Skip to main content

“เราสังเกตได้ว่า วันไหนที่แต่งหน้าจัด แต่งตัวดี ถือกระเป๋าแบรนด์ คนมองเราน่าสงสารน้อยลง และได้คะแนน “วีรสตรี” เพิ่มขึ้น พ่วงมากับคำพูดว่า “เก่งนะคะ สวยนะคะ หน้าตาดีนะคะ แต่น่าเสียดายเดินไม่ได้”

คำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดที่ณธกมล รุ่งทิม หรือเอิร์ธ ล่ามอาชีพและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ เล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่เธอเผชิญในฐานะหญิงพิการ จนเราได้เห็นสิ่งที่ทับซ้อนซ่อนอยู่ภายใต้ความพิการและการมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวคนพิการ แต่กลับเห็นภาพความสงสาร เอ็นดู ชื่นชม ยกย่องจนดูแปลกและไม่ใชสิ่งที่พวกเขาควรทำในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

ชวนคุยกับณธกมลถึงเรื่องความเป็นผู้หญิง และการดำรงชีวิตอิสระหรือ IL: Independent Living ซึ่งเป็นประเด็นที่เธอขับเคลื่อนหลังจากเกิดความพิการและต้องนั่งวีลแชร์  

ณธกมล: เยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบเกิดขึ้นเฉียบพลันตอนเราอายุประมาณ 15 - 16 ปี เราตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วพบว่า ตัวชาไปหมด สมัย 20 ปีที่แล้วหมอยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด ชีวิตก็เปลี่ยนไปเยอะ จากที่เคยทำอะไรได้ด้วยตัวเองก็ต้องเริ่มต้นใหม่หมด ใช้เวลาปรับตัวนานมาก

เมื่อเราแน่ใจว่าตัวเองไม่ตาย แต่ก็ไม่หาย จึงเริ่มคิดบริหารชีวิตตัวเองใหม่ จนมีโอกาสได้ไปศูนย์ฟื้นฟูเล็กๆ ที่เชียงใหม่ ที่มีหมออาสาสมัครมาจากต่างประเทศ หมอเท็ดดี้ บราวน์ถามเราว่าสนใจฝึกกายภาพไหม ตอนนั้นเราไม่เชื่อว่าจะฝึกได้เพราะอ่อนแรงมาก จนมารู้ทีหลังว่า คนที่เป็นแบบเราสามารถทำอะไรเองได้เยอะแยะ และมีวิธีฟื้นฟู

การรักษาในแบบที่มี “ทางเลือก”

หมอเท็ดดี้เคารพในการตัดสินใจของคนไข้มากและให้ข้อมูลตลอดว่าอะไรเป็นอะไร จะถามว่าลองดูไหม ทีมสหวิชาชีพที่นั่นก็เหมือนกัน จะใช้วิธีถามก่อน ร่วมกันคิดได้ ให้เราได้ลองว่าทำได้หรือไม่ได้ เช่น เย็บผ้า ทำอาหาร ปลูกผัก แต่ต่อมาถ้าในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ชอบทำก็ไม่เป็นไร เราใช้เวลาฟื้นฟูอยู่นานหลายปี การฟื้นฟูทำให้เราได้รู้จักกับร่างกายที่เปลี่ยนไปของตัวเองและออกแบบการใช้ชีวิตใหม่

ช่วงแรกๆ ที่พิการเท้าชา ชนอะไรก็ไม่รู้สึกเจ็บ เข็นวีลแชร์ไปเฉี่ยวขอบประตูแล้วเล็บเท้าเปิดเลือดไหลยังไม่รู้ตัวเลย เพราะก่อนพิการเราใช้ความรู้สึกเจ็บเพื่อระมัดระวัง แต่ตอนนี้เราต้องฝึกที่จะมองแทน 

หมอยังให้เราเลือกตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่น การขับถ่าย จะใส่แพมเพิร์ส ใส่สายปัสสาวะ หรือสวนปัสสาวะ ใช้อะไรสามารถเบิกได้ วิธีไหนเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบปัสสาวะ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ฯลฯ เราพบว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นวัฒนธรรมที่เรายังไม่ค่อยเจอจากหมอคนอื่น คือการเคารพการตัดสินใจของคนไข้ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นคนเท่ากัน หมอเท็ดดี้ชอบอธิบายให้คนไข้เข้าใจ เน้นว่าคนไข้มีสิทธิเลือกและมีสิทธิที่จะตัดสินใจได้ โดยต้องเสริมข้อมูลให้กับเรา

บางทีเวลาเจอหมอที่ไม่สบายใจกับการเลือกของคนไข้ ทำเหมือนคนไข้รู้ไม่พอแล้วจะตัดสินใจได้ไม่ปลอดภัย เราจะนึกถึงหมอเท็ดที่คิดว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของหมอก็คืออธิบายให้คนไข้เข้าใจเรื่องของเขาเอง และให้เขาตัดสินใจจากข้อมูลที่รอบด้าน บางคนอาจจะมองว่า เขามาฝากชีวิตไว้กับหมอแต่เราไม่ได้มองแบบนั้น การรักษาที่ตัดสินใจได้เอง ถามได้ ขอข้อมูลหรือคำอธิบายได้ ร่วมกันคิดกับหมอ ทำให้เรารู้จักร่างกายของตัวเองมากขึ้นด้วย

