Skip to main content
ข่าวอุบัติเหตุตกรถไฟฟ้าของเด็กสาวคนหนึ่งที่สิงคโปร์เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน กว่า 7 ปีที่ผ่านมาชีวิตของเธอเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ชีวิตปัจจุบันของเธอเป็นอย่างไร

เมื่อปี 2554 ‘ธันย์ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์’ เดินทางไปเรียนภาษาที่สิงคโปร์ ชีวิตช่วงนั้นของเธอเป็นไปอย่างราบรื่น เธอตั้งใจเรียนจนได้เกรดตามที่หวังไว้ แต่เช้าวันอาทิตย์ก่อนกลับไทยเพียง 1 สัปดาห์ขณะที่เธอกำลังจะออกไปเที่ยวกับเพื่อนตามปกติ ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเธอตกลงไปในรางรถไฟและสูญเสียขาทั้งสองข้าง

หลายคนอาจคิดว่า การสูญเสียขาทั้งสองข้างคงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากสำหรบเธอ แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม เมื่ออุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เธอมีชีวิตรอดกลับมาได้ และยังเป็นชีวิตใหม่ที่เธอชอบมากกว่าเดิมเสียอีก จากเด็กสาวตัวเล็กๆ ปัจจุบันนี้ธันย์เติบโตเป็นวัยรุ่นเช่นเดียวกับใครหลายคน แต่เธอกลับมีมุมมองการใช้ชีวิตที่ไม่ธรรมดาเหมือนวัยรุ่นทั่วไป รวมถึงรับบทบาทใหม่ในการทำงานเป็น ‘ผู้สำรวจความสุข’ ของคนไข้

สำรวจความสุขและมุมมองการใช้ชีวิตของธันย์ อะไรที่ทำให้เธอแตกต่างจากวัยรุ่นทั่วไปและอะไรที่เป็นแรงผลักดันให้เธอลุกขึ้นยืนอีกครั้งอย่างมั่นคง

ความรู้สึกแรกหลังเกิดอุบัติเหตุ

ณิชชารีย์ : หลายคนถามว่า เราทำใจนานไหม แต่เราไม่สามารถตอบได้จริงๆ เพราะรู้สึกว่า ไม่ได้ใช้เวลาจมอยู่กับความทุกข์เยอะ รู้แค่ตอนตื่นขึ้นมาคิดอยู่อย่างเดียวคือ ‘ปวด’ หลังจากนั้นไม่กี่วัน เราต้องเข้าห้องผ่าตัดอีก ถูกย้ายตัวไป ย้ายตัวมาบ่อยมาก เลยไม่ได้สนใจกับขามากนัก

เราจำได้ทุกเหตุการณ์ขณะที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเรามองว่า เป็นข้อดีที่ทำให้ตอนตื่นขึ้นมา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็รู้และเตรียมใจอยู่แล้ว

คดีความเป็นอย่างไรบ้าง

หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ครอบครัวเราก็ดำเนินคดี ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับรถไฟฟ้าสิงคโปร์ ซึ่งใช้เวลาดำเนินการนานถึง 5 ปี ผลการตัดสินกลับสรุปได้ว่าเสมอกัน โดยเราไม่ต้องจ่ายค่าทนาย และทางสิงคโปร์ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ในตอนนั้นเรายังไม่ได้มีหน้าที่การงานมั่นคงเหมือนในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ซื้อขาและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงค่าทนายที่ต้องรับผิดชอบเองเป็นจำนวนไม่น้อย สุดท้ายเราก็ไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย เลยทำให้รู้สึกมีภาระเพิ่มมากขึ้น แต่โชคดีที่เราได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยในสิงคโปร์ ร่วมบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนในรักษาด้วย

อุบัติเหตุทิ้งความทรงจำอย่างไรไว้บ้าง

การตกรถไฟฟ้าเปรียบเหมือนละครเรื่องสังข์ทองที่เราได้ลงไปชุบบ่อทอง (หัวเราะ) จากที่เราอยู่ท้ายแถว ไม่มีใครสนใจเรา ก็กลับลุกขึ้นมาเป็นอีกคนหนึ่งที่ความคิดและบุคลิกเปลี่ยนไป เรารู้จักตัวเองมากขึ้นและมีจุดยืนเป็นของตัวเอง กล้าเลือก กล้าทำ และมองสิ่งที่เราไม่เคยมองมาก่อน และไม่เคยมีเหตุการณ์ไหนที่เรารู้สึกอยากกลับไปแก้ไข ถ้าไม่ได้เจอเหตุการณ์นี้เราก็คงเป็นเด็กทั่วไปที่เลือกเรียนตามเพื่อน ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำเหมือนในวันนี้

สำหรับเราอุบัติเหตุจึงเป็นข้อดีเสียมากกว่า

จริงๆ แล้วเราก็ไม่รู้ว่า คิดบวกคืออะไร แต่ในนิยามของเรา ‘คิดบวกคือการอยู่กับความจริง’ ไม่ได้ยึดติดกับร่างกายหรือสิ่งรอบตัว บางคนอาจเห็นเรานั่งวีลแชร์ไปห้างสรรพสินค้า ไปเดินตลาด หรือใช้ชีวิตบนท้องถนนอย่างกำลังใจดี ยิ้มแย้ม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เรามองโลกสวย

