Skip to main content

แม่คนหนึ่งได้รับแต่การแสดงความเสียใจจากคนรอบข้างเมื่อลูกสาวถูกวินิจฉัยว่าเป็นดาวน์ซินโดรม จนวันหนึ่งเธอได้อ่านเรื่องราวของ พาโบล พิเนด้า ชายชาวสเปนคนหนึ่งที่เป็นดาวน์ซินโดรมที่กำลังจะเรียนจบในระดับประกาศนียบัตร นี่นับเป็นครั้งแรกที่เธอได้ยินเรื่องของคนอื่นที่เป็นดาวน์ซินโดรมนอกเหนือจากลูกสาวของเธอ

แม้พิเนด้าจะสามารถทำลายกรอบที่คนอื่นตั้ง แต่เขาก็ไม่ใช่คนเดียวที่สามารถทำลายกรอบของภาพจำ “ดาวน์ซินโดรม”ได้ เพราะมีคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมอีกมากที่สามารถใช้ชีวิตของพวกเขาได้คุ้มไม่แพ้คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักเคลื่อนไหว นักศึกษา ตลอดจนสมาชิกคนอื่นๆในสังคม

ThisAble.me จึงอยากชวนทุกคนมารู้จักคนที่เป็นดาวน์ซินโดรม ชีวิตของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาทำซึ่งจะเป็นกระจกสะท้อนได้ดีว่า คนที่เป็นดาวน์ซินโดรมก็สามารถใช้ชีวิต มีความฝันและอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ หากพวกเขาได้รับการสนับสนุนมากพอ ดังเช่นที่คุณแม่ท่านนี้กล่าวว่า เธอเชื่อว่าทุกคนมีความแตกต่าง ซึ่งความแตกต่างไม่ได้มีผลต่อความเชื่อมั่นในเรื่องความสามารถเลยสักนิดเดียว

 

เคล่า แมคคีน (Kayla McKeon)

เคล่า แมคคีนเป็นสมาชิกรัฐสภาแห่งแคปิตอลฮิลคนแรกที่เป็นดาวน์ซินโดรม นอกจากนี้เธอยังเคยได้รับรางวัล ลอร่า ลี ในสาขาผู้นำด้านพิทักษ์สิทธิ และเธอก็ยังเป็นพิธีกรในรายการ เคล่าส์ คอร์นเนอร์ ซึ่งเป็นรายการพอดส์แคสที่พูดถึงบทบาทในการเป็นสมาชิกสภาคองเกรส และคณะกรรมการสมาคมโรคดาวน์ซินโดรม

 

อิซาเบล่า สปริงโมลฮ์ (Isabella Springmühl)

อิซาเบล่า สปริงโมลฮ์ วัย 22 ดีไซเนอร์ชาวกัวเตมาลาซึ่งเป็นดาวน์ซินโดรม เธอมีแบรนด์เป็นของตัวเองในชื่อดาวน์ ทู เอกซาเบล (Down to Xjabelle) นอกจากนี้เธอยังได้รับการเสนอชื่อโดยบีบีซีให้เป็น 1 ใน 100 สตรีผู้สร้างแรงบันดาลใจประจำปี 2016 และติดท้อป 28 คนของสตรีชาวสเปนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในละตินอเมริกาประจำปี2017 และที่สำคัญที่สุดคือเธอเป็นที่รู้จักในระดับสากลในฐานะดีไซเนอร์ดาวน์ซินโดรมคนแรก

 

ยูริสก้า อะเรสคูเรนาก้า (Yulissa Arescurenaga)

ยูริสก้า อะเรสคูเรนาก้า เป็นครูสอนเต้นซุมบาคนแรกที่เป็นดาวน์ซินโดรมซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ทำการสอนได้ ยูริสก้าทำงาน 6 ชั่วโมงต่อวันและใช้เวลากว่า 4 ปีในการเรียนเต้น จนกระทั่งฝันเป็นจริงในปี 2012

 

ซูจีท ดีไซ (Sujeet Desai)

ซูจีท ดีไซเป็นนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จในบทบาทควบคุมเครื่องดนตรีทั้ง 7 ชนิด ซูจีทจบการศึกษาจากเฟตวิล แมนลิส ไฮสคูล เมืองไซราคูส รัฐนิวยอร์ก และจบการศึกษาจากเบิร์กไชร์ ฮิล มิวสิค อะคาเดมี่ (Berkshire Hills Music Academy) ที่เมืองเซาท์ ฮาร์ดเลย์ รัฐแมสสาชูเซทท์ หลังจากนั้น 2 ปี จึงเรียนจบในสาขาดนตรีและการบริการ

 

พาโบล พิเนด้า (Pablo Pineda)

