Skip to main content

นั่งวีลแชร์แล้วมีลูกได้หรือเปล่า ?. . คุณเคยสงสัยในเรื่องนี้หรือไม่ ถ้าใช่ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยนี้กัน

แม้คำถามข้างบนจะยังเป็นที่ค้างคาใจสำหรับใครหลายคน แต่ก็ยังมีคำถามอื่นๆที่มีคนสงสัยไม่แพ้กันอย่างการสร้างครอบครัวของคนพิการ คนพิการสมควรที่จะมีลูกหรือเปล่าหรือลูกของพวกเขาจะพิการเหมือนกันหรือไม่ หรือกระทั่งคำถามเรื่องเพศสัมพันธ์

Thisable.me ชวนคุยกับเทิดเกียรติ ฉายจรุงหรือพี่อ๋า นักวิชาการสาธารณสุขและพ.ญ.รักษินา มีเสถียร แพทย์ชำนาญการเวชศาสตร์ฟื้นฟู จากคลินิกเติมรัก ในศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จ.นนทบุรี ในเรื่องการวางแผนมีบุตรของคนพิการ ภายในคลินิกเติมรักมีคนพิการเข้ามาฟื้นฟูและรับคำปรึกษาเรื่องวางแผนการมีบุตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความพิการที่เกิดภายหลังจากอุบัติเหตุหรือโรคต่างๆ 2 ประเภทคือ หลอดเลือดสมองกับไขสันหลังบาดเจ็บ

 

คนกลุ่มไหนเดินเข้ามาปรึกษาเรื่องการสร้างครอบครัว

เทิดเกียรติ : คลินิกเติมรักมีสองกลุ่มใหญ่ๆ ที่เข้ามา กลุ่มแรกคือผู้ชายที่อยากกลับไปมีเพศสัมพันธ์ให้ได้ และผู้หญิงที่ปรึกษาเพื่อรักษาครอบครัวให้คงอยู่ กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่คาดหวังจะมีลูก ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ในเชิงจิตวิทยาก็ตอบได้ว่า ภาวะนี้คือการสร้างเผ่าพันธุ์ คนต้องมีคู่ครอง มีครอบครัว แล้วก็สืบพันธ์

 

เรื่องอะไรที่คนพิการกังวลในการสร้างครอบครัว

เทิดเกียรติ : เรื่องแรกคือการไม่ตอบสนองของอวัยวะเพศ การควบคุมระบบสืบพันธ์ตัวเองไม่ได้ ถ้าเป็นผู้หญิงมักไม่มีปัญหาเพราะสามารถเมนส์ มีไข่ตกเหมือนเดิมต่อให้กระดูกสันหลังหักแต่สภาพร่างกายก็จะปรับไปตามสภาพธรรมชาติ ส่วนผู้ชายเรื่องที่กังวลมากที่สุด อันแรกก็หนีไม่พ้นเรื่องกลัวภรรยาทิ้งเพราะรู้สึกว่าตัวเองทำกิจกรรมทางเพศไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาแค่ไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องทำยังไง

เรื่องที่สองคือเศรษฐกิจของครอบครัว การออกไปทำงานไม่ได้และไม่มีรายได้เป็นอีกข้อกังวลที่มักเกิดขึ้นกับผู้ชายด้วย

เรื่องที่สามคือการไม่ตอบสนองของอวัยวะเพศที่เกิดขึ้น 2 อย่างคือ กลุ่มที่กระตุ้นแล้วไม่ขึ้น ต้องใช้ยา กับกลุ่มที่คอหัก ที่สามารถกระตุ้นอวัยวะเพศขึ้นได้แต่ไม่รู้จะทำยังไงให้คงตัวได้ หรือมีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ถึงจุดสุดยอด

