Skip to main content

3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล (International day of persons with disability) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของความเข้าใจเรื่องความพิการการช่วยเหลือ สิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ

นอกจากนี้ ยังเป็นวันแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกฎหมาย สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหวังในการทำให้สังคมตระหนักถึงความ ‘เท่าเทียมของโอกาส’ การฟื้นฟู และป้องการความพิการ

โดยปีนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ปราศรัยเนื่องในวันพิการสากล ใจความว่า "เนื่องในโอกาสวันคนพิการสากลบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง ผมขอส่งความปรารถนาดีต่อทุกท่าน

“องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันคนพิการสากลและเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรม เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักถึงความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์และการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเท่าเทียม

“โดยในปี พ.ศ.2562 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลักคือ การสร้างการมีส่วนร่วม เสริมความเป็นผู้นำคนพิการสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2573 การจัดการในปีนี้จึงให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคนพิการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ด้วยคำมั่นว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคทางสังคมแล้ว รัฐบาลยังมุ่งเน้นให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการให้โอกาส เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร กระบวนการยุติธรรม บริการสาธารณะ และมีหลักประกันทางสังคม ที่ครอบคลุมและเหมาะสมโดยบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน ในการขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“เนื่องในโอกาสวันคนพิการสากลประจำปี พ.ศ.2562 ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิสิทธิ์ทั้งหลายในสากล อีกทั้งเดชะพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้พี่น้องคนพิการและครอบครัว ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็ง ร่วมกันสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อประเทศชาติสืบไป สวัสดีครับ”

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การทำงานด้านคนพิการทั่วโลกมีการผลักดันและนำเอาแนวคิดของ ‘Inclusive Society’ หรือ ‘สังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน’ มาใช้ กล่าวคือเป็นการที่คนในสังคมทุกคนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่และทำกิจกรรมทางสังคมได้อย่างอิสระและเท่าเทียม ปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อกัน โดยใช้หลักการทำงานของการคิดแบบ ‘การดำรงชีวิตอิสระ’ หรือ ‘Independent living’ ซึ่งมีเอ็ด โรเบิร์ตนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอเป็นผู้ริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของคนพิการ หลังจากที่เขาถูกปฏิเสธการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นักศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจและต้องการที่จะย้ายคนพิการออกจากศูนย์พยาบาล พวกเขาเริ่มจัดตั้งองค์กรให้บริการ เช่น การซ่อมรถเข็น ผู้ช่วยคนพิการ จนเกิดเป็นแผนการเรียนพิเศษสำหรับนักศึกษาที่มีความพิการ และ ‘ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ’ (CIL : Center for independent living) ที่กระจายไปทั่วโลก การขับเคลื่อนครั้งนี้ทำให้เกิดการใช้บังคับใช้ ‘Americans with Disabilities Act: ADA’ ในปี ค.ศ.1990 ซึ่งกฎหมายนี้เป็นต้นแบบของกฎหมายคนพิการในหลายๆประเทศในเวลาต่อมา