Skip to main content

เช้านี้ (4 มี.ค.62) ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ และเครือข่ายคนพิการหลากหลายประเภท เดินทางรวมตัวหน้าศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อแถลงข่าวและรับฟังคำพิพากษากรณียื่นฟ้องค่าเสียหายบีทีเอสรายคน สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้บีทีเอสและกรุงเทพฯ จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้าเมื่อวันที่  20 ม.ค.58 ที่ระบุให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสิ้น 23 สถานี แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี แต่ไม่แล้วเสร็จ คนพิการจึงรวมตัวกันฟ้องร้องค่าเสียหายแบบกลุ่ม (อ่านที่นี่) และล่ารายชื่อเกือบ 500  รายชื่อฟ้องร้องค่าเสียหายรายคนหรือ “ปฏิบัติการ 4183 ฟ้องประชาชน” (อ่านที่นี่) โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

เวลา 13.00 ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ศาลปกครองกลางถนนแจ้งวัฒนะ ผู้พิพากษาได้อ่านทั้งสิ้น 2 สำนวน คือคดีดำที่ 495/2561 และ 990/2561 โดยมีใจความว่า ศาลต้องวินิจฉัยว่ามีอำนาจรับฟ้องคดีหรือไม่ และตรวจสอบเอกสารของผู้ฟ้องทั้งสิ้น 430 ราย โดยพบว่า มีข้อผิดพลาดในห้าเรื่อง ได้แก่ ไม่มีสำเนาบัตรประชาชนที่แสดงหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ, สำเนาเอกสารหมดอายุหรือไม่บอกอายุ, พิมพ์ลายนิ้วมือโดยไม่มีพยานรับรอง, ไม่ลงลายมือชื่อ และส่งสำเนาชื่อ โดยไม่มีชื่อจริงเซ็นต์กำกับ จึงมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง แล้วส่งอีกครั้งก่อนกำหนด ทั้งนี้ผู้ฟ้องบางส่วนไม่ดำเนินการแก้ไข ศาลจึงพิจารณาไม่รับฟ้องผู้ฟ้องหมายเลขที่ 55, 104, 124, 129, 232, 233, 293, 270, 273, 274, 282, 283, 311, 340, 368, 369, 378, 380, 398, 405, 424 และ427

นอกจากนี้ได้พิจารณาประเด็นการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้อง โดยจะวิเคราะห์จาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ หนึ่ง การงดเว้นการสร้างโดยตั้งใจ ประมาท เลินเล่อ สอง เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย และสาม เป็นการกระทำที่ตั้งใจทำให้เกิดความเสียหาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

จากกรณีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.58 พิพากษาให้บีทีเอสจัดทำลิฟต์ใน 23 สถานี ซึ่งผู้แพ้คดีจะต้องปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนด 1 ปีคือ 21 ม.ค.59 จึงเห็นได้ว่าผู้ถูกฟ้องปฏิบัติตามกฎหมายล้าช้าเกินสมควร ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องเป็นคนบกพร่องทางการเคลื่อนไหวจึงจำเป็นจะต้องได้รับการอำนวยความสะดวกตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ได้กำหนดลักษณะเพื่อให้คนพิการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้นเพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการขนส่งที่ต้องทำให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องทำตามคำพิพากษาศาลปกครอง เพื่อให้ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นคนพิการ รับบริการได้

นอกจากนี้ในประเด็นการก่อสร้างล่าช้า เกิดจากการประมาทเลินเล่อหรือไม่ ศาลเห็นว่า นับตั้งแต่พิจารณาคดี ผู้ถูกฟ้องทำตามคำสั่ง แต่เจออุปสรรคทั้งการร้องเรียน การย้ายสาธารณูปโภคและข้อจำกัดในเวลาทำงาน ทำให้การก่อสร้างและติดตั้งลิฟต์ล่าช้า และมีการยกเลิกการก่อสร้างในบางจุด ได้แก่ นานา, สะพานตากสิน, ศาลาแดง, ชิดลมและอโศกเนื่องจากติดขัดด้านข้อจำกัด อย่างไรก็ดี ผู้ถูกฟ้องได้ดำเนินการแจ้งความคืบหน้าการก่อสร้างเป็นระยะ แม้จะทำตามคำพิพากษาล้าช้า แต่มีเหตุผลคือติดขัด ไม่ได้จงใจไม่ทำเพื่อมุ่งประสงค์ร้าย จึงเห็นได้ว่า การล้าช้าไม่ได้เกิดจากจงใจหรือประมาทจึงไม่ถือว่า ละเมิด และไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทั้ง 2 สำนวน มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง

โดยหลังจากฟังคำพิพากษา เครือข่ายคนพิการระบุจะเดินหน้าต่อโดยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และประกาศยุทธศาสตร์  3 ข้อ ในการขับเคลื่อนต่อ

หนึ่ง ติดตามเร่งรัด การดำเนินงานของกรุงเทพมหานครตามคำพิพากษาของศาล โดยภาคีเครือข่ายยินดีร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและบีทีเอส เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการและพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม

สอง สนับสนุนและยกระดับมาตรฐานบริการสาธารณะไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ยานพาหนะ อาคารสถานที่ และบริการสาธารณะอื่นๆ จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนในเรื่องแนวคิดการออกแบบ การกำหนดเงื่อนไขขอบเขตของงาน (TOR) การก่อสร้าง การส่งมอบงาน และการใช้งานจริงในทุกขั้นตอนเหล่านี้ ภาคีเครือข่ายมีความยินดีเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานสู่ระดับสากล

สาม ใช้มาตรการเชิงสังคมและกลไกระบบยุติธรรม อย่างไรก็ตามด้วยปรากฏมีบริการสาธารณะจำนวนมากทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ ที่ไม่ได้ใช้หลักสากลตามที่กฎหมายกำหนด ภาคีเครือข่ายจะใช้มาตรการดำเนินการเชิงสังคมโดยเสนอข้อเท็จจริง ถึงปัญหาอุปสรรค ให้สังคมได้รับทราบ และร่วมกันให้ข้อเสนอแนะ หรือกดดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ ตลอดจนใช้กลไกในระบบยุติธรรมและการพิทักษ์สิทธิอย่างกว้างขวางในทุกระบ

 

ย้อนดูประวัติศาสตร์กการต่อสู้เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้าได้ที่ https://thisable.me/content/2019/01/499