สงสารเราให้น้อยลง มองเราเป็นผู้หญิงให้มากขึ้น

ในวัฒนธรรมเมือง การแต่งตัวถูกมองเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ มุมมองเรื่องความสวยความงามของเราเป็นเรื่องหน้าที่การงานที่ต้องใช้ภาพลักษณ์ในการเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้า เราคิดว่าคนอื่นในสังคมยังมองไม่ค่อยเห็นความสวย แต่เห็นความพิการมากกว่า ไม่ก็สงสารเราไปเลย

เราสังเกตได้ว่า วันไหนที่แต่งหน้าจัด แต่งตัวดี ถือกระเป๋าแบรนด์ จะดูมีความน่าสงสารน้อยลง และได้คะแนน “วีรสตรี” พ่วงมากับคำพูดว่า “เก่งนะคะ น่าตาดีนะคะ น่าเสียดายที่เดินไม่ได้ " (หัวเราะ)

เราคิดว่า เวลาเจอแบบนี้บางครั้งอาจจะต้องแสดงความไม่พอใจออกไปบ้าง ในต่างประเทศเขาก็ทะเลาะกันมาเยอะ กว่าจะมาถึงจุดที่คนยอมรับความหลากหลาย  

เราน่าจะต้องไปถึงจุดที่แสดงความไม่พอใจออกมา เพื่อให้รู้วา การทำแบบนี้ไม่โอเค บ้านเราไม่ค่อยแสดงออกก็เลยพัฒนาความเข้าใจได้ช้า

ความหวังดีที่ทำร้ายผู้อื่น

ครั้งหนึ่งมีคนเข้ามาเข็นรถเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เราตกใจมาก เพราะอาจจะตกจากรถที่เคลื่อนที่โดยไม่ทันระวัง พอเราห้ามเขาก็สวนขึ้นมาว่า ก็อยากจะช่วย ซึ่งเราไม่โอเคกับคำพูดนี้ เปรียบเทียบแล้วก็เหมือนเราเดินผ่านคนแปลกหน้าที่ถือของอยู่ แล้วเราไปดึงของออกจากมือเขามาถือแทน เพราะบอกว่าหวังดี คิดแค่ว่าอยากช่วยก็สามารถทำให้เข้าไปสู่พื้นที่ส่วนตัวของใครก็ได้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่ารถต้องเข็นยังไงหรือจะไปไหนด้วยซ้ำ

เราคิดว่าคนที่ไม่รู้จักกันเขาจะไม่ถึงเนื้อถึงตัวกัน จะไม่จับร่างกายกันโดยไม่รู้จักกันหรือไม่บอกก่อน แต่เวลาเราขากระตุก เกร็ง คนก็จับขาเราเลย เรารู้สึกแปลกมากว่า ไม่รู้จักกันแต่ทำไมถึงมาจับกันโดยพลการ

พิการ = ความเป็นมนุษย์น้อยลง ?

คนที่ตัดสินคนจาก ราคาเสื้อผ้า กระเป๋า อาชีพ เชื้อชาติ ความพิการ ฯลฯ เราไม่เคยเห็นด้วยเพราะมองว่า เสื้อผ้าก็คือเสื้อผ้า คนก็คือคน ไม่ว่าเขาจะใส่เสื้อผ้ายังไง เขาก็ยังเป็นคนอยู่ ไม่ควรลดลงหรือเพิ่มขึ้น เราสังเกตว่า ความเป็นผู้หญิงของเราลดน้อยลงมาก คนไม่มองเรื่องความเป็นผู้หญิง แต่มองว่าเป็นคนพิการและไม่พูดคุยกับเราเรื่องอื่นนอกจากเรื่องความพิการ เช่น “ทำไมนั่งรถเข็น” “เป็นอะไรมา” หรือ “รถชนเหรอ” คำถามอื่นๆ ที่เคยถามเช่น ”ไปไหน” “ทำอะไร” ตอนไม่มีความพิการกลับหายไป

หากเขยิบไปอีกหน่อยก็คือคำชมว่า “เก่งมากเลย” หรือ “เห็นแล้วมีกำลังใจ” ซึ่งเรารู้สึกว่า คำนี้ไม่ให้เกียรติ เราไม่เชื่อเรื่องการเปรียบเทียบไม่ว่าจะกับคนที่ดีกว่าหรือแย่กว่า การที่คนอื่นวิ่งเร็วไม่ได้ทำให้เราวิ่งช้า หรือการที่มีคนวิ่งช้าก็ไม่ได้ทำให้เราวิ่งเร็วขึ้น ต่างคนต่างร่วมทาง

