Skip to main content

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้กระทรวงแรงงานไม่เคยได้รับร้องเรียนทุจริตเงินคนพิการ พร้อมย้ำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคนพิการหนังสือกรรมการสิทธิฯ เรื่องทุจริตเงินจ้างงานคนพิการตาม ม.33 และ 35 ภายใน 15 วัน

เช้านี้ (19 ก.ย.) ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ กระทรวงแรงงาน เขตดินแดง พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวสืบเนื่องจากกรณีที่ปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการตามมาตรา 33 ที่กำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการ แต่ปรากฏว่า ตัวเลขการจ้างงานไม่ตรงกับสิทธิของคนพิการจริง และมาตรา 35 เรื่องการทุจริตเงินฝึกอบรมคนพิการ เป็นจำนวนถึง 1,500 ล้านบาทต่อปีนั้น พล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวว่า ประเด็นนี้มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 4 ส่วนคือ คนพิการ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการและภาครัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เห็นผลภายใน 15 วัน โดยมีรองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน โดยตั้งแต่ปี 2552 ที่กระทรวงแรงงานเริ่มส่งเสริมคนพิการให้มีงานทำนั้น พบว่า ยังไม่เคยได้รับการร้องเรียนเรื่องการทุจริตเงินคนพิการแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงภารกิจของกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับงานคนพิการ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ได้แก่

1. จัดหางานให้คนพิการตาม ม.33 ได้แก่การรับคนพิการเข้าทำงาน 1: 100 คน หากเกิน 50 คน ต้องรับเพิ่มอีก 1 คน โดยมีขั้นตอนคือ คนพิการและนายจ้างหรือสถานประกอบการแจ้งตำแหน่งงานว่างและแจ้งขอใช้สิทธิตามมาตรา 33 จับคู่ตำแหน่งงานว่างกับคนพิการ พบนายจ้างเพื่อสัมภาษณ์งาน และติดตามและประเมินผลการบรรจุงาน ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – สิงหาคม 2561) มีคนพิการขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน 1,979 คน และบรรจุงาน 1,565 คน

2. การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตาม ม.34 นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีหน้าที่ต้องจ้างคนพิการ แต่ไม่จ้างหรือจ้างไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด ต้องส่งเงิน 109,500 บาทต่อ 1คนต่อปี เข้ากองทุนฯ ซึ่งในปี 2561 มีนายจ้าง/สถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนฯ จำนวน 14,623 คน (22.49%) ซึ่งการจัดการในส่วนนี้ กระทรวงแรงงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

3. ส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการตาม ม.35 กรมการจัดหางานโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่เป็นหน่วยแจ้งการขอใช้สิทธิตาม ม.35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ โดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดยเมื่อได้รับแจ้งการให้สิทธิจากนายจ้าง/สถานประกอบการแล้วจะดำเนินการตรวจสอบ ดังนี้

1) สิทธิที่ให้แก่คนพิการครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ หรือไม่

2) มูลค่าของสิทธิที่ให้แก่คนพิการเป็นไปตามที่กำหนดไว้ระเบียบหรือไม่

3) คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการสามารถรับสิทธิที่นายจ้าง/สถานประกอบการให้ได้หรือไม่

เมื่อครบถ้วนแล้ว จึงอนุญาตให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ให้สิทธิแก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการตามที่แจ้ง และส่งสำเนาเอกสารในการให้สิทธิแก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการไปยังสำนักงานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อติดตามและตรวจสอบต่อไป
 

โดยทั้งนี้จากกรณีเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านอัญญะรัฐ เอ่งฉ้วน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการ โดยระบุว่า คนพิการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมตามมาตรา 33 ที่มีระบุตัวเลขคนพิการถูกจ้างงานจำนวน 25,000 คน แต่มีการทำงานจริงแค่ 20,000 คน ส่วนที่เหลืออีก 5,000 คน นอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิได้รับสวัสดิการการจ้างงานเดือนละ 9,500 บาท จึงถูกสมาคมคนพิการและมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการต่างๆ หักหัวคิวโดยจ่ายให้คนพิการเพียงเดือนละ 500-3,000 บาท ทั้งนี้ประมาณการว่า ความเสียหายที่เกิดจากมาตรา 33 นั้นเป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ในมาตรา 35 ที่กำหนดให้สถานประกอบการที่ไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการสามารถจัดอบรมคนพิการแทนได้ ช่องทางนี้ทำให้สมาคมและมูลนิธิต่างๆ ทุจริต ทั้งค่าจ้างวิทยากรและเงินในการจัดฝึกอบรม เช่น ตั้งเบิกค่าวิทยากร 300,000 บาทจ่ายจริง 30,000 บาท หรือโครงการอบรม 6 เดือน แต่ดำเนินการจริงแค่ 3 เดือน หรือบางจังหวัดข้าราชการระดับผู้อำนวยการสำนักงาน ขอหัวคิวคนพิการหัวละ 9,500 ต่อคนต่อปี แลกกับการอนุมัติจัดฝึกอบรมทุกโครงการ โดยทั้งหมดทำกันเป็นขบวนการ

โดยจาการต่อสู้ที่ผ่านมา ปรีดากล่าวว่าเขาถูกข่มขู่คุกคามหลายรูปแบบ คนพิการที่เคยร่วมต่อสู้ด้วยกันก็ถูกอุ้มขึ้นรถตู้ไปเจรจาให้รับเงิน 20,000 แลกกับการเซ็นต์ยินยอมไม่ดำเนินคดี ตนจึงเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปสนับสนุนหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงอยากให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่มี 2 หน่วยงานคือ กรมการจัดหางานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมเป็นกรรมการ

 

อ่านข่าว คนพิการยื่น กสม.สอบสมาคม-มูลนิธิทุจริตเงินทำงาน-อบรม 1,500 ล้านต่อปี ได้ที่นี่