Skip to main content

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะมีแอพฯต่างๆ มากมายที่ทดแทนการดูทีวี แต่ทีวีก็ยังคงเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงอยู่ คนพิการก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนพิการทางการได้ยินที่อินเทอร์เน็ตช่วยทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น อย่างไรก็ดี ทีวีก็ยังเป็นอีกช่องทางที่คนหูหนวกเลือกรับสื่อ แต่ทีวีกลับมีช่องล่ามภาษามือเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน

จำเป็นไหมที่คนหูหนวกต้องดูแต่รายการข่าว และหากมีล่ามภาษามือในทุกๆ รายการจะทำให้คนหูหนวกเข้าถึงสื่อมากขึ้นได้อย่างไร ThisAble.me ชวนคุยกับเพลงรบ ฐิติกุลดิลก “ล่ามภาษามือ” อาชีพในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ บนจอทีวีสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง7 เอชดี ที่เพิ่งโด่งดังจากการล่ามเพลง ‘เธอคือเมโลดี้’ ของ BNK 48

เพลงรบเลือกเรียนล่ามเพราะความแปลก แต่ความแปลกนี้เองที่ทำให้เขาได้ใช้วิชาที่เรียนจากสาขาหูหนวกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางสู่เส้นทางอาชีพล่ามจนปัจจุบัน

นักเรียนล่าม สู่ล่ามอาชีพ

เพลงรบ: หลังเรียนจบเรายังไม่ได้เป็นล่ามเต็มตัว แต่ได้มีโอกาสทำงานที่เกี่ยวข้องกับล่ามภาษามือทั้งที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  หลังจากนั้นเห็นช่อง 7 เปิดรับสมัครล่ามภาษามือ เราก็เลยลองไปสมัครทั้งที่หลังเรียนจบก็ทำแต่งานราชการจนภาษามือเข้าหม้อ ลืมไปหมดแล้ว พอสมัครแล้วก็จะต้องออดิชัน เทสหน้ากล้อง ทดสอบในสตูดิโอตามกระบวนการคัดสรรผู้ประกาศข่าว ตอนนั้นคิดว่า ไม่น่าได้เพราะไม่ได้ใช้ภาษามือมาประมาณ 5-6 ปี เลยขาดความมั่นใจพอสมควร แต่ก็อาศัยเปิดคลิปข่าวที่แปลล่ามดูเพื่อรื้อฟื้นคำศัพท์ใหม่ แล้วก็ผ่านมาได้

ล่ามภาษามือเริ่มให้บริการคนพิการที่ช่อง 11 ก่อน และขยายไปในหลายช่องตามระเบียบของ กสทช.ที่ว่า ทุกช่องจะต้องมีล่ามภาษามือ 1 ชั่วโมงหรือ 5 เปอร์เซ็นต์ของรายการข่าว แต่ช่อง 7 ไม่ได้ใช้ระเบียบแบบนั้น จึงมีล่ามภาษามือมากกว่า 38เปอร์เซ็นต์ ทั้งรายการเพลง รายการธรรมะ ข่าว กีฬา ฯลฯ ไม่เหมือนบางช่องที่เมื่อมีกำหนดว่าต้องมีแค่ 1 ชั่วโมง ล่ามก็ทำแค่ 1 ชั่วโมง ทั้งที่รายการยาว 1.30 ชั่วโมง จึงมองว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อสอดรับนโยบายแต่ไม่ได้ทำเพื่อบริการให้คนพิการอย่างแท้จริง

ทำไมสถานีต่างๆ ถึงไม่สามารถจัดล่ามภาษามือได้ในทุกช่วงรายการ

เพราะปัญหาค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทนกลางของล่ามคือ 600 บาทบวกกับค่าเดินทาง 500 บาทซึ่งหลายครั้งไม่คุ้มเลยหากบ้านอยู่ไกล สถานีเองก็ไม่ได้มีล่ามประจำ แต่สำหรับช่อง 7 เขาคิดกับเราเหมือนเป็นผู้ประกาศคนหนึ่ง มีการเซ็นสัญญา  ดูแลเสื้อผ้าหน้าผมเครื่องแต่งกายและบุคลิกภาพทุกอย่าง นี่จึงถือได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนแรก ที่ก็ยังต้องลองผิดลองถูก และแก้ไขไปเรื่อยๆเมื่อมีข้อเสนอแนะ ตั้งแต่การปรับขนาด ปรับช่องจอล่าม หรือทำสตูดิโอสำหรับทำภาษามือ มีช่างภาพ ไฟ จอมอนิเตอร์ที่พอดีระดับสายตา และอีกอย่างที่เน้นคืออารมณ์ ล่ามผู้ประกาศจะไม่นั่งนิ่ง ถ้ารถชนกันตู้ม! ก็ต้องตู้ม!

