Skip to main content

เรานัดเจอกับ “มอส” หลังจากที่เขากลับมาจากดอยอินทนนท์เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา มอสเป็นชายหนุ่มตาบอดที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากจะเป็นคนเรียนเก่งแล้ว มอสยังรักในการเดินทาง เห็นได้จากทริปหลายทริปที่เขาไป ซึ่งท้าทายขีดจำกัดและทำให้เขาก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองในทุกทริป

มอส-ปราโมทย์ ชื่นขำ และบุ๋มบิ๋ม-เพ็ญเพชร น้อยยาสูง เพื่อนร่วมทาง ทำงานด้วยกันที่ชุมนุมเพื่อนโดมสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอสเป็นคนตาบอดที่ชอบการเดินป่าโดยมีบุ๋มบิ๋ม เพื่อนตาดีเป็นคนนำทาง พวกเขาทั่งคู่ขึ้นภูกระดึง 3 ครั้งในรอบไม่ถึง 5 เดือน พอเราได้เห็นก็รู้สึกตื่นเต้นไปกับพวกเขาจนอยากแชร์ให้โลกรู้ว่า คนตาบอดก็รักและสามารถไปเที่ยวในที่ที่ต้องผจญภัยอย่างภูกระดึงได้เช่นกัน

จุดเริ่มต้นของการผจญภัย

มอส: แต่ก่อนเราเป็นเด็กเรียนเก่งมาก จบชั้นประถมศึกษาได้เกรดเฉลี่ยสูงสุด จนได้ทุนเรียนฟรีตั้งแต่ ม.1 - ม.6 จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนปี 1 เราก็ได้ที่ 1 ของคณะหลังจากนั้นก็ถูกชักชวนให้เข้าชุมนุม ทั้งสนุกแต่ก็เหนื่อยจนเป็นลม เพราะเราทำเหมือนกับตัวเองเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่ยอมนอน พอง่วงก็กินกาแฟ วันสอบวันหนึ่งเราเป็นลมแต่ก็ฝืนสอบต่อจนเสร็จเพราะรู้ว่าหากเราออกไปก็จะไม่มีวันได้เกียรตินิยม วันนั้นเราผ่านไปได้และได้คะแนนสูงที่สุด แต่ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว มันเหนื่อย จะเอาไปทำไมคะแนนเยอะๆ เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเราเลย

ตอนปี 3 เราเริ่มทำงานกับชุมนุมเพื่อนโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และได้เป็นประธานชุมนุม คอนเส็ปและเป้าหมายของชุมนุมนี้คือทำให้เพื่อนพิการกับเพื่อนไม่พิการได้มาเป็นเพื่อนกัน โดยผ่านการทำค่ายกึ่งอาสา หรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม เราได้ประสบการณ์และเพื่อนจากการทำงานในชุมนุม ทุกคนยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน เราถึงยอมออกจากคอมฟอร์ตโซนและใช้ชีวิต นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการไปเดินป่า

ไปภูกระดึง 3 ครั้งในรอบไม่ถึง 5 เดือน

ครั้งแรกเราไปที่ภูกระดึงกับน้องซึ่งเป็นผู้หญิง น้องเป็นคนเลือกสถานที่ เราไม่รู้หรอกว่าภูกระดึงจะยากแค่ไหนกัน คิดว่าคงเหมือนตอนเดินเขากับที่ชุมนุม

ในทริปนั้นมีผู้หญิงสองคน ผู้ชายหนึ่งคน น้องผู้หญิงคนหนึ่งเคยไปภูกระดึงแล้ว และบอกว่าที่นี่จ้างลูกหาบจ้างได้ เราเลยจัดเต็ม 8-9 กิโล แต่เพราะเราไปกันในวันหยุดยาว คนจึงเยอะจนทีมลูกหาบเต็ม สุดท้ายเลยตัดสินใจแบกของกันเอง แม้ขึ้นมาได้แต่โคตรเหนื่อยเลย คิดในใจว่า กูจะไม่มาอีกแล้ว (หัวเราะ)

คนตาบอดขึ้นไปดูอะไร?

