Skip to main content

คนตาบอดเข้าถึงการเมืองได้แค่ไหน หลายครั้งเรามักได้ยินอุปสรรคของการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของคนตาบอดทั้งเรื่องทั่วไปจนถึงเรื่องการเมือง แต่แท้จริงแล้วคนตาบอดสนใจและอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองแค่ไหน

ชวนคุยกับ เทวพงษ์ พวงเพชร อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ จากเด็กตาบอดผู้สนใจการเมือง สู่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ผู้ถ่ายทอดการเมืองให้นักศึกษาฟัง คนตาบอดอินกับเรื่องการเมืองแค่ไหน, เหตุใดกฎหมายเรื่องคนพิการต่างๆ จึงมักเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร, ทำอย่างไรคนตาบอดจึงจะเข้าถึงสิทธิทางการเมือง และสามารถมีส่วนร่วมกับการเมืองได้อย่างเต็มที่

โรงเรียนสอนคนตาบอด สู่รั้วมหาวิทยาลัยที่มีแต่คนตาดี

ตอนเด็กๆ เรียนในโรงเรียนเฉพาะความพิการ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ตอนนั้นอุปสรรคในการเรียนมีไม่มากเพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของนักเรียนตาบอดอยู่แล้ว แต่พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ต้องออกไปเรียนรวมกับคนตาดีก็เริ่มมีอุปสรรคเข้ามาบ้าง  ถึงแม้ที่โรงเรียนจะมีอุปกรณ์ ติวเตอร์ ครูเสริมวิชาการที่ช่วยทำเอกสารอักษรเบรลล์หรือบันทึกเสียง แต่การบ้านยังต้องให้เพื่อนช่วยหรือครูอะลุ่มอล่วยในงานบางอย่าง ช่วงหลังเทคโนโลยีเจริญขึ้น เริ่มมีคอมพิวเตอร์ที่ใส่โปรแกรมอ่านหน้าจอ เราเลยใช้งานง่ายขึ้น

การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยนั้นยากขึ้นเพราะไม่มีหนังสือหลักที่ใช้เรียนเหมือนมัธยม เราต้องพยายามเข้าฟังอาจารย์ เน้นเลคเชอร์และหาอาสาสมัครช่วยอ่าน ยิ่งในระดับปริญญาโทที่ต้องค้นคว้า ปัญหาก็เยอะพอสมควรเพราะหนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่เราเข้าไม่ถึง แม้จะมีแอปพลิเคชันช่วยอ่าน แต่ก็ใช้ไม่ค่อยดี จะใช้อ่านเอกสารสั้นๆได้ แต่ถ้าอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ก็คงไม่ไหวแม้จะมีการอ่านหนังสือเสียงเป็นจำนวนมาก แต่หนังสือที่ถูกอ่านมักเป็นหนังสือบันเทิงมากกว่าวิชาการ

หากเด็กตาบอดอยากเรียนรัฐศาสตร์เพื่อสอบเป็นข้าราชการ ผมไม่แน่ว่าเขาจะบรรลุเป้าในการเป็นข้าราชการหรือไม่เพราะระบบการสอบยังไม่เป็นมิตรต่อคนตาบอดมากนัก รวมถึงทัศนคติที่มองคนตาบอดด้วย กฎหมายรับคนพิการเข้าทำงานในมุมหนึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนพิการได้ทำงานภาครัฐเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางหนึ่งก็บังคับคนพิการให้เข้าช่องทางคนพิการเพียงทางเดียว ไม่สามารถไปแข่งขันกับคนอื่นได้  

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้จำกัด

ตอนเด็กๆ ผมชอบติดตามข่าวสารบ้านเมือง พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยลองสอบคณะรัฐศาสตร์เพราะเป็นคณะที่ว่าด้วยการเมืองการปกครอง การบริหารราชการ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คนตาบอดสนเรื่องการเมืองเยอะ ยิ่งในช่วง 10-20 ปีให้หลัง ที่มีความเห็นแตกต่าง คนตาบอดก็อยู่ในทั้ง 2 ข้าง มีอารมณ์ร่วมกับคนในสังคมและเห็นความสำคัญของสิ่งที่ตนเองสนับสนุนอยู่ มองว่าการเมืองส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของตนเอง 

