Skip to main content

กิจกรรมคนพิการ คือเรื่องของคนพิการเท่านั้น กีฬาคนพิการก็เช่นกัน แต่คำถามคือเราจะเชื่อมโยงเข้าหากันได้อย่างไร ระหว่างคนพิการและไม่พิการ เวลาบางคนดูพาราลิมปิกด้วยความรู้สึกสงสาร เอาใจช่วย ซึ่งต่างจากเวลาที่เชียร์กีฬาโอลิมปิกหรือการแข่งขันทั่วๆ ไป เราสงสัยว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำไมคนไม่พิการจึงรู้สึกว่านี่คือเรื่องของคนพิการ ไม่ใช่เรื่องกีฬา

ล่าสุด ดร.เบ็คกี้ คลาร์ก ทูตการกีฬาชาวสหรัฐฯ เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการ “กีฬาเปิดกว้างเพื่อทุกคน” กับอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนผู้พิการหลายโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างองค์กร ซึ่งสถานฑูตสหรัฐก็ใจดีให้เราได้เข้าไปสัมภาษณ์ในครั้งนี้

ดร.เบ็คกี้ เป็นคนพิการทางการได้ยินมาตั้งแต่อายุ 13 ปี เนื่องจากการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรงที่สมอง และเธอสูญเสียการได้ยินถาวรเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเธอที่ชื่นชอบการเล่นกีฬา ว่ายน้ำ วอลเลย์บอล กรีฑาทั้งลู่และลาน และนั่นก็ผลักดันให้เธอกลายเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงหูหนวกทีมชาติสหรัฐอเมริกาและที่ปรึกษาด้านหูหนวกและความพิการในระดับนานาชาติอีกด้วย  

วันนี้เรานัดเจอกันที่โรงเรียนคนหูหนวกทุ่งมหาเมฆ อันเป็นพื้นที่กิจกรรมของเธอในวันนี้

 

มาครั้งนี้ได้เห็นอะไรบ้าง

ดร.เบ็คกี้ : ได้เห็นว่าในโรงเรียนที่มีเด็กพิการทางการได้ยิน ได้นำกีฬามาใช้ในการเรียนการสอน และโรงเรียนก็เปิดกว้างและตื่นตัว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสอนกีฬา หรือการเรียนภาคปกติ ตอนที่ไปขอนแก่นเราก็ได้ไปเจอเด็กที่มีความพิการหลายๆ ประเภท ไม่ว่าทางออทิสติก ดาวน์ซินโดรมหรือทางการเรียนรู้ เราได้เข้าไปคุยกับคุณครู และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนการสอน ว่าอะไรเวิร์คอะไรไม่เวิร์ค

สิ่งหนึ่งที่พวกเราควรทำงานด้านคนพิการรู้สึกคือ เหมือนทำงานอยู่กลุ่มเดียว ไม่ค่อยมีคนมาช่วย จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องสร้างเครือข่ายของตัวเองขึ้นมาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายท้องถิ่น เครือข่ายระดับภูมิภาค เครือข่ายระดับประเทศ และเครือข่ายระดับนานาชาติขึ้นมาให้ได้

ก่อนหน้านี้เราได้มีการพูดถึงเรื่องการสร้างภาวะผู้นำ และการร่วมมือกันระหว่างคนพิการแต่ละประเภท ครูที่สอนเด็กพิการ ยังมีความจำเป็นต้องการเงิน ต้องการหนังสือ ต้องการอุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ แต่ครูกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือเสมอ เพราะบางคนจะคิดว่าเด็กพิการไม่สามารถทำอะไรได้ นั่นคือความคิดที่ไม่ถูกต้อง แต่พวกเราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดแบบนั้นได้ สิ่งที่เราควรมองคือเรื่องความสามารถ ไม่ใช่ความพิการ ให้มามุ่งเน้นในสิ่งที่คนพิการทำได้ ไม่ใช่ไปมุ่งเน้นในสิ่งที่คนพิการทำไม่ได้ คนพิการเองก็ต้องสร้างการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการรับรู้ให้องค์กรอย่างภาครัฐหรือภาคเอกชนได้เห็นปัญหา ให้เขารับรู้ถึงคนพิการ

กีฬาคนพิการจะได้รับความสำคัญก็เฉพาะช่วงของการแข่งขันเท่านั้นแต่พอหมดช่วงการแข่งขันแล้วคนทั่วไปก็ไม่ค่อยสนใจ มีวิธีไหนที่จะเชื่อมโยงให้คนเข้ามาสนใจกีฬาคนพิการจริงๆ บ้าง

นักกีฬาคนพิการในระดับโลก เมื่อหมดช่วงการแข่งขัน สิ่งหนึ่งที่เขาพยายามจะทำก็คือ ไปสอนกีฬาเยาวชนพิการ หรือมีกิจกรรมพานักกีฬาออกไปสู่ชุมชน ออกไปเล่าเรื่องของตนเองในฐานะที่เป็นนักกีฬาพิการ เพื่อที่จะทำให้ชุมชนเหล่านั้นรู้จักตนเองมากขึ้น และตัวนักกีฬาเองก็จะกลายเป็นตัวอย่างให้เด็กๆและเยาวชน อยากจะเดินตาม และสร้างแรงบัลดาลใจ

