Skip to main content

การเดินทางในกรุงเทพฯ มีอยู่หลากหลายแบบทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ เรือ ฯลฯ แต่จะมีสักกี่ประเภทกันที่คนพิการสามารถใช้บริการได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นและไม่ทำให้คนยิ่งมองว่าคนพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

หากมีโครงสร้างที่อำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพเพียงพอ และแม้จะมีสิทธิประโยชน์ออกมามากมายเพื่อช่วยเหลือและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคนพิการ แต่ต้องยอมรับว่าสิทธิเหล่านั้นยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับคนพิการได้อย่างเต็มที่ครบทุกด้าน ในหลายประเภทความพิการวิธีการเดินทางของพวกเขามีให้เลือกไม่มากนัก แต่กลับยังต้องเผชิญปัญหาจากการเดินทางเหล่านั้นอยู่ วันนี้ ThisAble.me จะพาไปดูภาพการเดินทางและมองปัญหาจากการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ของคนพิการว่า ในแต่ละวันพวกเขาต้องเผชิญปัญหาจากการเดินทางกันอย่างไรบ้าง

 

วีลแชร์กับการเดินทาง

การเดินทางของวีลแชร์ด้วยรถสาธารณะยังไม่สะดวกมากนักด้วยปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องขนาดและประเภทของวีลแชร์ รวมถึงระบบโครงสร้างต่างๆ ที่ยังไม่รองรับการใช้วีลแชร์มากพอ แม้แต่การใช้บริการรถเมล์สาธารณะซึ่งเป็นการเดินทางขั้นพื้นฐานและประหยัดที่สุด ผู้ใช้วีลแชร์ก็ยังไม่สามารถใช้ได้ เนี่องจากไม่สามารถขึ้นขั้นบันไดรถเมล์ได้ รวมถึงไม่มีอะไรการันตีความปลอดภัยหากแม้หาคนยกขึ้นบันไดไปได้ ก็อาจหัวทิ่มเอาได้ง่ายๆ เมื่อต้องนั่งสู้แรงกระชากบนรถเมล์ เนื่องจากไม่มีสายรัดล้อวีลแชร์ที่ถูกต้อง

วีลแชร์ชาวเมืองหลายคนเลือกใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสหรือเอ็มอาร์ที และจะสะดวกก็ต่อเมื่อมีลิฟต์โดยสาร ซึ่งนั่นแหละปัญหา! ไม่ใช่ทุกสถานีที่จะมีลิฟต์ และถึงแม้จะมี ก็อาจมีเพียงฝั่งใดฝั่งหนึ่งของถนนเท่านั้น ฟังดูแล้วอาจจต้องอาศัยการเสี่ยงทาย แต่นี่คือเรื่องจริง ผู้ใช้วีลแชร์จำนวนไม่น้อยต้องเสียเวลาไปกับการหาข้อมูลและวิตกกังวลว่า สถานีที่จะไปมีลิฟต์หรือเปล่าและถ้าไม่มีพวกเขาจะขอความช่วยเหลือที่ไหนหรือได้รับความช่วยเหลือจากคนแถวนั้นหรือไม่ หรือที่แย่ที่สุดคือการต้องจำกัดการเลือกใช้บริการแค่สถานีที่มีลิฟต์ แม้ว่าสถานีนั้นจะไกลจากบ้านตัวเองก็ตาม  