ถ้าคุณพูดแค่ในแง่การมองเห็น คุณก็มองโลกได้แคบมาก แต่ถ้าคุณลองใช้หู ลองใช้ใจ ฟังเสียงลม เสียงนก เสียงไม้ที่ถูกลมพัด เสียงน้ำตก ลองสัมผัสความเย็น ความชื้น ความหนาว ความกดอากาศ ความเบาบางของอากาศ อากาศหายใจที่ปลอดโปร่ง ในตอนนั้นแม้ไม่ต้องมองคุณก็สามารถจินตนาการเป็นอะไรก็ได้ เหมือนกับเวลาได้ยินเสียงเครื่องบินบินผ่านแล้วรู้สึกว่าใกล้มาก สิ่งพวกนี้เป็นสิ่งที่เราตามหา ผมจึงย้ำว่าไม่ใช่แค่สายตาเท่านั้นที่สัมผัสได้

การมาที่นี่ทำให้เรารักคนอื่นมากขึ้น มีมิตรภาพที่หาในเมืองไม่ได้ หลายคนจึงพูดว่า หากท้อให้เดินเข้าป่า เราไม่ได้หนีปัญหา แต่ไปหาพลังในการกลับมาเอาชนะเท่านั้น

มิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

เราชอบภูกระดึงเพราะภูกระดึงเป็นเหมือนเมืองๆ หนึ่ง กว้างขวาง มีพื้นที่ให้เดินเล่น วีลแชร์ก็ปั่นบนนั้นได้ แต่ระหว่างทางวีลแชร์อาจจะต้องจ้างลูกหาบ ตอนเราไปครั้งแรกได้รู้จักพี่คนหนึ่งที่ทำงานโรงงานแถวระยอง แกเป็นนักปีนป่ายหรือที่เรียกสิงห์ภูกระดึง เพราะพวกเขารู้ที่ลับ จุดที่ห้ามไป จุดถ่ายรูปสวย คอยแนะนำสถานที่และร้านลับของสิงห์ภูกระดึง เราได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นตลอดเลย และเป็นคนที่สนใจอะไรเหมือนๆกัน เพราะคนที่จะเดินขึ้นไปได้ใจคุณต้องได้ เดินตั้ง 9 กิโล คุณจะขึ้นไปทำไมถ้าใจคุณไม่รัก

ล่าสุดพวกเราไปอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ขี่มอเตอร์ไซค์จากเชียงใหม่เข้าลำพูนและต่อไปยังเมืองลี้ พวกเรานอนที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงสองคืน และขับรถไปน้ำตก วันสุดท้ายขับกลับทางดอยเต่า ผ่านฮอด จอมทอง แต่พอมาถึงจอมทองพวกเราก็แวะอินทนนท์ ใช้เวลาขึ้นไปชั่วโมงหน่อยๆ โดยมอเตอร์ไซค์  ขาลงฝนซัดหนักมากเราก็ต้องค่อยๆ ไต่ลงมา การเที่ยวป่านั้นสนุกแต่ก็อันตราย เรายอมรับที่จะเสี่ยงว่า ถ้าพลาดก็เจ็บ แต่หากไม่พลาดก็ได้ประสบการณ์ 

เรียนรู้วิธีการเดินป่าจากที่ไหน?

จากการดูคลิป ฟังคลิป เราติดตามมิ้นท์ เจ้าของเพจ I roam alone ผู้หญิงที่แบกเป้ไปเที่ยวคนเดียวกว่า 80 ประเทศ อีกคนคือพี่สิงห์ วรรณสิงห์ จากรายการเถื่อนทราเวล ที่เราดูทุกตอนเลย และชอบตรงที่เขาพูดว่า เราจะไปในที่ที่คนดีๆ เขาไม่บ้าไปกัน แม้เราอาจมองไม่เห็นเท่าพี่สิงห์ แต่แค่ได้รับประสบการณ์เดียวกันก็โอเคแล้ว โลกมันกว้างขึ้นเวลาทำสิ่งนี้

เตรียมอะไรไปบ้าง?

