Skip to main content

“อยากไปที่ ….. ต้องนั่งรถเมล์สายอะไร”

คำถามที่มักไร้คำตอบ เมื่อการจดจำและทำความเข้าใจสายรถเมล์ต่างๆ เป็นเรื่องยาก แถมยังไม่สามารถอ่านได้อย่างเข้าใจเมื่ออยู่ที่ป้ายรถเมล์  นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Mayday (เมล์เดย์) กลุ่มคนที่สนใจเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ลุกขึ้นมาทำบางอย่าง เพื่อให้การเดินทางในบ้านเราสะดวก ประหยัดและรวดเร็ว

ชวน กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ กราฟิคดีไซน์ประจำ Mayday เล่าประสบการณ์การออกแบบการขึ้นรถเมล์แบบใหม่ ที่ท้าทายความสามารถ และเปลี่ยนแปลงความไม่ชัดเจนเดิมเพื่อให้คนทุกคนสามารถใช้งานบริการรถสาธารณะ ได้ตามหลัก Inclusive Design

จุดเริ่มต้นของ Mayday

กรวิชญ์: Mayday เกิดจากการรวมกลุ่มของคนที่สนใจอยากพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ย้อนกลับไปช่วงหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกาะรัตนโกสินทร์มีคนเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดินทางค่อนข้างลำบากเนื่องจากไม่รู้ข้อมูลการเดินรถสาธารณะ ปัญหาใหญ่ที่สุดของการใช้รถเมล์คือ การให้ข้อมูล เราจึงขอกทม.ทดลองติดตั้งป้ายรถเมล์แบบชั่วคราว ขึ้นมา 2 ป้ายบริเวณสี่แยกแยกคอกวัว และทดลองใช้งานจริง ปรากฎว่าผลตอบรับดี กทม.จึงให้เราออกแบบอีก 120 ป้าย ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาตลอด

เป็นคนที่นั่งรถเมล์บ่อยๆ หรือเปล่า ถึงสนใจเรื่องรถเมล์

ไม่จำเป็น ทีมงานเองก็ใช้หลายอย่าง บางคนต้องไปทำงานไกลมาก ระบบขนส่งสาธารณะยังเข้าไม่ถึงก็ต้องใช้รถส่วนตัว เวลาเก็บข้อมูลเราจึงมักใช้วิธีฟังจากคนที่ใช้งานจริง เพราะเราอาจไม่ใช่คนใช้งานจริงของระบบนั้น ไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร แล้วจึงนำมาหาวิธีแก้ไข

แนวคิดการทำป้ายรถเมล์แบบใหม่

ในช่วงที่กทม.มีการทำป้ายรถเมล์ใหม่อันใหญ่ๆ ข้อมูลเยอะ เยอะจนคนต้องก้มลงไปอ่านด้านล่าง ป้ายนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์สูงมาก เขาก็ติดต่อมาที่ Mayday ว่าสามารถช่วยแก้ไขอะไรได้ไหม โดยมีเงื่อนไขคือ ใช้ข้อมูลแบบเดิม ทางทีมจึงจัดเรียงตัวอักษรใหม่ให้ทุกคนเข้าใจได้ ผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวกโดยที่ไม่ต้องก้มลงไปอ่าน สุดท้ายเราก็ออกแบบได้ แต่ด้วยข้อมูลที่เยอะมาก จึงทำให้คนไม่เข้าใจฟังก์ชันหลายอย่างที่ใส่เข้าไป จนต้องกลับมาคิดใหม่ว่าข้อมูลระดับไหนถึงจะเพียงพอให้คนเข้าใจได้ง่าย

3 ขั้นตอนที่เราทำคือ ฟังปัญหาจากภาคประชาชน ให้ประชาชนเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา และผลักดันให้เกิดขึ้นจริง เราชวนประชาชนเข้ามาร่วมกันทำเวิร์คช้อป คุยกันถึงเรื่องข้อมูล ประสบการณ์การใช้บริการ และนำมาแลกเปลี่ยนกัน สุดท้ายจึงออกมาเป็นตัวต้นแบบ ป้ายรถเมล์อันแรก

