Skip to main content

“ธรรมศาสตร์เคยสอบตก”

“ปี 56 มหาวิทยาลัยสำรวจอาคารทั้งหมด 84 หลังว่ามีการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการกี่อาคาร พบว่าไม่มีอาคารใดเลย ที่ได้คะแนนสูงกว่า 50% นั่นแปลว่า คนพิการในธรรมศาสตร์เข้าถึงการเรียนการสอนได้น้อยมาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้นักศึกษาพิการส่วนใหญ่สอบตก”

นี่เป็นสิ่งที่เราได้ยินอาจารย์ท่านหนึ่งพูดในเวทีเสวนา “การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal design) มนุษย์ธรรมศาสตร์จะช่วยกันสร้างอย่างไร ?” (อ่านงานเสวนาที่นี่) ถึงการเปลี่ยนแปลงภายในก่อนที่ธรรมศาสตร์จะได้รับการยอมรับว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความก้าวหน้าเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการอันดับต้นๆ ของประเทศ แล้วอะไรกันล่ะที่ทำให้ธรรมศาสตร์กล้าเปลี่ยนแปลง?  หรือมีใครอยู่เบื้องหลังการผลักดันในครั้งนี้ ?

ThisAble.me จึงอยากชวนผู้อ่านถอดบทเรียนจากธรรมศาสตร์ สู่โลกกว้างนอกรั้วมหาวิทยาลัย พื้นที่ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการยังมีไม่ทั่วถึง กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ จากหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเรื่อง Universal Design (UD) ในรั้วแดงเหลืองแห่งนี้

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นปัญหา

ชุมเขต : ปี 2546 เราเปิดโครงการรับนักศึกษาพิการ 2 ปีต่อมาศูนย์บริการนักศึกษาพิการก็เกิดขึ้นตาม  ในตอนนั้นนักศึกษาพิการเข้ามาอยู่แบบพอใช้ชีวิตและเรียนได้ แต่เข้าบางตึกไม่ได้ เข้าไม่ถึงโรงอาหาร คุณภาพชีวิตก็ไม่ดีและไม่ปลอดภัย เห็นได้จากที่นักศึกษาตาบอดตกน้ำบ่อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ซึ่งตอนนั้นเป็นรองฝ่ายกิจการนักศึกษา จึงมอบหมายให้เราสำรวจดูว่า อาคารเรียนภายในมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการให้บริการนักศึกษามากน้อยขนาดไหน

เราสำรวจประมาณ 84 อาคาร ปรากฏว่าไม่ผ่านเกณฑ์ 50% สักหลัง ทั้งๆ ที่มีทางลาด แต่ก็ใช้ไม่ได้ มีลิฟต์แต่ก็ไม่มีลำโพงบอกเสียงหรืออักษรเบรลล์ มีรายละเอียดมากมายที่ต้องปรับปรุง  จึงทำแผนและของบประมาณประมาณ 10 ล้านบาทในแต่ละปี เพื่อปรับปรุงโดยเฉพาะ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งที่จอดรถ ทางลาด ลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เยอะขึ้น ในปี 2558 เลยได้รางวัลจากมูลนิธิอารยะสถาปัตย์ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เอื้อให้คนพิการใช้ชีวิตได้

แม้จะเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ปรับปรุงครบทั้งหมดเพราะยังมีอาคารเรียนใหม่ๆ ขึ้นอยู่เสมอ ที่นี่ใช้วิธีเปิดรับข้อมูลว่าจุดไหนยังไม่โอเคหรืออันตราย เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของบางอย่างแม้ว่าจะทำแล้ว แต่ถ้ายังไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง ก็ต้องปรับแก้ไขไปตามหน้างาน

ปี 2550 ผลการวิจัยระบุเหตุผลที่นักศึกษาพิการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เกรดน้อย หรือถูกรีไทร์ว่า การที่นักศึกษาเข้าไม่ถึงพื้นที่หรือห้องเรียน แม้แต่จะออกจากหอยังยาก ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่ผลการเรียนของเขาจะดีเหมือนกับคนอื่น ตอนนั้นจึงปรับการเรียนการสอน มีข้อสอบเบรลล์ มีวีลแชร์ไฟฟ้าให้ยืมใช้ ฯลฯ

ทำไมถึงเลือกทำงานด้านการออกแบบเพื่อสาธารณะ

เพราะสนใจในเรื่องของ Special Target หรือ Special User เป็นทุนเดิมตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี เห็นได้จากงานพื้นที่ผู้ป่วยในสถานบำบัดยาเสพติด ตอนปริญญาโทก็ทำเรื่องสถานีอนามัยผู้สูงอายุ ยิ่งทำงานวิจัยยิ่งทำให้รู้ว่า แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าเราใส่ใจแล้วออกแบบให้ดีตั้งแต่แรก ก็จะเอื้อให้คนที่ไม่เคยใช้งานพื้นที่นั้นได้ใช้ โดยไม่จำเป็นต้องทำให้แปลกหรือแตกต่าง