คนพิการกับคนไม่พิการใช้ในสิ่งที่ไม่ต่างกันเท่าไรหรอก หลังจากประสบการณ์แบกของครั้งแรก เราก็ยอมลงทุนซื้อกระเป๋าแบ็คแพ็ค กระเป๋าแบ็คแพ็คไม่ควรน้ำหนักเกิน 1 ส่วน 3 ของน้ำหนักตัว เราหนัก 80 ก็ไม่ควรแบกเกิน 25 โล สิ่งที่เอาไปก็มีเต๊นท์ เตา หม้อสนาม ไข่หนึ่งโหล น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลืองที่สุด อีกสิ่งที่หนักก็คือข้าวสาร และเชือกเพื่อทำราวตากผ้า วิธีสร้างราวตากผ้าคือ ขุดดิน เอาไม้ฝัง แล้วขึงเชือก เสื้อผ้าที่เราเอาไปจะมีชุดนอน ชุดเดินป่า 2 ชุด ถุงเท้ากับกางเกงในหลายตัวหน่อย อาหารที่ให้พลังงานเยอะ เช่น ขนมปัง ซีเรียล และอาหารที่ทำง่ายๆ อย่างที่วางแผนไว้ว่าจะกินมื้อละซอง แต่เรากินมื้อละ 3 ซองเพราะหิวมาก (หัวเราะ) สุดท้ายคือมีดเพื่อฟันไม้ หรือขุดดิน

กระเป๋าแบ็คแพ็คหนัก 18 กิโล มีวิธีจัดกระเป๋าที่ไม่ทำให้ปวดหลังก็คือวิธี เบา หนัก เบา เอาของหนักไว้ตรงกลางและปรับสายกระเป๋าให้ชิดกับลำตัวเพื่อให้น้ำหนักกดลงมาข้างหน้าหรือปรับให้กระเป๋าเอนไปข้างหลังเพื่อช่วยไม่ให้หัวทิ่ม ตัวรัดเอวจะช่วยดึงน้ำหนักไม่ให้ลงที่หัวไหล่ เราเดินตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นก็ไม่ปวด แม้ราคากระเป๋าจะเริ่มต้นที่ 5,000 บาท แต่คุ้มในแง่ของสุขภาพ รองเท้าก็เป็นอีกอย่างที่ต้องเลือกให้เหมาะกับสถานที่ที่จะไป  ถ้าไปเดินอุทยานแห่งชาติพื้นเรียบๆ หรือถนน รองเท้าสตั๊ดดอยยางธรรมดาแบบมีดอกหรือไม่มีดอก เหมือนรองเท้านักฟุตบอลก็เหมาะและเอารองเท้าแตะไปด้วย

ไม้เท้าเดินป่า ตรงหัวจะเป็นเหล็กเมื่อปักลงพื้นจะเกาะกับหินหรือดิน จริงๆ ไม้เท้านี้ใช้เดินในหิมะ และต่างกับไม้เท้าขาวคนตาบอดตรงที่ ไม้เท้าขาวเอาไว้เขี่ยไม้เท้าเดินป่าเอาไว้ปักลงพื้น พยุงเราเป็นขาที่ 3 ช่วยพยุงหากลื่น ทั่วไปจะใช้ 2 อัน 

หากเดินป่าตอนกลางวันเราจะใส่เสื้อฮีทเทค เพราะช่วยกันหนาว ระบายเหงื่อได้ง่าย เวลาเข้าป่าเรื่องอาบน้ำไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะอากาศหนาวมาก ใส่เสื้อผ้าสัก 2 วันค่อยเอามาซัก

ก้าวข้ามความกลัว

สิ่งที่กดมนุษย์ไม่ให้ทำโน่นทำนี่คือความกลัว คนไม่พิการหรือคนพิการมีกันทั้งคู่ เพื่อนไม่พิการบางคนกลัวการออกจากบ้าน อยากอยู่ติดบ้าน ทำงานอะไรก็ต้องอยู่ติดกับบ้าน เพราะกลัวความลำบาก แต่หากอยากเที่ยวป่าหรือขึ้นดอย คุณต้องเลิกกลัว สร้างความอยากรู้อยากเห็น หาประสบการณ์ใหม่ๆและทำใจยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เที่ยวที่ไหนก็มีอุปสรรค  แต่เราสามารถเพิ่มความระมัดระวังได้ เช็ครถ หาอุปกรณ์ดีๆ พยุงชีวิตเราให้รอด เมื่อคุณไม่กลัวโลกจะเหวี่ยงคุณไปเจอคนที่ไม่กลัวเหมือนกัน คนแบบนี้ต้องการก้าวข้ามอะไรบางอย่าง และเชื่อในศักยภาพมนุษย์