เมื่อมีโอกาสได้บอกว่าเราอยากทำอะไร งามล่ามในเวทีคอนเสิร์ตแร็พที่เคยทำก็แว็บขึ้นมาเป็นอย่างแรก เลยบอกเขาว่า อยากแปลข่าวฝนฟ้าอากาศกับสะเก็ดข่าวเพราะน่าจะได้ออกท่าทาง (หัวเราะ) ขนาดชุดยังใส่ไม่ซ้ำแต่ละวัน การแสดงท่าทางทำให้คนหูหนวกเข้าใจมากขึ้น หากไม่มีภาษามือเขาก็จะจินตนาการเองแล้วเล่าต่อๆ กันไป ข้อมูลจึงมักคลาดเคลื่อน

อะไรทำให้ช่อง 7 ตัดสินใจจ้างล่ามประจำ

นโยบายของสถานีสำคัญมาก แม้จะเปลี่ยนหัวหน้าบ่อยแต่นโยบายเรื่องการถ่ายทอดข่าวสารก็ไม่เคยถูกเปลี่ยน เมื่อมีงานล่ามเพิ่มขึ้นจนเราทำไม่ไหว ทางสถานีก็เพิ่มล่ามขึ้น ในหนึ่งวันช่อง 7 ใช้ล่าม 3 คน ซึ่งไม่ใช่ค่าจ้างที่ถูกๆต่อเดือนแถมยังวัดไม่ได้ด้วยว่า คนดูช่อง 7 มีใครบ้างแต่ก็ยังเลือกที่จะทำ เราจึงมองว่า นโยบายและผู้บริหารคือหัวใจสำคัญ มีจุดยืนที่เข้าใจข้อจำกัดด้านงานแปล บางครั้งเราแปลบางส่วนไม่ได้เขาก็เลือกที่จะพัฒนาและส่งเราไปอบรม เราโตไปด้วยกันโดยมีเป้าหมายคือ ทำยังไงให้คนพิการเข้าถึงได้มากที่สุด

“เฮ้ยมึงโยกอีกดิ มันอีก ง่วงเหรอ” เป็นสิ่งที่ทีมจะคอยกระตุ้นกันตลอดเวลา แต่เราก็ดูตามความเหมาะสมว่าแปลรายการอะไร บางครั้งเป็นการแปลเพลง ไม่ใช่ร้องเพลงก็ต้องแสดงท่าทางพอดีๆ โยกเท่าที่ทำได้ ยังคิดเลยว่าถ้ามีพื้นที่ให้ยืนแปลเราอาจจะเต้นแข่งก็ได้ (หัวเราะ) บางเพลงที่ยาก เขาก็ถามเราว่าทำได้ไหม ถ้าเราทำไม่ได้เขาก็เอาจอล่ามลง ไม่ใช่ต้องตะบี้ตะบันทำ

ช่อง 7 เป็นช่องเดียวที่แนะนำชื่อล่ามภาษามือ ทำจนช่องอื่นต้องแนะนำด้วย นอกจากแนะนำแล้ว เขาก็ยังสื่อสารกับเราขณะพูดคุยด้วยไม่ใช่นั่งแปลเฉยๆ ช่วงแรกเราไม่รู้คาแรคเตอร์ของผู้ประกาศแต่ละคน แต่พอแปลบ่อยขึ้น เราจะรู้ว่าผู้ประกาศคนนี้จะทิ้งคำประมาณไหน ขึ้นยังไง รวมทั้งการใช้ชีวิตก็ไม่ได้ถูกแบ่งแยก ทุกคนเป็นเพื่อนพี่น้องกัน

https://www.facebook.com/LuvBNK48/videos/301119967355691/

ล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ล่ามเพลง ‘เธอคือเมโลดี้’ ของ BNK 48 ได้อย่างไร

