Skip to main content

ในงาน Good Society Expo 2018 ที่จัดขึ้นในห้างสรรพสินค้าเซนทรัลเวิลด์ มีกิจกรรมมากมายให้เราได้เลือกทำ หนึ่งในนั้นมีพาวิลเลียนหนึ่งที่เราชาว ThisAble.me สนใจเป็นพิเศษนั่นก็คือพาวิลเลียนคนพิการ ที่มีทั้งการจำลองเป็นคนพิการ ทำอาหารแบบคนตาบอดหรือแม้กระทั่งคุยกับคนหูหนวก ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่เราคงจินตนาการไม่ออกหากไม่เคยได้ลงมือทำ

กิจกรรมแรกมีชื่อว่า Experience ‘from ME to WE world’ เป็นการทดลองสัมผัสประสบการณ์สวมบทบาทเป็นคนพิการในการรับชมนิทรรศการ เราได้ลองเป็นคนพิการนั่งวีลแชร์ครั้งแรก ด้วยวีลแชร์แบบแมนน่วล ที่ผู้นั่งต้องใช้แขนในการหมุนล้อบังคับทิศทาง ทำให้การเลี้ยวไปตามทางระหว่างชมนิทรรศการค่อนข้างลำบากเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกแย่แต่ทุกอย่างและป้ายนิทรรศการดูอยู่สูงไปหมด ภายในนิทรรศการมีการสาธิตการใช้งานสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนพิการให้ชมคร่าวๆ ทำให้เห็นว่า นวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการเริ่มมีเยอะขึ้นและไม่เพียงแต่คนพิการที่ใช้ได้ แต่คนไม่พิการก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
 
 
 
 
จากนิทรรศการที่แสดงนวัตกรรมต่างๆ ในวันนี้ ทำให้เราเห็นว่า สิ่งต่างๆ ที่สร้างขึ้นล้วนทำเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น และเอื้อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาไม่ใช่คนที่ต้องการความสงสาร แต่ต้องการความเข้าใจที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติ
 

 

ปิดตาทำอาหาร คนตาบอดสอนคนตาดีเข้าครัว

กิจกรรมเริ่มขึ้นด้วยการใช้ผ้าปิดตาทุกคน วิทยากรจะอธิบายว่าของตรงหน้าคืออะไร พร้อมให้ผู้ทำหยิบจับตามไปด้วยจะได้รู้และจดจำ ชามกับกะละมังอยู่ตรงไหน ถุงมืออยู่ใต้กะละมังใช่หรือไม่ ฝั่งซ้ายเป็นช้อนตวง ถ้วยตวง ข้างบนบนตรงกลางคือกระชอน ฝั่งขวาคือตระกร้อและไม้พาย

 
การเข้าครัวสำหรับคนพิการทางสายตานั้น ต้องใช้การจำเป็นหลัก เมื่อใช้อุปกรณ์แล้วก็ต้องวางที่เดิมทุกครั้งและพวกเขาจะวางวัตถุดิบตามเข็มนาฬิกา และใช้ตัวเลขตามเข็มฬิกาเป็นทิศทางในการหยิบวัตถุดิบ รอบที่ผู้เขียนเข้าร่วมนั้นทำเค้กกล้วยหอม นึ่งด้วยหม้อหุงข้าว เพราะฉะนั้นการจัดวางวัตถุดิบจึงเป็นไปตามนี้
12 นาฬิกาคือขวดน้ำ
1 นาฬิกาคือแป้ง
4 นาฬิกาคือน้ำตาลทราย
6 นาฬิกาคือน้ำตาลอ้อย
7 นาฬิกาคือไข่ไก่ 3 ฟอง
9 นาฬิกาคือกล้วย
10 นาฬิกาคือมะนาว
 

 

การตวงวัตถุดิบต้องใช้มือสัมผัสเพื่อให้รู้ว่าได้สัดส่วนที่ต้องการแล้วหรือยัง หากเป็นของแห้งก็ใช้นิ้วมือปาดให้ได้สัดส่วนที่พอดี ถ้าเป็นของเหลวให้ใช้นิ้วมือแนบขอบช้อนตวง หากเทของเหลวจนพอดีกับนิ้วแปลว่าได้สัดส่วนแล้ว