คนนำทางที่ไม่ใช่ใครก็ได้

เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไปเดินป่าคนเดียวเพราะว่ามองไม่เห็น ทีมของเรามาจากค่ายและไม่ใช่อาสา เป็นคนที่อยากไปเที่ยวเหมือนกัน ถ้าได้ปีนเขากับใครสักคนคุณจะรักเขาแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้รักในฐานะคู่รัก แต่รักในฐานะเพื่อนร่วมทาง คนตาดีคนหนึ่งจะพาคนตาบอดเดินป่า คนตาดีต้องเชื่อก่อนว่าคนตาบอดไปได้ กล้าเสี่ยง การไต่หน้าผาบางที่แค่ก้าวผิดนิดเดียว ก็อาจจะตกตาย คนตาบอดก็ต้องเชื่อและไว้ใจคนนำด้วย ทั้งคู่ต้องเชื่อใจซึ่งกันและกัน

บางคนนำทางเรา พอเจอแอ่งน้ำก็ไม่พาเราไปต่อแล้ว บอกว่าอันตรายเราตาบอดไปไม่ได้ เราก็ไม่อยากขัดใจ จึงเลือกไปกับคนที่เราไว้ใจแล้วเขาและเขาก็ไว้ใจเราดีกว่า

การผจญภัยของมอสจะเป็นไปไม่ได้เลยหาากขาดคู่หูที่รู้ใจที่คอยซัพพอร์ตอย่าง บุ๋มบิ๋ม- เพ็ญเพชร น้อยยาสูง ที่ตอนนี้เรียนคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเธอเป็นสมาชิกชุมนุมเพื่อนโดมสัมพันธ์อีกด้วย

รู้จักกันได้อย่างไร?

บุ๋มบิ๋ม: รู้จักกันจากชุมนุมเพื่อนโดมสัมพันธ์ตั้งแต่ปี 1 เจอกันแทบทุกวัน เราไม่ได้มีปัญหาในการปรับตัว เพราะจูนกันง่ายมาก ด้วยทัศนคติที่คล้ายๆ กัน ไปไหนก็ไปด้วยกัน เราเป็นคนใจๆเหมือนกันด้วย ตอนชวนกันเดินป่าก็ตอบรับทันที เหมือนไว้ใจกันแล้วไม่ต้องมาตั้งคำถามว่า จะไปอยู่ยังไง อันตรายรึป่าวเพราะพี่มอสก็ไว้ใจเรา ก่อนหน้าที่จะเข้าเรียนที่นี่ไม่เคยรู้จักคนพิการมาก่อน พอได้เข้าชุมนุม ทำค่ายด้วยกัน ก็เห็นว่าทุกคนทำทุกอย่างได้เหมือนๆ กัน ลงทะเลได้ เห็นคนตาบอดไปเดินป่า ปีนต้นไม้ จึงรู้สึกว่าการไปเที่ยวด้วยกันก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว  เรานำทาง ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่กลัว ไม่มีคำว่ากลัว ยิ่งอยู่ด้วยกันยิ่งอุ่นใจเวลาเดินป่าตอนกลางคืน ต่างคนต่างซัพพอร์ตกัน

สิ่งที่ประทับใจผ่านการท่องเที่ยว

เรื่องการถ่ายรูป เรามักจะถ่ายรูปสวยๆ ให้พี่มอสเวลาไปเที่ยวด้วยกัน แต่เราเองก็อยากมีรูปสวยๆ เป็นของตัวเองบ้าง ก็เลยให้พี่มอสถือกล้องโดยเราจัดมุมให้เขา เขาเองก็กดถ่าย  ถึงรูปที่ได้อาจจะตรงบ้าง เบี้ยวบ้างก็ไม่เป็นไร ประสบการณ์และคุณค่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น อีกเรื่องคือการคุยกับคน พี่มอสเป็นคนต่อรองเก่งมากเวลาไปเที่ยวด้วยกัน ทั้งเรื่องต่อรองราคา และการวางแผน