คนพิการกังวลไหมว่า ลูกอาจจะพิการเหมือนกัน

เทิดเกียรติ : หลายคนก็สงสัยเหมือนกันว่า ถ้าพ่อแม่พิการแล้วลูกจะออกมาพิการไหม ซึ่งก็มีนะ แต่ต้องแยกแยะว่ากลุ่มไหนบ้างที่จะออกมาพิการเหมือนพ่อแม่ เช่น กลุ่มออทิสติก แต่อย่างภาวะตาบอดลูกจะไม่เป็น เพราะตาบอดไม่ได้เกิดจากยีนแต่มาจากการทำลายของเชื้อโรคบางอย่าง เช่น การปฏิสนธิในช่วงที่มีไข้หัดเยอรมันหรือหนองใน

อย่างไรก็ดี มีนักจิตวิทยาสแตนบายคอยประเมินให้คำปรึกษาคนที่ลังเลหรือกังวลใจ บางครอบครัวที่พ่อแม่ไม่พิการแต่มีลูกพิการ หรือครอบครัวที่พิการทั้งครอบครัว พวกเขาอาจต้องการนักจิตฯ เพื่อแบ่งเบาความรู้สึกเป็นปมด้อย

การวางแผนร่วมกันอย่างไรบ้าง

เทิดเกียรติ : ส่วนใหญ่ที่มาปรึกษามักเป็นความต้องการของผู้ชาย ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในการคิดเมื่อตัดสินใจว่าจะมีลูก คนที่มาปรึกษาเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พวกเขาต้องการวางแผนเพราะขั้นตอนเยอะกว่ามาก การมีลูกก็มีเงื่อนไขเหมือนกัน เช่น ถ้าสอดใส่แต่ไม่สามารถมีลูกได้ ก็ต้องเข้ากระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ทำกิฟท์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 20,000 – 300,000 บาท

คนพิการบาดเจ็บไขสันหลัง มีลูกได้อย่างไร

.ญ.รักษินา : คนไข้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ปกติ ส่วนมากเมนส์จะกลับมาหลังจากบาดเจ็บประมาณ 6 เดือน เพราะการบาดเจ็บทำให้ฮอร์โมนแปรปรวน เมื่อตั้งครรภ์อาการ AD ( Autonomic Dysreflexia) อาจเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดภาวะระบบประสาทออโตโนมิคผิดปกติ อาการแสดงสำคัญ คือ ความดันโลหิต ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจมีผลอันตรายถึงชีวิต รวมถึงอาจมีอุปสรรคบ้าง เช่น ไม่รู้สึกเวลาลูกดิ้นหรือไม่รู้สึกเมื่อท้องแข็งใกล้คลอด

เวลาคลอด ส่วนมากจะคลอดปกติไม่ได้เพราะความดันอาจขึ้นและเส้นเลือดสมองอาจแตกได้ จึงต้องใช้วิธีผ่าคลอด และฝึกจับมดลูกตัวเองเพื่อสัมผัสความแข็ง เช่น ถ้าแข็งถี่ทุก 5 นาทีแปลว่าใกล้คลอดต้องไปโรงพยาบาลแล้ว ในช่วงให้นมลูก ก็อาจเกิดภาวะ AD ขึ้นมาอีก

ในส่วนของผู้ชาย จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึงกลับมามีสเปิร์ม แต่ไม่ใช่กับทุกคน

ข้อมูลจาก สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ 

คิดอย่างไร เมื่อหลายคนมองว่าคนพิการไม่ควรมีลูก

เทิดเกียรติ : ส่วนตัวมองว่าไม่จริง ยังย้ำคำเดิมว่าสิ่งนี้คือวัฏจักรของมนุษย์ คือวิถีชีวิตที่เกิดขึ้น ทุกคนกิน ขี้ ปี้ นอน คนพิการก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีข้อจำกัดมาก มากจนคนเรียกว่าเป็นคนพิการ

คำว่า “พิการ” ไม่มีจริงในโลกเพราะทุกคนมีข้อจำกัด จำกัดมากจำกัดน้อยขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ขึ้นอยู่กับความสามารถ การมีลูกก็เป็นเรื่องของธรรมชาติมากกว่า

 