ตอนแรกทำเพราะเกี่ยวกับการเรียน แต่ตอนนี้ทำเพราะได้ใช้ความรู้ ความสามารถที่เรียนมา ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ใช้ชีวิตมากขึ้น และเห็นผลว่ามีประโยชน์จริงๆ 10 ปีที่แล้วคนทำเรื่องนี้มีน้อยอยู่ คนเลยมองว่า เป็นเรื่องแปลก เป็นเรื่องที่ต้องตื่นเต้นกับมัน

ครั้งหนึ่งองค์กรไต้หวันมาดูงานพื้นที่ที่เราทำเป็นต้นแบบ เราพาเขาไปดูหลายที่ด้วยความตื่นเต้น และถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง เขาถามกลับว่า ทำไมคนไทยต้องตื่นเต้น เพราะเขารู้สึกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่สถาปนิกต้องออกแบบอาคารตามหลัก UD อยู่แล้ว เราฟังแล้วคิดตามว่า ใช่ สิ่งเหล่านี้ควรเป็นเรื่องธรรมดา ทำไมการทำเพื่อคนพิการหรือผู้สูงอายุถูกยกย่องให้เป็นวาระพิเศษ ทั้งที่ควรมีอยู่แล้วเป็นมาตรฐาน ถ้าคิดว่าทุกคนเท่าเทียม ก็ไม่ควรเลือกปฏิบัติกับใครด้วยการออกแบบที่เข้าถึงไม่ได้

หากย้อนดู UD นั้นถูกพูดถึงในตะวันตกตั้งแต่ช่วงปี 2524 ห่างกัน 10 ปี ประเทศไทยมีกฏหมายคนพิการปี 2534 ซึ่งระบุชัดเจนว่า ต้องอำนวยความสะดวกคนพิการในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงมีรายละเอียดแนบท้ายเป็นแบบแปลนสิ่งอำนวยความสะดวก จนถึงปัจจุบันเรามีทั้งกฏหมาย และระเบียบที่พูดถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะกว่าสิบฉบับ คำถามก็คือ ทำไมสังคมเรากลับยังไม่สามารถเป็นสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้จริง?

การปรับปรุงสถานที่ แม้จะยากในเชิงปฏิบัติแต่เป็นสิ่งที่ทำได้ สิ่งที่ยากกว่าคือกำแพงทัศนคติ หากมีทัศนคติที่เข้าใจแล้ว เงินหรือคนจะไม่ใช่ปัญหา ทุกสิ่งอำนวยความสะดวกสามารถทำได้ เราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีโครงการรับตรงนักศึกษาพิการอย่างจริงจังจริงๆ เรามีส่วนที่เปิดขึ้นมา คือการวิจัยการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล อันนั้นขึ้นตรงกับคณะ ทำงานในเรื่องของการให้บริการทางวิชาการ ชุมชน ทำศูนย์ UD ที่เป็นต้นแบบร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย เป็นโชว์รูมให้คนสามารถเดินเข้าไปดูได้ว่าสถานที่ที่เป็นอารยะสถาปัตย์สมบูรณ์พร้อม มันเป็นแบบไหน ต้องทำยังไง ให้ได้เห็นว่าต้องปรับยังไง

พอบอกว่ามหาวิทยาลัยเคยสอบตก ไม่กลัวว่าจะเสียหน้าเหรอ

จิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือการเปิดใจ เปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้ เราพูดได้ทุกอย่างถ้ามีเหตุผลและความรับผิดชอบในสิ่งที่พูด เมื่อเรากล้าพูดความจริงอย่างตรงไป ตรงมาแล้ว ก็จะนำไปสู่การทำงานที่จริงใจมากขึ้น  

เราไม่ได้รู้สึกว่า การพูดเรื่องนี้จะทำให้ภาพลักษณ์เสียหายหรือแปลก การมีปัญหาเป็นเรื่องปกติ นักศึกษาสามารถสะท้อนปัญหาโดยตรงไปสู่ผู้บริหารได้อยู่แล้ว

อะไรทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในธรรมศาสตร์

บทเรียนจากการทำงานที่ต่างๆ อย่างกรณี ‘รังสิตโมเดล’ ที่เราไปทำพื้นที่ UD มีปัจจัยสำเร็จ 4 อย่าง 1.เจ้าของพื้นที่ 2.ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น 3.ผู้ใช้หรือประชาชนคนทุกกลุ่มในพื้นที่ 4.ผู้สนับสนุน นักวิชาการ นักสาธารณะสุข นักสังคมสงเคราะห์ สถาปนิก ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา

แต่พอเป็นมหาวิทยาลัย ปัจจัยอย่างแรกเลยคือ ความรู้ ฐานข้อมูลต่างๆ จึงจะสามารถทำแผนต่อไป สร้างความต่อเนื่อง ต่อมาคือคน คนจะช่วยสำรวจว่าเป็นอย่างไร  มีทั้้งคนดำเนินการและคนที่อยู่ในธรรมศาสตร์ หากเราสร้างการมีส่วนร่วมให้คนทุกกลุ่มพูดและเข้าใจเรื่องนี้ได้ พวกเขาก็จะช่วยเกาะติด กำกับติดตามอยู่เสมอ โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งคนพิการที่ใช้งานแล้วเห็นปัญหา

คิดว่าทำไมนอกมหาวิทยาลัยถึงยังทำ “ไม่ได้”

อย่างที่บอกว่า ปลายทางเป็นเรื่องของทัศนคติ เป็นกำแพงใหญ่ที่กั้นไว้ ถ้าคนที่มีหน้าที่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างทางเท้าหรือพื้นที่สาธารณะคำนึงว่า มีใครต้องใช้ได้บ้าง ข้อผิดพลาดเหล่านี้จะไม่เกิด ต่อให้คนที่ไม่มีความรู้ทางสถาปนิกเลยหากแม้เห็นปัญหา เขาก็ตระหนัก และพยายามสร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน ยิ่งถ้าคนพิการออกมาใช้งานด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงมากขึ้น

ในภาพใหญ่ควรมีการให้ความรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ในหนังสือเรียนไม่ค่อยมีเรื่องคนพิการและผู้สูงอายุ ต้องเรียนวิชาแบบไหนถึงจะได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นก็เห็นแต่นิทาน ที่มองความพิการเป็นความแปลกหรือความต่าง ในญี่ปุ่นพยายามให้เด็กเล็กๆ ได้ทำความรู้จักคนพิการและผู้สูงอายุ แต่บ้านเราไม่เคยทำให้เด็กรู้จักความแตกต่างหลากหลาย ไม่เคยเป็นสังคมที่นับรวมทุกคนในแบบเรียน มีแต่สอนให้รู้จักเอาสิ่งของไปบริจาค ทำให้เด็กยิ่งกดทับและมองว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่น

มีมุมไหนเป็นมุมที่น่าสนใจไหม

ในหลายจุดเรามองว่า เป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรต้องมีอยู่แล้ว แต่ส่วนที่เป็นความพยายามพิเศษคือเบรลล์บล็อคที่วางยาวตั้งแต่หน้าตึก สวทช. ไปจนถึงหน้าประตูเชียงราก ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร นี่เป็นสิ่งที่เราทำมากกว่ากฏหมายระบุ เพราะ กฏหมายระบุเพียงแค่ให้วางปุ่มกลม ไม่จำเป็นต้องมีเส้นยาว จนคนตาบอดในบ้านเรามองว่า ไม่ต้องมีไปเลยก็ได้เพราะไม่ช่วยนำไปสู่ทางที่ปลอดภัย

ธรรมศาสตร์อยากลองว่า เราจะสามารถทำทางเดินเบรลล์บล็อคที่ปลอดภัยได้ไหม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการวางอย่างเดียว สภาพแวดล้อมรอบข้างต้องสามารถใช้ได้ ไม่ชนกับวีลแชร์ จักรยานหรือคนที่เดินผ่านไปมา นักศึกษาตาบอดธรรมศาสตร์จึงเรียกร้องให้ทำเพิ่ม ส่วนนักศึกษาตาดีพอเห็นเบรลล์บล็อคก็เข้าใจความสำคัญมากขึ้น เมื่อมีจุดไหนขาดตกบกพร่อง หรือไม่เชื่อมโยงกันก็มักทวงถามเสมอ

อยากเห็นธรรมศาสตร์เปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างไร

อยากทำให้ธรรมศาสตร์มีรถภายในรับ-ส่งนักศึกษาที่วีลแชร์สามารถขึ้นได้ ตอนนี้ยังเอาขึ้นไม่ได้ และยังไม่มีเสียงระบุว่า รถถึงไหนทำให้คนตาบอดลงไม่ถูกป้าย เราอยากให้ระบบขนส่งมวลชนในมหาวิทยาลัย สะดวก ปลอดภัยและทุกคนใช้ได้ 

 

ล้อมกรอบ

  • ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักศึกษาพิการ 73 คน ในหลากหลายคณะ เช่น นิติศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รัฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น (อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์กองกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

  • รายงานด้านการศึกษาของคนพิการระบุว่า ไทยมีนักศึกษาพิการจบปริญญาตรีจำนวน 4,295 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.35 จากจำนวนคนพิการทั้งหมด (อ้างอิงข้อมูลจาก รายงานสถานการณ์ด้านคนพิการตุลาคม 2561)