Skip to main content

ภายใต้เอี๊ยมสีส้ม หมวกโจรสลัดและบุคลิกขี้เล่นทีเล่นทีจริงของสมบัติ บุญงามอนงค์หัวหน้าพรรคเกียน ความคิดถึง เอาใจใส่และมุ่งมั่นกลับเป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้ตลอดการสัมภาษณ์ และถูกบอกเล่าผ่านนโยบายที่เขาจะผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ ทางเดินเท้า หรือแม้แต่สิทธิที่จะตาย

ชวนคุยกับสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน ถึงความเป็นมาของพรรค นโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ และฝันที่อยากจะขายให้กับทุกคนในสังคม

คนพิการเป็นใครสำหรับพรรคเกียน

สมบัติ: คนพิการคือพลเมือง ผมเชื่อว่า คนมีความเท่าเทียมกันทุกกลุ่มและควรจะมีพื้นที่ มีสิทธิ มีเสียงและได้รับสวัสดิการเหมือนกัน

ต้องยอมรับว่า ในสังคมเรานโยบายที่เกี่ยวกับคนชายขอบ หรือแม้แต่คนพิการยังไม่ดีพอ เช่น การบังคับใช้เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างลิฟต์รถไฟฟ้าที่ถึงแม้จะมีการเคลื่อนไหวหรือคำสั่งศาลแต่สุดท้ายในทางปฏิบัติก็ไม่มี, ที่จอดรถคนพิการที่มักมีคนไม่พิการไปจอดหรือทางเดินฟุตปาธที่มีสัญลักษณ์เบรลล์มั่วๆ เดินไปก็ชนนู่น ชนนี่ ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากคนพิการเองไม่มีเสียงดังมากพอที่จะผลักให้เกิดการจัดการศึกษา ข้อต่อรอง จนเกิดรูปธรรมในการเคารพต่อสิทธิ เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำให้คนเรื่องของคนชายขอบหรือคนพิการเข้าไปเกี่ยวในความรู้สึกของคนไม่พิการได้การอภิปรายจึงค่อยเกิดขึ้นและจะเกิดพลังอำนาจทางการเมืองในการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้

 

สิทธิเป็นจริงด้วย “รัฐสวัสดิการ”

หลายพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ ส่วนตัวผมคิดว่าจะเป็นจริงได้ด้วยปัจจัยคือหนึ่ง ภาครัฐจะต้องมีนโยบายหรือตระหนักเรื่องการเคารพสิทธิสวัสดิการของประชาชน ดูแลคนแต่ละคนอย่างเท่าเทียมตามความแตกต่างหลากหลาย สอง ทำให้มีงบประมาณในการใช้จัดสวัสดิการที่เพียงพอ แม้หลายคนอาจคิดว่า เรื่องนี้ดูเหมือนไม่เกี่ยวแต่ผมว่าสำคัญ เพราะต่อให้ตระหนักแต่หากหาเงินไม่ได้สวัสดิการก็จะไม่เกิดขึ้น

 

ทำไมคนทุกคนต้องได้รับสวัสดิการที่ดี เท่าเทียมกัน

คนพิการไม่ได้เลือกที่จะพิการและเขาเป็นคนหนึ่งในสังคม ในเมื่อสังคมใช้ทรัพยากรร่วมในการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างรายได้ ดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว จึงจำเป็นต้องแบ่งเงินก้อนหนึ่งสำหรับดูแลคนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ หรือดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง รวมถึงต้องไม่ลืมว่า ต่อให้วันนี้คุณแข็งแรงแต่วันหนึ่งก็ต้องแก่ ไม่สบายหรือเกิดอุบัติเหตุ ตอนนั้นคุณก็จะเห็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่เข้าถึงทุกคน เหมือนกับตอนเราเป็นเด็ก ต่อให้เราทำอะไรไม่ได้ กินอย่างเดียว ทำไมเราจึงเลี้ยงดูเขา เหตุผลหลักก็คือเขาเป็นสมาชิกในสังคม

นโยบายแรกที่จะผลักดันหากเป็นรัฐบาล

สิทธิของคนที่ป่วยหนัก พิการเรื้อรังและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เป็นเรื่องต้องอภิปราย เขาควรจะมีสิทธิพูดถึงการมีชีวิตต่อ หยุดการมีชีวิตของตัวเองหรือการุณยฆาต เราควรคุยกันได้แล้วเพราะคนเราไม่ได้มีเพียงทางเลือกเดียวคือมีชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต แน่นอนว่า สังคมก็ต้องพยายามทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่พออยู่ได้ มีสวัสดิการที่ดี แต่เมื่อถึงจุดที่เขาอยากยุติชีวิตก็ควรเลือกได้ แม้จะดูล่อแหลมทางศีลธรรมแต่ผมคิดว่าอันนี้มีคุณธรรม

