Skip to main content

หลายคนอาจสงสัยว่า ‘นั่งวีลแชร์แล้วเป็นพยาบาลได้ด้วยเหรอ? ’ แต่เธอคนนี้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าเธอทำได้

 

‘ยิว’ กรรณิการ์ ศรีวิจา พยาบาลสาวจากเชียงใหม่ ที่แม้ว่าอุบัติเหตุในอดีตจะรุนแรงมากจนเปลี่ยนชีวิตและร่างกายเธอจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่กลับมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือคุณค่าในตัวเองและความตั้งใจที่จะเป็นพยาบาล ภาพจำแห่งความน่าสงสารที่คนมักมีต่อคนพิการนั้นถูกลบไปโดยสิ้นเชิงจากภาพการดูแลคนไข้ การเที่ยวด้วยวีลแชร์ และการเป็นนักวิ่ง

ระหว่างการสัมภาษณ์ เราเห็นภาพของหญิงสาวที่ร่าเริงสดใสและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบวกเหมือนกับที่ใครหลายคนพูดกันว่า ความสามารถของเธอทำให้มองข้ามเรื่องความพิการไปเสียสนิท อะไรกันที่ทำให้ยิวผ่านช่วงที่ยากลำบากที่สุดของชีวิตและกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งในบทบาทของพยาบาลเวชทะเบียน โรงพยาบาลสันทราย

จากพยาบาลสู่คนไข้

กรรณิการ์:  ตอนเรียนมัธยมปู่เป็นมะเร็งปอด ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เรามาเฝ้าปู่และได้เจอกับนักเรียนพยาบาลที่มาฝึกงาน เขาคอยดูแลปู่ เช็ดตัว อาบน้ำอย่างดีทั้งๆ ที่ไม่ใช่ญาติ เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากจะเป็นพยาบาลตั้งแต่ตอนนั้นเพราะอยากดูแลคนอื่นเหมือนกับที่พี่นักเรียนพยาบาลทำ

ตอนเรียนพยาบาลปี 4 เราประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทั้งๆ ที่อีก 1 เดือนก็จะเรียนจบแล้ว วันนั้นเราตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาลพร้อมขาที่ไม่รู้สึก พยาบาลยืนล้อมหน้าล้อมหลังเพื่อประเมินอาการ หลังจากนั้นอาจารย์หมอถึงมาคุยกับเรา ว่า ไขสันหลังได้รับการกระทบกระเทือนและช้ำมาก แม้ทุกคนจะปลอบว่าแปปเดียวเดี๋ยวก็หาย แต่เพราะเราเรียนมา ก็เลยรู้ว่าคงไม่แปปเดียว แม้แต่หมอยังไม่รู้เลย เราเลยประเมินในใจว่าอาจจะเดินไม่ได้แล้วและคงไม่ทันได้เรียนจบพร้อมเพื่อนเหมือนที่ควรจะเป็นเมื่อก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน

กังวลเรื่องอะไรมากที่สุดหลังเกิดอุบัติเหตุและผ่านมาได้อย่างไร

สิ่งแรกที่แว้บเข้ามาคือ การเดิน ถ้าเราเดินไม่ได้ก็จะเรียนไม่ได้ มันต่อเนื่องกัน เราใช้เวลาทำกายภาพบำบัดทั้งหมด 1 ปี 6 เดือน การทำกายภาพ  2 เดือนแรกที่โรงพยาบาลทำให้เรากระดิกนิ้วเท้าได้นิดหน่อย จนที่สุดแล้วหมอก็สรุปว่า เรามีอาการกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทบางส่วน หลัง 2 เดือนเรากลับมาอยู่บ้านพร้อมจ้างนักกายภาพบำบัด แต่เรากลับรู้สึกไม่โอเค การกลับมาอยู่บ้านทำให้เราเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ต้องมีคนพลิกตัวให้ทุก 2 ชั่วโมง ทำอะไรเองไม่ได้ เวลาจะไปไหนก็ต้องบอกให้คนอื่นช่วยยกเราที่ใส่เสื้อเกราะอยู่ออกไปตั้งหน้าบ้านบ้าง หน้าทีวีบ้าง ชีวิตอยู่แต่กับโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก ยิ่งตอนเพื่อนลงรูปงานบายเนียร์ ถ่ายรูปจบ เรายิ่งรู้สึกท้อถึงขั้นมีภาวะซึมเศร้า

การให้ครอบครัวดูแลไม่เหมือนตอนอยู่โรงพยาบาลเพราะพวกเขามีงานต้องทำจึงอยู่กับเรา 24 ชั่วโมงไม่ได้ บางครั้งอยู่บ้านแล้วปวดก็ต้องทน จะให้พลิกตัวบ่อยๆ ก็เกรงใจ เลยตัดสินใจเข้าโรงพยาบาลอีกรอบ และเริ่มทำกายภาพจริงจัง ตั้งแต่การนั่ง ยืน และเดิน ทำเหมือนเดิมทุกวัน ซึ่งน่าเบื่อจนแรกๆ ร้องไห้ไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม จนกระทั่งหมอแนะนำให้ลองใช้วีลแชร์

