Skip to main content

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.62 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ในประเทศไทย (UNDP) ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม (SIF) และสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) จัดประชุมว่าด้วยการส่งเสริมการจ้างงานของผู้หญิงพิการ ภายใต้ชื่อ "Able to Create Change: the Business Network Meeting for Employing Women Living with Disability” ณ สำนักงานสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) โดยมีเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าวเปิดงานถึงความสำคัญของการส่งเสริมหญิงพิการ ด้านการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ทั้งการศึกษา รวมไปถึงสิทธิการทำงาน เพื่อให้หญิงพิการมีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น

ในงานมีเสวนาในหัวข้อ “บริษัทจะทำอย่างไรให้พื้นที่การทำงานครอบคลุมและมีความหลากหลายมากขึ้น” เพื่อพูดคุยถึงนโยบาย วิธีการปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมการจ้างงานหญิงพิการในไทย โดยมีฮิโรมิ ทาจิริ นักสังคมสงเคราะห์ที่ปรึกษาด้านอาชีพจากบริษัท Litalico, อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม, ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายพัฒนาการศึกษาและสังคมอย่างยั่งยืน บริษัทเครือเซนทรัล และ มานพ เอี่ยมสอาด ผู้จัดการศูนย์พัฒนามูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ร่วมเป็นวิทยากร

ฮิโรมิ ทาจิริ นักสังคมสงเคราะห์ที่ปรึกษาด้านอาชีพจากบริษัท Litalico กล่าวว่า การจ้างงานของคนพิการทั้งชายและหญิงในประเทศญี่ปุ่นแต่ก่อนนั้นทำเพื่อการ CSR แต่ในปัจจุบันอัตราการจ้างงานของคนพิการเกิดจากความสามารถในการทำงานได้ของตัวคนพิการเอง หญิงพิการมีการทำงานน้อยกว่าชาย เพราะค่านิยมของคนญี่ปุ่นที่มองว่าผู้หญิงไม่ทำงานก็ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง มีแผนรองรับคนพิการเข้าทำงานในแต่ละบริษัทตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงมีการพัฒนาทักษะต่างๆ ของคนพิการตามความถนัด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพนักงานในส่วนต่างๆ บริษัทในญี่ปุ่นมักจะตั้งบริษัทลูกเพื่อจ้างคนพิการมาทำงานโดยเฉพาะ และพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานให้เข้ากับตัวคนพิการ และทำให้คนพิการคิดว่าตัวเขาสามารถทำงานนั้นๆ ได้

อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมกล่าวว่า มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการทำให้คนพิการเข้าถึงโอกาสงาน มีอาชีพมากขึ้น เพราะเนื่องจากคนพิการเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงโอกาสได้น้อย สิ่งที่มูลนิธิทำคือการสนับสนุนให้คนพิการมีอาชีพ กฎหมายการจ้างงานคนพิการในไทยก้าวหน้ามาก กำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนต้องรับคนพิการเข้าทำงานอัตราส่วน 1 ต่อ 100 แต่การจ้างจริงเพื่อทำงานในสถานประกอบการยังมีไม่ถึงครึ่ง เพราะหลายบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่นั้นมักเลือกจ่ายเงินชดเชยให้กับรัฐบาลมูลค่าเท่ากับเงินเดือนที่จะต้องจ่ายให้กับคนพิการแทน หรือไม่ก็เลือกสนับสนุนกองทุนเพื่อคนพิการในด้านอื่น ตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ แทนการจ้างเข้าทำงาน ดังนั้นภารกิจของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมคือการทำให้อัตราการจ่ายชดเชยเหล่านั้นลดลงให้ได้มากที่สุด


อภิชาติ การุณกรสกุล


ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายพัฒนาการศึกษาและสังคมอย่างยั่งยืน บริษัทเครือเซนทรัลกล่าวว่า พนักงานในเครือ ไม่รวมพนักงานชั่วคราวและต่างประเทศ มีราว 72,000 คนโดยประมาณ ดังนั้นเซนทรัลต้องจ่ายชดเชยตามมาตรา 34 อยู่สม่ำเสมอ จึงเปลี่ยนความคิดเป็นการจ้างคนพิการและจ่ายเงินชดเชยให้น้อยลง ตอนนี้เครือเซนทรัลจ้างพนักงานคนพิการเกือบ 770 คน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนด มีหญิงพิการน้อยกว่าชาย โดยการจ้างเลือกตามความเหมาะสมกับงาน โดยเน้นว่าทำอย่างไรพนักงานคนพิการจะทำงานได้อย่างมีความสุข และอยู่ได้นาน

ด้านมานพ เอี่ยมสอาด ผู้จัดการศูนย์พัฒนามูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการกล่าวว่า มูลนิธิมหาไถ่มีโรงเรียนฝึกอาชีพ และมีศูนย์จัดหางาน มีคนพิการหางานทำได้มากกว่า 10,000 คน โดยคนพิการที่เข้าร่วมฝึกได้รับการสนับสนุนให้ทำงานตามที่สนใจและบริษัทสนใจ มีการประเมินว่างานนั้นเหมาะกับคนพิการหรือไม่ มูลนิธิพระมหาไถ่จะติดตาม ส่งต่อคนพิการให้สถานประกอบการต่างๆ ดูสถานที่ทำงาน ที่พักสำหรับคนพิการ จนกว่าจะมั่นใจว่าคนพิการสามารถทำงานได้ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่คนพิการและสถานประกอบการเพื่อให้การทำงานของคนพิการมีประสิทธิผลมากขึ้น