Skip to main content

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา กองทุนเจเนวีฟ คอลฟีลด์ เพื่อการศึกษาและเสริมสร้างคุณค่าสังคมไทย โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ และมูลนิธิช่วยคนตาบอดไทย จัดงานมุทิตาจิตแด่ผู้มีพระคุณต่อวงการการศึกษาคนตาบอดไทยที่ห้องประชุมโรส มัวร์ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ โดยมีขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีและเอกกมล แพทยานันท์ ตัวแทนจากกรรมการกองทุนเจเนวีฟ คอลฟีลด์ เป็นผู้กล่าวรายงานต่อประธานในที่ประชุม

ภายในงานมุทิตาจิตมีผู้เข้าร่วมทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน คณะครู อาจารย์ ผู้ที่เกี่ยวข้องในสายงานการศึกษาคนตาบอดไทย และผู้สนใจจากภายนอก โดยมีกิจกรรมพบปะและแสดงความคารวะด้วยการมอบดอกกุหลาบ แด่คณะกรรมการบริหารมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ครู อาจารย์และศิษย์เก่าอาวุโส คณะซิสเตอร์ซาเลเซียน (Salesian Sisters) ซึ่งเป็นบุคลากรที่เคยร่วมงานด้านคนตาบอดและระลึกถึงเจเนวีฟ คอลฟิลด์ หญิงตาบอดชาวอเมริกันที่เปรียบเสมือน ‘มารดาแห่งการศึกษาคนตาบอดไทย’

เมื่อเข้าไปในงาน เราจะเห็นแผงจำหน่ายกุหลาบดอกละ 100 บาท ซึ่งรายได้จากการขายดอกกุหลาบ จะนำไปให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการทุนการศึกษาแก่คนตาบอดต่างจังหวัดที่ยังขาดแคลน นอกจากนี้ยังมีวงคุยแลกเปลี่ยน บอกเล่าเรื่องราวจากคนตาบอดและผู้ที่ทำงานร่วมกับคนตาบอดในแวดวงการศึกษา โดยมีทีเด็ดเป็นการแสดงจากวง S2S วงดนตรีตาบอดจากโครงการพัฒนาศักยภาพนักร้อง นักดนตรีตาบอดมืออาชีพจากสถาบันดนตรีคนตาบอด และการแสดงละครพูดเรื่อง ‘ชีวาชวาลย์’ จากคณะศิษย์มีสคอลฟีลด์ โดยหยิบยกเอาชีวิตจริงบางส่วนของอาจารย์ตาบอด 2 ท่านคือ ปราณี สุดเสียงสังข์ และวิรัช ศรีตุลานนท์ บัณฑิตตาบอดคนแรกของประเทศไทยจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




 

เจเนวีฟ คอลฟิลด์คือใคร?

มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ เป็นสตรีตาบอดชาวอเมริกันที่สนใจการพัฒนาศักยภาพคนตาบอดในทุกด้าน เธอย้ายจากประเทศสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดมาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนได้รับการชักชวนจากนายแพทย์ฝน แสงสิงห์แก้วให้ย้ายมาอยู่ในประเทศไทย และจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2482 และกำลังจะครบครอบ 80 ปี ในปี 2562 นี้

มิสคอลฟิลด์เป็นผู้นำอักษรเบรลล์เข้ามาเผยแพร่เป็นครั้งแรกในไทย จึงถือเป็นการพลิกโฉมหน้าการศึกษาสำหรับคนตาบอด โดยริเริ่มรวบรวมเด็กตาบอดจากกลุ่มเล็กๆ เพื่อสอนหนังสือให้ความรู้ เรียนรู้การเข้าสังคมและการปฏิบัติตัวที่คนตาบอดพึงกระทำเมื่อต้องเข้าสังคม เน้นที่การวางรากฐานการศึกษาให้คนตาบอดได้มีโอกาสเล่าเรียนไม่ต่างจากคนทั่วไป จนกระทั่งเธอได้รับการอนุมัติเช่าที่ดินแถบสี่แยกตึกชัย ถนนราชวิถีในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงครามและได้กลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนสอนคนตาบอดรับนักเรียนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีและขยายงานไปสู่ภาคส่วนต่างๆรวมถึงสร้างความร่วมมือด้านการเรียนร่วมในโรงเรียนทั่วไป มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์มุ่งมั่นทำงานเพื่อนคนตาบอดอย่างไม่ย่อท้อจนวาระสุดท้ายในชีวิต และเสียชีวิตเมื่อปี 2515 ที่ประเทศไทย

ดังที่ธนาพันธ์  เค้าสิม เลขานุการกองทุนเจเนวีฟ คอลฟีลด์ เพื่อการศึกษาและเสริมสร้างคุณค่าสังคมไทยได้แต่งคำประพันธ์ที่ว่า

80 ปีที่ท่านได้สรรสร้าง
80 ปีที่ท่านวางทางสดใส
80  ปีที่ท่านเห็นเด่นกว่าใคร
80 ปีนั้นไซร้ได้พัฒนา
กรรมการมูลนิธิเมตตาจิต
ประสาทศิษย์ยุทธวิธีมิกังขา
ทั้งซิสเตอร์ คณะครูศิษย์บูชา
ฝากฟากฟ้าสดุดีมิสคอลฟิลด์

นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี การศึกษาคนตาบอดไทย จึงได้มีการจัดพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติมิสคอลฟิลด์ที่มีชื่อว่า “อาณาจักรภายใน” ที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “The Kingdom Within” จำนวน 2,000 เล่ม เพื่อเล่าอัตชีวประวัติที่บอกเล่าเรื่องราวของมารดาแห่งการศึกษาคนตาบอดไทย นอกจากนี้ยังได้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “8 ทศวรรษที่คนตาบอดเป็นได้มากกว่าที่เป็น” โดยรวบรวมเรื่องราวจากคนตาบอดไทยที่ประสบความสำเร็จจำนวน 80 คน ร้อยเรียงเป็นบทความ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า หากคนตาบอดสามารถเข้าถึงการศึกษา คนตาบอดก็สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตได้ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม