Skip to main content

ทุกวันนี้คนต่างใช้สมาร์ทโฟนในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งดูหนัง ฟังเพลง ส่งงาน ทำธุรกรรมการเงิน ทำให้เกิดแอปพลิเคชันมากมายพร้อมฟังก์ชันการใช้งานเพื่อความสะดวกสบาย ทว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งของคนพิการทางสายตาคือมองไม่เห็น จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกิจกรรมบางอย่างได้ เหมือนกับคนอื่นๆ แล้วทำอย่างไรล่ะ คนพิการทางการมองเห็นจึงจะสามารถทำกิจกรรมได้ด้วยตัวเองอย่างสะดวกสบาย  

 

เมื่อวันที่ 13-15 ก.ย. 2561 ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ต (ลานลิฟต์แก้ว) ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้มีการจัดงาน Good Socity Expo 2018 ทำดีหวังผลเริ่มต้นที่เรา โดยมูลนิธิเพื่อคนไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 80 องค์กร นอกจากงานนิทรรศการในงานแล้ว ยังมีเสวนาเรื่อง “Appllication คนพิการ” ที่มีด้วยกันทั้งหมด 2 แอพ ซึ่งก็คือแอปพลิเคชันพรรณา ที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถดูภาพยนตร์ได้ และ แอปพลิเคชัน K Plus Beacon ที่ช่วยในเรื่องของการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยมีวิทยากรเข้าร่วมเสวนา 2 คนได้แก่ ปิยวรรณ องค์สุวรรณ ผู้จัดการโครงการ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด และอภิรัตน์ หวานชะเอม ผู้ออกแบบนวัตกรรมของ KASIKORN Business-Technology Group พร้อมทั้งแขกรับเชิญพิเศษที่มีความพิการทางสายตาอีก 2 คน ได้แก่ มาโนช รุ่งเรืองอเนกคุณ และอนุพงศ์ ไชยสิทธิ์

 

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดแอปพลิเคชันเพื่อคนพิการ ?

ปิยวรรณ : บริษัทกล่องดินสอเริ่มต้นก่อตั้งโดยฉัตรชัย อภิบาลพูนผล มีแรงบันดาลใจจากตอนที่ไปเป็นอาสาสมัครสอนการบ้านให้เด็กตาบอด และเห็นเด็กๆ ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน หลังกลับมาออกแบบ เลยออกมาเป็นปากกาที่ชื่อว่า “เล่นเส้น” เป็นปากกาที่คนตาบอดสามารถวาดรูปและใช้มือสัมผัสได้ เพราะเส้นที่ว่านั้นทำจากด้ายที่มีความนูน แม้เล่นเส้นจะเป็นจุดเริ่มต้น แต่กล่องดินสองก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น และต่อยอดมาเรื่อยๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า ความพิการไม่ได้มีอยู่จริง เมื่อการออกแบบนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือกิจกรรมต่างๆ เอื้อกับคนพิการ ก็จะทำให้ข้อจำกัดของคนพิการนั้นหายไป กล่องดินสอจึงเปิดตัวแอปพลิเคชัน “พรรณนา” ที่ทำให้คนตาบอดสามารถดูหนังกับทุกคนได้

อภิรัตน์ : แรงบัลดาลใจของผมเกิดจากการคิดว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ และกลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ ถ้าเราสังเกตดีๆ ในการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่างๆ กลายเป็นระบบสัมผัสไปหมดแล้วทั้งจากโทรศัพท์มือถือ ลามไปในรถยนต์และบ้าน วันหนึ่งเรามานั่งคิดว่า อ้าวแล้วคนที่สายตาไม่ดี มองไม่เห็น หรือมองไม่ค่อยชัด จะใช้ชีวิตยากขึ้นมั้ย ฟังก์ชันที่เรียกว่า voice over จึงเข้ามา โดยมีวิธีคือ เมื่อใช้มือคลำ ก็จะพูดออกมา แต่ว่าก็ยังใช้งานยาก สิ่งหนึ่งที่เปรียบเทียบได้ชัดเจนและรู้สึกว่าเป็นแรงบันดาลใจมากก็คือเปเปอร์จากสวีเดนที่พูดถึง voice over โดยเอาภาพของตึกที่มีบันไดเดินขึ้นสำหรับคนขาดี ที่มีแผ่นทาบเป็นทางลาดสำหรับวีลแชร์ เปรียบเทียบกับการทำงานของ voice over ว่า voice over นั้นถูกออกแบบมาสำหรับคนทั่วไป แต่ถูกติ๊งต่างแล้วบอกว่าคนพิการก็ใช้ได้ หลังจากนั้นก็โชว์อีกภาพหนึ่งที่มีบันไดสำหรับคนขาดี แล้วก็มีทางลาดที่ดีไซน์เหมาะสมกับวีลแชร์ พร้อมย้ำว่านี่คือวิธีแก้ที่เหมาะสม

