Skip to main content

“สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว และสิ่งใดหมายจะเกิด มนุษย์ไม่มีทางเปลี่ยนสองสิ่งนี้ได้ ” 

คำโปรยบนหน้าปกนวนิยายเล่มสีแดงที่มีชื่อว่า ‘ใต้ฝุ่น’ ทำให้เราสะดุดใจเมื่อแรกเห็น นวนิยายอิงประวัติศาสตร์อัฟกานิสถานที่สามารถคว้ารางวัล ARC Award เล่มแรกของประเทศไทย ภายใต้นามปากกา โกลาบ จัน ซึ่งเป็นนามปากกาที่สามของเพทาย จิรคงพิพัฒน์

เพทาย หรือ แพรว นักเขียนนวนิยายรัก เจ้าของนามปากกา ภาพิมล และ พิมลภา ที่มีผลงานมาแล้ว 17 เล่ม และหนังสือเล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตอีกหนึ่งเล่มที่ชื่อว่า SMA ไม่มีคำว่าเสียใจแม้ในหยดน้ำตา หนังสือที่บอกเล่ามุมมองการใช้ชีวิตของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เขียนขึ้นจากเรื่องราวของเธอเอง

แพรวเล่าให้เราฟังว่าเธอเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงส่วนปลายตั้งแต่เด็ก เรียกว่า  Distal Spinal Muscular Atrophy type 1 ส่งผลให้ร่างกายส่วนปลาย อย่างปลายมือปลายเท้านั้นอ่อนแรงกว่าส่วนอื่นรวมไปถึงระบบการหายใจด้วย ทำให้ทุกวันนี้เธอยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอด แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกว่าตนเองขาดโอกาสอะไรในชีวิต และอยากให้คนรู้จักเธอในบทบาทการเป็นนักเขียนมากกว่าความพิการ

เริ่มต้นจากสิ่งที่ผูกพัน

เพทาย: แพรวเริ่มเขียนนิยายตอนปี 2551 ตอนนั้นอยากหาเงิน (หัวเราะ) เพราะที่บ้านมีปัญหาเรื่องเงิน น้องสาวกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย แล้วค่าใช้จ่ายก็เยอะ เงินเก็บที่เคยมีของครอบครัวก็เอามารักษาเรา เอามาซื้อเครื่องช่วยหายใจเรา จากที่เคยมีมันก็หมด แพรวเลยอยากจะทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพื่อแบ่งเบาที่บ้าน แล้วด้วยความที่แพรวชอบอ่านนิยาย เช่าบ้าง ซื้อบ้าง นิยายเลยกลายเป็นสิ่งที่ผูกพันกับเราและใกล้ตัวเราที่สุด

กว่าต้นฉบับเล่มแรกจะได้พิมพ์ใช้เวลานานมาก 4-5 ปี เราส่งไปทุกที่ ตั้งแต่สำนักพิมพ์ที่ดังมาก จนถึงสำนักพิมพ์ที่เราต้องค้นหาในอินเทอร์เน็ต เพราะเราไม่รู้จัก แต่เราก็ลองส่ง ส่งจนเราไม่รู้จะส่งที่ไหนแล้วเพราะส่งไปที่ไหนก็ไม่ผ่านมันไม่ผ่านทุกที่ (หัวเราะ)

นิยายแต่ละเล่มใช้เวลาเขียนนานแค่ไหน แล้วเรื่องไหนที่เขียนนานที่สุด

ช่วงแรกเรื่องหนึ่งก็เกือบปี แต่ช่วงหลังมานี้ประมาณเล่มละ 4 เดือน เรื่องแรกเป็นเรื่องที่เขียนนานที่สุด เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่พ่อแม่ทำงานอยู่ด้วย เราเลยมีเวลาเขียนแค่ตอนกลับบ้านหลังพ่อแม่เลิกงาน ก็เขียนได้วันละครึ่งหน้า

ทำไมต้องนิยายรัก

เพราะชอบอ่านนิยายรัก เราอ่านนิยายรักเยอะที่สุด และรู้สึกว่าตัวเองมีความรัก แต่ไม่ได้หมายถึงว่ามีคนรัก เรารู้สึกว่า เราสามารถรักใครได้ สามารถมีความรักต่อคนอื่นได้ แอบชอบได้ตลอด เพราะทุกคนมีความรักในจิตใจ ในตัวเองกันอยู่แล้ว นิยายรักสำหรับเราจึงเป็นอะไรที่ใกล้ตัวและเขียนง่ายที่สุด

