Skip to main content

“นโยบายคนพิการของประชาธิปัตย์มี 8 ข้อด้วยกัน” หลังจากสุดประโยคนี้ พวกเราก็คุยกันต่อยาวๆ กับวิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ หรือเนย กรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง New Dem ซึ่งเธอเป็นตัวแทนเพื่อร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนโยบายคนพิการของพรรค

อ่านประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานของประชาธิปัตย์และนโยบายใหม่สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึง ทั้งเรื่อง Universal Design การศึกษา อาชีพหรือความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนเจตคติเรื่องคนพิการของคนในสังคมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

ประชาธิปัตย์มองคนพิการเป็นคนอย่างไร

วิพัตรา: ประชาธิปัตย์มองว่า คนพิการเหมือนคนในครอบครัว ถ้าหากคนในครอบครัวของมีความต้องการพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจหรืออารมณ์ เราก็ยินดีที่จะอยู่เคียงข้าง ดูแลส่งเสริมศักยภาพอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่มีวันทอดทิ้ง หรือมองว่าการช่วยเหลือเป็นการสงเคราะห์หรือเป็นภาระของงบประมาณประเทศ การออกนโยบายจึงเต็มไปด้วยความยินดีเพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนในสังคมด้วยความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี เท่าเทียมในโอกาส และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เทียบเท่ากับทุกคนในสังคม

ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายอะไรเรื่องคนพิการมาแล้วบ้าง

ตั้งแต่รัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เราได้พัฒนาระบบจัดเก็บจำนวนคนพิการ ทำฐานข้อมูลคนพิการ และลดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการจาก 200 ต่อ 1 เป็น 100 ต่อ 1 นอกจากนี้ยังเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงท่านเดียวที่ให้ความสำคัญกับการประชุมคนพิการ โดยนั่งเป็นประธานการประชุมเองทุกครั้ง นอกจากนี้เรายังมีแพลนปรับปรุงรอบตึกพรรคเพื่อเป็นแบบอย่างว่าพรรคคิดจริงทำจริงเพื่อคนพิการอย่างแท้จริง

เห็นปัญหาอะไรในเรื่องคนพิการบ้าง

เรื่องของการให้ความสำคัญ ทัศนคติและความรู้ความเข้าใจที่คนในสังคมมีต่อคนพิการ เราจะเห็นบ่อยๆ เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแบบไม่เข้าใจ จนทำให้คนพิการมีอุปสรรคและใช้ชีวิตแบบIndependent living ไม่ได้ คุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ จึงยังไม่ดี นอกจากนั้นยังมีเรื่องของโอกาสและความเท่าเทียมกันในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ยังขาดไป

ในฐานะหนึ่งในประชาธิปัตย์รุ่นใหม่ (New Dem) มีนโยบายอะไรสำหรับคนพิการรุ่นใหม่บ้าง

โรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นเป็นปัญหาสำคัญของการฆ่าตัวตาย และจัดว่าเป็นความบกพร่องในด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งไทยควรให้ความสำคัญและดูแล เราจึงมีนโยบายให้คนไทยตรวจสุขภาพจิตได้ฟรีโดยไม่จำกัดอายุ

New Dem ไม่ได้ทำงานที่แยกจากพรรคแต่ยังมีการทำงานร่วมกันเสมอ ผู้ร่วมก่อตั้ง New Dem ทุกคนจะมีบัดดี้เป็นผู้ใหญ่ในพรรคเรียกว่า รุ่นใหม่กับรุ่นเก๋า เพื่อนำเสนอนโยบายทั้งหมดประมาณ 21 นโยบาย และผลักดัน 21 นโยบายนั้นเข้าไปเป็นนโยบายหลัก เนยมีบัดดี้เป็นคุณอภิรักษ์ โกษะโยธินซึ่งก็ทำงานเรื่องคนพิการตอนที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ การนำนโยบายจึงได้รับทั้งคำแนะนำและรับฟังข้อเสนอจากคนพิการในเรื่องของการทำ Universal Design

มีนโยบายด้านคนพิการอย่างไรบ้าง

หลักคิดของนโยบายพรรคคือ คนพิการอยู่ดี ด้วยยูดี (Universal Design) นอกจากยูดีแล้ว ก็ตามมาด้วยการศึกษาดี งานดี สาธารณะสุขดี สวัสดิการดี คุณภาพชีวิตดี และสังคมที่ดี รวมทั้งหมด 8 ข้อด้วยกัน

