Skip to main content

ละครเวทีที่ต้องปิดตาชม อาจไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วเพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี การเติบโตของการแสดงในกลุ่มคนตาบอดนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้ชื่อของ Blind Theatre หากแต่ว่า พวกเขาใช้เวลาในการทดลอง ค้นหาและสะสมประสบการณ์จนนำมาสู่ละครเวที “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์หรือหลุยส์ ผู้ก่อตั้ง Blind Theatre และ Blind Experience เล่าให้เราฟังว่า ละครเวทีเรื่องเล่าจากหิ่งห้อยนั้นเคยจัดแสดงครั้งแรกเมื่อห้าปีที่แล้ว ก่อนจะล้มลุกคลุกคลาน หาความหมายและต่อสู้กับความเชื่อต่างๆ ที่มีเกี่ยวกับความพิการ จากความสงสารสู่การมุ่งไปที่คุณภาพ และครั้งนี้เองเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมจะได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้งานศิลปะที่เจ๋ง เสียจนคุณต้องมองข้ามเรื่องความพิการเหมือนกับที่หลุยส์ได้โม้เอาไว้!

จากภาพยนตร์สุสานหิ่งห้อย และเพลงนิทานหิ่งห้อย

หลุยส์: บทละครนิทานจากหิ่งห้อยพูดถึงมนุษย์ทุกคนที่ต้องการอยู่กับคนหรือสังคมที่เชื่อเหมือนกับเรา มีความฝันเดียวกับเรา หรือปลอดภัยเมื่ออยู่ในสังคมนั้น หากแต่ว่าตัวละครที่มีความเชื่อเหมือนกันกลับมีวิธีการที่ต่างกันออกไปในการครอบครอง โดยคาดหวังว่า จะได้ปกครองทุกคนที่มีความเชื่อเหมือนกัน เหมือนกับบางคนที่มีแฟนและคิดว่าแฟนต้องอยู่กับเราตลอดไป แต่ลืมนึกไปว่า ความสุขที่แท้จริงคือการไม่ครอบครอง

นิทานเรื่องนี้เคยเล่นมาแล้วเมื่อ 4-5 ปีก่อน ตอนผมอายุประมาน 25 ปี ช่วงนั้นชีวิตมักตั้งคำถามตามประสาเด็กวัยรุ่นกำลังก้าวผ่านเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เริ่มเห็นความสูญเสีย ตามหาความยึดติดและปล่อยวางของชีวิต แม้เราจะตามหาแต่ก็ยังยึดติดครอบครัว คนรัก และความทุกข์ จนได้ฟังเพลงนิทานหิ่งห้อยที่มีใจความว่า “อย่าขังความจริง อย่าขังความงาม” แล้วความจริงของชีวิตคืออะไรล่ะ?  เพลงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานละครในระยะต่อมา

ผมเมื่อ 5 ปีที่แล้วยึดติดเยอะมากเพราะเราฝันจะทำละครเวที แต่พอหลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ก็เครียดมาก เหมือนกับคนวัยหลายคนที่เริ่มมีความคิดไม่อยากทำงานใต้การปกครองของคนอื่น พวกเขารู้ว่าตัวเองชอบอะไรและไม่ชอบอะไร แต่หาวิธีการทำสิ่งที่ชอบให้สำเร็จไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวเสียส่วนใหญ่ เช่น คุณอาจชอบทำละครเวที แต่ก็เห็นว่าในความเป็นจริงไม่มีคนทำอาชีพนี้ให้ได้นำมาเป็นตัวอย่าง พอต้องไปทำอย่างอื่นก็มีความทุกข์ รอบตัวเต็มไปด้วยคนที่ไปก็ไม่สุด กลับตัวก็ไม่ได้ อยู่ในวงจรการทำในสิ่งที่ไม่ชอบ แต่พอเราถอยมาและปล่อยมันไปหน่อย ปล่อยให้ความคิดได้สร้างสรรค์เหมาะกับสภาพสังคม เราก็เรียนรู้เรื่องนี้แล้วไปต่อจนกลายเป็นบลายน์เธียเตอร์

ศิลปะเป็นของทุกคน ?