นิยายรักเป็นแนวที่คนนิยมเขียนกัน ทำยังไงให้งานของเราแตกต่างกว่าของคนอื่น

โห ยาก (หัวเราะ) เราเขียนในสิ่งที่เราอยากอ่าน ไม่ค่อยชอบแนวที่มีตัวร้าย หรือแนวพระเอกโง่ ก็จะพยายามไม่เขียนแบบนั้น และเพราะเราชอบอ่านนิยายดราม่า นิยายรักเราก็จะมีกลิ่นอายดราม่าด้วย

วิธีจัดระบบงานให้เขียนต่อเนื่องได้เรื่อยๆ

ก่อนอื่นก็ต้องเขียนนิยายให้จบสักเรื่องก่อน (หัวเราะ) พอจบเรื่องหนึ่งแล้ว ก็จะมีแว๊บเข้ามาในหัวอีก เราเป็นคนที่เขียนจบเป็นเรื่องๆ จะไม่เขียนเรื่องนี้แล้วก็ค้างไว้ไปเขียนเรื่องอื่น เราจะจบเรื่องที่เขียนก่อน แล้วค่อยไปต่อเรื่องที่แว๊บเข้ามาในหัว

"ก่อนหน้านี้แพรวไม่เคยร่างพล็อตเอาไว้ก่อนเลย เพราะเราไม่สะดวกที่จะร่าง ด้วยร่างกายเราเป็นแบบนี้เลยทำให้ติดนิสัยใช้ร่างกายตัวเองน้อย จำทุกอย่างไว้ในหัว"

กำลังใจที่ดีสู่การเริ่มต้นที่ดี

เรื่องแรกตอนเอาลงเว็บ เราไม่ได้กลัวจะไม่มีคนอ่าน แต่พอลงไปปุ๊บก็มีคนมาคอมเม้นท์คน สองคน สำหรับเราเอง เราไม่รู้มาก่อนหรอกว่า คนที่เขียนนิยายลงเว็บมีคนเข้ามาคอมเม้นท์กันขนาดไหน สำหรับเรามีแค่คนหรือสองคน ก็ดีใจมากแล้ว เป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับเรา

การทำอ่านซ้ำ = การฝึกฝน

เราพยายามเขียนให้ตรงประเด็นมากขึ้น ไม่ให้เขียนไปแล้วต้องกลับมาแก้เยอะ ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นต่อเนื้อเรื่องออก บางทีร่างแรกของเราก็สมบูรณ์แล้วเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงแรกที่เขียนคือ 50-50 มีทั้งแก้ ทั้งใช้ได้ แล้วก็ตัดทิ้ง การเขียนมันเหมือนการทำซ้ำ ทำให้เราฝึกฝน แล้วการฝึกที่ดีที่สุดคือการอ่านงานตัวเอง เราก็จะรู้ว่าอะไรที่มันขาดๆ เกินๆ

ความสุขของการเป็นนักเขียน

รู้สึกว่าการเขียนทำให้เราไม่จมกับตัวเองจนเกินไป เราเหมือนได้หลุดไปอีกที่หนึ่ง อีกสังคมหนึ่ง มีเพื่อนที่เรารู้จัก ตัวละครคือเพื่อนที่เรารู้จักดีที่สุด เรารู้อยู่คนเดียว เหมือนเป็นสิทธิพิเศษที่เรารู้จักเขา แพรวจะค่อนข้างรักตัวละครตัวเองมาก ทั้งๆ ที่บางทีเขาอาจจะตาย เราอาจจะฆ่าเขาตาย แต่บางเรื่องก็มีแค่เรากับเขาที่รู้

บางทีการตายของตัวละครอาจทำให้เขามีชีวิตอยู่มากกว่าเดิม หรืออยู่ในใจคนอ่านได้ลึกซึ้งขึ้น

ถ้าจะแนะนำให้นักอ่านรู้จักแพรวผ่านผลงานสักเรื่อง คิดว่าจะแนะนำเรื่องอะไร เพราะอะไร

