Skip to main content

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 18 เรื่อง “เข้าใจปัญหาเยาวชนกับภาวะซึมเศร้า” เพื่อเผยแพร่ความรู้ และเสนอแนะทางออกของปัญหาความเครียด และภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญได้แก่ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต อาจารย์สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ, พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์, ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ หัวหน้าภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬา และดร.ลูซี่ ตันอติชาติ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์กล่าวว่า ปัจจัยที่สามารถส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นมีทั้งหมด 4 ปัจจัย คือ
1.ปัจจัยภายนอก มีอยู่ 3 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ 1.การถูกประเมิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกรด เรื่องผลสอบ 2.เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเงินทอง บางทีผู้ใหญ่อย่างเราอาจจะไม่คิดว่าเด็กมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน 3.เรื่องความรัก อาจจะไม่ใช่ความรักหนุ่มสาวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น การถูกยอมรับ หรือการคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือไม่ อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และจากงานวิจัยพบสาเหตุอีก 2 ประการ คือ ความรู้สึกผิด (Guilt)หมายถึง การรู้สึกผิดกับคนสำคัญ ซึ่งสามารถโยงไปถึงเรื่องการถูกประเมิน ทำให้เด็กรู้สึกผิดกับตัวเอง เช่น ฉันเป็นเด็กที่ไม่ได้เกรด A ฉันจะทำให้พ่อแม่ผิดหวังไหมนะ อีกด้านหนึ่งคือ ความสูญเสีย (Lost) นอกจากการรู้ผิดแล้ว การสูญเสียโดยฉับพลัน การสูญเสียโดยที่ไม่ทันตั้งตัวก็สามารถนำไปสู่ภาวะเสียศูนย์ได้มากเช่นกัน

2.ปัจจัยภายใน ได้แก่ ประสบการณ์การรับรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล ไม่ควรนำประสบการณ์ของเราไปตัดสินหรือไปตีกรอบผู้อื่น, รูปแบบการคิด, การโทษผู้อื่น และการมองโลกในแง่ร้าย

3.ปัจจัยโดยรอบ ได้แก่ การแยกตัวออกจากสังคม เรื่องการเรียนถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับวัยรุ่น หากเมื่อไหร่ที่เด็กแยกตัวออกไป ครูหรือพ่อแม่ ควรจะต้องเป็นผู้ที่สังเกตเขา, พฤติกรรมการทำร้ายตนเอง ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการการซัพพอร์ต 2 ด้าน ได้แก่ Cognitive Support และ Emotional Support คือ ต้องการคนที่สามารถช่วยคิด ช่วยซัพพอร์ตทางด้านอารมณ์ของเขาได้

4.วิธีการออกจากปัญหา มี 2 วิธี คือ 1.วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม (Coping Strategies) คือการใช้ความหลากหลาย การพึ่งพิง การจัดการอารมณ์ และหารหยุดเพื่อวางแผนในการจัดการปัญหา 2.การเติบโตหลังผ่านเหตุการณ์ความเศร้า (Post-traumatic Growth) เมื่ออยู่ในความเศร้า เราต้องรู้จักตัวเอง มองตัวเองในทางใหม่ เพื่อให้เข้มแข็งและผ่านพ้นไปได้

ด้านผศ.ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ในชีวิตของนิสิต นักศึกษา ความสำคัญมากกว่า 50% เป็นเรื่องของการเรียน และการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย บทบาทที่สำคัญของอาจารย์ผู้สอนที่จะสามารถช่วยเหลือนิสิต นักศึกษาได้คือ การเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences) ในคลาสเรียนหนึ่งเด็กแต่ละคนที่เข้ามาเรียนอาจจะมีอารมณ์ ความคิด รวมถึงทัศนคติที่แตกต่างกัน อีกเรื่องหนึ่งคืออาจารย์ผู้สอนเองก็มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน (Academic Emotions) เด็กบางคนอาจจะเกิดอารมณ์ทางบวก อยากเรียน ชอบที่จะเรียนรู้ แต่บางคนอาจเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ อารมณ์ทางลบ ซึ่งหากไม่สามารถจัดการอารมณ์ทางลบได้จนทำให้เกิดปัญหาเรื้อรัง จะส่งผลไปสู่ภาวะซึมเศร้าในที่สุด