การมีนโยบายนี้ก็อาจจะโดนด่าก่อน (หัวเราะ) แต่ไม่เป็นไร แค่ได้คุยกันและทำให้สังคมได้เติบโต รวมถึงสร้างความเข้าใจก็เป็นสิ่งที่ดีและน่าทำแล้ว ในต่างประเทศก็มีกระบวนการเหล่านี้ ยิ่งในสังคมผู้สูงอายุ การมีทางเลือกนั้นทำให้คนสามารถไตร่ตรอง ดีกว่าปล่อยให้เขาไปกระโดดน้ำ กระโดดตึกหรือนอนเป็นผู้ป่วยเรื้อรังจัดการตัวเองไม่ได้ คนที่ต้องการจะจบชีวิตต้องผ่านกระบวนการโดยมีนักจิตวิทยาเป็นตัวกลาง พิจารณาว่า การตัดสินใจนั้นอยู่บนสติสัมปชัญญะครบถ้วนและเป็นการเลือกของเขาจริงๆ อย่างที่เราเห็น บางคนแสดงความต้องการของตัวเองผ่านการสักที่คอว่า หากตายอย่าปั๊มหัวใจขึ้นมาเพราะไม่ต้องการตื่นขึ้นมาพร้อมสายระโยงระยางหรืออยู่ในร่างที่ทำอะไรเองไม่ได้เลย ผมจึงคิดว่า ถ้าผมอยู่สถานการณ์แบบนั้นก็อยากจะได้รับสิทธิในการตัดสินใจ

 

ฟุตปาธและเทคโนโลยีจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ผมอยากได้ฟุตปาธที่ดีและคิดว่ามันสำคัญมาก ปัญหาฟุตปาธในสังคมไทยคนไม่ได้มีความพิการก็ลำบาก อยู่บนฟุตปาธก็ถูกมอเตอร์ไซค์ชนได้ ที่เดินคับแคบ พื้นกระเบื้องหลุดเดินสะดุด ถ้าต่อสู้เรื่องนี้ผมว่า ทุกคนพร้อมเล่นด้วย ในญี่ปุ่นมีฟุตปาธที่ประเสริฐ จนทำให้พื้นที่ของเขามีอิสรภาพ คนเดินทางได้ นอกจากนี้ผมอยากสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มความพิการที่การสื่อสารเป็นไปอย่างลำบาก เช่น คนหูหนวก

 

แต้มต่อ = ขยายโอกาส

สำหรับคนจนจริงๆ ต้องมีแต้มต่อให้เขา ผมไม่ปฏิเสธที่คนจนจะได้รับการสงเคราะห์ แต่สิ่งระบบยังทำไม่ได้คือการคัดกรองที่ดี ที่ต้องทำให้คนได้มากกว่าเงิน คือสิทธิที่เขาควรได้รับจริง ฉะนั้นเลยอาจบอกได้ว่า การช่วยเหลือเป็นเรื่องที่ดีแต่การจัดการเป็นปัญหาใหญ่

ปัจจุบันคนที่มีอำนาจไม่ได้เป็นคนที่มาจากฐานของกลุ่มด้อยโอกาส เพราะหากชีวิตเขาเคยอยู่ข้างล่างมาก่อน เขาก็จะมองเห็นเรื่องนี้ และจะผลักดันเพื่อแก้ไขความผิดพลาดที่เคยได้รับในอดีต คุณจะสังเกตว่า คนที่มีอำนาจและโอกาสในทางการเมืองมักมีโอกาสทางสังคม แต่นโยบายทางสังคมเป็นนโยบายที่ชายขอบมาก คนที่เติบโตแบบมีโอกาสทางสังคมจึงมักรู้เรื่องการแก้ปัญหาคนชายขอบในแบบที่ตื้นเขินมาก ไม่เห็นกลไกที่ทำให้คนไปอยู่ชายขอบ ไม่เห็นวิธีการที่จะพาคนเหล่านั้นออกจากชายขอบ ฉะนั้นวิธีการคิดที่ง่ายที่สุดจึงเป็นการสงเคราะห์ เหมือนซื้อไอศกรีมให้กิน หมดแท่งแล้วก็ซื้อให้ใหม่ไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี การสงเคราะห์เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับบางคนที่ขาดแคลนมากๆ ก็ต้องมีการหยิบยื่นให้ ผมจึงมองว่า การสงเคราะห์ไม่ใช่ปัญหา แต่การพัฒนาเป็นปัญหา เพราะเราเอาแต่สงเคราะห์โดยไม่ให้โอกาสเขาได้พัฒนา เรื่องผ้าห่มเป็นตัวอย่างที่ดี จะสังเกตได้ว่า พอฤดูหนาวทุกปีจะมีการแจกผ้าห่ม ทั้งๆ ที่ผ้าห่มไม่จำเป็นต้องได้ทุกปี แต่กลไกที่ทำให้คนรู้จักและสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้กลับไม่เคยมี

