Skip to main content

“ถ้าถามเรื่องแผน เรื่องนโยบาย ประเทศไทยมีหมด เราไม่เคยด้อยกว่าใคร เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากมาก  พื้นฐานที่สุดในการขับเคลื่อนเรื่องนี้คือการให้การศึกษา ตอนเราเรียนวิชาสังคมศึกษา หรือสุขศึกษา เคยมีการพูดถึงเรื่องคนพิการบ้างไหม ?”

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2561 คณะสาธารณะสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาในหัวข้อเรื่อง “การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal design) มนุษย์ธรรมศาสตร์คนไหนต้องการ ธรรมศาสตร์จะช่วยกันสร้างอย่างไร ? ” นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ หน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ณัฏฐสิต สิริธรรมานุวงศ์ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จารุพงษ์ แสงตันชัย ตัวแทนจาก The guidelight และนวมินทร ติสิลานนท์ ตัวแทนนักศึกษาพิการทางสายตา ร่วมพูดคุยถึงแนวคิดการจัดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

ปรับทัศนคติเพื่อคนพิการ  

นวมินทร ติสิลานนท์ ตัวแทนนักศึกษาพิการทางสายตา กล่าวถึงกรณีการใช้งานเบรลล์บล็อกในมหาวิทยาลัยว่า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนพิการทางสายตา เพราะมีผิวสัมผัสเป็นสัญลักษณ์ในการนำทาง การใช้งานในมหาวิทยาลัยยังมีปัญหาอยู่บ้างเนื่องจาก บางช่วงของเส้นทางไม่มีจึงขาดความต่อเนื่อง ไม่รู้ว่าต้องเดินไปทางไหน รวมถึงการมีสิ่งกีดขวาง เช่น ป้าย ถังขยะ หรือแม้กระทั่งจักรยานที่ชอบขี่เข้ามาในเลนของเบรลล์บล็อกก็อาจทำให้เกิดอันตราย

นอกจากนี้สิ่งสำคัญนอกจากการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้เหมาะสมต่อการใช้งานแล้ว ยังมีเรื่องทัศนคติของคนในสังคมที่ต้องสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น เช่น การช่วยเหลือคนพิการในเบื้องต้น ที่ยังขาดความเข้าใจอีกมาก สังเกตได้จากหลายคนที่ช่วยเหลืออย่างผิดวิธี ทั้งนี้ ข้อเสนอด้านการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการแยกทางเดินเบรลล์บล็อกกับทางจักรยานให้ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของทั้งสองฝ่าย รวมถึงบางจุดที่พื้นไม่เท่ากัน หากไม่มีเตือนก็อาจจะเป็นอันตรายได้

“ต่อให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีพอ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะปรับก็คือเรื่องของทัศนคติของคน ครั้งหนึ่งตอนเราเดินทางไปข้างนอก เราได้ยินคนคุยกันลังเลว่าจะช่วยเราดีไหม ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราไม่ได้ลำบากอะไร แต่เพราะเขาเห็นว่าเป็นคนตาบอดก็อยากจะช่วยไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ถ้าอยากจะช่วยเหลือคนพิการก็ควรเข้าไปถามตรงๆ แล้วคนพิการก็จะบอก ไม่ได้ต้องให้คนช่วยทุกอย่าง เช่นอย่างเรามีปัญหาการอ่านหนังสือ เอกสารทางวิชาการ ป้าย หรือการดูสี ”

ธรรมศาสตร์เคยสอบตก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ หน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลว่า เป็นแนวคิดที่เริ่มจากการมองเห็นทุกคนอย่างเท่ากัน ทุกๆ คนมีสิทธิในการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ความหลากหลายที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เรียนรู้ร่วมกัน จึงควรมองความหลากหลายให้เป็นเรื่องธรรมดา การออกแบบเพื่อคนทั้งมวลทำได้ตั้งแต่การออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ จนไปถึงพื้นที่สาธารณะและเมือง ในบ้านเรามองว่าการทำงานเพื่อคนพิการเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่ในต่างประเทศมองว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรดาเพราะเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว

เขาเสริมว่า ในปี 56 มหาวิทยาลัยสำรวจว่าในอาคารทั้งหมด 84 หลังมีการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการกี่อาคาร แต่พบว่า ไม่มีอาคารใดเลยทีได้คะแนนสูงกว่า 50% นั่นแปลว่า คนพิการในธรรมศาสตร์เข้าถึงการเรียนการสอนได้น้อยมาก และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นักศึกษาพิการส่วนใหญ่สอบตก การสำรวจในครั้งนี้ทำให้มหาวิทยาลัยเริ่มปรับเปลี่ยนทั้งหมด ทั้งทางลาด ทางเดิน ลิฟต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเดินทาง เพราะถือว่าการเดินทางเป็น 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวัน คนพิการต้องใช้ทั้งเวลาและความท้าทายในการเดินทางไปเรียนตามอาคารต่างๆ จนได้รับรางวัลเรื่องการปรับปรุง แต่ก็ยังมองว่ามีอีกหลายส่วนในมหาวิทยาลัยที่จะต้องทำต่อ แม้มหาวิทยาลัยใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยในการปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ แต่ไม่อยากให้พิจารณาในเรื่องของเงิน และมองในเรื่องการใช้งาน และอยากให้ทุกคนสะท้อน เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแล ช่วยเหลือ ปรับปรุงสำหรับคนพิการที่ไม่ได้ปฏิบัติเหมือนในระเบียบ เพราะขาดความเข้าใจและการเห็นคุณค่า เรื่องของทัศนคติจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะความเข้าใจต่อคนพิการของคนในสังคมเรายังมีน้อยมาก หากไปดูในบทเรียนแทบไม่เคยมีการสอนเลยว่า เราจะสามารถช่วยเหลือคนพิการแต่ละแบบได้อย่างไร และที่สำคัญการมองคนอย่างไม่เท่ากันไม่ควรเกิดขึ้น เราต้องสร้างทางเลือกให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

“เราไม่อยากจะโทษใคร เพราะมองว่าทุกคนในสังคมต้องช่วยกัน มีคนพิการที่ขับเคลื่อนเรื่องนโยบายคนพิการเล่าว่า ตัวเขาเองพยายามออกมาใช้ระบบต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่า คนพิการใช้ชีวิตกันยังไง ถ้ามีหรือไ่ม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต้องทำยังไง ท้าทายตัวเองแค่ไหน ต้องอดทนหรือพยายาม หรือสูญเสียโอกาสแค่ไหน ผมชอบแนวคิดนี้มากและพยายามสะท้อนเรื่องนี้ให้นักศึกษาได้เข้าใจ หากการออกแบบไม่เอื้ออำนวย ก็ต้องออกมาสื่อสารเรื่องนี้ให้สังคมเข้าใจกันมากขึ้น ทุกคนช่วยกันได้ แม้จะไม่ได้รู้จักหรือเกี่ยวข้องกับคนพิการก็ตาม”

“ถ้าถามเรื่องแผนหรือนโยบาย ประเทศไทยมีหมดไม่เคยด้อยกว่าใคร เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากมาก  พื้นฐานที่สุดในการขับเคลื่อนเรื่องนี้คือการให้การศึกษา ตอนเราเรียนวิชาสังคมศึกษาหรือสุขศึกษา เคยมีการพูดถึงเรื่องคนพิการบ้างไหม เท่าที่เรียนมาไม่เคย แต่สิ่งที่เราเคยได้ยินคือคนทำชั่ว ชาติต่อมาเลยกลายเป็นคนพิการแต่ไม่เข้าใจเลยว่า ความพิการหรือคนพิการคืออะไร ในญี่ปุ่นเขาให้เด็กๆ ได้ไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงอายุหรือคนพิการ เพื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เด็กจะรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวยังไง ช่วยเหลือยังไง ทุกคนตระหนักและมีความรู้เพื่อจะออกมาขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ ”