อีกประเด็นหนึ่งคือ ภูมิคุ้มกันของผู้เรียน คนที่มีประสบการณ์ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จะมีภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างดี แต่ในขณะเดียวกันคนที่เคยทำได้มาตลอดหรือไม่เคยได้เลย จะมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กทั่วไป สิ่งที่เสี่ยงกับเด็กที่เก่ง ทำได้มาโดยตลอดคือ เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น สอบตก คะแนนน้อยลง การรับรู้คุณค่าในตัวเองของเด็กจะลดลง ฉะนั้นสิ่งที่อยากฝากผู้สอนไว้คือ ควรจะให้เด็กเก่งพบเจอกับความล้มเหลวบ้าง แต่ในขณะเดียวกันเด็กที่ไม่เก่งก็ควรให้เขาประสบความสำเร็จบ้าง เพื่อให้รู้จักคุณค่าในตัวเอง เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทักษะการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงอารมณ์ สภาวะทางจิตใจ ภูมิคุ้มกัน คำพูดบางคำพูดเด็กบางคนอาจจะเฉยๆ แต่มันอาจจะสามารถสร้างความเจ็บปวดให้เด็กอีกคนก็ได้ ดังนั้น อาจารย์ผู้สอนจำเป็นจะต้องมีวิธีการที่ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จได้บนพื้นฐานความแตกต่างของแต่ละคน

ส่วนพญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นกลุ่มโรคทางจิตเวชที่มีผลต่อสาเหตุการตายก่อนวัยอันควรเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถส่งผลไปถึงการฆ่าตัวตายและการอยู่แบบไม่มีความสุข ทำให้ภาวะซึมเศร้าติดอันดับ 1 ของโรคจิตเวชมาตลอด และหากเทียบกับโรคอื่นๆก็อยู่อันดับ 1 ใน 10 มาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการพูดถึง เพราะจับต้องไม่ได้ เวลาพูดกับใครว่าเป็นซึมเศร้าเป็นเรื่องที่น่าอาย

สำหรับภาวะซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่น ประเทศเรามีระบบดูแลในสถานศึกษาที่ทำต่อเนื่องมา 4-5 ปี แต่ยังครอบคลุมเพียงแค่ 10% ของวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยมทั้งหมด เนื่องจากถูกมองเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่ากับคะแนนสอบ หรือผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย กลายเป็นว่าเราให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเสียมาก จนไม่แน่ใจว่าความสุขของวัยรุ่นในสถานศึกษาใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล ในระบบมัธยมศึกษามีหน่วยการประเมินเด็กและเยาวชนที่เรียกว่า แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน(SDQ) แบบประเมินนี้จะประเมินภาวะทางอารมณ์ออกมาด้วย แต่ปัญหาของวัยรุ่นก็คือ การแสดงอารมณ์บางครั้งไม่ได้แสดงออกด้วยอาการเศร้า อาจจะออกมาในพฤติกรรมที่ก้าวร้าวบ้าง ซึ่งหากครูหรือผู้ปกครองไม่เข้าใจก็จะคิดว่าเด็กเกเร สำหรับตัวของหมอเองมองว่า คนที่มีความสุขจะไม่สร้างความทุกข์ให้คนอื่น คือถ้าเมื่อไหร่ที่เด็กเริ่มสร้างความทุกให้คนอื่นหรือสร้างความทุกข์ให้ตนเอง แปลว่าข้างในเขาไม่ได้มีความสุขจริง ซึ่งถ้ามองไม่ออกและไม่ส่งต่อสู่ระบบ เด็กจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ส่วนระบบมหาวิทยาลัยยังไม่มีการเข้าไปทำระบบอย่างชัดเจนในส่วนของภาครัฐ เป็นทางมหาวิทยาลัยที่จัดการระบบของตัวเอง ซึ่งกระแสปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญก็เป็นได้ และในสถานศึกษาควรมีระบบเฝ้าระวัง โดยกรมสุขภาพจิตแนะนำให้ใช้หลัก 3 ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง”