เราเข้าถึงข่าวสารการเมืองได้มากขึ้นด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมอ่านหน้าจอบนสมาร์ทโฟน ที่อ่านได้ทั้งโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ข่าว รวมถึงรายการการเมืองที่เผยแพร่ทางยูทิวป์ ซึ่งบางรายการเป็นรายการที่เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์

ตอนที่ผมจบปริญญาตรี มีทางเลือก 2 ทางคือหางานกับเรียนต่อ แต่งานไม่ได้หาง่ายสำหรับคนตาบอด ในปี 47กฎหมายการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการมีกฎจ้างงานคือ 200:1 เราก็มั่นใจมากเพราะเรียนดีระดับเกียรตินิยม จึงไปสมัครงาน แต่พอเขารู้ว่ามองไม่เห็น น้ำเสียงที่คุยก็เปลี่ยนไป ผมจึงหันเหเรียนต่อสอบปริญญาโทที่จุฬาฯ เรียนจบก็พยายามไปสอบราชการ แต่ก็ติดสำรองและไม่เคยถูกเรียกเข้าทำงาน จนมาได้โอกาสทำงานที่ราชภัฏวไลยอลงกรณ์

เอกสารด้านรัฐศาสตร์เข้าถึงได้ค่อนข้างน้อย เวลาสอนนักเรียนผมจึงต้องพยายามหาจากอินเตอร์เน็ตและติดตามข่าวสารการเมือง สอนโดยยกตัวอย่างในอดีตกับปัจจุบัน ระหว่างแนวคิดทฤษฎีในเอกสารกับการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบัน แค่พูดถึงระบบรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งเป็นระบบใหม่ เทียบกับ รัฐธรรมนูญปี 40 ที่ใช้เลือกตั้งปี 44 และปี 48 แต่การเลือกตั้งปี 50 ก็ใช้อีกแบบหนึ่ง เลือกตั้งปี 54 ก็ใช้อีกแบบหนึ่ง ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการคิดระบบแบบสัดส่วน เราก็ต้องอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจระบบเลือกตั้ง รวมถึงการติดตามฟังความเห็นจากนักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ นักกฎหมายว่ามีความคิดเห็นอย่างไรด้วย

คนตาบอดเข้าถึงข้อมูลการเลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน

จากข้อมูลมีจำนวนคนตาบอดมากถึง  2 แสนคน ที่จดทะเบียนคนพิการแล้ว แต่ใน 2 แสนคนก็มีความหลากหลาย มีคนตาบอดหลายคนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีคนตาบอดจำนวนมากที่ยังไม่มีทักษะหรือความสามารถด้านนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลหลายด้านที่แม้ว่าคนตาบอดจะเข้าถึงเทคโนโลยีแต่ก็ยังมีอุปสรรค เช่น ข้อมูลนำเสนอตัวผู้สมัคร ขั้นตอนวิธีการเลือกตั้ง และอีกหนึ่งอุปสรรคคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครพรรคเดียวกันที่อยู่ต่างเขต ใช้ตัวเลขไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนการเลือกตั้งในปี 54, 48 หรือ 43 ที่หมายเลขพรรคการเมืองทุกเขต ทุกพื้นที่เป็นหมายเลขเดียวกัน จึงทำให้คนตาบอด ซึ่งมองไม่เห็นป้ายหาเสียงมีข้อจำกัดด้านข้อมูลข่าวสาร

ป้ายหาเสียงที่เกลื่อนกลาดอยู่บนถนนไม่มีประโยชน์สำหรับคนตาบอด จึงทำให้การรับรู้เรื่องนโยบายมีน้อย ส่วนมากมาจากการบอกเล่า บางเว็บไซต์ที่มีข้อมูลก็อาจจะเข้าถึงไม่ได้ ต้องยอมรับว่าการหาเสียงของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้นำเสนอในรูปแบบที่คนตาบอดเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายหาเสียงข้อมูลผู้สมัคร หรือนโยบาย