แขนแข็งแรง = วีลแชร์ที่คล่องตัว

แขนเป็นตัวเคลื่อนวีลแชร์เลยต้องฝึกให้แข็งแรง เราฝึกจนมือแตกนานกว่า 6 เดือน การฝึกวีลแชร์ถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับเรา ช่วงที่ฝึกเราเริ่มออกไปข้างนอก หาอะไรกิน ไปห้าง รวมถึงการไปเขื่อนแม่งัดกับเพื่อนด้วยเรือ การไปเที่ยวจึงเป็นหมุดหมายใหม่ในการฝึกเพื่อให้เรากลับมาใช้ชีวิตได้โดยมีวีลแชร์เป็นขา

ตอนนี้เราก็เลยเป็นผู้หญิงบ่าใหญ่ (หัวเราะ) และทำได้ทุกอย่าง ทำไม่ได้แค่ลงและขึ้นบันได แต่ไปไหนมาไหนได้ผิดกับช่วงแรกๆ ที่กังวล กลัวจะรบกวนเพื่อน แม้วีลแชร์จะมีหน้าที่แทนขาในการเดิน แต่แขนก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญระหว่างที่เราไม่ได้อยู่บนวีลแชร์ แขนช่วยพยุงไม่ว่าจะเวลาขึ้นเตียง ลงเตียงหรือย้ายตัวไปในที่ต่างๆ และทำกิจกรรมทุกอย่างให้เหมือนเดิมแม้ว่าจะปรับเปลี่ยนท่าทางเป็นการนั่งแล้วก็ตาม

จุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้เรากลับมาใช้ชีวิตกับวีลแชร์ได้อย่างมีความสุข

การยอมรับวีลแชร์และการทำเพจบันทึกจากวีลแชร์ เราเริ่มรู้สึกว่าเราเป็นต้นแบบได้ มีคนพิการเข้ามาติดตามเรา แต่ปรากฎว่าเขาเก่งกว่าเราอีก (หัวเราะ) นอกจากข้อมูลที่ได้แลกเปลี่ยน ความสุขก็เป็นเป็นอีกสิ่งที่เราได้รับมาตลอดหลังพิการ เราพยายามหาคุณค่าใหม่ในตัวเอง เช่น อาสาช่วยงานในวอร์ด คุยกับคนไข้และสร้างความรู้สึกที่ว่า

คุณค่าของเราหาได้เสมอ ถ้าเราอยากจะหา 

ความพิการเป็นอุปสรรคต่อการเป็นพยาบาลหรือไม่

ตอนแรกก็คิดว่าจะเป็นแบบนั้น แต่พอฝึกงานเราได้ลองไปฉีดยา เจาะเลือด ทำแผล หรือแม้กระทั่งให้อาหารทางสายยาง สุดท้ายเราก็ทำได้ แม้จะมีบางอย่างที่ทำไม่ได้ เช่น ยกตัวหรืออาบน้ำให้ผู้ป่วยก็ตาม ความคิดเราเปลี่ยนไปจากสิ่งเล็กๆ ที่เรายังสามารถทำได้ การเดินไม่ใช่ขีดจำกัดของชีวิตสักหน่อย

เวลาคนไข้เห็นพยาบาลนั่งวีลแชร์ พวกเขาแสดงออกอย่างไร

ตอนฝึกงานคนไข้มักพูดกับเราว่า “หมอไม่สบายยังต้องมาทำงานอีกเหรอ”  “หมออย่าเดินเยอะ เดี๋ยวจะเป็นไรอีก”หรือถามว่า “หมอไปโดนอะไรมา นั่งรถเข็นด้วยตลกจัง” คนไข้มักเข้าใจว่าเราป่วยแล้วยังขยันทำงาน พวกเขาก็มีกำลังใจจะรีบหายป่วย แต่ก่อนที่จะเจอเหตุการณ์แบบนี้ ในช่วงแรกเราเข้าถึงคนไข้ค่อนข้างยากเพราะเขาไม่ค่อยไว้ใจ เขาระแวงเมื่อเราจะฉีดยาให้หรืออื่นๆ เมื่อแสดงให้เขาเห็นว่าเราทำได้ถึงยอมให้เราดูแล

เวลาทำงานชอบมีคนทักว่า ไม่เหมือนคนนั่งวีลแชร์เพราะร่าเริง คนมักมองว่าคนที่นั่งวีลแชร์เป็นคนป่วย จะต้องซึมเศร้าตลอดเวลา

