ แล้วยังหมายรวมไปถึงความพิการและโรคต่างๆโดยหากมีการรายงานความไม่เหมาะสมดังกล่าวเข้ามา ทวิตเตอร์จะมีระบบที่คอยตรวจสอบและรายงานการละเมิดกฎข้อบังคับดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ทวิตเตอร์จะพิจารณาการละเมิดที่ได้รับรายงาน ร่วมกับบริบทด้วยว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นความรุนแรงจริงหรือไม่ หากการกระทำดังกล่าวสื่อให้เห็นว่าเกิดมาจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมจริง ทวิตเตอร์ก็มีนโยบายในการแก้ไขหลายอย่าง เช่น การขอให้ผู้ทวีตข้อความหรือภาพที่ข่มขู่ คุกคาม ดูถูก หรือละเมิดผู้อื่นนั้นลบข้อความดังกล่าวก่อน จึงจะสามารถทวีตข้อความอื่นๆ ต่อไปได้ หรืออาจปิดบัญชี ดังกล่าวไปเลย หากเห็นว่าการกระทำผิดนั้นละเมิดหรือรุนแรงมากเกินไป

 

แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.disabilityscoop.com/2018/04/03/twitter-disability-abuse-reporting/24934/
https://help.twitter.com/th/rules-and-policies/hateful-conduct-policy
http://happyhomeclinic.com/au05-rett.htm