ต่อมาในงาน Bangkok Design Week เราลองทำแบบใหม่ที่มีพื้นที่มากขึ้น ทำให้เราสามารถบอกเส้นทางได้ยาวขึ้น รวมถึงเพิ่มเติม Spider Map ที่แสดงให้เห็นว่าจุดเชื่อมต่ออยู่ตรงไหน และมีดัชนี ซึ่งง่ายที่สุดในการค้นหา เช่น จะไปสยาม ก็หาตัว ส.เสือ ก็จะเห็นเลยว่ารถเมล์สายไหนผ่านบ้าง

นอกจากนี้ ป้ายรถเมล์ที่มีอยู่เดิมมีขนาดค่อนข้างใหญ่และกินพื้นที่ทางเท้า เราจึงเริ่มมีการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยออกแบบ และให้ความสำคัญเรื่องการใช้งานของคนหลากหลาย ผู้สูงอายุจะต้องมองเห็นตัวอักษร จากการคุยกับ Thaiga หรือสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย ตัวอักษรมีหัวนั้นดีที่สุดในการออกแบบป้ายสาธารณะ และใช้สีแยกรถร้อน รถแอร์ หรือจุดเชื่อมต่อ โดยเป็นสีที่มองเห็นได้ชัดเจนเพื่อให้คนพิการทางสายตาใช้ได้ แยกชัดเจน   

ศาลารอรถเมล์เพื่อมวลชน

ศาลารอรถเมล์เคยถูกติดตั้งจริงแต่ได้มีการรื้อถอนไปแล้ว โดยตัวที่ถูกติดตั้งเป็นตัวต้นแบบที่ขอทางกทม.ติดตั้งแต่ช่วง Bangkok Design Week  ปกติการนั่งรอรถเมล์จะต้องหันมองทางขวาเพื่อดูรถที่กำลังมา เราเลยทำเก้าอี้หันขวาดูว่าจะเป็นอย่างไรและติดบาร์ยืนพิง  นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่สีฟ้าสำหรับคนพิการ เพื่อใช้งานวีลแชร์ แต่ก็ยังอาจจะชันไปอยู่บ้าง

สำหรับฟีดแบ็ค ผู้สูงอายุจะไม่ค่อยชินกับที่นั่งแบบนี้เท่าไหร่ เพราะเดิมเป็นเต้นท์ผ้าใบสีเขียว และที่นั่งเหมือนในสวนสาธารณะ ซึ่งมีที่นั่งมากกว่า แต่เขาก็รู้สึกว่าใหม่ดี และมีฟังก์ชันที่หลากหลาย มีทั้งฟีดแบ็คดีและไม่ดี เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง บางคนก็ยังนั่งตรงๆ อยู่ทั้งที่ที่นั่งบังคับให้นั่งแบบเฉียง

ระบบขนส่งสาธารณะมีเรื่องอะไรที่ต้องแก้ไขอีก

มีอีกหลายส่วนมากที่ต้องได้รับการแก้ไข หลักๆ เช่นเรื่องของ ราคา ความสะดวกสบาย และเวลา ถ้า 3 อย่างนี้ยังไม่ดีคนจะตัดสินใจยาก คนที่ใช้รถไฟฟ้าได้ 2 ใน 3 อย่าง คือความสะดวกสบาย และเวลา พวกเขายอมยอมเสียเงิน ดังนั้นถ้า 2 ใน 3 ดี คนก็จะใช้มากขึ้น

สิ่งที่ Mayday ทำ เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่า การใช้ระบบขนส่งสาธารณะนั้นง่ายขึ้น แต่สิ่งที่อยากให้เป็นคือแก้ปัญหา เมื่อคนขึ้นไปแล้ว ระบบการจ่ายเงิน กระเป๋ารถเมล์ ที่นั่ง ฯลฯ รองรับคนทุกกลุ่มหรือยัง ผู้สูงอายุยังต้องปีนบันได หรือคนต้องรอนาน คาดเดาเวลาไม่ได้

