Skip to main content

ปีที่แล้ว พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้ประสานงานมูลนิธิอัลเฟรลประจำประเทศไทย เป็นคนทำงานหลักในเวทีการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการในหน่วยเลือกตั้ง หลังพบว่าคนพิการประเภทต่างๆ มีอุปสรรคในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายขั้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในกระบวนการสำคัญอย่างการเข้าถึงคูหาและข้อมูลในการเลือกตั้ง

20 ปีก่อน พงษ์ศักดิ์ขาหักและไม่สามารถเดินได้นานกว่า 2 ปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขารู้สึกว่า ความพิการนั้นใกล้ตัว และอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เขาจึงเริ่มศึกษาและอยากทำความเข้าใจกระบวนการที่ทำให้คนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างแท้จริง

ชวนคุยเตรียมพร้อมก่อนเลือกตั้ง คนพิการเข้าถึงคูหาได้หรือไม่ แล้วทำอย่างไรล่ะคนพิการหรือคนที่เข้าไม่ถึงสิทธิกลุ่มอื่นๆ จะสามารถใช้สิทธิในการเป็นพลเมืองของตัวเองได้อย่างเต็มที่

 

อุปสรรคที่ทำให้คนพิการ เข้าไม่ถึง การเลือกตั้ง

พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน: หลายเรื่องมาก ทั้งเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก การเข้าไม่ถึงข้อมูลการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องพรรคการเมือง กฎหมาย กฎระเบียบหรือวิธีการเลือกตั้ง หรือกระทั่งกฎระเบียบของ กกต.และอีกส่วนที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องความเข้าใจของสังคมที่มักผลิตซ้ำในเรื่องความทุกข์ของคนพิการ ความแตกต่างทั้งทางด้านร่างกายหรือจิตใจทำให้คนกลุ่มนี้ถูกละเลย หน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งเองก็ไม่ให้ความสำคัญมากพอ ไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งนั้น Inclusive ได้จริง

ทำไมคนพิการจะต้องได้รับสิทธิทางการเมือง

เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากเมื่อพูดถึงความเท่าเทียม เมื่อก่อนความพิการถูกนิยามให้เป็นเรื่องที่ต้องปกปิด อับอาย แต่ปัจจุบันคนพิการออกสู่สังคมมากขึ้น และต่อสู้เรียกร้องสิทธิอย่างต่อเนื่อง การเลือกตั้งและการเข้าถึงสิทธิทางการเมืองอื่นๆ จึงเปรียบเสมือนเครื่องยืนยันความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิทุกอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นตัวชี้วัดของเรื่องสิทธิมนุษยชนตามที่รัฐไทยได้เซ็นต์อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

การเลือกตั้งสำคัญอย่างไร

การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเมื่ออยู่ในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ต้องมาต่อสู้หรือฆ่ากันเพื่อเข้าถึงอำนาจเพราะการเมืองเป็นเรื่องอำนาจ ผลประโยชน์และการต่อรอง การเลือกตั้งทำให้เกิดความเท่าเทียม ทำลายชนชั้น ทำลายความแตกต่างเพราะไม่ว่าคุณจะพิการหรือไม่พิการ มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือมีการศึกษาสูงแค่ไหนก็มี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน การเลือกตั้งจึงทำลายกำแพงความแตกต่าง

ผมสนใจเรื่องคนพิการเพราะเมื่อ 20 กว่าปีก่อนเคยขาหัก 3 ท่อนจนเส้นเอ็นขาด กายภาพบำบัดอยู่ 2 ปีกว่าจะเดินได้เลยเข้าใจภาวะความยากลำบาก คนมักไม่เข้าใจว่า ทุกคนสามารถเป็นคนพิการเมื่อไหร่ก็ได้ คำว่าพิการไม่จำเป็นต้องรุนแรงจนนอนติดบ้าน เพียงแค่คุณไม่สามารถทำอะไรซักอย่างหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคม ก็อาจถือได้ว่าคุณมีความพิการแล้ว