จุดประสงค์ของการทำบลายน์เธียเตอร์คือ วิพากษ์พื้นที่ทางศิลปะหรือคำพูดที่ว่า ศิลปะเป็นของทุกคน ตอนเราอยู่ในโรงละครหรืองานนิทรรศการ เราไม่เห็นว่ามีคนจนอยู่ในนั้น ไม่เห็นว่ามีคนพิการอยู่ในนั้น พื้นที่นี้กลับเป็นของคนชนชั้นกลางที่มีเงิน โรงโอเปร่าไม่มีคนจน คำพูดที่บอกว่า ศิลปะเป็นของทุกคนในเชิงรูปธรรมของสังคมไทยจึงไม่เป็นจริง

สี่ปีที่ผ่านมา บลายน์เธียเตอร์ลองทำหลายอย่างร่วมกับศิลปินที่มองไม่เห็น จนรู้ว่า คนที่มองไม่เห็นไม่ได้ต้องการแค่แสดงละครเวที แต่เขาอยากทำอะไรอีกมากเช่น เต้น ออกแบบ และมีความฝันอื่น สี่ปีที่ผ่านมาจึงเป็นสี่ปีแห่งการศึกษาและทดลอง เพราะหากเราต้องทำละครเองทุกปีโดยไม่มีใครทำต่อได้ เราก็จะกลายเป็นคนที่ทำเพื่อสังคมตัวเล็กๆ ที่ไม่เกิดแรงสั่นสะเทือนอะไรเลย

เราไม่ได้เพียงวิพากษ์พื้นที่ทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังเปิดรับทุกความหลากหลายร่วมแสดง เรามีนักแสดงอาชีพและนักแสดงที่ไม่เคยมีประสบการณ์ มีคนที่เป็นนักศึกษา มีคนพิการ ฯลฯ ทุกคนสามารถสร้างงานศิลปะได้และงานศิลปะที่ดีต้องมีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์แต่คือการออกแบบพื้นที่ให้กับคนที่มีใจและอยากเริ่มทำงานศิลปะ

ผู้ชม = แรงสั่นสะเทือน

“สิ่งที่เจ็บที่สุดอย่างแรกคือเราช่วยคนตาบอดได้ไม่เยอะเหมือนกับที่สังคมคาดหวัง และไม่มากเท่าที่บอกคนตาบอดว่าเป็นละครเพื่อคนตาบอด มีคนตาบอดอยู่กับเราไม่กี่คน ผมไม่รู้จะจัดการกับความรู้สึกนี้ยังไง”

ที่ผ่านมาผมไม่พอใจเลย เวลาบอกว่าทำละครเพื่อสร้างสรรค์สังคม แต่สังคมกลับไม่ได้เปลี่ยนเท่าที่เราโม้ จนเราคิดได้ว่า ก็คนดูไงล่ะ คือแรงสั่นสะเทือนของเรา ละครบางเรื่องเมื่อเล่นเสร็จคนดูประทับใจ ปรบมือและกลับบ้านไป แม้ตัวเองจะเปลี่ยน แต่สังคมเปลี่ยนไหมก็ไม่รู้เพราะวัดผลไม่ได้ ผมเห็นงานศิลปะแบบนี้เยอะมาก จึงอยากทดลองทำงานบางอย่างที่บอกคนดูว่า หากคุณประทับใจก็สามารถลงมือแก้ไขอะไรบางอย่างได้ และจะได้ผลเมื่อคุณเริ่มทำการศึกษา ทำโปรดัคชันออกมาเป็นผลลัพธ์ มีคนมาซื้อ มาเสพ และมีวิธีการให้คนได้ทำต่อ เราจึงกลับมาทำละครอีกครั้งในรูปแบบของบริษัทและเปลี่ยนชื่อเป็น  Blind Experience

สอง จะเห็นได้ว่าคนที่ทำงานเพื่อสังคมยังไม่มีความยั่งยืนและยังอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ หากผมยังประกาศว่า คนที่มาดูได้ช่วยเหลือคนตาบอด เขาก็จะเข้ามาพร้อมกับความอยากช่วยเหลือ ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น จุดประสงค์ของการทำงานในปีนี้จึงเปลี่ยน เราไม่ได้บอกว่ากำลังช่วยเหลือใคร แต่เรากำลังมาแลกเปลี่ยนความรู้ ไม่ได้โฟกัสว่าจะเป็นคนตาบอดหรือคนตาดี