เรามองโลกต่างไปอย่างไรบ้างเมื่อมีความพิการ

ตอนไม่พิการเราก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป แต่พอประสบอุบัติเหตุเราเปลี่ยนเป็นอีกคน เริ่มคิดว่า ความสุขจริงๆ ของชีวิตคืออะไร ความสุขที่ต้องพยายามทำทุกวันนั้นใช่ความสุขจริงๆเหรอ การทำสิ่งดีให้มากขึ้น ทำเพื่อคนอื่นแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยจึงเป็นสิ่งที่เราทำในตอนนี้ รวมถึงมองย้อนกลับไปถอดบทเรียนแต่ละปัญหา เปลี่ยนให้กลายเป็นแรงผลักดันที่จะใช้ชีวิต ผ่านเพจ “บันทึกจากวีลแชร์”

คนที่ทำให้เราเข้มแข็งที่สุดคือย่า ย้อนกลับไปตอนที่เรายังดูแลตัวเองไม่ได้ ย่าคอยดูแลเราตลอดเวลา พอเห็นย่าเข้มแข็งก็กระตุ้นให้เราลุกขึ้นสู้ นอกจากนั้นก็มีแฟนที่พยายามหาทางช่วยเหลือเรา ชี้แนะให้เราลองทำสิ่งใหม่ๆ ตอนนั้นเราวางแผนเยอะมากนอกเหนือจากการเป็นพยาบาล

เริ่มวิ่งได้อย่างไร

ที่ตัดสินใจไปวิ่งเพราะว่าชอบพี่ตูน บอดี้แสลมมาก คิดว่าจะได้เจอตอนวิ่งแต่ปรากฏว่าไม่ได้เจอ (หัวเราะ) วันนั้นระหว่างทางวิ่งฝนตกตลอด เราปั่นวีลแชร์ไม่ได้จนมีคน 4 คนมาช่วยเข็นทั้งที่ไม่รู้จักกัน จนตอนนี้พวกเขาก็ยังเป็นเพื่อนกับเราอยู่ เราได้รับมิตรภาพดีๆ จากสนามวิ่งและได้เป็นกำลังใจให้คนอื่นด้วย

อยากให้สังคมมองคนพิการแบบไหน  

อย่ามองว่า คนพิการเป็นคนป่วย

เราต้องการให้สังคมมองคนพิการเทียบเท่าคนไม่พิการ ให้เกียรติ ไม่แบ่งแยก เพราะคนพิการก็เป็นคนคนหนึ่ง ถึงแม้เขาจะพิการหรือนั่งวีลแชร์ เขาก็มีอาชีพและพยายามหาเลี้ยงตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเขาอยู่แล้ว หลายคนมองว่า คนพิการคือคนป่วยหรือด้อยกว่า ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ เขาก็คือคนทั่วไป อยากเที่ยว อยากกินอาหารดีๆ แต่บ้านเรากลับสร้างกรอบ จนแม้จะมีกฎหมายหรือมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือคนพิการ ก็ใช้งานจริงไม่ได้

เราอยากจะจุดประกายในเรื่องนี้ แต่ก็ทำยากมาก คนพิการไม่ได้มีเสรีภาพ ไม่ได้มีงบประมาณ ในประเทศนี้อะไรก็ทำยากโดยเฉพาะความต่างของฐานะคน เรามีครอบครัวคอยสนับสนุนก็ฟื้นตัวและกลับมาใช้ชีวิตได้เร็ว แต่คนที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีเงิน จะเป็นไปได้ยังไงที่ตัวเขาจะพัฒนาได้จริงๆ เพราะนอกจากเขาจะต้องฟื้นจากความพิการ แล้วยังต้องดิ้นรนเข้าเรียน หาอาชีพ ดูแลตัวเองหรือแม้แต่เปลี่ยนตัวเองเพื่อใช้ชีวิตประจำวันให้ได้เหมือนตอนที่ไม่พิการอีก

ในภาพรวมแล้ว คนพิการในไทยยังต้องการการสนับสนุนด้านไหน

ด้านอาชีพ เราไม่ควรตีกรอบให้คนพิการหรือเลือกปฏิบัติต่อเขา ในต่างประเทศคนนั่งวีลแชร์สามารถเรียนพยาบาลหรือหมอได้ แต่ในไทยกลับเรียนไม่ได้ รวมถึงมีอีกหลายสาขาที่มีข้อกำหนดอะไรเหล่านี้เช่นกัน ทำให้คนพิการมีอาชีพไม่มากนัก หรือถึงแม้เรียนจบ สถานที่ทำงานก็ไม่เอื้ออำนวย บางคนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน พวกเขาถูกตัดสินไปแล้วว่าเหมาะกับอะไรและไม่เหมาะกับอะไรทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้ให้เขาลองทำ

นอกจากนี้ เราอยากให้คนพิการยอมรับกับสิ่งที่กำลังเป็น เลิกกังวลเรื่องเดินได้หรือเดินไม่ได้ ก้าวผ่านความกลัวต่างๆ ไป และมองข้ามสิ่งที่คนดูถูก ถ้าเราเปิดใจยอมรับวีลแชร์และยอมรับตัวเอง ท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างที่เราทำจะทำให้ชนะใจตัวเอง