ก้าวเล็กๆ ที่น่ารัก

ณัฏฐสิต สิริธรรมานุวงศ์ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้มีการทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ศูนย์นักศึกษาพิการมีกิจกรรมการทำออดิโอบุ๊คสำหรับนักศึกษาพิการทางสายตา หากได้ความคิดเห็นของคนภายในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงนั้นน่าสนใจมากขึ้น  ในฐานะนายกองค์การนักศึกษามองว่า นโยบายที่ออกมาควรจะมุ่งเน้นระบบให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือ

“การมีนโยบายที่ทำให้คนพิการต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ตลอดเวลานั้นไม่ยั่งยืน ในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่มีใครที่จะมาคอยช่วยอยู่ตลอดเวลา ทั้งการเดินทางจากหอพักมาห้องเรียนที่คนพิการทางการมองเห็นไม่รู้ว่า จะขึ้นทางไหน เพราะจอดรถไม่ตรงกับสถานี จนอาจเกิดอันตราย อย่างน้อยถ้าเริ่มทำให้รถมาจอดตรงจุดได้ และมีเบรลล์บล็อกนำทาง ระบุพิกัดในการขึ้นได้ด้วยตัวเอง เขาก็จะเดินทางได้สะดวกขึ้น ”

“สำหรับคำแนะนำภายการเริ่มต้นเรื่องนี้ ในมหาวิทยาลัย หลายๆ คนก็มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ เราคิดว่าตรงนี้แหละที่ชาว มธ. ควรจะเริ่มได้ด้วยตัวเอง คือการให้ความรู้ว่าป้ายที่เราทำไม่ใช่ว่าจะเอาแต่วางที่ทำเลดีๆ ที่คนผ่านเยอะๆ  ควรคำนึงถึงทางเบรลล์บล็อก ด้วย ไม่ให้วางจนกั้นเส้นทาง ไปกั้นสิทธิคนอื่น เราว่านี่แหละเป็นก้าวเล็กๆ ที่น่ารักดี ”

คนพิการควรร่วมสร้างเบรลล์บล็อก

จารุพงษ์ แสงตันชัย ตัวแทนจาก the guidelight มองว่า อุปสรรคอย่างหนึ่งของการทำงานด้านคนพิการคือมายาคติ คนมักมองการช่วยเหลือเป็นการทำบุญ และตนก็เคยมีความเชื่อแบบนี้ แต่พอได้รู้จักคนพิการมากขึ้น ก็เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของการทำบุญ คนพิการใช้ชีวิตเหมือนเรา และเขาเข้าไม่ถึงระบบบางอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบ้านเราขาดองค์ความรู้ด้านคนพิการอยู่ ทั้งนี้ปัญหาของเบรลล์บล็อก ไม่ได้มีเพียงแค่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่พื้นที่ทั่วๆ ไปก็ถือว่ายังมีปัญหาอยู่มาก ถ้าเป็นคนตาบอดมาจากต่างประเทศจะพบว่า เบรลล์บล็อกบ้านเราใช้งานยาก เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรค ต้นไม้ เสาไฟฟ้า หรือรถที่ขับบนทางเท้า สุดท้ายแล้วคนพิการใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ตนมองว่า ควรให้มีการทดลองใช้จริงก่อนที่จะเซ็นผ่านโครงการ เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่า สิ่งที่สร้างจะสามารถใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

“การสร้างอะไรบนพื้นที่สาธารณะควรให้คนพิการเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่ว่าคนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ ในกระบวนการหรือขั้นตอนอะไรก็ตามควรมีส่วนให้คนพิการได้ไปลองใช้ก่อน ที่จะเซ็นอนุมัติหรือตรวจงาน เพราะถ้าเรามุ่งหวังความสะดวกให้คนพิการเป็นหลัก ก็น่าจะให้คนพิการเป็นผู้ที่บอก”