ที่สหรัฐก็ยังมีปัญหาอยู่ เราพบว่ากฎหมายได้รับการรับรองแล้วแต่ยังไม่ค่อยถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ปัจจุบันนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิคนพิการในสหรัฐก็ยังต้องเดินทางไปดูการทำงานของกลุ่มคนพิการในหลายๆ ประเทศ ต้องพยายามพูดเรื่องนี้ให้มีเสียงในสังคมเช่นกัน

แต่สำหรับด้านการขับเคลื่อน สิ่งที่เราอยากจะมุ่งเน้นก็คือการสร้างความเป็นผู้นำสำหรับคนรุ่นใหม่เพราะเมื่อถึงเวลาที่คนรุ่นเก่าต้องเกษียณอายุ ก็จะมีคนเข้ามาทำงานได้ต่อเนื่อง ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนพิการในสหรัฐได้ต่อไป สำหรับคนพิการในทุกกลุ่มก็มีตัวแทนของแต่ละประเภทความพิการ ทั้งทางกายภาพ ทางการมองเห็น ทางสติปัญญาและการเรียนรู้ และทั้งหมดมาประชุมร่วมกัน เพื่อพูดคุยว่าแต่ละกลุ่มต้องการอะไร และนำข้อเสนอไปคุยกับส่วนกลางก่อนออกนโยบาย ซึ่งสำคัญมากๆ ที่เราจะพัฒนาผู้นำขึ้นมา เพื่อให้สามารถทำงานในประเด็นของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง

แล้วเราจะเชื่อมโยงประเด็นของคนพิการและคนไม่พิการได้อย่างไร

มีโครงการที่เราทำในประเทศจีน ชื่อโปรแกรมว่า People Exchange Program คือการแลกเปลี่ยนคนไปเรียนรู้งานที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาพัฒนาที่ประเทศจีน แต่ละปีมีโอกาสได้พบกัน 1 ครั้ง เพื่อประชุมว่าเราต้องการอะไรและตั้งเป้าหมายว่าเมื่อจบ 1 ปีแล้ว คุณต้องได้อะไร อย่างพรุ่งนี้เราก็จะได้พบกับประธานกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย แล้วก็ประธานคนพิการด้านสติปัญญา อีกท่านหนึ่งคือประธาน สมาคมกีฬาคนหูหนวก เราคิดว่าการที่ได้เจอทั้งสามคนนี้จะทำให้เกิดการร่วมมือทำอะไรสักอย่างได้บ้างในอนาคต

เวลาคนทั่วไปดูกีฬาคนพิการมีคำถามว่าพวกเขาทําได้อย่างไร คำตอบก็คือพวกเขาไปแข่งเพื่อต้องการชัยชนะไม่ใช่การไปแข่งเพื่อให้คนอื่นมาสงสาร เขาอยากให้ชัยชนะเป็นของประเทศของเขา เหมือนกับที่ นักกีฬาทั่วไปแข่งเพื่อต้องการชัยชนะ

กีฬาคือเครื่องมือที่นำคนทุกคนเข้าหากันได้ คนพิการก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเล่นกีฬาในรูปแบบต่างๆ ส่วนคนไม่พิการก็ได้เรียนรู้ว่าคนพิการใช้ชีวิตอย่างไร เป้าหมายคือหากเราอยากตั้งองค์กรที่เรียกร้องสิทธิให้กับคนพิการหรือสามารถทำให้คนพิการเข้าไปมีพื้นที่ได้อยู่เสมอก็จะดีมาก

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวคนพิการเองต้องออกมาเล่าเรื่อง มาพูดปัญหาพูดความจริงของตน ให้สังคมได้รับรู้ และพูดถึงสิทธิของตัวเองได้ คนที่ไม่ได้พิการแต่สนับสนุนคนพิการก็ควรออกมาช่วยด้วย ส่วนกลุ่มคนพิการประเภทต่างๆ ก็ควรหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้มีอำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้น

กีฬาสำคัญต่อคนพิการอย่างไร

แท้จริงแล้วเราไม่ได้แตกต่างกับคนอื่น เราก็เป็นคนเหมือนกัน เราไม่ได้มีแค่ความพิการ เรามีความฝันมีเป้าหมาย เรามีความรู้สึกเหมือนกับทุกคน คนที่ไม่พิการเวลามองมาที่คนพิการอาจจะรู้สึกกลัว กลัวว่าวันหนึ่งอาจจะเป็นแบบนั้น กลัวจะพิการในวันหนึ่ง เราต้องพยายามเปลี่ยนความคิดแบบนั้นเปลี่ยนจากลบให้เป็นบวก เราไม่อยากให้เอาสิ่งที่เราทำไม่ได้มาปิดกั้นในสิ่งที่เราทำได้

กีฬาคือสิ่งที่ทำให้คนเข้ามารวมตัวกันไม่ว่าจะเป็นความต่างทางด้านภาษาหรือวัฒนธรรม ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกลุ่มคนที่มักจะถูกทอดทิ้งก็จะมีคนกลุ่มคนพิการอยู่ในนั้นด้วย โดยเฉพาะคนพิการที่เป็นเด็กและผู้หญิง พวกเขาจะถูกกีดกันเสมอ

เราอยากให้คนทุกคนมาเล่นกีฬาด้วยกันไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือคนพิการก็ตาม อยู่ร่วมกันด้วยความเคารพแล้วก็มาแข่งกัน