สามอย่างสำหรับแรงผลักดันในการทำคือ อย่างแรกคือรู้สึกว่า จำเป็นเพราะโลกเปลี่ยนเป็นจอสัมผัสหมดแล้ว บริการหลายๆ อย่างกำลังจะเป็นสื่อดิจิทัลกันหมดแล้ว อย่างที่สอง ในมุมของนักออกแบบผมอยากถามตัวเองว่า ถ้าเราออกแบบดีตั้งแต่แรก ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เอาแผ่นเหล็กไปพาด งานควรจะเป็นยังไง อย่างที่สามผมรู้สึกว่า ในแง่คนหนึ่งคนมันเป็นสิ่งที่เราทำได้และควรทำ


ตัวแอปพลิเคชันทำงานอย่างไร ?

อภิรัตน์ : ความงามของมัน คือเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้เริ่มจากเทคโนโลยี เราเริ่มต้นที่การออกแบบก่อน ลองทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มผู้ใช้จริงๆ ที่เป็นคนตาบอด คนสายตาเลือนรางและคนแก่ ผมว่า ส่วนที่เป็นเทคโนโลยีนั้นไม่ยากเลย แต่ส่วนที่ยากคือความไม่รู้จักเขาดีพอแล้วจะไปออกแบบให้เขาได้ยังไง เราถามด้วยคำถามเช่น เสียงแบบไหนฟังแล้วโอเค สำหรับคนตาเลือนรางตัวหนังสือที่เล็กที่สุดที่มองเห็นคือเท่าไหร่  สีแบบไหนที่มองชัด เราเริ่มต้นจากทำความเข้าใจ

เราวางทิศทางไว้ 3 อย่าง อย่างแรกคือไม่ต้องการอุปกรณ์พิเศษ ต้องใช้มือถือได้เลยในเครื่องเดียว สองมันจะต้องใช้งานง่าย และสามต้องเป็นอะไรที่ต่อยอดได้ เราอาจจะเริ่มต้นที่แอปมือถือ แต่มันอาจจะต่อยอดไปถึงอุปกรณ์อื่น ที่ใช้งานง่าย เช่น ใช้หนึ่งนิ้วเพื่อเคลื่อนไหวสี่ทิศทาง

ปิยวรรณ : ในส่วนของแอพพรรณนาช่วยให้คนพิการสามารถชมภาพยนตร์ ดูละครหรือสื่อสิ่งบันเทิงต่างๆ ร่วมกับคนอื่นได้ ก่อนหน้าที่จะมีพรรณนา มีการออกแบบเสียงบรรยายภาพ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Audio Description (AD) ในต่างประเทศ AD ถือเป็นข้อบังคับ ของสถานีที่จะต้องทำเสียงบรรยายภาพพร้อมกับเนื้อหารายการ คนตาบอดในต่างประเทศ เมื่อไปดูหนังก็จะได้อุปกรณ์ฟังเสียงบรรยาย  คนตาดีอาจนึกไม่ออกว่าบรรยายอะไร เพราะเราเห็นฉากทั้งหมดในหนัง แต่สำหรับคนตาบอดพวกเขาได้ยินแต่บทสนทนาแต่ไม่รู้บริบทรอบข้าง เช่น ฉากที่พระเอกนั่งเอามือโอบไหล่นางเอกมองพระอาทิตย์ตกด้วยกัน คนตาบอดก็จะไม่รู้เรื่องว่าบรรยากาศรอบๆ นั้นโรแมนติกเพียงใด สำหรับเมืองไทย เรายังไม่มีตรงนั้นก็เลย การจะให้โรงหนังทำเสียงพิเศษขึ้นมาก็เป็นเรื่องยาก พอคิดได้ว่าคนตาบอดเกือบทุกคน มีโทรศัพท์ ไอเดียเสียงบรรยายภาพในมือถือก็เลยเข้ามา และใช้วิธีการ Audio Republition  เพื่อทำให้เสียงบนจอกับในโทรศัท์นั้นตรงกัน ฟังก์ชันคล้ายกับแอปพลิเคชันหนึ่งบนมือถือที่ชื่อว่า Shazam ซึ่งจะฟังเสียงเพลง แล้ว เด้งกลับมาบอกเราว่า นี่คือเพลงอะไร พรรณนาก็เช่นกัน ตัวแอปพลิเคชันจะฟังเสียงที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนั้น และส่งไปบอกที่ Database ของเราว่า เป็นหนังเรื่องนี้เล่นอยู่ และดึงเสียง AD ที่มีการบรรยายอัดไว้ก่อนหน้านี้มาเล่น

 

 

มีความยากง่ายอะไรบ้าง ?