ความพิการทำให้อะไรหายไป

ปกติทุกคนจะมีช่วงวัยเด็ก ก่อนวัยรุ่น วัยรุ่น วัยมหาวิทยาลัย วัยทำงาน แต่ของเราเป็นวัยเด็ก ก่อนวัยรุ่น แล้วข้ามไปวัยทำงานเลย ไม่มีช่วงวัยรุ่นหรือวัยมหาวิทยาลัยเพราะหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ชีวิตเราวนอยู่แค่ไปเรียนและการทำกายภาพ เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 2 ปี ยิ่งช่วงแรกที่ยังไม่หายดี ทำให้เดินไปกินอาหารเที่ยงที่โรงเรียนไม่ได้เพราะไกล เลยกินข้าวในห้อง เราก็พลาดสังคมตอนพักเที่ยง พอมามหาวิทยาลัยแล้วเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย จึงห่างออกจากเพื่อน

อาจเป็นเพราะอุบัติเหตุที่ส่งผลให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปหลายด้าน ทั้งความคิด อารมณ์หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิต เรามองถึงชีวิตที่มั่นคงมากขึ้น สิ่งนี้สร้างกำแพงของวัยที่ทำให้เราเข้ากับเพื่อนได้ยาก และเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่รู้สึกว่าขาดหายไป

นอกจากนั้นเราคิดว่า ความพิการเป็นปัญหาเมื่อเริ่มความสัมพันธ์ นอกจากหน้าตา รูปลักษณ์แล้วคนพิการต้องต่อสู้เรื่องความพิการ ครอบครัวหรือคนรอบข้าง บางครอบครัวก็เป็นกังวลว่า หากเป็นแฟนกับคนพิการแล้วจะมีภาระ หรือทำให้ลูกเขาต้องลำบาก แต่ไม่ใช่สำหรับเราเพราะเรามั่นใจว่าจะไม่ทำให้เขามองว่า เราเป็นภาระ รวมถึงอาจช่วยส่งเสริมกันและกันในด้านอื่นด้วย

เมื่อห่างออกจากเพื่อน รู้สึกตัวเองแปลกแยกหรือเปล่า

แม้เราเข้ากับเพื่อนได้ยาก ก็ไม่ได้แปลว่าจะอยู่อย่างสันโดษ เรามีเพื่อนสนิทที่ยังคงไปเที่ยวด้วยกัน เราเข้าใจและยอมรับชีวิตของตัวเอง เลยตระหนักอยู่ตลอดว่า เรามีสิทธิที่จะเลือกชีวิตเอง เช่น เพื่อนไปเที่ยวกลางคืนกัน 10 ครั้ง เราอาจจะทำงานแล้วสะดวกไปแค่ 5 ครั้ง แต่ก็ยังมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของเพื่อนอยู่ ไม่ได้หายไปเลย แม้จะมีเสียดายบ้าง แต่กิจกรรมอื่นมากมายที่เราได้ทำก็ทดแทนส่วนนี้ ต่างกับบางครั้งที่เราถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม ด้วยเหตุผลเรื่องความพิการ

เราชอบชีวิตตอนนี้ มีความสุขกับการทำงาน และมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆหลายอย่าง เมื่อก่อนเรามีความฝันว่า อยากเข้าไปอยู่ในทีวี และตอนนี้ก็ได้ทำตามฝันนั้นแล้ว

รู้สึกอย่างไรเมื่อถูกปฏิเสธเข้าร่วมกิจกรรมเพราะความพิการ

หลังจากการถูกปฏิเสธเข้าร่วมกิจกรรม เรากลับมาคิดทบทวนและพยายามประเมินตัวเองว่าเราควรยืนอยู่จุดไหนและทำสิ่งไหนได้บ้าง เมื่อทบทวนตัวเองมากพอเลยพบว่า ก่อนหน้านี้เราเปิดโอกาสให้คนอื่นมาตัดสินว่าเราทำไม่ได้ การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งต่อๆไปของเรา จึงสมัครพร้อมความมั่นใจว่าเราทำได้ จนไม่มีใครกล้าปฏิเสธ

อุบัติเหตุตกรางรถไฟฟ้ากลายเป็นข่าวดังมากในตอนนั้น เรากลายเป็นที่รู้จักและมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ จากเมื่อก่อนเป็นเด็กที่ไม่ค่อยทำกิจกรรม ตอนนี้มีโอกาสแล้วก็อยากจะคว้าเอาไว้ จึงคิดอยู่เสมอว่าถ้าวันนี้เราอยากทำและอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เราจะลงมือทำโดยคิดว่านี่เป็นครั้งแรกและเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้ทำ ต้องทำให้เต็มที่ที่สุด การกล้าที่จะก้าวผ่านขีดจำกัดของตัวเอง กล้าที่จะดึงศักยภาพที่เรามีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็ถือเป็นกำไรแล้ว