และไม่ใช่ทุกคนที่ชอบขึ้นไปอยู่บนฟ้าหรือข้ามถนนด้วยสกายวอร์ค การข้ามถนนด้วยทางม้าลายก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ อาจตัดสะพานลอยทิ้งไปเลยก็ได้เพราะคนใช้วีลแชร์ขึ้นไม่ได้ (ไม่นับข่าวก่อนหน้านี้ที่มีพี่ๆ วินมอเตอร์ไซค์มายกนะ) ทางม้าลายกรุงเทพฯ เป็นทางม้าลายที่รถไม่เคยหยุด คนข้ามต้องคอยระมัดระวังรถที่สัญจรไปมาเอง ยิ่งหากใช้วีลแชร์ยิ่งแล้วใหญ่ เกาะกลางส่วนมากก็ไม่ได้ทำทางลาดเพื่อให้วีลแชร์ข้ามไว้นะจ๊ะ นี่ยังไม่นับระยะทางกว่าจะมาถึงไฟแดง ที่อาจต้องเจอทางเท้าผิวขรุขระ กระเบื้องที่ชำรุดไม่ได้ซ่อม ความไม่สม่ำเสมอของพื้น ความแคบของพื้นที่ หลุมบ่อ ตู้โทรศัพท์และสวนหย่อมกลางทางเดิน ซึ่งยังคงเป็นปัญหาในการเดินทางของผู้ใช้วีลแชร์จนถึงทุกวันนี้      

จิณจุฑา จุ่นวาที ผู้ใช้วีลแชร์กล่าวว่า เธอเลือกเดินทางด้วย grab กับบีทีเอสเพราะสะดวก และสามารถใช้สิทธิขึ้นฟรีได้ เธอเคยเรียกแท็กซี่แล้วพอเห็นมีวีลแชร์ เขาก็ไม่รับ หรือพอเดินตามทางเท้าและเจอพื้นต่างระดับก็มีทางลาดบ้างไม่มีทางลาดบ้าง จนสุดท้ายก็ลงไม่ได้และตัดสินใจลงไปซิ่งวีลแชร์บนถนนแทน เลยเสนอว่า หากรถโดยสารอำนวยความสะดวกแล้วก็ต้อทำทางเท้าให้ดีด้วย เพื่อให้คนใช้วีลแชร์สามารถเข็นวีลแชร์ไปถึงจุดรอรถโดยสารได้


( ขอบคุณรูปจาก : http://sparcthai.org/knowledge-detail-002000080 )

 

คนตาบอดกับการเดินทาง

หลายครั้งเรามักเจอคนตาบอดไปไหนมาไหนพร้อมกับคนนำทางเสมอ แต่ในคนตาบอดบางคน การเดินทางกับไม้เท้าขาวก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้หากมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอ คนตาบอดสามารถขึ้นรถโดยสารได้ทุกประเภทเพราะพวกเขาไม่ได้ติดขัดเรื่องกายภาพ อีกทั้งพวกเขามีสัญชาติญาณของการสอบถามหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ รวมไปถึงการจดจำระยะทาง แม้แต่เลี้ยวไปกี่โค้ง ข้ามมากี่เนิน ก็ทำให้พวกเขารู้ว่าเมื่อไหร่ที่ใกล้จะถึงจุดหมาย เพียงแต่ในรถโดยสารควรจะมีเสียงหรือสัญญาณเตือนเมื่อถือที่หมายเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาพลาดจุดหมายที่จะลงนั่นเอง

หลังจากเดินทางชิวๆ บนรถโดยสาร เมื่อพวกเขาลงมายังทางเท้า ที่นี่เป็นเหมือนสมรภูมิเจ็บๆ จี๊ดๆ สำหรับคนตาบอดหลายคน อย่างแรกคือกับดักทางเท้า ได้แก่หลุมซากกระเบื้องที่ชำรุดเสียหายที่ไม่ได้รับการบำรุงซ่อมแซมหรือมีน้ำขัง เหยียบทีน้ำกระเด็นเลอะเทอะขาไปหมด แน่นอนว่า จะหลบหลีกกับดักเหล่านี้ได้ คนตาบอดก็หวังพึ่ง เบรลล์บล็อก กระเบื้องปุ่มสีเหลืองตามทางเท้าที่ทำหน้าที่คอยบอกว่ากำลังเดินไปในเส้นทางไหน แต่ทว่า…ในปัจจุบันเบรลล์บล็อคที่คนตาบอดเจอกลับไม่สามารถนำทางให้ได้ หนำซ้ำยังพาพวกเขาไปเจอกับอันตรายในรูปแบบเสาไฟฟ้า ขอบสะพานลอย ถังขยะ ต้นไม้หรือกับดักระเบิดอีกด้วย

อาจหัวโน หัวปูดกันบ้างกว่าจะเจอสัญญาณไฟข้ามถนน แม้บางแยกจะมีปุ่มกดเพื่อให้สัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่ก็พังและกลายเป็นแค่เครื่องพลาสติกเก่าๆ เกะกะอยู่บนเสา ที่ไม่สามารถใช้งานได้เพราะขาดการดูแล พอไม่มีสัญญาณไฟข้ามถนนคนตาบอดก็ไม่สามารถข้ามได้เพราะไม่รู้ว่าจะไฟแดงเมื่อไหร่ เศร้า..