อภิรัตน์ : สำหรับแอพธนาคาร แม้หลักการจะง่ายแบบที่เล่าให้ฟัง แต่พอมาทำจริงๆ เสียงมาก เสียงน้อย เสียงช้า เสียงเร็วไป เสียงหนักไป เสียงต่ำไป หรือแม้แต่ตัวหนังสือก็ต้องมาออกแบบกันใหม่ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น ยิ่งเป็นแอพสำหรับธนาคารจะมีเรื่องของความปลอดภัยและเรื่องของความมั่นใจ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่นเมื่อต้องใช้เสียงคนอื่นก็จะได้ยิน ถึงแม้ว่าเขาจะพยายามเปิดเสียงให้เร็วขึ้น แต่คนก็ยังได้ยิน เลยต้องมีการทำโหมดยกแนบหูแล้วเสียงไม่ออกลำโพง ความท้าทายอีกหนึ่งอย่างคือ ทำยังไงให้ใช้ร่วมกับ Voice Over ที่มีอยู่ได้ด้วย ต้องคุยกับทาง Apple และ Android ด้วย  การคิดน่ะไม่ยาก แต่ทำให้ใช้ได้จริงนี่ถือว่าเป็นอีกศาสตร์หนึ่ง ช่วงแรกเป็นเรื่องของ Design innovation activity ส่วนช่วงที่สองเป็น Engineering

 

ทิศทางของแอปพลิเคชันเพื่อคนพิการในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร ?

ปิยวรรณ : เป็นสิ่งที่อ่อนไหวมากนะ

อยู่ที่เราจะมองในมุมไหนมากกว่า ถ้ามองในแง่ของการใช้งาน เราก็ต้องบอกว่า เท่าเทียม ต้องมีแอพเดียวกันให้เป็น Universal Design ทุกคนใช้ได้หมด แต่ถ้ามองในแง่ของการใช้งาน ข้อจำกัดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

แอปพลิเคชันที่คนทั่วไปใช้ การเรียนรู้ ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันอยู่ดี ก็ต้องรอดูต่อไปว่าจะมีแอปพลิเคชันไหนที่ใช้เทคโนโลยีทำให้คนสามารถใช้งานได้ทุกคนจริงๆ

 

กระแสตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ?

ปิยวรรณ : พรรณนาเปิดตัวไปเมื่อกันยายนปีที่แล้วกับภาพยนตร์เรื่องเพื่อนที่ระลึก ตอนนั้นเราพาพี่น้อง ที่พิการทางสายตา รวมถึงผู้สูงอายุที่มองไม่ค่อยเห็นไปดูกัน ด้วยความที่หนังน่ากลัวมาก พอได้ยินเสียงบรรยายก็ทำให้จินตนาการเขาไปไกลเกินกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก พรรณนาทำให้ทุกคนในครอบครัวสามารถนั่งดูหนังด้วยกันได้ สนุกกับกิจกรรมทางสังคม ก็ต้องขอขอบคุณทาง GDH 559 ที่ผลิตเสียงบรรยายภาพให้กับเราทุกเรื่องเลย และมี SF สนับสนุน

อภิรัตน์ : ถ้ามองในแง่จำนวนคนพิการแล้วก็จะดูไม่คุ้มหรอกถ้าเทียบกับคนไทย 70 ล้านคน แต่อยากฝากถึงธุรกิจที่จะสนับสนุนว่า ในกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ๆ เขาใช้บริการแต่ไม่ได้ดูแค่ตัวสินค้าและบริการ แต่ดูที่แบรนด์ว่าน่าสนใจ ปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆ อย่างธนาคาร ใช้เงินโฆษณาปีหนึ่งกว่าร้อยล้านบาท ถ้าเอา 50% มาสนับสนุนอย่าง เช่น แอพอย่างพรรณนา สิ่งที่คุณจะได้คือ แบรนด์ ซึ่งสำคัญมากสำหรับคนยุคใหม่

ผมทำ K Plus Beacon ขึ้นมา เพราะคิดถึงผู้ใช้และอยากให้แบรนด์ต่างๆ เริ่มมอง Social Enterprise แบบนี้ว่าคือการลงทุนอย่างหนึ่งที่คุณจะได้ความคุ้มค่ากลับมา ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นจริง

 

เวลาไปติดต่อกับธนาคารพบปัญหาอะไรบ้าง?

