Skip to main content

ค่ำคืนหนึ่งในปี 1875 ในรัฐ Lagerlunda ประเทศสวีเดน เกิดเหตุการณ์รถไฟโดยสารพุ่งชนรถไฟรางเดี่ยว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากและถูกเรียกกันอย่างติดปากว่า Lagerlunda Collision

หลังเหตุการณ์ จักษุแพทย์ชื่อ Frithiof Holmgren แสดงความเห็นว่า ต้นตอของอุบัติเหตุน่าจะเกิดจากภาวะ ‘ตาบอดสี’ ของวิศวะกรและผู้ช่วยที่ทำหน้าที่ดูแลรถไฟฟ้า จึงทำให้ไม่เห็นสัญญาณไฟจากนายสถานีและเกิดความผิดพลาดในการควบคุม แม้จะไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่ความเห็นของ Holmgren ก็ออกไปไกลเกินการควบคุม คนในสังคมตื่นกลัวเรื่องตาบอดสี จนนำมาสู่เงื่อนไขต่างๆ ในการรับเข้าทำงาน ปัจจุบัน เงื่อนไขการทำงานสำหรับคนตาบอดสีก็ยังมีอยู่ และเป็นเหตุผลที่ใช้กีดกันคนกลุ่มนี้ออกจากการทำงานในหลายด้าน

แม้ภาวะ ‘ตาบอดสี’ จะมีคำว่าตาบอด แต่คนตาบอดสีไม่ใช่คนพิการ! ตาบอดสีไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มความพิการ 7 ประเภทตามที่กฏหมายระบุ โดยเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทในตา ทำให้มองเห็นสีผิดเพี้ยน หรือเห็นเฉพาะบางโทนสี และในบางคนอาจมองเห็นได้เฉพาะสีดำ เทา ขาวเท่านั้น การมองเห็นสีที่ต่างกัน อาจเกิดจากพันธุกรรม รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับตาต่างๆ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก

ประเทศไทยมีคนตาบอดสีแต่กำเนิดเป็นชาย 2,259,662 คนและหญิง 334,482 คน รวมๆ แล้วประเทศเรามีคนเป็นตาบอดสีประมาณ 2,600,000 คน  

“คนตาบอดสี ไม่ใช่คนพิการนะครับ” กร – วรากร สุนทรานุรักษ์ แอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘Rights for Color Blind People – กลุ่มเพื่อสิทธิคนตาบอดสี’ ถามย้ำอีกครั้งหลังที่จากที่ ThisAble.me ติดต่อไปเพื่อขอสัมภาษณ์ เพื่อให้แน่ใจว่าเราซึ่งทำงานด้านคนพิการ ไม่ได้ถามหาผิดเพจ

วรากรเล่าว่าเพจ ‘Rights for Color Blind People – กลุ่มเพื่อสิทธิคนตาบอดสี’ เกิดขึ้นหลังจากตนเองไปสอบตำรวจแล้วตกรอบเพราะตาบอดสี นับเป็นครั้งแรกที่เขารู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้และคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับภาวะตาบอดสี

สิทธิที่โดนจำกัด

“เราไปสอบตำรวจ ตกสัมภาษณ์เพราะไม่ผ่านตอนคัดตาบอดสี ตอนแรกเราไม่เชื่อว่าตัวเองเป็นเพราะที่ผ่านมาเราเห็นสีปกติ ตอนไปสอบใบขับขี่ก็ผ่านปกติ

พอไม่ผ่านคุณสมบัติตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องยอมตก ทั้งๆ ที่เราผ่านข้อเขียน สมรรถภาพทางร่ายกายหมดแล้ว

“ต้องเข้าใจว่าคนที่เป็นตาบอดสีมีหลายระดับ ตาบอดสีไม่ใช่มองไม่เห็นสีเลย อย่างเรามองเห็นสีแดงไม่ชัดก็เรียกตาบอดสีเหมือนกัน ซึ่งเกิดจากเส้นประสาทในตาด้านสีบกพร่อง คนที่เป็นหนักอาจเห็นเป็นสีเทา โดยไม่เห็นสีเลย  

“มีคนที่สอบตกแบบนี้เยอะมาก ทั้งทหาร ตำรวจเพราะไม่ผ่านตาบอดสี เราจึงอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อพิทักษ์สิทธิของคนตาบอดสี ยังมีคนตาบอดสีอีกมากที่ได้รับผลกระทบจากการถูกริดรอนสิทธิ ทั้งที่ไม่ได้มีความผิดอะไร เหมือนกับเราที่ตอนสอบ สอบสายธุรการด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ได้ต้องใช้ทักษะด้านการมองสี แต่กลับมีกฏเหล่านี้ขึ้นมา” วรากรกล่าว

เช่นเดียวกับที่ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยรายงานถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนตาบอดสีว่า มีการร้องเรียนหลายประเด็น เช่น ปัญหาใบขับขี่รถยนต์ของคนตาบอดสี ถูกจำกัดการเข้าศึกษาหรือเข้าทำงาน เนื่องจากเกณฑ์ข้อกำหนดเรื่องการมองเห็นสี จนทำให้เสียโอกาสในหลายครั้ง

คนตาบอดสี ‘ไม่กล้าเปิดตัว’

ปัญหาของคนตาบอดสีถูกพูดถึงน้อยมากเพราะคนเป็นไม่กล้าเปิดตัว แม้ในประเทศไทยจะมีจำนวนของคนเป็นตาบอดสีเกือบ 3 ล้านคน วรากรเล่าว่า หลายคนกลัวกระทบชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน ซึ่งส่งผลให้การขับเคลื่อนในประเด็นตาบอดสีน้อยตามลงไปด้วย

