Skip to main content

ปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ยื่น กสม.สอบสมาคม-มูลนิธิทุจริตค่าจ้างฝึกอบรมกว่า 1,500 ล้านบาท ระบุจนท.ละเว้นหน้าที่หลังเคยร้องนายกฯ แล้ว เหตุเพราะคนพิการไม่รู้สิทธิ


 

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านอัญญะรัฐ เอ่งฉ้วน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการ โดยปรีดาระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ไม่เป็นภาระแก่สังคมจึงมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 โดย มาตรา 33 กำหนดว่า ให้สถานประกอบการที่มีการจ้างงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการ 1 คน หากสถานประกอบการใดไม่สะดวกจะจ้างงานคนพิการ มาตรา 34 ก็กำหนดให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทน ในอัตรา 109,500 ต่อคนต่อปีตามสัดส่วนที่ต้องจ้างจริง แต่จากการตรวจสอบพบว่าคนพิการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมตามมาตรา 33 โดยระบุตัวเลขคนพิการถูกจ้างงานจำนวน 25,000 คน แต่มีการทำงานจริงแค่ 20,000 คน ส่วนที่เหลืออีก 5,000 คน นอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิได้รับสวัสดิการการจ้างงานเดือนละ 9,500 บาท จึงถูกสมาคมคนพิการและมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการต่างๆ หักหัวคิวโดยจ่ายให้คนพิการเพียงเดือนละ 500-3,000 บาท ทั้งนี้ประมาณการว่า ความเสียหายที่เกิดจากมาตรา 33 นั้นเป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี
 

ปรีดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในมาตรา 35 ที่กำหนดให้สถานประกอบการที่ไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการสามารถจัดอบรมคนพิการแทนได้ โดยช่องทางนี้สมาคมและมูลนิธิต่างๆ จะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อคนพิการจากจังหวัดต่างๆ ส่งไปยังกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอโครงการจัดอบรมฝึกอาชีพให้กับคนพิการ ช่องทางดังกล่าวทำให้มีนายใหญ่เข้ามาทุจริต ทั้งค่าจ้างวิทยากรและเงินในการจัดฝึกอบรม เช่น ตั้งเบิกค่าวิทยากร 300,000 บาทจ่ายจริง 30,000 บาท หรือโครงการอบรม 6 เดือน แต่ดำเนินการจริงแค่ 3 เดือน หรือบางจังหวัดข้าราชการระดับผู้อำนวยการสำนักงาน ขอหัวคิวคนพิการหัวละ 9,500 ต่อคนต่อปี แลกกับการอนุมัติจัดฝึกอบรมทุกโครงการ โดยทั้งหมดทำกันเป็นขบวนการ

“การทุจริตเงินคนพิการจาก มาตรา 33 และ 35 สร้างความเสียหายถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี คนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพต้องได้รับเงิน 109,500 บาทต่อคนต่อปี แต่คนพิการไม่รู้สิทธิของตัวเอง เพราะคนพิการที่มีศึกษาระดับปวช.-ปริญญาเอกมีไม่ถึง 30,000 คน การทุจริตดังกล่าวจึงมีความเสียหายมากกว่าการโกงเงินคนจน เพราะตัวเลขคนพิการทั่วประเทศมากกว่า 1.9 ล้านคน เงินกองทุนส่งเสริมฯ จึงมีมากถึง 6,000 ล้านบาทต่อปี โดยที่ผ่านมาผมพยายามต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจนถูกข่มขู่คุกคามหลายรูปแบบ คนพิการที่เคยร่วมต่อสู้ด้วยกันมาก็ถูกอุ้มขึ้นรถตู้ไปเจรจาให้รับเงิน 20,000 แลกกับการเซ็นต์ยินยอมไม่ดำเนินคดี จึงเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปสนับสนุนหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”ปรีดากล่าว

โดยปรีดาได้ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ได้เดินทางไปยื่นเรื่องที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว และอยากให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่มี 2 หน่วยงานคือกรมการจัดหางานกับ พม. มาร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งทางเครือข่ายพร้อมให้ข้อมูลโดยสามารถระบุรายชื่อนายใหญ่ในแต่ละขั้นตอนได้ทั้งหมด

สำหรับปรีดา ก่อนหน้านี้เขาเคยเขียนลงในเว็บไซต์จุดประกายโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องการจ้างงานคนพิการ ในหัวข้อ “กฎหมายจ้างงาน "ให้โอกาส" หรือ "ทำลาย" คนพิการ” โดยในเนื้อหาระบุถึงภาพรวมของการจ้างงานคนพิการ สถานการณ์และจำนวน รวมถึงกลไกที่ทำให้เกิดการทุจริตเงินสนับสนุนอาชีพคนพิการ ทั้งในส่วนของมาตรา 33 ที่กำหนดเรื่องการรับพนักงานคนพิการ 1 ต่อ 100 คน หรือมาตรา 34 การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ในปัจจุบันมีมูลค่า 365 วัน คูณด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมทั้งสิ้น 109,500 บาท จนทำให้ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินสะสมถึง 1.2 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงการไม่รู้สิทธิของคนพิการ