คนไม่ควรได้รับกำลังใจเวลาเห็นคนที่แย่กว่า และไม่ควรเสียกำลังใจเวลาเห็นคนดีกว่า

การเป็นคนพิการตลกมากก็ไม่ดีนะ เสียคอนเส็ปที่คนอื่นคาดหวังเพราะคนคาดหวังให้คนพิการเป็นอย่างอื่นด้วย เช่น เป็นนักให้กำลังใจ พอเป็นคนที่ให้แรงบันดาลใจคนอื่นก็ต้องนิ่งๆ สุขุม เป็นคนดี เล่นโยคะ กินชีวจิต อยู่อย่างสงบ ธรรมมะธรรมโม นี่คือความคาดหวังของคนในสังคมที่อยากเห็นแบบนั้น (หัวเราะ)

เวลาเราล่ามให้ชาวต่างชาติ เราสังเกตว่าส่วนใหญ่ไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก ประเทศเขาเรียนรู้เรื่องความหลากหลายตั้งแต่เด็ก ชาวต่างชาติจะไม่ผลีผลามเข็นวีลแชร์โดยที่เรายังไม่ขอให้ช่วย ถ้าเดินไปกับเราก็จะปรับความเร็วลงให้เท่ากับเราโดยที่ไม่ต้องบอก เขาพร้อมช่วย จะให้ช่วยอะไรขอให้บอก แล้วก็ทำงานกันไปตามธรรมดา  เรื่องพวกนี้ประเทศเรายังไม่สอนและคนจะคิดแบบเราต้องช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า

"นั่นไงคนพิการ เราช่วยพวกเขากันเถอะ"

เราเจอเด็กผู้หญิงคนนึงอายุประมาณ 9-10 ขวบ ตอนกำลังต่อคิวทำธุระที่ธนาคาร เด็กเห็นเรานั่งรถเข็นก็เดินมาคุยด้วย ถามว่าเรามากับใคร มาทำอะไร ทำไมนั่งรถ(วีลแชร์)นี้หล่ะ เดินไม่ได้เหรอ แล้วเจ็บไหม เด็กคนนั้นบอกว่ามากับแม่ กับน้อง สักพักก็ไปอุ้มน้องมา แนะนำตัวเขาและน้องของตัวเอง เรารู้สึกเลยว่านี่คือคนที่อยากรู้จักเราจริงๆ ไม่ใช่คนที่อยากรู้ว่าเราพิการอะไรแต่ไม่อยากรู้จักเรา สำหรับเรานี่เป็นบทสนทนาของมนุษย์

มายาคติเรื่องผู้หญิงพิการ

เรื่องของความเชื่อ คือถ้าเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ หรือฝึกอบรมเฉพาะทางสำหรับคนพิการ การเป็นคนพิการผู้ชายจะทำให้พ่อแม่ตัดสินใจจะส่งลูกไปฝึกมากกว่าลูกผู้หญิง หรือถ้าเป็นการจ้างงาน ก็จะรู้สึกว่าผู้ชายต้องได้ไปก่อน มันมีความเชื่อเรื่องของความแข็งแรง การสร้างผลผลิตได้เยอะมากกว่า พอหันมามองผู้หญิงที่มีความพิการเลยรู้สึกว่า มีความอ่อนแอกว่าหลายเท่า นายจ้างจะรู้สึกว่าผู้หญิงพิการแรงน้อย ป่วยง่าย เทียบกันด้วยเนื้องานที่ทำได้เท่าๆ กัน เขาจะมั่นใจผู้ชายพิการมากกว่าผู้หญิงพิการ

อีกประเด็นคือเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ก็มีหญิงพิการที่ถูกบังคับให้ทำหมัน การทำหมันไม่ได้ช่วยป้องกันการล่วงละเมิด แต่ป้องกันการมีบุตร เราต้องเข้าใจให้ถูกต้อง แถมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย  แต่คำถามก็คือ บางคนเชื่อว่าเดี๋ยวคนพิการมีลูกแล้วจะเลี้ยงไม่ได้ เพราะตัวเองยังดูไม่ไหวเลย ถ้าแบบนั้นเราก็ต้องกลับไปดูว่าจะแก้ไขเรื่องความปลอดภัยในสังคมยังไง ทำยังไงให้เลือกได้จริงๆ

ผู้หญิงพิการควรมีสิทธิ ถ้าอยู่ในวัยเรียนก็ควรจะได้เรียน วัยทำงานก็ควรมีงาน ถ้าเชื่อหรือถ้าชอบอะไรก็ควรเข้าถึงได้ การตัดสินใจควรเป็นเรื่องของเราและระบบสนับสนุนต่างๆ เป็นหน้าที่ที่่รัฐที่ควรจะต้องทำ เพื่อให้การตัดสินใจเลือกนั้นสมเหตุสมผลมากขึ้น  

                

สัมภาษณ์/เรียบเรียง นลัทพร ไกรฤกษ์, คชรักษ์ แก้วสุราช
ถ่ายภาพ คชรักษ์ แก้วสุราช