หากคนมาดูละครแล้วตื่นเต้นว่า “คนตาบอดเล่นละครได้” เขาก็จะมาดูครั้งเดียวแล้วก็หายตื่นเต้น เขามาเพื่อแสวงหาอะไรบางอย่างซึ่งมันอาจจะไม่ใช่เป้าหมายที่เราต้องการ ฉะนั้นสิ่งที่เราขายจึงเป็นเรื่องคุณภาพ ความรู้และประสบการณ์ เพราะเป็นสิ่งที่คนซื้อได้ตลอดชีวิต

ยิ่งมืดยิ่งชัดเจน

ในความมืดมีสิ่งใหม่ๆ ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ ไม่ว่าคุณจะหูหนวก นั่งวีลแชร์ ตาบอดหรือตาดี ผมมีแค่หน้าที่สร้างความรู้ เพื่อทำให้คุณตื่นเต้นและเปิดประสบการณ์ใหม่ของประสาทสัมผัสอื่นนอกจากการมอง หลายคนบอกว่า สัมผัสเวลาอยู่ในความมืดนั้นแม่นยำขึ้น

“คนที่เข้ามาดูจะได้เปิดประสาทสัมผัส เพราะหลายประสบการณ์นั้นออกแบบมาให้คุณมองไม่เห็น คุณจะตื่นตัว เพราะ90% ของชีวิตไม่นับตอนนอน คุณเปิดตาทำทุกอย่าง ความตื่นตัวนี้จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจและความหวัง”

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยูนิเวอร์แซลดีไซน์ในงานศิลปะ สี่ปีก่อนเราอาจบอกได้แค่ว่าอยากให้เกิดอะไร แต่ตอนนี้มีตัวอย่างที่คนสามารถมาศึกษาแล้วนำไปต่อยอดได้

คนที่เข้าร่วมกับเราในปัจจุบันไม่ใช่คนคนเดิม สี่ปีก่อนเราทำละครเพื่อคนดูประมาณ 1,000 คน แต่ปีนี้เราทำขาย 8,000 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายกับละครเวทีที่ไม่ได้มีแบรนด์ อีกสิ่งที่เปลี่ยนไปคือราคาบัตร เมื่อก่อนเราไม่กล้าเก็บค่าบัตรแพงๆ 5-600 มาตลอด ทั้งที่ค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการทำละครเวทีสูงมาก เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากคนที่มีใจเพื่อสังคม ทำอะไรเกี่ยวกับสังคมอยู่แล้วเป็นคนที่ยังไม่ได้ทำงานทางสังคม แต่สนใจงานด้านสังคม มีชีวิตอีกแบบหนึ่ง อาจเป็นคนที่รวยมากหรือสนใจเรื่องราวต่างๆ ผ่านโลกโซเชียล ซึ่งมีอยู่เยอะมาก การดึงคนเหล่านี้เข้ามาจะต้องวางน้ำหนักให้ดี หากเป็นงานเพื่อสังคมมากเกินไปเขาอาจจะไม่สนใจ จึงต้องบาลานซ์ความต้องการอื่นด้วย เช่น ความสนุก ความตลกและคุณภาพงาน

“คนถามว่า ถ้าปิดตาชมแล้วจะต่างอะไรกับละครวิทยุ ผมก็บอกได้เลยว่า เมื่อคุณมองไม่เห็น ประสบการณ์ในเรื่องของเสียงสัมผัส กลิ่นและรสชาติจะเต็มที่มากขึ้น ผู้ชมทุกนั่งอยู่บนเวที ฉะนั้นประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวละครทุกตัว เสียงทุกเสียง ฉากทุกฉากจะอยู่รอบตัวคุณทั้ง 360 องศา พูดแค่นี้ก็น่าตื่นเต้นจนต้องมาดูแล้ว”