น้ำค้างเปื้อนสี เพราะมีคนพูดถึงเยอะที่สุด เป็นนิยายที่ได้รับการรีวิวเยอะสุด ตอนเขียนเราก็ไม่คาดคิดว่าจะมีกระแสตอบรับมาดีขนาดนี้ ก็เลยอยากให้ลองรู้จักเราจากเรื่องนี้แล้วกัน (ยิ้ม)

ภาพิมล , พิมลภา และโกลาบจัน ทั้งสามนามปากกาของแพรวเป็นนิยายรักทั้งหมด แล้วความแตกต่างของสามคนนี้อยู่ที่ตรงไหน

ตอนแรกเราใช้ภาพิมล แต่สำนักพิมพ์แรกเขาขอให้ใช้นามปากกานี้ที่เดียว พอไปผ่านอีกสำนักพิมพ์นึง เราก็เลยแก้เป็นพิมลภา เป็นไงล่ะ สิ้นคิดมั้ย (หัวเราะ) ภาพิมลกับพิมลภา สองนามปากกานี้ก็เลยจะคล้ายๆ กัน คือเป็นนิยายรัก ส่วนโกลาบจันนี่เราตั้งใจจะอวตารไม่ให้ใครรู้จักเราเลย ไม่อยากให้ใครรู้ว่าคือภาพิมลหรือแพรว แต่สุดท้ายก็รู้อยู่ดี

กับผลงานล่าสุด ใต้ฝุ่น ที่คว้ารางวัล Arc award ทำไมถึงตัดสินใจส่งเข้าประกวด

เริ่มจากที่เราส่งให้พี่นักเขียนท่านหนึ่ง ที่เขาทำงานองค์กรต่างประเทศช่วยเช็คชื่อว่าถูกต้องมั้ย พี่เขาแนะนำมาว่า นิยายแนวนี้คงขายสำนักพิมพ์ยากให้ลองส่งประกวดดู เราก็เข้าใจ เพราะตอนแรกไม่คิดจะขายอยู่แล้ว เลยตัดสินใจลองส่งประกวด ประกอบกับตอนนั้นเรากำลังนอยด์ในการเป็นนักเขียน เพราะรู้สึกว่าเขียนมาหลายปีแล้ว แต่เหมือนย่ำอยู่กับที่ คนอ่านเราได้เท่านี้ ไม่ได้กว้างไปกว่านี้แล้ว เราก็เลยอยากพิสูจน์ตัวเองด้วย

ทำไมถึงเลือกอัฟกานิสถานเป็นฉากหลังของเรื่อง

จริงๆ เป็นความหลงไหลส่วนตัวของเรา เพราะชอบดูรูปสมัยก่อนของอัฟกาฯ อดีตของเขาเคยสวยงาม เคยสงบสุข เลยอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนไป จากสิ่งที่เรารู้มามันมีแต่ข่าวไม่ดี ก็เริ่มจากการหาข้อมูลในเน็ตก่อน ต่อยอดด้วยการอ่าน e-book บางทีก็แอบอ่าน PDF บ้าง ในกรณีที่เป็นเอกสารเก่าที่ไม่มีในหนังสือ พออ่านแล้วเรารู้สึกเสียดายประเทศที่มีแต่ที่เที่ยวสวยๆ บางภูเขาเหมือนอยู่สวิตเซอร์แลนด์เลย แต่ไม่มีใครรู้จักเพราะเป็นอัฟกาฯ เราเลยอยากเปลี่ยนภาพจำต่อสถานที่เหล่านี้

ถือคติทำทุกวันให้เหมือนอยู่อัฟกานิสถาน

เรื่องราวของพวกเขาค่อนข้างผ่านตาเวลาเราอ่านหนังสือ ในแต่ละวันเรามักจะดูโซเชียลของพวกเขาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ฝนตกในรอบกี่เดือน หิมะตกมั้ย ดูคลิปที่เขาขับรถไปตามซอกเขา ก็เหมือนเราได้ไปกับเขาด้วย แต่ส่วนที่ยากและต้องระวังมากที่สุดคือเรื่องประเพณี ศาสนา เป็นอะไรที่ค่อนข้างเปราะบาง

