Skip to main content

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ คณะบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดลเคยกล่าวว่า แม้สิทธิด้านสุขภาพจะถูกตระหนักรู้ในสังคมโลก แต่เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ของคนพิการกลับถูกมองข้าม โดยเฉพาะในสังคมไทย จนอาจทำให้คนพิการไม่สามารถมีชีวิตที่ดีได้ ในบางรายตัดปัญหาโดยการพาไปทำหมันก็ยังสามารถเห็นได้โดยทั่วไปในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับเวทีสรุปบทเรียนโครงการพัฒนารูปแบบและกระบวนการในการดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ระบุว่า ผลสำรวจความคิดเห็นต่อเรื่องเพศของเยาวชนหูหนวกในโรงเรียนโสตศึกษา จำนวนกว่าครึ่งจาก 24 คน มีมุมมองต่อตนเองที่ไม่ดี รู้สึกอายที่ต้องใช้ภาษามือ กลัวคนอื่นจะมองหรือพูดถึงตนเองในทางที่ไม่ดี กรอบคิดเรื่องเพศของเด็กหูหนวกมีจำกัด มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย แม้เด็กหูหนวกมีความรู้เรื่องเพศ แต่เป็นความรู้แบบไม่ครบ คลาดเคลื่อน เช่น ทานยาคุมกำเนิดมากเกินไปจะเป็นบ้า นั่งติดกับคนเป็นเอดส์แล้วจะติดได้ ฯลฯ

ด้วยข้อจำกัดทางการได้ยิน ทำให้คนหูหนวกขาดประสบการณ์และข้อมูลเรื่องเพศที่ถูกต้อง รวมทั้งเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพทางเพศ ไม่ต่างจากคนพิการประเภทอื่นที่เผชิญกับข้อมูลและความเข้าใจในแบบต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนกันไปคนละทิศละทาง

ข้อมูลที่ไม่ครบ เท่ากับความรู้ที่ตะกุกตะกัก

ในเวทีเดียวกัน มัทนา ทองญวณ ล่ามภาษามือระบุว่า ก่อนอบรมมองเรื่องเพศน่าอาย หากต้องเป็นล่ามแปลเรื่องนี้ให้กับคนหูหนวกก็กลัวคนหูดีมองว่าทำท่ามือน่าเกลียดเพราะท่าทางที่สื่อถึงเรื่องเพศยังมีจำกัด อาจทำให้ภาพลักษณ์ล่ามไม่ดี ผสมกับความรู้ที่ไม่เพียงพอจึงกลัวสื่อสารผิดจนทำให้คนรับสารเข้าใจผิดด้วย เธอจึงมักปฏิเสธงานเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่หลังอบรมก็เปลี่ยนทัศนคติ มองเรื่องเพศเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เป็นความต้องการพื้นฐาน คุยได้ไม่น่าอาย ส่งผลให้แปลออกมาเป็นท่ามืออย่างมั่นใจและไม่อายอีกต่อไป

วัยรุ่นหูหนวกหลายคนเล่าว่า การไม่มีสื่อที่เป็นรูปภาพหรือไม่มีล่ามช่วยสื่อสาร ทำให้พวกเขาไม่มีความรู้เรื่องเพศ ความรู้ที่มีถูกบอกต่อจากเพื่อนหูหนวกสู่เพื่อนหูหนวก จึงไม่อยากพูดหรือสื่อสารเรื่องเพศกับใครมากนัก รวมถึงครั้นเมื่อต้องไปพบแพทย์ พอเรื่องเพศถูกมองเป็นเรื่องส่วนตัว น่าอายและต้องปกปิด คนหูหนวกจึงรู้สึกว่า การต้องสื่อสารกับแพทย์ผ่านล่ามที่พวกเขารู้จักดีหรืออาจต้องเจอกันอีก เป็นเรื่องที่ขัดเขินและไม่เป็นส่วนตัว

พระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่มีเป้าหมายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานสิทธิวัยรุ่น ในมาตรา 5 ระบุว่า วัยรุ่นมีสิทธิสำคัญอยู่ 6 ด้าน ได้แก่ 1.สิทธิในการตัดสินใจโดยตนเอง 2.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ 3.สิทธิในการได้รับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 4.สิทธิในการรักษาความลับ ความเป็นส่วนตัว 5.สิทธิในสวัสดิการสังคม และ 6.สิทธิในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ยังมีเยาวชนพิการหลายคนที่เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เหล่านี้

