Skip to main content

         เวลาเปลี่ยนไป อะไรหลายอย่างก็เปลี่ยนไปตาม รวมถึงวิธีการคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระบบเอ็นทรานซ์, แอดมิชชั่น, สอบตรง, GAT-PAT หรือล่าสุดระบบ “TCAS” ซึ่งเพิ่งเริ่มใช้ในปี 61 เป็นปีแรก จึงทำให้หลายคนยังสงสัยว่า ระบบที่ว่านี้คืออะไร ต่างกับระบบเดิมอย่างไร สอบเหมือนเดิมหรือมีอะไรถูกเปลี่ยนแปลงบ้าง รวมถึงโครงการรับนักศึกษาพิการยังมีอยู่หรือไม่ แล้วเราต้องสมัครหรือหาข้อมูลจากไหน ThisAble.me จึงรวบรวมมาให้อ่านกัน

 

TCAS คืออะไร ?

TCAS หรือ Thai University Center Admission System เป็นระบบคัดเลือกคนเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย  ถูกออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทอป.) ที่ระบุว่า เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ จากระบบแอดมิชชั่นเดิม


TCAS 5 สถานี

สถานีที่ 1 : รอบ Portfolio

  • ไม่มีข้อเขียน อาจมีสัมภาษณ์หรือทดสอบเฉพาะทาง
  • พิจารณาจากแฟ้มผลงานของเรา
  • สมัครและคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัยโดยตรง

สถานีที่ 2 : รอบโควตา

  • โควตาในพื้นที่ โควตาโครงการพิเศษต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัย
  • อาจใช้คะแนนจากข้อสอบกลางอย่าง 9 วิชาสามัญ / GAT / PAT
  • อาจมีการสอบข้อเขียนหรือทดสอบเฉพาะทาง
  • สมัครและคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัยโดยตรง

สถานีที่ 3 : รอบรับตรงร่วมกัน

  • นักเรียนที่อยู่ในโครงการ กสพท. (กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย), โครงการอื่นๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
  • ใช้เกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) / ONET / GAT / PAT
  • เลือก 4 สาขาวิชาไม่ต้องเรียงลำดับ ( อาจติดทั้งหมดได้แล้วค่อยเลือก 1 ที่ในการยืนยันสิทธิ์ )

สถานีที่ 4 : รอบแอดมิชชั่น

  • เกณฑ์คัดเลือกเหมือนในปีเก่าๆ
  • เลือกได้ 4 อันดับ ต้องเรียงลำดับ
  • ใช้ GPAX, O-NET, GAT/PAT

สถานีที่ 5 : รอบรับตรงอิสระ

  • สมัครและคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัยโดยตรง มหาวิทยาลัยใช้วิธีการรับตรงในรูปแบบของตัวเอง

 

แล้วต่างจากแอดมิชชั่นอย่างไร ?  

ในรอบแอดมิชชั่นที่ผ่านๆ มา มีนักเรียนเลือกสมัครในรอบโควตาและรับตรงกับทางมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีคนที่ยืนยันสิทธิ์เข้าเรียนแล้วแต่ไม่สละสิทธิในรอบแอดมิชชั่น ทำให้เกิดการกันพื้นที่ของคนที่ยังไม่มีที่เรียน เพราะบางมหาวิทยาลัยนั้นไม่เข้าระบบเคลียริงเฮ้าส์ ( ศูนย์ประสานงานรับตรง ระบบยืนยันสิทธิ์ก่อนเข้าแอดมิชชั่น )

TCAS เลยเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา อย่างแรกระบบนี้จะเริ่มต้นหลังนักเรียนจบ ม.6 แล้วเพื่อเด็กจะได้ไม่ต้องหยุดเรียนมาสอบกันบ่อยๆ ลดปัญหาการกันที่กันเองและลดการเสียเปรียบได้เปรียบคนจน คนรวย ในการต้องจ่ายเงินเพื่อยืนยันสิทธิ์ตามมหาวิทยาลัยเพราะระบบนี้ จ่ายเงินปุ๊ปตัดสิทธิ์รอบต่อไปทันทีเลย เท่ากับว่า 1 คนมี 1 สิทธิ์ในมือเท่านั้น มีการเพิ่มภาษาเกาหลี ในวิชาความถนัดทางภาษา ( PAT7 )

                ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเรารวบรวมภาพประกอบที่มีการอธิบายให้มองเห็นภาพรวมกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

 

ข้อเสียของ TCAS 61 มีอะไรบ้าง

                อ่านความแตกต่างของ TCAS กับระบบเดิมแล้วมองเห็นข้อดีของระบบมากขึ้นแล้วใช่ไหมล่ะ แต่ใช่ว่าระบบจะมีแต่ข้อดีเท่านั้น ข้อเสียที่ระบบเองยังต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงก็มีอยู่เหมือนกัน