พาโบล พิเนด้า เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในแวดวงดาวน์ซินโดรม เขาเป็นครูชาวสเปน รวมทั้งเป็นนักพูดสาธารณะที่มุ่งให้ความรู้ในเรื่องคนพิการและการดูแลเด็กพิการ นอกจากนี้พาโบลยังเคยร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง “Yo, También” และยังได้เขียนหนังสือเรื่อง “El Reto de Aprender: Niños con Capacidades Especiales (Manual para padres)” The Challenge to อีกด้วย

 

จอห์น แฟรงคลิน สตีเฟ่นส์ (John Franklin Stephens)

จอห์น แฟรงคลิน สตีเฟ่นส์ เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้เรียกร้องสิทธิของผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม เขาเคยกล่าวสปีชอันทรงพลังต่อสภาคองเกรสจนมีคนพูดถึงมากมาย นอกจากนี้เขายังได้มีโอกาสพูดต่อองค์การสหประชาชาติถึงความท้าทายที่คนที่เป็นดาวน์ซินโดรมต้องเผชิญ ใน ปี2016 เขาได้รับรางวัลด้านการรณรงค์จากมูลนิธิ Global Down Syndrome Foundation อีกด้วย

 

คาเรน คาฟนีย์ (Karen Gaffney)

คาเรน คาฟนีย์ เป็นประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Karen Gaffney Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงานที่เกื้อหนุนกันระหว่างครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน และสังคมในการพัฒนาศักยภาพของคนพิการ เธอทำให้สังคมตระหนักถึงความสามารถของคนพิการ

คาเรนจบการศึกษาจาก เซนต์ แมรี อะคาเดมี (St. Mary’s Academy) เมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน และจบการศึกษาระดับปริญญาด้านวิทยาศาสตร์ จากวิทยาลัยชุมชนในเมืองพอร์ทแลนด์ เธอประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมเป็น 1 ใน 6 ของทีมว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษซึ่งไกลถึง 9 ไมล์ ผ่านทะเลสาบทาโฮที่มีอุณหภูมิน้ำอยู่ที่ 58องศาฟาเรนไฮท์ เพื่อระดมเงินทุนให้กับสมาคมโรคดาวน์ซินโดรม นอกจากการะดมทุนแล้ว สิ่งที่เธอทำยังสะท้อนให้คนทั้งโลกเห็นอีกด้วยว่า คนเป็นดาวน์ซินโดรมก็มีความสามารถ และความสามารถนี้ก็พิสูจน์ได้จากการที่เธอถูกชวนไปพูดในหลายต่อหลายประเทศ เพื่อเป็นกำลังใจ และสนับสนุนให้คนพิการเอาชนะขีดจำกัดความกลัว

 

มาคัส ซีโคร่า (Marcus Sikora)

มาคัส ซีโคร่า วัย 28 ปี นักเขียนหนังสือเด็กเรื่อง “Black Day: The Monster Rock Band ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีการันตีด้วยคะแนนวิจารณ์เต็ม 5 ดาว นอกจากนี้เขายังได้มีโอกาสขึ้นแสดงละครเวทีกับบริษัทท้องถิ่นและระดับชาติอยู่หลายครั้ง รวมไปถึงได้มีโอกาสเขียนบทสั้นๆ และพูดต่อหน้าผู้ฟังซึ่งหมายรวมถึงองค์การสหประชาชาติและผู้แทนจากหลายประเทศทั่วโลกในงาน World Down Syndrome Congress ที่เมืองกลาสโกลว สหราชอาณาจักรด้วย

 

เมดเดลีน สจ๊วต (Madeline Stuart)

เมดเดลีน สจ๊วต นางแบบสาวชาวออสเตรเลีย เริ่มเส้นทางการเป็นนางแบบในนิวยอร์กแฟชั่นวีค และงานอื่นๆ ระดับโลกอีกมากมาย นอกจากเดินแบบแล้ว ในหลายครั้งเธอได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กรไม่แสวงหากำไร นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ดูแลโรงเรียนสอนเต้นของเธอที่ตั้งอยู่ในเมืองบริสเบนที่ชื่อว่า“Inside, Outside Dance Ensemble,” ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เธอเป็นคนหนึ่งที่จัดการแบ่งเวลาได้ดี และยังคงทำในสิ่งที่รักและชื่นชอบอยู่ตลอด นั่นคือแฟชั่น จนทำให้เสื้อผ้าคอลเลกชันแรกของเธอถูกปล่อยในปี2017 ในชื่อ 21 Reasons Why by Madeline Stuart.