หลังจากนั้นคนตาบอดจะเข้ามาสอน ทุกขั้นตอนต้องใช้การสัมผัสและฟัง เช่น เมื่อคนส่วนผสมให้เข้ากัน หากยังมีเสียงแก๊กๆ แปลว่าน้ำตาลยังไม่ละลายมากพอ การผสมของเหลวต้องค่อยๆ คน เมื่อรู้สึกหนืดแปลว่าส่วนผสมเริ่มเข้ากันดีแล้ว หลังจากนั้นจึงเทใส่พิมพ์แล้วนำเข้าไปนึ่งในหม้อหุงข้าว

การเข้าร่วมปิดตาทำอาหารครั้งนี้ให้ความรู้สึกสนุกปนตื่นเต้น เพราะการทำอาหารต้องอาศัยความรวดเร็วและแม่นยำ แต่การมองเห็นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอย่างที่คิด ถ้าอยากรู้ว่าปิดตาแล้วทำอาหารเป็นยังไง ก็คงต้องลอง (หาคนมาอยู่ลองเป็นเพื่อนด้วยก็ดี)

 

คุยกับคนหูหนวกและชมนิทรรศการคนหูหนวก

“ ใกล้กันได้ไม่ต้องใช้เสียง ” คือนิทรรศการเกี่ยวกับคนหูหนวกโดยศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thailand Telecommunication Relay Service : TTRS) ที่เล็งเห็นถึงความยากลำบากในการสื่อสารกับผู้อื่นของคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จึงเปิดให้บริการระบบตัวกลางการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งหมด 9 รูปแบบ ได้แก่

  1. ข้อความสั้น (sms)

  2. แอพฯ TTRS Message

  3. แอพฯ TTRS Live Chat

  4. การสนทนาข้อความผ่านเว็บไซต์

  5. การสนทนาวีดีโอผ่านเว็บไซต์

  6. การสนทนาวิดีโอบนอินเทอร์เน็ตผ่านแอพฯ TTRS Video

  7. การสนทนาวีดีโอผ่านตู้ TTRS

  8. การปรับปรุงเสียงพูดสำหรับผู้ไร้กล้องเสียงและผู้ที่ปากแหว่งเพดานโหว่

  9. แอพฯ TTRS Captioned Phone

ในงานมีการติดตั้งตู้แปลภาษามือ TTRS เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานทดลองใช้ตู้แปลภาษามือ สื่อสารกับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เราได้ลองใช้ตู้แปลภาษามือเช่นเดียวกัน ตู้จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและเรา โดยอาศัยล่ามผู้เชี่ยวชาญภาษามือประจำศูนย์ เพราะฉะนั้นหากวันหลังเราต้องการสื่อสารกับคนหูหนวก ใกล้ๆตู้ TTRS ก็สามารถใช้บริการได้

เราได้ลองสนทนาแบบวีดีโอกับเจ้าหน้าที่ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ผ่านตู้แปลภาษามือ TTRS เริ่มจากการเสียบบัตรประชาชน หากลืมบัตรประชาชนให้กด log in บนหน้าจอ แล้วพิมพ์หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และรหัสผ่าน ในกรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกให้กดปุ่มสมัครสมาชิกบนหน้าจอ ต่อมาเลือกกล้องที่เหมาะสมกับส่วนสูง (กล้องบน เหมาะกับผู้ใช้ที่มีความสูง 150 ซม. ขึ้นไป กล้องล่าง เหมาะกับผู้ที่มีความสูงต่ำกว่า 150 ซม.) และยกหูโทรศัพท์ เลือกโปรแกรมล่ามแปลภาษามือ จากนั้นเราก็สามารถคุยกับล่ามถึงสิ่งที่เราอยากคุยกับคนหูหนวก ล่ามจากตู้แปลภาษามือจะแปลคำพูดของเราเป็นภาษามือให้คนหูหนวกดูผ่านวิดีโอ เพื่อสื่อสารกับเรา

หลังจากที่ได้ลองใช้ตู้แปลภาษมือ TTRS แล้ว ทำให้เรารู้สึกว่าการสื่อสารกับตนหูหนวกไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนพิการทางการได้ยินสามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วไปในสังคมอย่างเข้าใจมากขึ้นด้วย

 
 
ขอบคุณภาพประกอบ : karnnt