สิทธิที่เข้าไม่ถึงและความรู้ที่มีน้อยนิดในเรื่องความพิการ

เพลง- อธิษฐาน สืบกระพันธ์ เยาวชนพิการมีภาวะอ่อนแรงและข้อติด ไม่สามารถขยับได้ทั้งแขนและขา จนทำให้ต้องได้รับความช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันบางอย่าง เช่น การแต่งตัว อาบน้ำ ไปจนถึงการเดินทางในชีวิตประจำวัน


เพลง-อธิษฐาน

เธอเคยได้รับบริการด้านสุขอนามัยเจริญพันธุ์ และพบอุปสรรคมากมาย เช่น เนื่องจากความไม่สะดวกในการเดินทางจึงจำเป็นจะต้องมีคนไปด้วยทุกครั้ง ไม่มีผู้ช่วยอุ้มเธอขึ้นเตียงนอนแพทย์ หรืออุปสรรคที่เกิดจากสภาพร่างกายที่หงิกงอ จนแพทย์ไม่สามารถฝังยาคุมได้ อีกทั้งเมื่อหมอเห็นร่างกายของเธอ พวกเขาก็ไม่สามารถวินิจฉัยและตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาได้ จนทำให้ทุกครั้งที่เธอเข้ารับบริการด้านสุขอนามัยเจริญพันธุ์  แพทย์ก็จะต้องตรวจโรคที่ก่อให้เกิดความพิการของเธอใหม่ทุกครั้ง นั่นทำให้ระยะเวลาการรรักษาเพิ่มขึ้นสามถึงสี่เท่าตัวหรือนานที่สุดถึง 12 ชั่วโมงในการฝังยาคุมกำเนิด

เช่นเดียวกับบัดดี้- ปริญาภัทร บุญรอด เยาวชนพิการอีกคนที่เคยได้รับบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์และพบว่า แพทย์หลายคนไม่กล้าที่จะสื่อสาร พูดคุยกับเธอโดยตรงจึงมักพูดผ่านแม่ของเธอ รวมทั้งอธิบายรายละเอียดต่างๆ ให้แม่ของเธอฟัง

“ตอนฝังยาคุมเราไปกับแม่ หมอเลือกไม่คุยกับเราโดยตรงและไม่พูดถึงความพิการ ไม่บอกว่าฝังเพราะอะไร ไม่ถามเราด้วยซ้ำว่าอยากฝังหรือไม่ เพราะมองว่าแม่เป็นคนตัดสินใจทั้งๆที่เขารักษาเรา ไม่ได้รักษาแม่” บัดดี้เล่า

นอกจากการรับบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์แล้ว บัดดี้ยังเข้ารับบริการคลินิกวัยรุ่น ที่ให้คำปรึกษาด้านจิตเวช  โดยปกติเธอไม่อยากให้ใครรู้ว่าไปไหน หรือต้องพบหมอจิตเวชก็ไม่ค่อยอยากให้พ่อแม่ไป แต่บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ จึงรู้สึกอึดอัดที่ถูกมองว่ามีปัญหาด้านจิตใจและรู้สึกไม่เป็นส่วนตัว

ทางเลือกที่มีไว้สำหรับคนพิการเท่านั้น

ตอนเพลงไปฝังยาคุม แพทย์พยายามเกลี้ยกล่อมให้เธอเลือกทางเลือกอื่นๆ อย่างการฉีดยาคุม ทั้งๆ ที่เธอบอกข้อจำกัดด้านการเดินทางมาโรงพยาบาลแล้วและไม่มีเวลามาฉีดยาคุมกำเนิดทุกสามเดือน จึงต้องการฝังเพราะอยู่ได้นานถึงสามปี มากไปกว่านั้นแพทย์ยังมักคิดเองว่าเธอไม่เคยฉีด หรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ จนทำให้ในช่วงซักประวัติ เมื่อมีคำถามที่ว่า มีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ พอเธอตอบไปกลับกลายเป็นได้รับคำถามและท่าทีเชิงลบ เช่น มีสามีแล้วเหรอ

“เขาคงคิดว่า คนพิการมีแฟนไม่ได้หรือไม่อยากมี แค่ช่วยเหลือตัวเองก็ลำบากแล้ว มีแฟนจะใช้ชีวิตยังไง หนูว่าเขาคงไม่เคยเห็นว่าคนพิการใช้ชีวิตอยู่กันยังไง” เพลงกล่าว