ข้อแรกเราจะส่งเสริม การรณรงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ปรับเปลี่ยนเจตคติต่อคนพิการ ให้คนในสังคมเคารพคุณค่าและสิทธิ เสรีภาพของทุกคน

สอง ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาคนพิการ โดยเฉพาะหลักสูตรการเรียนการสอนที่พัฒนาให้เหมาะกับคนพิการแต่ละประเภทและแต่ละระดับความพิการ รวมไปถึงส่งเสริมให้คนพิการประเภทต่างๆได้รับข้อมูล ข่าวสารอย่างถูกช่องทางมากยิ่งขึ้น

สาม ส่งเสริมการจ้างงานให้คนพิการมีรายได้ และสนับสนุนการเข้าถึงกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพให้สามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายขึ้น

สี่ ปรับอัตราเบี้ยยังชีพคนพิการเป็น 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า และปรับปรุงสวัสดิการอื่นให้เหมาะสมกับความจำเป็นของคนพิการ

ห้า สนับสนุนการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ การรักษา บำบัด ฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการตรวจคัดกรองตั้งแต่ทารกในครรภ์เพื่อป้องกันการเกิดความพิการ

หก การศึกษา เด็กพิการหาโรงเรียนยาก อันดับแรกต้องปรับอาคารสถานที่ที่ยังมีปัญหามาก มหาวิทยาลัยหลายที่รับเด็กเข้าเรียนไม่ได้เพราะอาคารไม่เอื้อต่อวีลแชร์และต้องมีศูนย์ DSS (Disability student service) รวมถึงการปรับความรู้ความเข้าใจของครู และเพื่อนในมหาวิทยาลัย

เจ็ด ส่งเสริมให้จัดทำและปรับปรุงสภาพแวดล้อมตามหลักการอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับคนพิการมากขึ้น โดยเริ่มจากอาคารสร้างใหม่ทุกอาคาร สถานที่ราชการ สถานศึกษาและขยายสู่อาคารทุกประเภท รวมถึงขนส่งสาธารณะทุกระบบให้รองรับคนพิการและควบคุมความถูกต้องของการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก

แปด สร้างระบบรวมฐานข้อมูล เพื่อยกระดับให้คนพิการทั่วประเทศเข้าถึงข้อมูลการประกอบอาชีพ หรือการศึกษา

หากได้เป็นรัฐบาลจะทำอะไรก่อน

ทำทุกอย่างควบคู่กันไป แต่ที่สำคัญที่สุดคือการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนเจตคติต่อคนพิการให้มีการเคารพ เห็นความสำคัญและมีความรู้ความเข้าใจ การสร้างสิ่งนี้จะต้องเกิดควบคู่ไปกับการสร้างระบบโครงสร้างต่างๆ ด้วย คนในสังคมก็จะได้เห็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนทุกคน

นโยบายหรือกฎหมายปัจจุบันที่ต้องแก้ไข

จริงๆ กฎหมายไทยเขียนไว้ค่อนข้างสวยงาม แนวทางกว้างและครอบคลุม แต่การปฏิบัติยังไม่ได้ เช่น แม้จ้างงานคนพิการจริง แต่ก็เพียงเอาชื่อไปใส่ ตัวไม่ต้องทำงาน หรือแม้จะมีกฎชัดเจนว่า โรงเรียนต้องห้ามเลือกปฏิบัติ แต่ผู้อำนวยการหลายโรงเรียนก็มีวิธีการสื่อสารอย่างอ่อนโยนเพื่อให้เห็นว่าโรงเรียนไม่พร้อมรับ  รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่ยังดำเนินการช้าอยู่ ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อยๆและควรเร่งรัดการดำเนินการให้เร็วขึ้น  

จะใช้งบประมาณส่วนไหนในการทำนโยบายคนพิการ

สำคัญที่สุดเลยคือการปฏิรูประบบภาษีให้เป็นธรรม ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเยอะมาก เพราะปัจจุบันมีความไม่เป็นธรรมของการเก็บภาษีอยู่เยอะมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องระบบภาษีที่ได้มากขึ้นจากผู้สูงอายุและการจัดการร่วมทุนกันระหว่างเอกชน รวมถึงนโยบายอื่นของพรรคที่จะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการกู้เงินและจัดสรรกองทุนของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอย่างIndependent Living และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

 

อ่านนโยบายคนพิการจากพรรคอื่นๆ ได้__ที่นี่__