อยากให้พรรคการเมืองทำสื่อที่หลากหลายมากขึ้น เช่น คลิปวิดีโอ หรือข้อมูลนโยบายที่เผยแพร่ทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการเผยแพร่ทางอิเล็กทรอนิกส์นอกจากคนตาบอดจะได้ประโยชน์แล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นก็สามารถติดตามได้ด้วย รวมถึงมีคิวอาร์โค้ดบนป้ายหาเสียง ที่คนตาบอดสามารถสัมผัสได้ชัดเจนว่าอยู่ตรงไหน และใช้โทรศัพท์สามารแสกน เพื่ออ่านข้อมูล

ป้ายหาเสียงเป็นอุปสรรคต่อเดินทางของคนตาบอดไหม

ก็เป็นบ้าง แต่เราเข้าใจว่าเป็นช่วงฤดูการหาเสียง วิธีการวางป้ายส่วนใหญ่ก็จะวางไว้ตามฟุตปาธซึ่งเดินไม่ค่อยสะดวกและมีสิ่งกีดขว้างอยู่แล้ว ยิ่งมีป้ายหาเสียงของผู้สมัครมาวางไว้  ก็ยิ่งเป็นสิ่งกีดขว้างเพิ่มเติมในมุมของคนตาบอด ผมเองก็เคยเดินชน แต่ไม่ทราบว่าเป็นป้ายใคร

รถหาเสียงช่วยให้คนตาบอลเข้าถึงข้อมูลไหม

ช่วยมาก เวลาที่รถหาเสียงออกวิ่งแล้วประกาศเบอร์ซ้ำๆ ประกาศนโยบายเดิมๆ ทำให้คนตาบอดเข้าถึงเบอร์ผู้สมัครหรือนโยบายได้ แต่ก็ยังเข้าไม่ถึงรายละเอียด ยกเว้นแต่ว่าผู้สมัครคนนั้นมีประวัติการทำงานเชิงประจักษ์ในพื้นที่

ข้อเสนอแนะสำหรับกกต.ในการจัดการเลือกตั้งสำหรับคนตาบอด

มี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือก่อนการเลือกตั้ง, ในวันเลือกตั้ง และในช่วงประกาศผลการเลือกตั้ง

ก่อนการเลือกตั้ง ตั้งแต่มีการส่งเอกสารมาที่บ้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบถึงข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้ กกต.จึงควรต้องคำนึงถึงช่องทางอื่นที่คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้ เช่น การมีคิวอาร์โค้ดให้สแกนและอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าบนเว็บไซต์

นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือองค์กรคนตาบอดเองอาจจะต้องอบรมเรื่องการใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่ผ่านมาการอบรมในลักษณะนี้เกิดกระชั้นชิดกับการเลือกตั้งจนบางครั้งทำไม่ทัน จึงควรอบรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องเครื่องหมายกากบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนตาบอด

ในวันเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ตัวกฎหมายเองก็ให้ความสำคัญในการเลือกตั้งค่อนข้างมาก ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2561 มาตรา 92 พูดถึงการอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ทุพพลภาพและผู้สูงอายุ โดยให้มีการจัดหน่วยเลือกเฉพาะตั้งสําหรับคนพิการ ทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงสามารถให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจําหน่วยเป็นผู้เลือกตั้งแทนสำหรับคนพิการทางกายที่ไม่สะดวกลงคะแนน