โอกาสที่จะมีตัวตน

มีเรื่องตลกเยอะแยะที่เราไม่เคยเจอในวงทั่วไป เมื่อได้ทำงานกับคนตาบอด บางครั้งเราคนตาบอดชอบส่งเสียงดังมาก อยู่ดีๆ ก็ตะโกนขึ้นมา ในความตลกนี้สิ่งที่ไม่ตลกเลยคือ คนตาดีรับรู้คนรอบข้างผ่านการมอง บางคนเงียบ บางคนยิ้ม แต่คนตาบอดไม่รู้ว่ารอบตัวเขามีบรรยากาศอย่างไร ฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เขามีตัวตนคือการทำเสียงดัง

พื้นฐานของมนุษย์ทุกคนต้องการที่จะมีตัวตนในสังคมและนำเสนอด้วยพฤติกรรมต่างๆ คนพิการหลายคนขาดโอกาสและเมื่อได้โอกาสก็พยายามแสดงตัวว่าเขาไม่เป็นปัญหา เขาจึงมักเกรงในในทุกเรื่องและไม่เป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าการขอความช่วยเหลือนั้นเป็นปัญหา การทำงานกับคนตาบอดมีความต่างแตกต่างไม่มาก แต่เราไม่เคยมีองค์ความรู้ใดที่สร้างมาก่อนเพราะองค์ความรู้หลักขึ้นอยู่กับคนมองเห็นเสียส่วนมาก

อย่าว้าวแค่มีคนตาบอด แต่ให้ว้าวที่คุณภาพการแสดง

การชื่นชมเพียงเพราะตาบอดเป็นสิ่งพื้นฐานที่หากไม่เข้าใจเราเขวทันที ถ้าคุณเห็นคนที่มีความพิการขึ้นมาทำอะไรแล้วคุณก็ตื่นเต้น หรืออวยเกินเหตุจะทำให้คนพิการท้อใจที่สุดเพราะเขารู้สึกว่าไม่ได้ทำดีขนาดนั้นแต่ทำไมคนชื่นชมเกินไป ในอีกนัยหนึ่งผมก็เข้าใจเพราะนี่คือมนุษย์ เราพร้อมที่จะซัพพอร์ตคนที่อ่อนแอกว่า อยากจะช่วยเหลือ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนต้องมองให้ขาด และปฏิเสธไม่ได้ว่าคนดูกว่า 80% เข้ามาด้วยความคิดแบบนี้ หน้าที่ของเราคือทำให้เขาเห็นว่า นักแสดงพิการก็เป็นนักแสดงคนหนึ่ง ให้เขาได้เคยชินและหยุดว้าว แต่มองที่คุณภาพของการแสดงแทน

ปีนี้เราไม่ได้บอกคนดูว่า เรามีนักแสดงคนพิการหรือไม่ เพราะอยากให้คนดูมองที่คุณภาพของงาน ไม่ว่าคุณจะเข้ามาด้วยความสงสารแต่คุณต้องออกไปด้วยความรู้สึกเจ๋ง และมองข้ามความพิการ

หมุดหมายของเราคือการพยายามทำให้คนที่ดูละครสามารถเปลี่ยนประสบการณ์เหล่านี้ผ่านกิจกรรมที่คุณทำอยู่แล้ว ให้เกิดความหลอมรวมมากขึ้น สำหรับคนที่อ่านถึงตรงนี้คงมีความตั้งใจลึกๆ จะอยากทำงานด้านสังคม มีความสนใจทางสังคม อยากจะเห็นสังคมดีขึ้น ผมจึงอยากให้คุณมางานนี้ในพื้นที่พื้นที่หนึ่งที่ทุกคนสามารถเข้ามาอยู่ได้ บริหารจัดการตัวเองได้ มารับประสบการณ์ใหม่ เชื่อผมเถอะว่ามันจะเป็นการชมละครเวทีและงานศิลปะที่ทำให้คุณตื่นตัว ตื่นเต้นและพบว่าแรงบันดาลใจนั้นมีอยู่เยอะมากเมื่อคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลุกคุณให้ตื่นแบบนี้

ละครเวทีนิทานจากหิ่งห้อยจะจัดแสดงที่ Theatre 3 ของ Lido Connect สยามแสควร์ ในวันที่ 13-31 สิงหาคมนี้ สามารถติดตามรายละเอียดและจองบัตรได้ที่ https://www.facebook.com/theblindstheatrethailand/

คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