นอกจากการพูดคุยกับคลินิกเติมรักแล้ว เรามีโอกาสได้คุยกับ สุรีพร ยุพา มิยาโมโตะหรือตั้ม ตั้มเป็นโปลิโอจึงทำให้เธอนั่งวีลแชร์ตั้งแต่เด็ก แต่เธอเองมีความฝันที่อยากจะมีลูกมาตลอดเพราะชอบเด็กมาก จากความฝันในวันนั้น เธอวางแผนที่จะมีลูก จนตอนนี้ตั้มกลายเป็นคุณแม่ของลูกสาววัย 3 ขวบและมีครอบครัวที่แสนอบอุ่น

ตอนวางแผนมีน้อง หาข้อมูลเยอะไหม อะไรบ้าง

เยอะพอสมควร ตอนตั้งท้องเราอยู่ที่แอฟริกา ไปหาหมอสูติเขาก็ให้ข้อมูลดี แต่เรามีความพิการก็เลยไม่มั่นใจว่าสิ่งที่หมอวางแผนให้นั้นพอหรือเปล่า เช่น หมอบอกว่าอยากให้ลองคลอดเองแต่เราก็กังวลว่าจะคลอดได้ไหม เลยปรึกษาหมอและก็สบายใจขึ้นเมื่อหมอพูดว่าจะอยู่ด้วยตลอดระยะเวลาในการคลอด

นอกจากนี้ ก็หาข้อมูลจากเพื่อนที่พิการคล้ายกันในเมืองไทย ซึ่งมีลูก 2 คนแต่เขาใช้วิธีผ่าตัด เราจึงเลือกใช้วิธีการผ่าตัดในที่สุด           

กังวลไหมว่าลูกจะมีความพิการแบบเรา

ไม่กังวลเพราะเข้าใจว่าความพิการแบบเราไม่สามารถติดต่อทางพันธุกรรม แต่แอบกังวลกลัวจะพิการแบบอื่น เช่น ดาวน์ซินโดรมเพราะเราท้องตอนอายุมากแล้ว แต่เมื่อสามีให้กำลังใจ และสร้างความมั่นใจว่าไม่ว่าลูกจะออกมาเป็นอย่างไรก็ยินดีต้อนรับและจะเลี้ยงเขาอย่างดี เราก็สบายใจขึ้นมาก

เรารู้ว่า ลูกเป็นปากแหว่งเพดานโหว่ตอนท้องได้ 4 เดือน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความพิการของเรา หมอบอกว่าปากแหว่งเพดานโหว่เกิดได้ในหลายกรณี เช่น ขาดโฟลิคหรือกินยาที่มีผลกับเด็ก แต่เราไม่ได้กินยาอะไรเลยก็คงเป็นเพราะขาดโฟลิค

แม้ตอนนี้น้องรักษาแล้ว แต่คิดย้อนกลับไปตอนตั้งท้องเราหาข้อมูลเยอะมาก ทั้งต้องใช้จุกนมแบบไหน ต้องนั่งกินนมท่าไหนจึงจะไม่สำลัก เด็กพวกนี้มีความละเอียดอ่อนเรื่องกินดูดกลืนมาก นอกจากนี้ยังได้พบกับกลุ่มแม่ของเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ที่มีข้อมูลดีๆ จึงทำให้มั่นใจและคลายความกังวลไปอีก

พบอุปสรรคหรือความยากในการตั้งท้องยังไงบ้าง

เราผ่าตัดใส่เหล็กที่กระดูกสันหลัง เลยต้องคุยเรื่องวิธีบล็อกหลังหรือดมยา คุณหมอก็ขอเอกซเรย์กระดูกสันหลังโดยการใส่เสื้อคลุมท้องไว้แล้วถ่าย สุดท้ายก็เป็นการดมยา

อีกอย่างคือกระดูกสะโพก ตอนท้องสัก 5 - 6 เดือนที่เริ่มขยาย เราก็เจ็บทั้งสองข้างแต่ก็กินยาไม่ได้ ประคบน้ำร้อน ว่ายน้ำ ทำโยคะให้กระดูกได้ขยับ