สอดส่องมองหา คือ มองหาคนที่มีสัญญาณเตือนของความเศร้า หรือความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เคสฆ่าตัวตายจำนวนมากส่งสัญญาณเตือนก่อน แต่คนรอบข้างไม่รู้ว่านี่คือสัญญาณเตือน ทำให้ช่วยไว้ไม่ทัน

ใส่ใจรับฟัง คือ เวลาที่ฟังคนเครียดมาปรับทุกข์ ธรรมชาติคนเรามักจะชวนหาทางออก พร้อมกับบอกว่าต้องเข้มแข็งและสู้ๆ แต่ความจริงแล้วสิ่งที่คนเศร้าต้องการคือการปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้น คือการรับฟังอย่างเข้าใจก็พอ แต่ถ้าเรารับฟังแล้วยังหาคำตอบไม่ได้ แนะนำให้ ส่งต่อเชื่อมโยง สู่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป

“คนเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอความทุกข์ ทุกคนมีโอกาสพบเจออยู่เสมอ แต่เมื่อเจอความทุกข์แล้วก็อยากจะให้ทำความเข้าใจ ยอมรับ และปรับตัวกับมัน ไม่ใช่แค่กับความทุกข์แต่รวมไปถึงอารมณ์ ยอมรับว่าความเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของเราถึงแม้ว่าจะไม่ชอบมันก็ตาม จริงๆแล้วอารมณ์เศร้าก็มีแง่ดี มันมาบอกเราว่าเรื่องไหนหรืออะไรมีความสำคัญกับเรา อะไรที่เราสูญเสียไปแล้วทำให้เราเศร้า เพราะฉะนั้นอารมณ์จะบวกหรือลบก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา เพียงแต่ยอมรับ และปรับตัวที่จะอยู่กับอารมณ์ของตัวเอง”

“สำหรับคนรอบตัว เราพูดถึงไปแล้วในหลัก 3ส. วินาทีที่สำคัญขณะนั้นคือวินาทีที่เขาลังเลว่าจะอยู่หรือไป ถ้าตอนนั้นคนใกล้ตัวมองหาเขาได้ทัน รับฟังแล้วรีบจัดการส่งต่อก็จะสามารถช่วยชีวิตของคนๆหนึ่งได้ สำหรับสังคม อยากเชิญชวนให้มีสังคมที่มองเห็นคุณค่า และให้โอกาสกัน หมอเคยทำเวิร์คช้อปกับคุณครูทั่วประเทศมาประมาณหมื่นกว่าคน สิ่งที่คุณครูสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด คือ เพิ่งรู้ว่าการชมเด็กเป็นเรื่องที่ดี ที่น่าตกใจอีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มพ่อแม่ของเด็กปฐมวัย เขาเพิ่งรู้ว่าการชมลูกเป็นเรื่องดี แล้วก็ได้พบอีกว่า เด็กและเยาวชนไทยของเราเติบโตมาโดยแห้งแล้งคำชม เขาไม่เคยได้รับการสะท้อนด้านบวกเมื่อเขาทำได้ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเติบโตมาแบบไม่รู้จักคุณค่าของตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไม่อยากมีชีวิตอยู่ ดังนั้นหมอจึงชวนมองว่าจะทำอย่างไรให้สังคมเรามองคนอย่างเห็นคุณค่า ไม่เหยียบซ้ำ และให้โอกาสซึ่งกันและกัน” พญ.ดุษฎีกล่าว