ตอนที่รู้ว่า ต้องแปลเพลงของ BNK 48 เรามั่นใจมากว่าต้องเป็นเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ กะว่าถ้าอินโทรขึ้นจะเต้นตามเลยเพราะว่าเราเต้นได้ แต่เปล่าเลยเขามาโปรโมทเพลงใหม่ ในระหว่างพักโฆษณาสาม 3-4 นาทีเลยเสิร์ชเพลงแล้วนั่งฟัง จับจังหวะดูท่า 2 รอบ พอเข้ารายการก็ลุยเลย หลังแปลออกมามีความเห็นทางบวกเยอะมาก บางคนเขาบอกว่าถึงไม่รู้ภาษามือก็เห็นความตั้งใจจากสีหน้าท่าทาง จังหวะลงตัว

เราต้องให้เครดิตกับ BNK 48 ว่าเขาคือแรงดึงดูด จากแรงดึงดูดกลายเป็นแรงกระเพื่อมที่ทำให้คนรู้ว่า ภาษามือร้องเพลงได้ ผมเคยแปลเพลง ‘เต่างอย’ของจินตหรา พูนลาภ หรือเพลงของวงคอกเทลแต่ก็ไม่มีคนดู แต่คลิป BNK 48 ทำให้คนรู้จักเรา และยิ่งในคลิปที่เขาดึงเอาจอล่ามขึ้นมาบนจอใหญ่ ยิ่งทำให้เราประทับใจที่เขาเห็นความสำคัญของคนพิการ ตอนเรากลับบ้านมาแล้วเห็นคนดูกว่าสี่แสนคน ก็ตกใจมากรีบบอกหัวหน้าว่า “บอสครับ ถ้าผมแปลได้ดีจะเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าแปลผิดนี่คือตกงานเลยนะ” (หัวเราะ)

คนหูหนวก “ฟัง” เพลงอย่างไร พวกเขาสนุกหรือไม่

คนหูหนวกเต้นตามเพลงได้ สเต็ปเป๊ะ ที่มหิดลจะจัดการแข่งขันร้องเพลงและเล่านิทานภาษามือ เขาทำได้แต่อาจไม่รู้ความหมายเพลง เผลอๆสเต็ปการเต้นของเขาเป๊ะกว่าเราอีก ในต่างประเทศคอนเสิร์ตมีล่ามแปลเพลงข้างเวทีเช่นเดียวกับที่ไทยเพียงแต่เราไม่มีสื่อโชเชียลที่นำเสนอ

ผมอยากให้มีล่ามในคอนเสิร์ตนะ ถ้ามีเมื่อไหร่ เชื่อว่าคนหูหนวกจะต้องไป เพียงแต่วันนี้อาจมีคำถามว่า ทำไมคนหูหนวกไม่เห็นไปดูคอนเสิร์ต คำตอบก็เพราะไม่มีล่ามภาษามือ

หลายครั้งที่คนหูหนวกแฝงอยู่ในคอนเสิร์ตแต่คุณอาจไม่รู้ว่าเขาหูหนวก พวกเขารู้จักตูน บอดี้สแลม เต้นเพลงบอดี้สแลมได้ กระโดดตามเพลงได้แต่ไม่เข้าใจเนื้อเพลง ถ้าวันหนึ่งมีล่ามอยู่บนเวทีได้ ก็แสดงให้เห็นว่า สังคมเราเปิดรับจริงๆ ไม่ได้ทำงานเพราะกฎหมายบังคับ

ในละครเวทีเองก็สามารถมีล่ามได้ แต่จะต่างกับการล่ามข่าวเพราะต้องแปลเนื้อเรื่องให้คนดูเข้าใจ รวมถึงเรื่องอินเนอร์ ละครไม่ใช่เพียงความบันเทิง แต่เป็นสื่อที่มีตัวอย่างชีวิตจริง มีข้อคิดและมีตัวละคร ฉะนั้นคนหูหนวกจะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการถ่ายทอดหรือการสื่อสารที่ดี