เช่นเดียวกับบัดดี้ เมื่อร่างกายของเธอมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เธอก็หมดโอกาสจากการทำหลายสิ่งหลายอย่าง ครั้งหนึ่งเธอเข้าโรงพยาบาล แม่ของเธอเริ่มคุยกับหมอเรื่องประจำเดือนที่ดูแลลำบาก หลังจากนั้นหมอสูติฯ จึงเข้ามาคุยและได้ข้อสรุปเป็นการฝังยาคุม  

“ตอนเราหาหมอที่คลินิกวัยรุ่น เราได้ความรู้เรื่องป้องกันโรค เรื่องการตั้งครรภ์แบบครบวงจร ไม่เหมือนตอนรักษากับหมอสูติฯ เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องการป้องกัน โรคติดต่อและความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ เพราะคิดว่าเราจะไม่มีเพศสัมพันธ์ ต่างจากหมอวัยรุ่นที่รับฟังปัญหา พอรู้ว่าเรามีแฟนก็บอกว่าต้องระวังอะไรบ้าง ข้อจำกัดของร่างกายเราคืออะไร” บัดดี้สะท้อน


บัดดี้ - ปริญาภัทร

มองวัยรุ่นพิการให้เป็นวัยรุ่น

“อยากให้มองวัยรุ่นพิการเหมือนเป็นวัยรุ่นทั่วไป ถามคำถามอย่างปกติ ไม่ต้องหยุดชะงัก ตกตะลึงว่ามีเพศสัมพันธ์ได้ด้วยเหรอ เราเป็นคนคนหนึ่งที่มีขาที่ไม่เหมือนคนอื่น แต่เรามีความรู้สึกไม่ต่างกัน” เพลงกล่าว

ที่ผ่านมาเพลงถูกตัดสินเพราะความพิการในหลายเรื่อง เช่น เธอเหมาะจะเรียนแบบนั้นเพราะไม่ต้องออกไปไหน หรือคิดแทนว่าการเดินทางเป็นเรื่องที่ยากเกินไป ไปจนถึงเรื่องวิถีชีวิตทางเพศ เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ของเธอหลายคนที่โรงเรียน  ที่ถูกบอกให้ไปตัดมดลูกทิ้ง พาไปทำหมันสิ จนครั้งหนึ่งเธอเองก็เคยเชื่อว่าการตัดมดลูกจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

“พอหนูรู้ว่าการตัดมดลูกตั้งแต่ยังวัยรุ่นจะมีผลเสีย หนูก็เอาไปบอกครู แต่เขากลับบอกว่า ทำเป็นรู้ดีอยากจะมีผัว มีลูกล่ะสิ เป็นตรรกะที่แปลกมาก เหมือนเขานึกว่าเราเป็นสัตว์ที่ตัดมดลูกทำหมันแล้วจะไม่มีอารมณ์ทางเพศ ต่อให้วันนี้เราตัดมดลูก หนูก็ยังมีผัว มีเพศสัมพันธ์อยู่ดี ทำให้เห็นว่าบางคนก็เชื่อในสิ่งผิดๆอยู่” เพลงเล่าอย่างมีอารมณ์ร่วม

ขณะที่บัดดี้มองว่า คนทั่วไปไม่คิดว่าคนพิการจะมีความสัมพันธ์ ทั้งที่เขามองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับตัวเอง พอคนพิการมีแฟน ก็ไปหาว่าแฟนจะไม่จริงใจ มาหลอกคนพิการ ทำให้คนพิการรู้สึกด้อยค่า หลายครั้งหากคนพิการคบกับคนไม่พิการ คนไม่พิการก็จะถูกมองว่าจิตใจดีที่มาคบกับคนพิการ

“คนบอกว่า พิการแล้วก็ทำอะไรที่มันง่ายๆสิ แต่ชีวิตเราไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เราเป็นคนเหมือนกัน อยากไปไหนมาไหนได้ เหนื่อยได้ ไม่ต้องการการป้อนอะไรที่ถูกมองว่าง่ายตลอดเวลา เวลาไปไหนมาไหนกับแม่ ยิ่งถูกมองว่าเป็นเด็ก คงไม่มีแฟน ไม่มีเพศสัมพันธ์ และไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

“หากมีการบริการสำหรับวัยรุ่นด้านอนามัยเจริญพันธุ์ หรือมีบริการให้คำปรึกษาเฉพาะสำหรับคนพิการโดยไม่ต้องผ่านผู้ปกครองก็คงเป็นเรื่องที่ดีมาก” บัดดี้ย้ำ

 

ข้อมูลจาก

https://www.thaihealth.or.th/Content/45620