“เป็นตาบอดสี ไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ ประเด็นใบขับขี่ อาชีพและการเรียนเป็นปัญหาหลักๆ ที่คนเป็นตาบอดสีต้องเจอ การสอบใบขับขี่ไม่ได้ ทำให้ขับรถไม่ได้ ข้อกำหนดในการสอบ ที่กำหนดให้ผ่านแบบทดสอบตาบอดสีโดยอ่านสีตามที่กำหนด 2 ใน 3 ครั้ง ทำให้คนตาบอดสีบางคนไม่สามารถผ่านแบบทดสอบ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นสำหรับการขับรถ   

“เคยถามคนขับแท็กซี่ว่า คิดยังไงหากคนตาบอดสีขับรถ เขาบอกว่า “อันตราย ปล่อยคนแบบนั้นออกมาขับรถได้ยังไง” เราจึงรู้ว่ายังมีคนไม่เข้าใจว่าคนตาบอดสีสามารถขับรถได้ เราเคยเสนอให้ทำสถิติที่ดูว่า ในจำนวนคนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีคนตาบอดสีกี่คน เพราะปัจจุบันก็คนตาบอดสีก็ขับรถ ได้โดยไม่แจ้งว่าตัวเองตาบอดสี รวมทั้งการสอบใบขับขี่ในแต่ละพื้นที่ก็ไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกัน ฉะนั้นหากไม่มีการเก็บตัวเลขอย่างจริงจังว่า คนตาบอดสีเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุ ก็ไม่ควรกล่าวหากัน

“ประเด็นที่คนตาบอดสีมักสอบตกไม่ใช่การทดสอบสีอย่างเดียว แต่เป็นการทดสอบการมองทางกว้าง ซึ่งคนตาบอดสีมองเห็นสีไม่ชัด จึงทำให้เมื่อต้องมองกว้าง ทัศนวิสัยจึงไม่ดีเท่ากับคนอื่น เช่น การมองสีไฟด้วยหางตา คนตาบอดสีจึงสอบตกค่อนข้างเยอะ แต่จากการคุยครั้งล่าสุด กรมการขนส่งทางบกก็ได้สัญญาว่า จะช่วยแก้ไข  ปรับไฟจราจรให้เป็นสัญลักษณ์ เช่น วงกลมหรือสามเหลี่ยมแทนไฟสี

“คำอ้างที่ว่า คนตาบอดสีไม่ควรขับรถเพราะไม่เห็นสัญญาณไฟจราจร คนตาบอดสีบางกลุ่มกลับมองว่า เรื่องแบบนี้นั้นเรียนรู้ได้ เพราะไฟจราจรจะอยู่ในตำแหน่งเดิมคือไฟเขียวอยู่ล่างสุดหรือขวาสุดเสมอ ไม่เคยเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น คนตาบอดสีบางคนไม่เห็นสีแต่เห็นความสว่าง และหากยิ่งใช้สัญลักษณ์ที่มองเห็นชัดเจนขึ้น การขับรถของคนตาบอดสีก็ไม่น่าจะมีปัญหา” วรากรกล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่เคยให้ความเห็นว่า แม้คนตาบอดสีจะเห็นสีผิดไปจากคนทั่วไป แต่ยังสามารถแยกสีไฟจราจรได้ไม่มีปัญหา ถึงแม้จะไม่ชัดมาก แต่ไฟจราจรก็มีช่องว่างและลำดับชัดเจนคือ แดง เหลือง เขียว และมีความสว่างของไฟ จึงไม่น่ามีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยบนถนน

“ในเนเธอร์แลนด์หรือยุโรป ไฟจราจรจะเป็นสัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยมและวงกลม เพื่อให้คนตาบอดสีเห็นได้ชัด แต่กว่าประเทศเราจะมีแบบนั้นคงนานเพราะ คนยังไม่ค่อยเห็นความจำเป็น จึงเป็นหน้าที่ของคนตาบอดสีในประเทศไทย ที่ต้องออกมาช่วยกันเรียกร้องในเรื่องสิทธิของตัวเอง”

คนเยอะ แต่ข้อเสนอน้อย

วรากรระบุว่า แม้การยอมรับในเชิงมิติเหตุผลจะมีแล้ว แต่การขับเคลื่อนยังมีน้อย เพราะคนตาบอดสียังมองไม่เห็นสิทธิของตัวเอง ส่วนตัวคิดว่า การต่อสู้ในฐานะคนตาบอดสีไม่ได้จบแค่ประเด็นใบขับขี่ แต่ใบขับขี่เป็นเพียงใบเบิกทางที่นำไปสู่อุปสรรคอีกหลายด้าน คนที่สามารถพูดปัญหาของคนตาบอดสีได้ดีที่สุดก็คือคนตาบอดสีเอง

“คนตาบอดสีควรออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองนะ เรามองเห็นสีไม่เหมือนคนอื่น แต่ทำงานได้ทุกอย่าง ใช้ชีวิตได้ปกติ แต่กลับต้องสูญเสียสิทธิบางอย่างไป คนดังระดับโลกหลายคนก็ตาบอดสี เช่น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

“ใบขับขี่เป็นประเด็นแรกที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้นเพราะกระทบหนักที่สุด ต่อไปก็เป็นเรื่องการเรียนกับอาชีพ เพราะยังมีบริษัทหลายที่ที่ไม่รับคนตาบอดสี  หรือบางบริษัท ทำงานไปแล้วแต่มารู้ทีหลังว่า เป็นตาบอดสี ก็บีบให้ออก เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยความไม่เข้าใจ ถ้าคนเข้าใจเมื่อไหร่ กฏหมายที่มีก็จะถูกแก้ไขเอง” วรากรทิ้งท้าย