 

ทิพยาภรณ์ เข็มพิลา คนพิการสายตาเลือนรางกล่าวว่า ส่วนใหญ่ไปไหนมาไหนกับเพื่อน ถ้าต้องไปเองจะใช้บีทีเอสหรือเอ็มอาร์ทีเป็นหลักเพราะมีพนักงานคอยช่วยเหลือ ปัญหารวมๆ เป็นเรื่องของความไม่ต่อเนื่องของแต่ละแพลตฟอร์มการเดินทาง แล้วก็เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานและการออกแบบ ทางเท้าที่มีอะไรยื่นๆ ออกมา คนทั่วไปมองเห็นยังเดินชนเลยคนตาบอดจะเหลือเหรอ คนตาบอดในบ้านเราแทบจะไม่ใช้เบรลล์บล็อคเลยเพราะไม่ค่อยมีถ้าทุกคนใช้งานรถเมล์ได้จะดีมากเพราะว่าคนพิการไม่ใช่คนมีเงินทุกคน คนพิการส่วนมากของประเทศเราคือคนที่อยู่ในครอบครัวที่ค่อนข้างจะต้องประหยัด เราจะทำยังไงให้คนทุกคนขึ้นรถเมล์ได้ ถ้าแก้ไขตรงนี้ได้คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นเยอะ

 

( ขอบคุณรูปจาก : https://workpointnews.com )

 

 

คนหูหนวกกับการเดินทาง

คนหูหนวกเดินทางด้วยรถสาธารณะได้อย่างปกติ หากแต่ปัญหาที่คนหูหนวกเจอคือการไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง นั่นทำให้คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงแตรรถที่เตือนให้พวกเขาระมัดระวังจากการถูกเฉี่ยวชน เมื่อมองกลับมาดูสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตของผู้คน รถมอเตอร์ไซค์ที่ขับบนทางเท้ายังคงมีอยู่ไม่ลดหายไปไหน นั่นทำให้คนหูหนวกต้องเดินมองหน้ามองหลังระแวงการถูกเฉี่ยวอยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นคำถามว่าเมื่อไหร่ผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนจะมีระเบียบปฏิบัติตามกฏจราจรเสียที

ชาลิสา ดอนมอญ คนพิการทางการได้ยินเล่าว่า ปกติเดินทางด้วยบีทีเอสกับเอ็มอาร์ที สามารถไปไหนมาไหนได้ปกติ เวลาเดินริมถนนจะรู้และคอยสังเกตแสงไฟของรถ ถ้ามีก็จะคอยระวัง จะมีปัญหาแค่เวลาขึ้นรถตู้ที่เราบอกไม่ได้ว่าให้เขาจอดที่ไหน เลยอยากให้มีปุ่มกริ่งให้กดเวลาจะลงด้วย

 

ปัญหาการเดินทางที่คนพิการพบเจอไม่ได้เป็นอันตรายกับคนพิการเท่านั้น แต่ในบางปัญหาคนไม่พิการเองก็ยังประสบพบเจอ แล้วเมื่อไหร่กันที่ถนนหนทางในเมืองหลวงที่มีสโลแกนอย่าง “ทั้งชีวิตเราดูแล” จะถูกดูแลอย่างมีคุณภาพเสียที การสร้างสวัสดิภาพความปลอดภัยให้ผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ถนนหนทาง เป็นเรื่องพื้นฐานที่คนควรจะได้รับหรือไม่เพื่อบ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน

 

 

ภาพประกอบ : methawee khamdee