 

อลัน เทลเลซ (Alan Tellez)

อลัน เทลเลซเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จอีกคนหนึ่ง เขาเรียนวาดภาพกับครูผู้ซึ่งเป็น 1 ในศิลปินชาวเม็กซิกันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด อลันมีผลงานจัดแสดงมากมายในพิพิธภัณฑ์ของกรุงเม็กซิโกซิตี้และเมืองโตลูการ่วมกับศิลปินชาวเม็กซิกันคนอื่นๆ และยังมีโอกาสได้ไปแสดงผลงานของตัวเองไกลถึงนิวยอร์ก

 

จอห์น โครนิน (John Cronin)

จอห์น โครนิน กับ มาร์ค โครนินพ่อของเขาได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท John’s Crazy Socks ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2016 ไอเดียในการทำธุรกิจนี้เกิดขึ้นจากที่จอห์นมีความหลงใหลในลวดลายของถุงเท้า พ่อของจอห์นเล่าผ่านเว็บไซต์เดอะไมท์ตี้ว่า พวกเราคุยกันเรื่องถุงเท้าเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จนในที่สุดเราก็ตัดสินใจว่าเราจะขายถุงเท้าออนไลน์และตั้งชื่อบริษัทว่า John’s Crazy Socks

เป้าหมายของจอห์นคือการส่งต่อความสุข และนั่นเป็นทางเดียวที่เขาจะได้รับความสุขกลับคืนมา เงิน 5% จากการขายถุงเท้าจะถูกมอบให้กับองค์กร Special Olympics ที่จอห์นได้เข้าร่วมอยู่ นอกจากนี้บริษัทของจอห์นยังบริจาคเงินให้กับผู้ป่วยออทิสติก ดาวน์ซินโดรม และผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้วย

 

เจมี่ เบรเวอร์ (Jamie Brewer)

เจมี่ เบรเวอร์เป็นนักแสดงสาวชาวอเมริกันที่เราอาจรู้จักกันดีในบทบาทของอะเดลเลด (Adelaide) ในเรื่อง American Horror Story นอกจากนี้เจมี่ยังมีโอกาสแสดงละครในบทบาทที่ต่างกันออกไปทั้งแนวดราม่า ละครเพลง หรือแม้แต่ละครตลก จนทำให้เธอกลายเป็นผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมคนแรกที่ได้รับรางวัล Down syndrome to win a Drama Desk Award ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง “Amy and the Orphans.”

นอกจากนี้เจมี่ยังได้มีโอกาสเข้าทำงานในคณะกรรมการกิจการรัฐบาลแห่งชาติของรัฐเท็กซัส ซึ่งเธอก็ได้ใช้โอกาสนี้เป็นกระบอกเสียงเพื่อนำเสนอเรื่องราวของคนพิการต่อวุฒิสมาชิกแห่งรัฐเท็กซัส ในเรื่องความต้องการของกลุ่มคนพิการ

 

บริทเทนีย์ เชียโวนน์ (Brittany Schiavone)

บริทเทนีย์ เชียโวน คือสาวน้อยผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมดาวน์ซินโดรม จากการก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรอย่าง“Brittany’s Baskets of Hope,” ได้ที่มอบกระเช้าอัดแน่นไปด้วยของใช้และข้อมูลโรคดาวน์ซินโดรมให้แก่พ่อแม่มือใหม่ที่มีลูกเป็นโรคดาวน์ซินโดรม

 

ลอเรน พอตเตอร์ (Lauren Potter)

ลอเรน พอตเตอร์เป็นนักแสดงและโปรดิวเซอร์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีกับบทบาทของเบกกี้ แจคสันในซีรีย์อย่าง Glee รวมไปถึงบทบาททางการแสดงในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ในปี 2011 ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้แต่งตั้งให้เธอเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อคนพิการทางสติปัญญา โดยเธอได้ทำหน้าที่เสนอประเด็นที่มีผลกระทบต่อคนพิการ รวมไปถึงเรื่องของการศึกษาและการทำงาน นอกจากนี้ลอเรนยังเป็นนักพูดสาธารณะและเป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะนักเรียกร้องสิทธิคนพิการ

 

แอนเจล่า โควาดองก้า บาชิลเลอร์ (Ángela Covadonga Bachiller)

แอนเจล่า โควาดองก้า บาชิลเลอร์ เป็นคณะเทศมนตรีคนแรกของสเปนที่เป็นดาวน์ซินโดรม เธอเข้าสาบานตนรับตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2013 และมุ่งหวังที่จะผลักดันให้คนพิการได้รับสิทธิเทียบเท่ากับพลเมืองคนอื่นๆ

 

อากิฮิโตะ โอชิ (Akihito Ochi)

อากิฮิโตะ โอชิเป็นนักเปียนโนชาวญี่ปุ่นที่มีพรสวรรค์มาก เขาเริ่มเล่นเปียนโนตั้งแต่อายุ 9 ปี และมีคอนเสิร์ตเป็นของตัวเองเมื่อตอนอายุแค่เพียง 10 ปีเท่านั้น

 

ข้อมูล:https://themighty.com/2018/11/people-with-down-syndrome-changing-the-world/?utm_source=DownSyndrome_Page&utm_medium=Facebook&fbclid=IwAR2sdMd43EXURlFFHIgVyy1zHvhmymOA3YSvQRk1YzZbNr7NZ5cvhHssjEg