ล่ามภาษามือมีความจำเป็นแค่ไหนในทีวี หรือในสื่ออื่นๆ สำหรับคนหูหนวก

จำเป็นมาก ภาษามือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดสำหรับคนหูหนวก ถามว่า ในสื่ออื่นๆ จำเป็นไหม เราว่าก็เปรียบกับตัวเองว่าเราอยากทำอะไรบ้าง อยากฟังและดูอะไรบ้าง เพลง ละคร นิทาน หรือในยูทิวป์ สิ่งเหล่านี้คือสุนทรียภาพที่ทำให้เกิดความละมุนในชีวิต

อย่าคิดว่าล่ามภาษามือทำไม่ได้ คุณมีละครดราม่าล่ามก็ดราม่าได้ คุณมีเพลงสนุกล่ามก็สนุกได้ เพียงแต่คุณต้องมีช่องทางให้ล่ามได้แสดงศักยภาพด้วย

เราคิดว่า ถ้ามีช่องล่ามเมื่อไหร่ แน่นอนว่าคนหูหนวกจะเข้ามาดู ทุกวันนี้เราไม่ชอบช่องไหนก็แค่เปลี่ยนช่อง แต่คนหูหนวกไม่มีตัวเลือกหรือแม้แต่เขาอาจจะไม่ได้ชอบผมล่ามก็ได้ แต่ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนไปช่องไหนเพราะเปลี่ยนไปไม่มีล่ามก็ดูไม่รู้เรื่อง

ผู้ผลิตบางคนมองว่า ช่องล่ามแย่งซีนดารา ทั้งที่จริงๆ แล้วการเพิ่มช่องล่ามไม่ใช่การแย่งซีนแต่เป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภค ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกที่จะดูอะไรก็ได้บนหน้าจอ แม้แต่คนหูหนวกเองก็ไม่ได้อยากดูล่ามตลอดเวลาพวกเขาอาจหันไปดูบนจอเมื่อมีฉากเลิฟซีน ฉากตื่นเต้นหรืออื่นๆ ด้วยก็ได้

ล่ามในลักษณะไหนที่ฝึกฝนยากที่สุด เป็นอย่างไร

การแปลข่าวเป็นศาสตร์ที่มองว่ายากที่สุด เพราะข่าวคือการอัพเดตสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนโดยไม่มีคำศัพท์ภาษามือ ไม่ว่าจะข่าวอุบัติเหตุ หรือกีฬา เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า ทีมฟุตบอลไหนจะชนะ หรือเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตกี่คน ฉะนั้นข่าวจึงต้องอาศัยไหวพริบ และต้องแปลงสารที่ได้มากให้เข้าใจง่าย ลดทอนรายละเอียดบ้าง และต้องเพิ่มรายละเอียดบ้างในข่าวที่ต้องแจ้งให้ทราบ

ภาษามือเป็นภาษาที่เปิดเผย ไม่เหมือนกับภาษาไทยที่สามารถเลี่ยงคำได้  เช่น อวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย การสำเร็จความใคร่ การบังคับข่มขืน ฯลฯ แต่ภาษามือคือภาษาภาพ ข่มขืนก็คือท่าข่มขืน มีการแสดงท่าทาง สีหน้า ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในข่าวบอกว่า มีคนโรคจิตควักอวัยวะเพศสำเร็จความใคร่ ล่ามก็ต้องทำท่าควักอวัยวะเพศสำเร็จความใคร่แบบผู้ประกาศ คนหูหนวกจะได้เข้าใจ

การแปลชื่อบุคคลที่เป็นที่รู้จักอย่าง นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีที่ออกทีวีบ่อยๆ คนหูหนวกจะมีชื่อภาษามือโดยตั้งจากลักษณะที่โดดเด่นของคนนั้น เช่น อดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมีผมสวย ก็แปลเป็นนายก ย.ยักษ์ผมสวย หรือนายกชมพู่อย่างอดีตนายกสมัคร สุนทรเวชที่มีจมูกเหมือนลูกชมพู่ หรือสำหรับบางคนที่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นที่จดจำ เราก็ใช้วิธีการสะกดทีละตัว

สำหรับนายกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็จะเรียกนายกทหาร เวลาท่านพูดก็จะพูดแข็งๆ มือแข็งๆ สีหน้าขึงขัง มีประโยคเช่น “มาทำไม! สัมภาษณ์ไปแล้ว! พูดแล้ว! ถามทำไม! ถามบ่อย!” เราก็ต้องทำมือแบบนายก หรือหากบางคนพูดเรียบๆ เราก็จะแปลไปแบบเรียบๆ เช่นกัน

ระหว่าง Closed Caption  กับภาษามืออะไรสะดวกกับคนหูหนวกมากกว่ากัน

ไวยากรณ์ของทางภาษาหรือการอ่านภาษานั้นอยู่ที่พื้นฐานทางการศึกษาด้วย ถ้าคนหูหนวกอ่านเขียนดี เขาก็จะสามารถอ่านทุกอย่างได้ดี ต่างกับภาษามือที่ติดตัวหรือหัดตั้งแต่เขาเกิด คนหูหนวกที่อ่านคล่องอาจต้องเรียนชั้น ป.4 ขึ้นไป Caption จึงจะเกิดประโยชน์กับคนที่มีฐานการศึกษาที่ดีเสียมากกว่า

ประเทศไทยมีล่ามภาษามือมากน้อย เพียงพอขนาดไหน

ประเทศไทยมี 3- 400 คน ที่สามารถใช้ภาษามือได้ แต่สำหรับวงการทีวีมีอยู่หลักสิบ ก็อาจเพียงพอสำหรับตอนนี้ แต่ล่ามภาษามือแต่ละคนมีความถนัดและความชำนาญไม่เหมือนกัน บางคนแปลข่าวการเมืองได้สุดยอด บางคนแปลข่าวบันเทิงได้สุดยอด อยากให้มีการแยกสายล่ามและพัฒนาให้เขาเป็นผู้ชำนาญในสายนั้นๆ เหมือนกับผู้สื่อข่าว ผมอยากเห็นล่ามกีฬา ล่ามบันเทิง ล่ามอุบัติเหตุ ล่ามการเมือง ฯลฯ ไปจนถึงล่ามทางการแพทย์และสาธารณสุขที่คนพิการต้องใช้บริการ

ได้รับอะไรจากการเป็นล่าม

ได้ความกล้า ทั้งกล้าทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ กล้าที่จะโดนด่า กล้าที่จะบอกว่าไม่เหมาะสม กล้าที่จะตั้งคำถาม จนไปถึงกล้าที่จะไม่รู้ ศัพท์บางคำเด็กรุ่นใหม่จะรู้มากกว่า เราก็ต้องคอยถามเขา ล่ามภาษามือแต่ละคนอาจถนัดต่างกันออกไป และคนหูหนวกเองก็เช่นกัน จึงต้องคอยอัพเดตและแลกเปลี่ยนฐานความรู้กันและกันด้วย

หลังจากเรียนล่ามภาษามือ ความคิดที่มีต่อคนพิการเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าเขาเก่ง เราเริ่มเรียนรู้กันมาตั้งแต่มหาลัยฯ อย่าไปคิดว่าเขาด้อยกว่า แต่เขาเป็นครูในสื่อที่เราเรียน ทุกวันนี้เราเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร คนพิการเป็นคนที่มีศักยภาพ ถึงแม้บางคนจะไม่ได้ยินแต่หากมีช่องทางเช่น ล่ามภาษามือหรือClosed Caption ข้อจำกัดนั้นก็หมดไป วันนี้เราอาจนึกว่าเราปกติเพราะคนส่วนมากหูดี แต่ถ้าเราได้ลองเข้าไปสัมผัสในสังคมของคนหูหนวกแล้ว เราจะรู้เลยว่า เราต่างหากที่เป็นคนที่ต่างแต่ไม่พยายามปรับตัว เพราะฉะนั้นนอกจากจะให้เขาปรับตัว ใช้ชีวิตในสังคมหูดีแล้ว เราเองก็ควรเอาตัวเข้าไปเช่นเดียวกัน

ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากทำงานล่ามภาษามือ

ทุกคนฝึกได้ งานล่ามไม่ใช่งานที่จะทำได้ตลอดไป เราอยากให้มีล่ามรุ่นใหม่ขึ้นมาเยอะๆ การฝึกคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกอาชีพ แล้วเราจะมีล่ามคนรุ่นใหม่ที่พัฒนาคนพิการได้