กรณีของคนตาบอดที่ไปเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยจะช่วยดูข้อมูลและอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเซ็นชื่อ ปั๊มนิ้วต่างๆ และให้บัตรทาบกระดาษแข็งเจาะรูสอดคล้องกับบัตรเลือกตั้ง คนตาบอดสัมผัสดูจะรู้ว่าช่องที่ 1 คือหมายเลข 1 ปัญหาที่ผมกังวลคือ ไม่รู้ว่าเวลากาลงไปแล้ว หมึกของปากกานั้นติดหรือเปล่า รวมไปถึงคนตาบอดจำนวนมากไม่รู้ว่ากากบาทมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะบางคนมองไม่เห็นตั้งแต่กำเนิด ไม่เคยเรียนในโรงเรียนเรียนร่วม การจัดเจ้าหน้าที่หรือคนที่ช่วยเหลือลงคะแนนจึงอาจเป็นตัวเลือก แต่ก็ยังมีความกังวลว่า การกาเป็นความประสงค์ของคนตาบอดจริงหรือเปล่า

ช่วงหลังการเลือกตั้ง คนตาบอดเองอยากจะเข้าถึงข้อมูลผลคะแนน การดูโทรทัศน์จะบอกแค่อันดับ 1 2 3 แต่บางทีคนที่เราเลือกอาจจะไม่อยู่ในลำดับนั้นและการหาคะแนนจากสื่อออนไลน์ก็อาจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก

คนตาบอดเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน

คนตาบอดเห็นความสำคัญไม่ต่างจากคนอื่น พวกเราเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิ จึงอยากออกไปใช้สิทธิตามเจตนารมณ์ที่อยากเห็นคนที่ตัวเองชอบขึ้นมาบริหารประเทศ ที่ผ่านมาหรือแม้แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า นโยบายเรื่องคนพิการดูไม่เป็นรูปธรรมนัก คนตาบอดก็เริ่มบ่นๆ ส่วนหนึ่งจึงออกไปเลือกตั้งเพราะอุดมการณ์ไม่ใช่เรื่องของนโยบายเพียงอย่างเดียว รวมถึงเรื่องสัดส่วนของรัฐบาลชุดเก่าหรือต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

ทำไมนโยบายคนพิการถึงไม่ถูกชูขึ้นมาเป็นนโยบายหลัก

เมื่อดูจำนวนคนพิการ จะพบว่า 1.จำนวนคนพิการที่ลงทะเบียนมีเกือบ 2 ล้านคน และข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระบุว่า มีคนพิการที่เลือกตั้งได้มากกว่า 1.8 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ครอบครัวหรือคนที่เกี่ยวข้องกับคนพิการก็อาจจะสนใจนโยบายเหล่านี้ 2.เมื่อมองเรื่องเขตเลือกตั้ง คนพิการไม่ได้อยู่เขตเดียวกัน แต่กระจายตามเขตต่างๆ เลยกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในเขตนั้นๆ พรรคการเมืองจึงอาจมองว่าคนพิการไม่ใช่ปัจจัยหรือตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินแพ้ชนะของ สส.แต่ละเขต ฉะนั้นนโยบายที่เกี่ยวกับคนพิการก็ไม่จำเป็นต้องโดดเด่นก็ได้ 3.เรื่องคนพิการเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย พรรคการเมืองหรือผู้ออกนโยบายก็อาจจะยังไม่เข้าใจ รวมถึงยังไม่มีคนพิการเข้าปร่วมกำหนดนโยบายมากนัก

ทำไมพรรคการเมืองถึงต้องมีนโยบายเรื่องคนพิการ

มีสี่เหตุผล 1.จำนวนคนพิการที่มีอยู่ทั่วประเทศเกือบ 2 ล้านคน ทั้งที่เป็นคนพิการที่มีสิทธิเลือกตั้งและไม่มีสิทธิเลือกตั้ง (เด็กอายุไม่ถึง 18 ปี)

2.คนพิการไม่ได้อยู่คนเดียว แต่มีครอบครัวหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นผู้ที่มีสิทธิเหมือนกัน

3.ถ้าพรรคการเมืองใดมีนโยบายด้านคนพิการ ก็อาจดึงคะแนนจากคนพิการได้ ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นระบบจัดสรรปันส่วน ถ้าเรามองว่าคนพิการ 1.8 ล้านคนเทคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่ง พรรคนั้นอาจได้จำนวน ส.ส.กว่า  20 ที่นั่ง