เราได้เรียนรู้ความเป็นคน ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน มีความแตกต่างกัน มีคุณค่าและไม่มีใครด้อยไปกว่าใครเลย เราไม่ได้มองว่าคนพิการน่าสงสาร เวลาเพื่อนเห็นเราอยู่กับคนพิการ ก็มักพูดว่า เราเป็นนางฟ้ามาช่วยคนพิการ เขามองเราว่าเป็นผู้ให้ แล้วอีกฝั่งเป็นผู้รับ สำหรับเราคิดว่าต่างคนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างเป็นผู้ให้ในครั้งเดียวกัน เขายังไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสก็คงยังไม่เข้าใจเหมือนที่เราเข้าใจ

แบ่งหน้าที่กันอย่างไร?

ทุกทริปพี่มอสจะเป็นคนที่แบกทุกอย่างไป กระเป๋า 18 กิโลบรรจุทุกอย่างได้ครบครัน เราแบกของได้น้อยก็เลยเป็นตาให้เขา และช่วยกันคิดวางแผน เช่น เราขี่มอเตอร์ไซค์ เขาก็จะดูแผนที่ให้ ใครทำอะไรได้ก็ทำอันนั้น

เราอยากให้ทุกคนออกมาใช้ชีวิต ทั้งคนไม่พิการและคนพิการเพราะการออกไปใช้ชีวิต การออกไปเห็นโลกกว้างเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เราได้ออกจากเซฟโซนที่เราอยู่ คนพิการหลายคนมีเซฟโซนของตัวเอง คนที่ไม่ทำกิจกรรมเขาก็อยู่หอแล้วก็ตื่นออกไปเรียน เรียนเสร็จแล้วก็กลับมาหอ นับดูแล้วคนพิการที่ออกมาทำกิจกรรมที่รู้จักก็มีไม่ถึง 10 คน

ก้าวข้ามขีดจำกัด

การออกไปเที่ยวแต่ละครั้งทำให้เราก้าวข้ามความกลัว แต่ก่อนเราเป็นคนกลัวที่สูง และความมืดมาก เราเคยก้าวข้ามไปไม่ได้ ในทริปล่าสุดเราทำได้และรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ที่ทำลายขีดจำกัดได้แล้ว

เคยน้อยใจครั้งหนึ่งตอนไปทริปแรก ภูกระดึงยังไม่ค่อยมีคนพิการขึ้นไป คนที่นั่นตื่นเต้นกันมากว่าคนตาบอดขึ้นมาได้ยังไง ทุกคนรุมถ่ายรูปพี่มอส แล้วมองข้ามเราที่อยู่ข้างๆ เราก็เลยพูดกับพี่มอสว่า อ้าว แล้วเราล่ะ ตอนขาลงก็มีคนมาขอถ่ายรูปอีก พี่มอสเลยบอกว่า ถ้าไม่มีน้องผมก็มาไม่ถึงวันนี้หรอกและพาเรามาถ่ายรูปด้วย คนส่วนใหญ่มักจะโฟกัสที่คนพิการว่า ขึ้นมาถึงบนนี้ได้คือสุดยอดมาก ให้ค่ากับความพยายามของคนพิการมากกว่า ซึ่งเราไม่อยากให้มองแบบนั้นเพราะใครก็ตามที่ขึ้นไปถึงข้างบนก็ล้วนสุดยอดกันทุกคน

นลัทพร ไกรฤกษ์
Editor
เด็กสินกำที่เปลี่ยนจากจับพู่กันมาพิมพ์คีย์บอร์ด รักแมวหังเยาเป็นชีวิตจิตใจ
คชรักษ์ แก้วสุราช
มัลติมีเดีย, Editor
content creator ที่หน้าตาดีที่สุดในตำบลบึงยี่โถ