Skip to main content

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการจัดการธุรกิจด้านการบิน วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดงานสัมมนาเรื่อง คนพิการกับการเดินทางโดยสารเครื่องบิน โดยมีภัทรพันธ์ กฤษณา เลขานุการสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, กิตติพงษ์ พวงเงิน เจ้าหน้าที่บริหาร 7 ส่วนบริการอาคารผู้โดยสารฝ่ายการท่าอากาศยาน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและนิจพัฒน์ ปิยะพันธ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ส่วนปฏิบัติการภาคพื้นของ Bangkok Airways ร่วมเป็นวิทยากร

กิตติพงษ์กล่าวบนเวทีถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วว่า ท่าอากาศยานจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการในส่วนของอาคารตามกฎกระทรวงข้อ 16 ประกอบไปด้วย การติดตั้งป้ายอักษรไว้แจ้งข้อความสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ลิฟต์ที่อยู่ในระดับที่คนนั่งวีลแชร์กดถึงพร้อมอักษรเบรลล์สำหรับคนพิการทางสายตาและปุ่มขอความช่วยเหลือ ประตูทางเข้าอัตโนมัติ ทางลาดสำหรับพื้นต่างระดับ ที่จอดรถรับส่งคนพิการ เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ระดับต่ำ ที่นั่งสำรองสำหรับคนพิการและคนท้องก่อนขึ้นเครื่อง และพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางสำหรับคนพิการที่นั่งวีลแชร์

ทางด้าน Bangkok Airways นิจพัฒน์ได้กล่าวถึงสิ่งอำนวยความสะดวกหรือ Special Services Requirements (SSR) สำหรับคนพิการ โดยระบุว่าทางสายการบินแบ่งการอำนวยความสะดวกเป็น 7 ชนิดได้แก่

          1. BLIND ผู้โดยสารที่มีปัญหาทางการมองเห็น ต้องแจ้งทางสายการบินล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เพื่อดูว่าลูกเรือบนเครื่องบินสามารถรับได้กี่ที่นั่งในการช่วยผู้โดยสารเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้บนเครื่องจะมีประกาศเป็นอักษรเบรลล์เตรียมไว้ให้ผู้โดยสารอ่านด้วย

          2. DEAF ผู้โดยสารที่มีปัญหาทางการได้ยิน ต้องแจ้งสายการบินล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมการดูแลตั้งแต่ขึ้นเครื่องจนลงปลายทาง

          3. WHEELCHAIR วีลแชร์ของสายการบินจะมีทั้งหมด 3 ชนิด

              WCHR สำหรับผู้โดยสารที่สามารถเดินขึ้นเครื่องได้เอง

              WCHS สำหรับผู้โดยสารที่ไม่สามารถเดินขึ้นบันไดได้เลย

              WCHC สำหรับผู้โดยสารที่ต้องนั่งอยู่บนวีลแชร์ตลอดเวลา

          4. SERVICE DOG สุนัขนำทางสามารถนำขึ้นเครื่องบินได้โดยไม่เสียเงิน ลำละหนึ่งตัวเท่านั้น โดยต้องแจ้งสายการบินล่วงหน้า 24 ชั่วโมง

          5. HIGH LIFT CAR SERVICE มีในสนามบินระดับนานาชาติ คนที่ใช้จะต้องผ่านการเรียนเรื่องการเข็นวีลแชร์ การทำ CPR เบื้องต้นจากสภากาชาดฯ

          6. POWER WHEELCHAIR ต้องแจ้งลักษณะการใช้งาน น้ำหนัก ชนิดของแบตเตอร์รี่แก่สายการบิน เพื่อตรวจสอบว่าสามารถนำไปได้หรือไม่และต้องมาก่อนเครื่องออกกี่นาที

          7. SERVICE ON FLIGHT เตียงนอนสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถนั่งได้หรือผู้ป่วยฉุกเฉิน (Stretcher) ซึ่งต้องจองล่วงหน้า โดยเตียงนอนจะกินพื้นที่เก้าอี้ 3 แถว ผู้โดยสารต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง

ทางด้านภัทรพันธ์ได้เสริมว่า อาคารสถานที่ของสนามบินในประเทศมีอุปกรณ์ครบตามกฎหมาย แต่ก็มีบางจุดที่ต้องปรับ เช่น ในห้องน้ำควรมีเตียงไว้เปลี่ยนผ้าอ้อม, ฝารองนั่งชักโครกควรมีร่องตรงกลาง, มีห้องอาบน้ำหากคนพิการหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น อุจจาระหรือปัสสาวะเลอะ และควรมีสายสวนปัสสาวะสำรองไว้ด้วย นอกจากนี้อยากให้สายการบินได้คำนึงถึงคนพิการบางคนที่ต้องนั่งวีลแชร์ของตนเองเท่านั้น เพราะหากนั่งวีลแชร์คันอื่นอาจทำให้เกิดแผลกดทับได้ หรือปัญหาอีกอย่างที่พบคือตัว High Lift นั้นมีอยู่ที่สนามบินนานาชาติเท่านั้น ในสนามบินเล็กหรือภายในประเทศจึงไม่มีให้บริการ

ทั้งนี้ กิตติพงษ์ ตัวแทนจากท่าอากาศยานระบุว่า จะส่งพนักงานไปอบรมที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่องการช่วยเหลือคนพิการ รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ด้านวิศวกรรมไปเรียนรู้เรื่องการออกแบบกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และติดตั้งเครื่อง TTRS หรือตู้ล่ามภาษามือสำหรับคนพิการทางการได้ยิน

ในขณะที่ Bangkok Airways จะเริ่มหาวิธีดูแลผู้โดยสารที่มีภาวะออทิสติก และเพิ่มการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัว (GDPR) ของคนพิการ