ตอนที่รู้ว่างานเขียได้รับรางวัลรู้สึกยังไงบ้าง

ดีใจมาก แต่เป็นความดีใจปนความกลัว เพราะตอนที่ได้รางวัลทางบรรณาธิการสำนักพิมพ์เขาก็ส่งข้อความมาแสดงความดีใจ แล้วก็บอกว่าจากนี้ก็เหนื่อยหน่อยนะ (ยิ้ม) เพราะจะต้องมีการโปรโมท แต่สิ่งที่แพรวกลัวคือ แพรวไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสือรางวัลเลย เรารู้สึกว่าหนังสือรางวัลเป็นหนังสือที่สูงส่ง อ่านยาก เข้าใจยากลังเลใจว่าของเรานั้นใช่แน่เหรอ ถามว่าดีใจมั้ยที่ได้ ดีใจ แต่ก็กลัวคนผิดหวัง กลัวทำให้บรรณาธิการผิดหวัง

อย่างที่บอกว่าเราอยากพิสูจน์ตัวเอง รางวัลนี้ก็ทำให้ได้พิสูจน์ไปอีกระดับหนึ่งแล้ว เราไม่กดดัน และอยากจะกลับไปเขียนในนามของโกลาบจันอีก เพราะมีคนที่อ่านใต้ฝุ่นแล้วบอกว่ารอติดตาม สำหรับเรามันมีค่ามาก มีนักอ่านที่ชอบใต้ฝุ่นมากถึงขนาดแปลเป็นภาษาอังกฤษ โคตรยิ่งใหญ่ ทำให้เรามีแรงฮึด

อยู่กับวงการงานเขียนมากว่า 10 ปี แพรวในวันนั้นแตกต่างจากแพรวในวันนี้ยังไงบ้าง

เมื่อก่อนเราไม่คาดหวังอะไรเลย เวลาที่นิยายไม่ผ่าน เราไม่ได้รู้สึกผิดหวัง แต่ตอนนี้ถ้านิยายไม่ผ่าน หรือแม้แต่ผ่านแล้วขายไม่ดี บางทีเราก็ผิดหวังกับตัวเอง รู้สึกมีคลังของความคาดหวังกับตัวเองมากขึ้น แต่ก็เข้าใจว่า การทำงานทุกงานย่อมต้องมีความผิดหวัง เมื่อผิดหวังได้ก็ต้องไปต่อได้ พอคิดแบบนี้ เราก็ถอนตัวจากความรู้สึกคาดหวังได้ เรียกกว่าความผิดหวังนั้นเป้นสิ่งที่ง่ายขึ้นมากเมื่อเทียบจากเมื่อก่อน

หากต้องเขียนนิยายที่ตัวมีละครพิการจะเป็นอย่างไร

ถ้าเขียนนิยายที่มีคนพิการก็ไม่อยากเขียนความพิการปลอมๆ อย่างในละคร ที่ใช้ความพิการพิสูจน์ใจคน ดูว่าใครจะมาหลอกสมบัติ แล้วมาหายพิการเอาตอนท้าย ตอนนี้เรายังไม่มีพล็อตหรอกว่า จะเขียนยังไง ดำเนินเรื่องยังไง เพราะเราเองไม่ค่อยได้โฟกัสกับความพิการของตัวเองเท่าไหร่

ถ้าแพรวไม่มีความพิการ เราจะได้รู้จักแพรวในฐานะนักเขียนอย่างทุกวันนี้ไหม

คิดว่าคงไม่ได้เป็น เพราะตอนเด็กเราไม่ได้ชอบอ่านนิยายเลย ตอนที่ยังเดินได้ เรียนได้แทบไม่อ่าน แต่มาอ่านนิยายอีกทีก็ตอนที่ไม่ได้เรียนแล้ว เพราะรู้สึกไม่มีอะไรทำ มีแค่นิยายกับเกมส์บอย พอเล่นเกมส์จนแบตหมดก็ไปอ่านนิยาย ชีวิตวนแบบนั้น

วางแผนอนาคตตัวเองไว้ว่ายังไงบ้าง

ใน1-2 ปี ข้างหน้านี้ก็หวังว่าจะได้เขียนนิยายในนามโกลาบจันอีก ถ้าในนามปากกาอื่นก็คงอยากจะเขียนให้รัดกุมขึ้น ทำให้คนอ่านจับผิดเราได้น้อยลง (ยิ้ม)

 

 

ถ่ายภาพโดย  คชรักษ์ แก้วสุราช