แม้ว่าเราจะกลายเป็นที่รู้จักจากอุบัติเหตุ จนทำให้คนรอบข้างบอกให้เราใช้ประโยชน์จากการมีชื่อเสียงในการสมัครเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแอนตี้มากเพราะการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมบาง ไม่ได้ขึ้นกับชื่อเสียงหรือเราเป็นใคร แต่ต้องมาจากความสามารถ หากเขาเลือกเราเพราะมีชื่อเสียง แต่เข้าไปแล้วไม่ได้ให้ผลประโยชน์แก่เขา ก็เท่ากับว่าเราไร้ประโยชน์อยู่ดี

จุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมร่วมกับคนพิการคือเมื่อไหร่

เรามีโอกาสได้เข้าร่วมการประกวด Miss Wheelchair ในปี 2013 เพราะ ‘อยากไปเที่ยว’ โดยไม่ได้สนใจตำแหน่ง ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงหลังจากเกิดอุบัติเหตุพอดี เราไม่มีเพื่อนที่นั่งวีลแชร์ไว้คอยปรึกษาปัญหาต่างๆ เลยคิดว่าการประกวดนี้อาจทำให้เราได้เพื่อนในอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งก็ได้จริงๆ ทั้งเพื่อนและข้อคิด

เมื่อก่อนเราแทบไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวคนพิการเลย พอพิการและได้เข้ามาอยู่ในสังคมนี้ เราเข้าใจเลยว่า ทำไมคนพิการต้องดิ้นรนและใช้ชีวิตแตกต่างจากคนอื่น วีลแชร์ที่เขานั่งเปรียบเสมือนส่วนประกอบหนึ่งในชีวิต ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ส่งผลให้พวกเขาต้องดิ้นรนเพื่อค่าใช้จ่ายส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการทำงานที่พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อให้คนเชื่อในความสามารถ

เดินทางสู่อาชีพ ‘ผู้สำรวจความสุข’ ได้อย่างไร

ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่เราอยากทำมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วเพราะตอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล สิ่งหนึ่งที่เราอยากมีมากที่สุดคือ เพื่อนคุย งานผู้สำรวจความสุขคนไข้จึงเป็นงานที่เราสนใจและคิดว่าน่าจะทำได้ดี ตอนทำจริง เรามีหน้าที่พูดคุยกับคนไข้เพื่อให้กำลังใจ คอยเป็นที่ปรึกษาและผู้รับฟัง ไม่ใช่จิตแพทย์แต่เราเปรียบเสมือนคนประสานทำให้คนไข้รู้สึกดีเวลาอยู่กับหมอ รวมถึงช่วยคลายความเครียดให้คนไข้

หลายคนอาจมองว่า ดีจังที่เราได้มีโอกาสทำงานรายได้สูง แต่แท้จริงแล้ว พอเราเห็นจำนวนเงิน เรากลับคิดว่า ‘เป็นข่าวปลอมหรือป่าว’ (หัวเราะ) พอได้ทำและเห็นคุณค่าจึงรู้ว่างานนี้เปรียบเทียบกับมูลค่าของเงินไม่ได้เลยเพราะสิ่งที่ทำมีคือชีวิตของคน ประเมินค่าไม่ได้ ฉะนั้นเงินหนึ่งล้านบาทเป็นเพียงแค่มูลค่าที่วัดกันในสังคมมากกว่า

ผู้สำรวจความสุขคนไข้ ทำอะไรบ้าง

เราคุยกับคนไข้วันละประมาณ 4-5 คน โดยมีข้อมูลเบื้องต้นของคนไข้แต่ละคน ทำให้รู้ว่าคุยเรื่องไหนได้ ไม่ได้ อย่างคนไข้ระดับรุนแรงหากเราเข้าไปถามว่า ‘สบายดีไหม?’ ก็คงไม่เหมาะสม พอช่วงบ่ายเราจะนำเรื่องราวทั้งหมดมาประมวล เขียนเป็นไดอารีสั้นๆ หรือคลิปวีดีโอลงแฟนเพจโรงพยาบาล เพื่อส่งต่อกำลังใจให้กับคนอื่นๆ

เคสที่ประทับใจ คือเคสของคนไข้ที่ป่วยด้วยอาการเวียนหัว ยืนอยู่กับที่ไม่ได้ ตอนแรกที่เข้าไปคุยเรามองไม่เห็นอาการป่วยของเขา จนเขาบอกว่า แม้ภายนอกเขาอาจจะดูแข็งแรง แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นโรคซึมเศร้า ต้องทานยา คนรอบข้างของเขาก็ได้รับผลกระทบด้วย เราไม่ได้เป็นหมอหรือนักจิตวิทยาจึงไม่รู้ว่าควรคุยยังไง ถึงจะทำให้คนไข้รู้สึกดี เคสนี้ทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานมากขึ้น เลยเป็นเคสที่น่าจดจำจนถึงทุกวันนี้