อนุพงศ์ : เรื่องการทำธุรกรรมไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเวลาไปธนาคาร พนักงานก็บริการเหมือนคนทั่วไป แต่ระยะหลังเริ่มใช้แอพบ้าง ทดลองมาหลายตัว ช่วงแรกก็ใช้ได้ หลังๆ พอเริ่มอัปเดตเวอร์ชันขั้นตอนต่างๆ ก็ยากขึ้นกว่าเดิม

มาโนช : ส่วนใหญ่ทำธุรกรรมผ่านเงินสด เวลาใช้แอพแล้วกลัวเผลอไปกดผิด ขั้นตอนไม่เหมือนเดิม กลัวเงินหาย เงินมีน้อย (หัวเราะ)

 

เคยทดลองใช้พรรณนาหรือยัง ?

มาโนช : ได้ใช้แล้ว ไปดูเรื่องน้องพี่ที่รักกับ 2,215 เชื่อบ้ากล้าก้าว พอมีเสียงบรรยายขึ้นมาก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น

อนุพงศ์ : ได้ไปเรื่องเพื่อนที่ระลึก น่ากลัวมาก เป็นการดูหนังในรอบ 20 ปี เพราะเรื่องล่าสุดที่ดูคือไททานิค ตอนนั้นเราดูไม่รู้เรื่อง ต้องคอยถามคนข้างๆ ตลอดเวลา รู้สึกว่า เป็นภาระเขาหรือเปล่า แต่ตอนหลังมีแอปพลิเคชันที่ทำเสียงบรรยายในภาพยนตร์ก็ทำให้อยากกลับมาดูหนังอีกครั้งหนึ่ง

 

 

นอกจากแอปพลิเคชันการเงินกับการดูหนัง ยังอยากให้มีแอปพลิเคชันอะไรอีกบ้าง ที่ช่วยให้คนพิการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ?

อนุพงศ์ :  เป็นแอพทำธุรกรรม จะอ่านหนังสือ หรือดูป้ายรถเมล์ เวลารอรถเมล์ยากมาก บางทีไปที่ป้ายก็ไม่รู้ว่า ป้ายมีคนหรือเปล่า ถ้ามีแอพที่ช่วยเป็นดวงตาให้เรา  บอกว่า ตอนนี้รถเมล์สายนี้มาแล้วก็คงดี อาจจะผ่านสมาร์ทโฟนหรือแว่นตาก็ได้ อีกแอพที่อยากได้คือแอพที่สามารถทำให้เราวิ่งคนเดียวได้

คุณมาโนช : ยังไม่อยากได้แอพอะไรเพิ่ม แต่อยากทำให้เราเข้าถึงได้อย่างเต็มที่กว่านี้  

 

อยากฝากอะไรถึงคนพิการทางสายตาหรือคนตาดีในการสร้างนวัตกรรม ?

ปิยวรรณ : อยากจะพูดถึง Social inclusion ที่ทำให้ทุกคนในสังคมที่ไม่ว่าจะมีข้อแตกต่างอย่างไร ข้อจำกัดยังไง สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ใกล้เคียงกันที่สุด ถ้าตัวเราเองสามารถทำอะไรได้ก็ลงไปตรงนั้นและคิดถึงว่าคนที่มีข้อจำกัดอื่นเข้าถึงได้หรือเปล่า

อภิรัตน์ : ผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วความงามของมนุษย์คือความต่าง เพราะฉะนั้นผม ไม่ได้ทำให้ทุกคนเหมือนกัน แต่เป็นการทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และเทคโนโลยีสามารถทำให้เกิดสิ่งนั้นได้ จุดสำคัญคือทำยังไงให้ทุกคนมีศักยภาพให้เต็มที่ และที่สำคัญสังคมต้องมองเห็นถึงศักยภาพนั้นด้วย

อนุพงศ์ : สำหรับคนที่อยากจะพัฒนาแอปพลิเคชัน โปรแกรมหรือนวัตกรรมต่างๆ ไม่ต้องทำเฉพาะเจาะจงเพื่อคนพิการทางสายตาหรือคนพิการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่อยากให้ทำให้คนทุกคนใช้ได้อย่างมีความสุขและอยากให้มองคนพิการเหมือนเป็นพี่น้องของคุณ เวลาจะทำอะไร อย่ามองแตกต่างหรือผิดไปจากคนทั่วไป

มาโนช : อยากให้ให้โอกาสในเรื่องอาชีพ ผมโชคดีที่มีอาชีพก่อนจะพิการ พอพิการช่วงแรกๆ ที่ต้องปรับตัวเขาดูเหมือนไม่ค่อยเห็นค่าเรา ก็รู้สึกแย่ แต่พอเขาให้โอกาส เริ่มให้สิทธิเราเลือกว่าจะทำอะไร เขาก็อึ้งนะว่าเราก็ทำได้นี่ หลังจากนั้นก็เลยได้ทำอะไรเยอะแยะไปหมด ผมว่า อาชีพคนพิการไม่ควรมีแค่ขายหวย แต่พวกเขาควรทำได้มากกว่านั้น