4.สังคมมีความหลากหลาย ถ้ามีนโยบายด้านคนพิการที่ทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น มีโอกาสในการประกอบอาชีพมากขึ้น มีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้น หรือแม้แต่มีเบี้ยคนพิการที่เพิ่มขึ้น ก็อาจจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น ภาระของคนพิการที่มีต่อสังคมหรือผู้ดูแลก็จะลดน้อยลง ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดน้อยลง

คนพิการมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายอื่นๆ แค่ไหน

แน่นอนว่า นโยบายบางอย่างก็เป็นนโยบายที่คนพิการได้รับประโยชน์ร่วมด้วย เช่น การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ หรือนโยบายเรียนฟรี แต่บางนโยบายอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ เช่น หากระบุว่า เรียนไม่เสียค่าใช้จ่าย การเรียนฟรีอย่างเดียวไม่อาจทำให้คนพิการเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะหลายคนต้องใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์การเรียนเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในการศึกษา, หากพูดถึงเรื่องมีงานทำ คนพิการก็อยากจะรู้ว่า  แล้วคนพิการจะเข้าถึงงานได้อย่างไรหรือรถไฟรางคู่ที่พูดถึงกันนั้น คนพิการขึ้นได้หรือไม่

คนพิการจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นได้อย่างไร

ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ไม่เคยมีนักการเมืองที่เป็นคนพิการได้เป็น ส.ส. รวมถึงหากเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ไม่ได้อยู่ในลำดับต้นๆ มีเพียง ส.ว.แต่งตั้งอย่างอาจารย์ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ เป็นวุฒิสภาปี 38 พอคนพิการมาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งก็จะไม่ถูกโยงเข้ากับพรรคการเมือง แล้วทำไมคนพิการไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง ทั้งใน ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ผมคิดว่าคนในพื้นที่ต้องการคนที่จะสามารถมาดูแลทุกข์สุขของเขาได้ จึงมองว่าเอาคนที่ไม่พิการดีกว่า เพราะคนพิการไม่น่าจะดูแลเขาได้

การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาต้องคำนึงถึงกลุ่มคนที่หลากหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสด้วย คนพิการจึงถูกคัดเลือกเข้าไปในสภาฯ แต่สำหรับ ส.ส.แบ่งเขตหรือบัญชีรายชื่อไม่ได้มีโควตาสำหรับกลุ่มนี้ พรรคการเมืองก็เลยมองแค่ว่าจะจัดกลุ่มคนอย่างไรให้เป็นที่รู้จักในเขตพื้นที่ จึงไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ที่ด้อยโอกาส

รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า กฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับคนพิการ ต้องมีคนพิการหรือคนที่อยู่ในองค์กรคนพิการเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ที่น่าแปลกใจคือ กฎหมายที่เกี่ยวกับคนพิการส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการปี 34 และใช้ต่อเนื่อง 10 กว่าปี ทั้งที่มีความคิดจะแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายใหม่แต่ก็ไม่สำเร็จ จนมีการรัฐประหารปี 49 อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ถูกแต่งตั้งให้เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการปี 50 และรวมถึงพระราชบัญญัติการจัดการการศึกษาสำหรับคนพิการปี 51

ขั้นตอนน้อยกว่า ?

ใช่ เพราะหากเป็นช่วงสภาวะปกติจะมี  2 สภาคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ในช่วงรัฐประหารจะมีสภาเดียวคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนว่า กฎหมายก็จะผ่านได้เร็วขึ้น รวมทั้งรัฐบาลมีอำนาจที่เด็ดขาดในการออกกฎหมาย และมีคนค้านไม่มาก ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความชอบธรรมเพราะเมื่ออำนาจรัฐประหารไม่ได้มาจากความชอบธรรม ฉะนั้นแล้วการให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มก็เปรียบเสมือนการเอาใจ เช่น การผลักดันกฎหมายคนพิการ ฯลฯนอกจากนี้กลุ่มคนพิการเองก็รู้สึกว่า สามารถผลักดันกฎหมายได้ค่อนข้างง่ายกว่าด้วย