ที่ผ่านมามีการผลักดันเรื่องการเลือกตั้งของคนพิการอย่างไรบ้าง

เคยมีการจัดกลุ่มโฟกัส และเสวนาหลายครั้งในเรื่องคนชรา คนท้องและคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงหน่วยเลือกตั้งได้ รวมถึงคนที่ไม่มีสิทธิ เช่น พระสงฆ์ แม่ชีและผู้ต้องขัง เพื่อชวนหลายฝ่ายมาคุยกันถึงปัญหา และหาทางออกตามบริบทของสังคมไทย นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เรียนรู้การจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งประเทศอินโดนีเซีย ที่เราไปสังเกตการณ์ หลังการปฏิรูปการเลือกตั้งจนก้าวหน้าที่สุดในเอเชีย เซ็คลิสต์ของ กกต.อินโดฯ มีรายละเอียดเยอะมากเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงหน่วยเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเรื่องทางเข้า ลานจอดรถ ทางเข้า โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ

ในไทย เราเคยนำเสนอและปรึกษาหารือกับ กกต. เขาเองก็มองว่าเรื่องนี้สำคัญจึงพยายามกลุ่มพูดคุยและสื่อสารผ่านสื่อมวลชน รวมถึงจัดทำเช็คลิสต์หรือแบบประเมินสำหรับผู้จัดการเลือกตั้ง แต่เสียดายที่เมื่อทำงานได้สักพักกลับมีการเซ็ทซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง และปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง จนเรื่องนี้เงียบไป

คนพิการแต่ละประเภทเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงต่างกันอย่างไร

คนพิการแต่ละประเภทเจออุปสรรคและมีความต้องการแตกต่างกัน คนพิการทางการมองเห็นอยากที่จะได้ข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ อ่านได้ด้วยอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแอปพลิเคชันอ่านหน้าจอ บางเว็บไซต์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ราชการมักใส่เอกสารเป็นไฟล์ภาพ ทำให้คนพิการอ่านไม่ได้

คนหูหนวกหรือพิการทางการได้ยินอยากให้ทุกสื่อมีช่องภาษามือที่ใหญ่ มองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงอย่างน้อยที่สุดช่วงก่อนเลือกตั้งและวันเลือกตั้งควรมีเอกสารอธิบายข้อมูลหรือขั้นตอนที่หน้าหน่วย

คนพิการทางการเคลื่อนไหวเน้นการเข้าถึงหน่วยเลือกตั้ง ตั้งแต่เรื่องตำแหน่งที่ตั้งหน่วยที่ต้องเขาถึงง่าย ไม่มีอุปสรรค โต๊ะ เก้าอี้ และพื้นที่ในบริเวณหน่วยที่ต้องถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐาน รวมถึงการให้ความสำคัญกับผู้ช่วย หากคนพิการไม่สามารถจับปากกากากบาทได้เอง

คนพิการทางจิต เป็นกลุ่มที่พบว่า มักถูกกีดกันออกจากการเลือกตั้ง เพราะเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยอาจเกิดความเข้าใจผิดและตัดสินว่า คนนั้นมีความ “วิกลจริตจิตฟั่นเฟือน” จนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ควรจะมีที่นั่งพักเพราะในภาวะที่ต้องรอนาน คนเยอะอาจทำให้อาการกำเริบตื่นตระหนกได้

ในกลุ่มคนพิการทางสติปัญญาและออทิสติก การทำการเลือกตังจำลองนั้นสำคัญมาก กกต.สามารถส่งหน่วยงานไปร่วมจำลองการเลือกตั้งในที่ทำงาน หรือศูนย์คนพิการซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ก็จะทำให้คนพิการมั่นใจในการไปลงคะแนนมากขึ้น

การมี ผู้ช่วยลงคะแนนสามารถทำได้ไหมและขัดต่อกฎระเบียบ กกต.หรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันเยอะ ผมทำงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งมา 18 ปี จนรู้ว่าในหลายประเทศทำเรื่องนี้เป็นกฎหมาย ระหว่างข้อถกเถียงว่า การลงคะแนนต้องเป็นความลับและสิทธิในการเลือกตั้ง

เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นคนพิการไม่สามารถเคลื่อนไหวตั้งแต่คอลงไปและใช้ชีวิตบนวีลแชร์ แม้เขามีผู้ช่วยตลอด แต่ก็พูดและตัดสินใจทุกเรื่องได้ ครั้งก่อนๆ เมื่อมีเลือกตั้ง ผูช่วยของเขาสามารถเข้าไปกากบาทให้ได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง ประธานหน่วยกลับแจ้งว่าไม่สามารถให้ผู้ช่วยเข้าไปในหน่วยได้เพราะการลงคะแนนต้องเป็นความลับ และบอกว่าหากต้องการลงคะแนนให้ใช้ปากอมปากกา ปากกาที่คนกว่า 6-7 ร้อยคนเคยถือ เพื่อนผมจำยอมเพราะต้องการรักษาสิทธิของตัวเองในฐานะพลเมือง แต่สุดท้ายบัตรนั้นก็กลายเป็นบัตรเสียเพราะเขาไม่สามารถกาลงช่องได้ เพื่อนผมรู้สึกเศร้าเสียใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมจึงร่วมผลักดันจนมีระเบียบที่ระบุว่า คนพิการสามารถให้ผู้ช่วยหรือเจ้าหน้าที่หน่วยกากบาทลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง เพราะการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญกว่าการลงคะแนนต้องเป็นความลับ

บางประเทศในยุโรปมีการลงคะแนนแทนได้ หากผมป่วย อยู่ต่างประเทศ หรือไม่สามารถเลือกตั้งในพื้นที่ที่อยู่ ก็ทำจดหมาย อธิบายให้คนอื่นในครอบครัวลงคะแนนแทน

อินโดนีเซียจัดการเลือกตั้งแบบไหนสำหรับคนกลุ่มเฉพาะ เช่น คนพิการ คนแก่ ผู้ต้องขัง ฯลฯ

ในประเทศอินโดนีเซียมีหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ไปตามโรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่หน่วยจะนำอุปกรณ์เลือกตั้งไปหาผู้ลงคะแนนที่ลงทะเบียนไว้ พอถึงเตียงก็จะเอาผ้าคลุมและลงคะแนน เช่นเดียวกับในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเนปาล พม่า หรือศรีลังกาก็ล้วนมีหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ แต่สำหรับบ้านเรายังติดเรื่องกฎหมายที่ว่า เลือกตั้งต้องทำในคูหาเลือกตั้งเท่านั้น

ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าใจความจำเป็น และคำนึงถึงสิทธิของคนพิการ

ไม่มีทางลัด ต้องทำงานทางความคิดกับสังคม ความรุนแรงเชิงโครงสร้างของสังคมเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่หยั่งราก แม้แต่ในโรงเรียนผมก็ไม่แน่ใจว่า สอนให้เด็กเข้าใจเรื่องคนพิการอย่างไร ในต่างประเทศมีกระบวนการสร้างความเข้าใจตั้งแต่ชั้นประถมซึ่งง่ายกว่าการทำงานสร้างความเข้าใจกับคนที่โตแล้ว ดังนั้นจึงอาจต้องมีการอบรม กกต.จะต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยให้เข้าใจเรื่องการจัดการเลือกตั้งและการช่วยเหลือคนพิการอย่างถูกต้อง รวมถึงทัศนคติและความเข้าใจด้วย

เนื้อแท้ของการเข้าถึง คือการที่ทุกหน่วยเลือกตั้งเข้าถึงได้แบบ Inclusive ไม่ใช่การจัดแยก หรือคนละที่ คนละเวลา รวมไปถึงควรให้คนพิการมีส่วนร่วมตั้งแต่ในขั้นการออกแบบกฎระเบียบ เพื่อให้สิ่งที่ออกมานั้นใช้ได้จริงและอำนวยความสะดวกได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังต้องเปิดโอกาสให้คนพิการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่นเป็นผู้สมัคร ส.ส.หรือ ส.ว. เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย หรือเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ด้วย