                อย่างแรกคือการสอบ GAT-PAT เพียงครั้งเดียวทำให้เด็กเองต้องพยายามอ่านหนังสือกันอย่างกดดัน ในปีก่อนๆ นักเรียนสามารถสอบได้ถึง 2 ครั้ง นั่นทำให้เด็กได้รู้แนวข้อสอบจากครั้งแรกแล้วกลับไปอ่านเพิ่มในจุดที่ตัวเองทำไม่ได้มาแก้ตัวในครั้งที่ 2 แล้วถึงเลือกคะแนนที่ดีที่สุดในการยื่นสอบ

                จากอีกหนึ่งปัญหาที่เด็ก 61 ปีแรกของระบบประสบกันถ้วนหน้า นั่นคือรอบ 3 หรือรับตรงร่วม รอบที่สามารถเลือก 4 สาขาและมีสิทธิ์ติดทั้ง 4 สาขานั่นทำให้เด็กที่ไม่ติดเลยใน 4 สาขานั้นต้องเสี่ยงรอในรอบถัดไป ส่วนเด็กที่ติดมากกว่า 1 สาขาก็ต้องเลือกไปสัมภาษณ์เพียงที่เดียวเท่านั้น ปัญหานี้เลยไม่เกิดเพียงแค่กับเด็ก ตัวมหาวิทยาลัยเองก็ได้รับผลกระทบจากการที่เด็กมีชื่อติดในคณะของตนแต่ไม่ได้เลือกมาสัมภาษณ์เพราะเลือกที่อื่นแทน ทำให้คณะเองก็ขาดโอกาสในการสัมภาษณ์เด็กเข้าศึกษาในรอบนั้นไปด้วย ทางกลับกัน บางคณะที่มีเด็กเลือกไปสัมภาษณ์มากกว่าจำนวนที่เปิดรับทำให้เด็กหลายคนพลาดโอกาสที่จะติดมหาวิทยาลัยทั้งๆ ที่สอบติดแต่สัมภาษณ์ไม่ผ่าน

มากกว่านั้นการที่รอบรับตรงร่วมกับ กสพท. แล้วเด็ก กสพท. สามารถเลือก 4 อันดับแล้วยังเลือกรับตรงทั่วไปได้อีก 3 อันดับ ทำให้โอกาสของเด็กรับตรงทั่วไปยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะคะแนนของเด็ก กสพท. ค่อนข้างสูงมากทำให้หลายคนสามารถติดทั้งในส่วนของ กสพท. และส่วนของคณะทั่วไปอีก แต่สุดท้ายแล้วก็เลือกเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นทำให้เด็กทั่วไปรู้สึกเสี่ยงมากกว่าเดิม แค่แข่งขันกับเด็กคณะทั่วไปด้วยกันเองก็หวั่นใจพอแล้ว ยังต้องสู้กับเด็ก กสพท.ที่คะแนนสูงมากกกอีกด้วย

 

เปลี่ยนแล้ว TCAS 62

                จากปัญหาที่เกิดขึ้นใน TCAS61 ทำให้ ทปอ. มองเห็นปัญหาที่ต้องแก้ไขพัฒนา จนทำให้ TCAS62 มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

-          ปรับระยะเวลาทั้งหมดจาก 10 เดือน เหลือแค่ 4 เดือน จากเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม

-          รับตรงรอบ 3 ยังคงเลือก 4 อันดับ แต่เรียงลำดับเหมือนรอบแอดมิชชั่นและประกาศสิทธิ์เพียงลำดับเดียว

-          เมื่อยืนยันสิทธิ์แล้ว สามารถสละสิทธิ์ได้เพียงครั้งเดียว 

นี่ยังไม่ใช่แผนสรุปทั้งหมดยังสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้อยู่เรื่อยๆ บทสรุปของแผนระบบ TCAS62 จะออกมาแบบทางการให้น้องๆ เตรียมตัวในเดือนสิงหาคมนี้  

 

แล้วมหาวิทยาลัยไหนมีโครงการรับนักศึกษาพิการบ้าง ?

มหาวิทยาลัยหลายที่เองก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาของคนพิการเห็นได้จากโครงการรับนักศึกษาพิการเข้าศึกษาต่อ แต่ไม่ใช่ทุกคณะที่เปิดสอนจะสะดวกต่อการเรียนของคนพิการทุกประเภท มหาวิทยาลัยแต่ละที่ก็มีข้อจำกัด รายละเอียดปลีกย่อยและมาตรฐานของคะแนนส่วนกลางในการคัดเลือกนักศึกษา แม้ว่าการรับตรงในโครงการนักศึกษาพิการจะจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเอง แต่ก็มีบางส่วนที่เข้าไปอยู่ในระบบการคัดเลือกแบบ TCAS รอบที่ 2 ด้วยเช่นกัน มาดูกันดีกว่าว่า มหาวิทยาลัยไหนมีโครงการรับนักศึกษาพิการแบบใดและอยู่ในช่วงเดือนไหนกัน !