รถเมล์แบบใหม่ที่เพิ่งสั่งซื้อเข้ามา 500 กว่าคัน มีการรองรับคนพิการแล้ว ที่มากไปกว่านั้นคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยผลักดันต่อ เช่น ต้องให้รถจอดชิดฟุตปาธ เพื่อกางทางลาด หรือทำทางเท้าให้สูงพอกับรถ

ป้ายรถเมล์ที่มีสัญาณไฟ สัญญาณเสียง เกิดขึ้นที่ไทยได้ไหม

เป็นไปได้ ในที่นี้คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องทำงานมากขึ้น รถเมล์หนึ่งระบบมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานมาก อย่างเช่น กทม.เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องป้าย กรมขนส่งทางบกเป็นคนกำหนดตำแหน่งป้าย และกรมขนส่งทางบกและ ขสมก. กำหนดข้อมูลการเดินรถทั้งหมด ดังนั้นถ้าจะทำระบบนี้ต้องมีการทำ Big Data เป็นระบบข้อมูลสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซิงค์ข้อมูลกันเพื่อบอกว่า รถสายนี้จะมาเมื่อไหร่  บนจอดิจิทัล Mayday เองก็พยายามผลักดันเพื่อให้เปิดข้อมูลนี้เป็นสาธารณะ ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้พัฒนาต่อยอด หรือนำไปทำแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานได้ง่ายที่สุด

Mayday มองไปถึง Inclusive Design คือไม่ใช่แค่ทุกคนสามารถใช้งานได้ แต่ทุกคนสามารถใช้งานได้ดีด้วย คนพิการประเภทไหนก็ต้องสามารถใช้งานได้เอง แบบที่ไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นภาระของใคร ต่อให้เราบอกว่า ปัจจุบันบีทีเอสก็ใช้งานได้ ถ้าสถานีไหนไม่มีลิฟต์ ก็จะมีรปภ.ช่วยกันแบกรถเข็นขึ้นไป ถามว่าคนพิการรู้สึกโอเคไหม ในมุมมองของผมคิดว่าไม่โอเค การออกแบบแบบ Universal Design หรือ Inclusive Design จึงควรนำมาใช้เพื่อให้คนทุกคนใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา

ระบบขนส่งสาธารณะในอุดมคติของ Mayday

ถ้าให้วาดเมืองในฝันก็คงจะต้องมี 3 อย่างอย่างที่บอกไปคือ ราคาดี คุณภาพดี และเวลาดี นอกเหนือจากนั้นคือคนสามารถเดินทางจากจุด A ไปจุด B ได้ โดยที่ไม่ติดอะไร

สมมติเราตื่นมา อาบน้ำ แต่งตัว นั่งทานข้าว เช็คแอปพลิเคชั่นในมือถือดูว่ารถเมล์จะมาในอีกกี่นาที คนคาดการณ์เวลาเตรียมตัว รู้ว่าเราต้องออกไปรอรถเมล์ในอีกกี่นาที ทำให้ไม่มีช่องว่างที่ปล่อยเวลาไปเปล่าประโยชน์ ยิ่งหากรถเมล์มีเลนเฉพาะ การนั่งรถเมล์ไปจนถึงที่ทำงานจะคาดเดาเวลาได้ ทุกอย่างก็ดูน่าใช้งาน ปัจจุบันคนกรุงเทพ แค่ออกจากบ้านก็เริ่มหัวเสียแล้ว บางคนเสียเวลาการเดินทางไป 2 ชั่วโมงต่อวัน แล้วคุณภาพชีวิตที่เหลือจะเป็นอย่างไร ยิ่งถ้าขึ้นรถเมล์ร้อนในตอนเช้า เหงื่อเหนอะหนะมาทำงาน มันไม่คูลเลย การมีขนส่งคุณภาพดี คุมเวลาได้ ไม่ต้องรอ ไม่เสียเวลา ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า คนจะมีเวลาในการทำอย่างอื่น ไปเดินห้าง ไปสวนสาธารณะ ทำอะไรก็ตามที่อยากทำ สิ่งนี่น่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะในอุดมคติที่เราวาดฝันไว้