โปลิโอต่างจากอัมพาตที่เกิดจากกระดูกสันหลัง คนเป็นโปลิโอยังคงมีความรู้สึกอยู่ เพียงแค่เส้นประสาทสั่งการนั้นสั่งไม่ได้ เราเลยรู้สึกตลอดว่าลูกเราดิ้นหรือเจ็บท้องนะ

เรามีวิธีการสอนลูกคลาน เดิน หรือใช้ชีวิตอย่างไร

ก็มีลำบากบ้าง เขาเริ่มคลานเองตามธรรมชาติของเด็ก แต่พอเริ่มฝึกยืนเขาก็เอาแต่เกาะรถเข็นเรา เดินอ้อมไปๆ มาๆ เราจับเขาลำบากหน่อยเพราะอยู่บนรถเข็น ถ้าช่วงเรากลับบ้าน ยายจะสอนเขาเดิน วิ่ง สิ่งที่ลำบากที่สุดของแม่พิการคือตอนลูกร้องกินนมแล้วอุ้มขึ้นมาเร็วๆ ไม่ได้ ลูกเราเป็นปากแหว่งเพดานโหว่ไม่สามารถดูดจากนมแม่ได้ต้องใช้วิธีปั๊มใส่ขวดให้ดูด

พอเรานั่งรถเข็นธรรมดาไม่ใช่ไฟฟ้า พออุ้มลูกปุ๊บ มือจะเข็นรถก็ไม่มีแล้ว เลยพยายามหาวิธีอุ้มที่จะเคลื่อนไหวได้ด้วย ตอนลูกยังเล็กมากก็ใช้วิธีอุ้มมือเดียว อีกมือสาวเก้าอี้หรือโต๊ะแล้วค่อยๆ กระเถิบไป แต่ก็ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะทำอะไรได้แต่ละอย่างและเสี่ยงที่ลูกจะตกด้วย จึงเปลี่ยนวิธีใหม่โดยเอาของทุกอย่างมาวางใกล้เตียง แล้วลงนั่งบนเตียงอยู่กับลูกทั้งวัน

 

คนอาจมองว่า คนพิการไม่ควรมีลูกเพราะลูกจะพิการเหมือนกัน เรามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

ไม่คิดแบบนั้นนะ คนพิการหรือผู้หญิงพิการเองก็ควรมีโอกาสได้สัมผัสและมอบความรักความอบอุ่นให้กับลูกเหมือนผู้หญิงทั่วๆ ไป ถ้าผู้หญิงคนนั้นพร้อมและอยากจะเป็นแม่ก็ไม่ควรมีเหตุผลใดๆ ที่จะมาตัดสินแทนว่าคนพิการไม่ควรมีลูก 

สิ่งที่อยากให้รัฐดูแลเราและลูกพิการเพิ่มเติม มีอะไรบ้าง

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นข้อแตกต่างระหว่างไทยกับแอฟริกาคือประกันสุขภาพ ที่แอฟริกาคนพิการสามารถทำได้เวลาเจ็บป่วยก็ใช้ได้ ซึ่งเมืองไทยยังไม่มี คนพิการใช้ได้แค่บัตรทองซึ่งการบริการก็ไม่ค่อยดี โรงพยาบาลรัฐก็ขาดแคลนหมอ ที่แอฟริกาโรงพยาบาลเอกชนก็เข้าได้และในสถานที่ต่างๆ ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างจะเยอะ ไปไหนมาไหนแทบไม่ต้องกังวลว่าจะสะดวกไหม มีห้องน้ำไหม ทางลาดมีไหม แต่สำหรับเรื่องระบบขนส่งก็ยังขาดแคลนอยู่ อยู่ที่นี่ถ้าไม่มีรถส่วนตัวก็ไปไหนมาไหนลำบากมาก

 

ขอขอบคุณภาพประกอบ : เมธาวี ขำดี , คชรักษ์ แก้วสุราช