 

ตามข้อมูลของโครงการพิเศษ ซึ่งรับนักศึกษาพิการเข้าเรียนของปี 2561 ระบุว่า

  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เปิดรับสมัครโครงการนักศึกษาพิการช่วงเดือนตุลาคม ในหลากหลายคณะ โดยมีการกำหนดประเภทความพิการในการรับสมัคร ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่ www.reg.tu.ac.th หรือ www.sa.tu.ac.th หรือขอรับใบสมัครได้ด้วยตนเองที่ห้องศูนย์บริการคนพิการ อาคารสำนักงารอธิการบดี ชั้น 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) โทรสอบถาม 02-564-444 ต่อ 1298 - 1299

 

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาฯ มีโครงการรับนักศึกษาพิการเพียงโครงการเดียวคือโครงการรับนักเรียนผู้พิการอัจฉริยภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเปิดรับสมัครในช่วงเดือนเมษายน สามารถติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่ http://www.admissions.chula.ac.th/

 

  • มหาวิทยาลัยมหิดล

เปิดรับสมัครนักศึกษาพิการในหลายหลายคณะจำนวน 1-2 คน ในแต่ละสาขาวิชา ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่ https://admission.mahidol.ac.th/

 

  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เปิดรับสมัครในช่วงเดือนตุลาคม ในหลากหลายสาขาวิชา โดยมีข้อกำหนดความพิการในแต่ละคณะ เนื่องจากบางสาขาวิชา อุปกรณ์การเรียนและอาคารเรียนไม่เอื้อกับนักศึกษาพิการบางประเภท

ติดตามข่าวสารได้ที่  https://admissions.kku.ac.th/

 

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เปิดรับสมัครในช่วงธันวาคมในหลากหลายวิชาและมีการกำหนดประเภทความพิการ

ติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่  http://admission.kmutt.ac.th

 

  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ

เปิดรับสมัครในช่วงพฤศจิกายน – ธันวาคม ในคณะที่กำหนด หากเป็นคนพิการทางการได้ยิน จะต้องใส่เครื่องช่วยฟังและสามารถเรียนร่วมได้ ติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่  http://admission.swu.ac.th หรือ งานรับนักศึกษาใหม่ กองบริการนักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ โทร 02-649-5712-4

 

  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เปิดรับสมัครในช่วงเดือนพฤศจิกายนและพฤษภาคม ในระบบ TCAS รอบ 2 และ 3 ในหลากหลายคณะ สามารถติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่ https://www1.reg.cmu.ac.th/ugradapply/index.php

  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  

เปิดรับสมัครในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม

ติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่ http://www.admission.mfu.ac.th/

 

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

รับสมัครในช่วงตุลาคม - พฤศจิกายน

ติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่ www.sut.ac.th

 

  • มหาวิทยาลัยทักษิน

รับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคม

ติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่  http://www2.tsu.ac.th/org/student/

 

  • มหาวิทยาลัยบูรพา

รับสมัครในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม

ติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่ http://e-admission.buu.ac.th/

 

  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

รับสมัครในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่ https://www.snru.ac.th/

 

  • มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ติดตามข่าวสารหรือข้อมูลการสมัครได้ที่ http://www.dusit.ac.th/ หรือ http://entrance.dusit.ac.th/TCAS/home.html

 

ก่อนที่จะมีระบบ TCAS มหาวิทยาลัยต้องเป็นคนส่งชื่อนักศึกษาเข้าระบบเพื่อตัดสิทธิ์ แต่ในระบบ TCAS นักศึกษาจะต้องเข้ายืนยันสิทธิ์ด้วยตนเอง หากยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาแล้วจะถูกตัดสิทธิ์ในรอบแอดมิชชั่นทันที ทั้งนี้ การคัดเลือกนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยยังคงใช้วิธีการและมาตรฐานเดิม

นอกเหนือจากโครงการพิเศษเพื่อรับนักศึกษาคนพิการเข้าเรียนแล้ว นักศึกษาพิการที่ต้องการเรียนต่อในคณะที่ไม่ได้ถูกระบุในโครงการพิเศษนี้ก็สามารถยื่นแอดมิชชั่นได้เหมือนกับเพื่อนๆ คนอื่นในสนามแข่งขันเดียวกัน การมีโครงการนักศึกษาพิการจึงเป็นเหมือนการอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสที่จะเข้าถึงมหาวิทยาลัยของนักศึกษาพิการนั่นเอง

 

ภาพประกอบ  methawee khamdee