นโยบายเป็นเรื่องของทุกคน

หลายคนที่ทำนโยบายกลุ่มชายขอบเป็นมือสมัครเล่น ทำชั่วคราวเป็นงานอดิเรกแต่ไม่ได้เป็นนักเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ตัวอย่างความล้มเหลวที่ชัดมากจากการทำนโยบายที่ไม่เข้าใจมากพอ เช่น ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมา แม้จะได้รับโทษครบแล้วหรือได้รับสิทธิลดหย่อนโทษ แต่ก็ยังขาดกระบวนการที่จะทำให้เขาออกมาแล้วอยู่ได้จริงแบบคนอื่นในสังคม เมื่อไม่มีกระบวนการนี้ อดีตนักโทษที่ออกมาจะกลับไปสู่ที่เดิมเนื่องจากไม่มีการเตรียมตัวทั้งที่บ้าน อาชีพ รวมไปถึงสังคมเองก็ไม่เปิดรับ ฉะนั้นเราจึงควรทุ่มเทความคิดให้กับกลไกในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่จะทำให้เขาดูแลรักษาตัวเองได้

Think Tank ที่พรรคเกรียนจะทำ จะเวิร์คก็ต่อเมื่อ หนึ่ง เราเชื่อว่าคำตอบในเรื่องนวัตกรรมการแก้ปัญหาสังคมอยู่ในคนที่เดินบนถนนทั่วไป ดังนั้นถ้ามีพื้นที่ที่ให้คนร่วมกันแก้ไขปัญหาและเสนอความเห็น ก็จะเกิดนวัตกรรมในการแก้ปัญหาได้ สอง ต้องใช้เวลาสะสมและเชื่อมโยงปัญหา เพราะปัญหาหนึ่งอาจเป็นต้นเหตุของอีกปัญหาหนึ่ง และอาจสร้างปัญหาอีกอันหนึ่ง ดังนั้นต้องสามารถมองความเชื่อมโยงของปัญหาและพฤติกรรมของมันได้

 

5 ปีที่ผ่านมา เป็น 5 ปีของความ..

เสียโอกาส เพราะหากอยู่ภายใต้การเมืองแบบประชาธิปไตย การผลักดันหรือแสดงออกเพื่อนำไปสู่การแก้ไขจะเกิดขึ้น พออยู่ในรัฐบาลทหาร การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในเรื่องการเมืองซึ่งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจึงเกิดขึ้นน้อยมาก การเรียกร้องยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็นไปได้ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย ฉะนั้นผมจึงคิดว่า เป็น 5 ปีที่เสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ

 

พรรคเกียนคือ สนามเด็กเล่น

ผมเพิ่งคิดได้ว่าต้องทำพรรค เราควรจะมีสนามเด็กเล่นให้ทดลองก่อนเพราะพวกเราหลายคนเป็นมือสมัครเล่นที่ต้องการพื้นที่สำหรับจินตนาการถึงพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ดี แหลมคม มีประสิทธิภาพ และน่าสนใจ เราจึงดำเนินการทำพรรคในช่วงเวลานี้

พรรคเกียนพยายามเป็นพรรคการเมืองมวลชน แม้ตอนนี้จะยังเป็นไม่ได้เพราะขนาดเล็กไป แต่เราก็เป็นพรรคในระบบเปิด หมายความว่า มีลักษณะคล้ายโอเพ่นซอร์ส ให้คนที่มีไอเดียเข้ามาพัฒนาต่อยอดพรรคเกียนให้มีฟังก์ชันต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้องใช้เวลากว่าจะพัฒนา

การแต่งตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุดนักบินอวกาศหรือชุดโจรสลัดเป็นเพราะต้องการความบันเทิง การเมืองไทยนั้นน่าเบื่อ ผมจึงต้องการสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองและคนที่พบเห็น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่ท่านเสียเวลามาฟังผม รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง อย่างน้อยก็รู้สึกว่าบ้าดี ตลกก็ได้ อย่างน้อยเราก็ได้แลกเปลี่ยนกัน และสำหรับคนพิการที่อยากจะมีส่วนร่วมทางการเมืองและได้ยินเสียงของผมแล้วคิดว่าสามารถไปกับผมได้ สามารถติดต่อมาที่เพจพรรคเกียนเพื่อร่วมพัฒนา Think Tank และนโยบายที่เกี่ยวกับคนพิการร่วมกัน

 

อ่านนโยบายคนพิการจากพรรคอื่นๆ ได้__ที่นี่__