Skip to main content

5 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมมาธิการกิจการคนพิการจัดประชุมโดยเชิญ 18 องค์กรร่วมปรึกษาหารือกรณีข้อเรียกร้องการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนพิการ โดยมีผู้ร่วมประชุมได้แก่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), สมาคมธนาคารไทย, ตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตร ธนาคารออมสิน, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ฯลฯ

โดยพีรพงศ์ จารุสาร จากสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ผมและกลุ่มนักกฎหมายคนตาบอดต้องการนำเสนอปัญหาเรื่องการใช้เอทีเอ็ม เนื่องด้วยในปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาทั้งโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ คนตาบอด สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้วยโปรแกรมอ่านเสียง รวมถึงมีการเปลี่ยนเอทีเอ็มเป็นระบบทัชสกรีน แต่กลับน่าเสียดายที่ไม่มีระบบเสียงเหมือนในโทรศัพท์ จึงทำให้คนตาบอดไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 

ด้านมณเทียร บุญตัน ประธานในที่ประชุมระบุว่า รัฐไทยนอกจากเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแล้วยังลงนามในพิธีสารเลือกรับซึ่งเปิดให้คนพิการยื่นร้องทุกข์ โดยประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการใช้กลไกนี้คือฮังการี โดยกรณีดังกล่าวสอดคล้องกับไทย

เจ้าหน้าที่จาก สวทช.นำเสนอการใช้งานเอทีเอ็มของต่างประเทศที่สามารถเข้าถึงได้โดยคนพิการ ในญี่ปุ่นตู้เอทีเอ็มมีเสียงนำทาง มีปุ่มสัมผัส ปุ่มนูน อักษรเบรลล์ และหูฟังเฮดเซทวางอยุ่ข้างตู้ ต่างจากในยุโรปที่มีช่องเสียบหูฟัง ฟังก์ชันทอล์กกิ้ง-ฟิงเกอร์อ่านในจอ เบรลล์ข้างจอสัมผัส มีปุ่มที่ชัดเจน การกดแบบหลายจุด และการเคลื่อนไหวท่าทาง หรือในอิสราเอลซึ่งใช้ฟังก์ชันเสียง เช่น เบิกเงินกด 1 ฝากเงินกด 2 

ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า ได้รับการร้องเรียนในกรณีดังกล่าวตั้งแต่ปี 2561 เรื่องการไม่ได้รับความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมการเงินและโดนปฏิเสธในการซื้อขายหลักทรัพย์การเงิน ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งที่ในประกาศธนาคารมีเพียงข้อแนะนำเรื่องการระมัดระวังในการให้ข้อมูล จึงมีข้อเสนอให้กำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์คือ ต้องจัดให้มีพนักงานประจำสาขาดูและคนพิการ  ยกเลิกการนำพยานหรือผู้ดูแลและเปลี่ยนให้พนักงานของสาขาเป็นพยานแทน และจัดให้มีเอทีเอ็มที่คนพิการเข้าถึงได้

ด้านกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระบุว่า ตนเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ตาม พ.ร.บ.คนพิการ มาตรา 20 ที่กำหนดว่าคนพิการจะต้องเข้าถึงบริการสาธารณะ จึงต้องการที่จะสนับสนุนการกำหนดนโยบายให้คนพิการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และช่วยแก้ไขกฎหมาย ผลักให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางธนาคาร

นอกจากนี้สำนักงานดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่า เอทีเอ็มเป็นหนึ่งของเครื่องมือดิจิตอล ตามมาตรา 20(6) โดยตั้งข้อสังเกตว่า ฮาร์ทแวร์ปัจจุบันมีลักษณะรองรับบ้างไม่รองรับบ้าง , ซอฟเเวร์และการจัดการแต่ละค่ายเป็นอย่างไร และการเข้าถึง การเอื้ออำนวยความสะดวกที่จะเข้าถึงตู้

เอกภาพ ลำดวน ตัวแทนกลุ่มนักกฎหมายคนพิการร่วมแลกเปลี่ยนว่า อยากให้ธนาคารแก้ไขประกาศข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมของคนพิการ เช่นเดียวกับสุนทร สุขชา ฝ่ายกฎหมายของสภาคนพิการฯ ระบุว่า ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนเอทีเอ็มแบบใหม่ แต่ไม่มีเสียง กดไม่ได้เพราะปกติคนตาบอดใช้การจำปุ่ม ถ้ามีอะไรผิดพลาด เช่น กระดาษสลิปหมด ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย คนตาบอดบางคนไม่รู้ว่าเป็นตู้สัมผัส จนโดนหน้าจอ และโดนดูดบัตรเข้าไป เหมือนกับที่มนเทียรเองได้เล่าว่า ตนเองใช้การจดจำและสังเกตปุ่มในแต่ละธนาคาร เขาอดทนมาตลอดกับปุ่มในเอทีเอ็มรุ่นเก่า แต่พอเปลี่ยนเป็นจอสัมผัส ไม่มีทั้งปุ่มไม่มีทั้งโลเคชั่น ถึงจะพยายามแถยังไงก็แถไม่ได้ แม้แต่โมบายแบ้งกิ้งก็ยังใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถอนเงินไม่ใช้บัตรก็ต้องแตะบนหน้าจอสัมผัส

ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ข้อจำกัดเมื่อไปใช้บริการที่สาขาเกิดขึ้นจากการต้องนำพยานไปด้วย เพราะกลัวว่าจะเกิดความทุจริต หลังจากนี้จะประสานให้เกิดการบริการเหมือนกันทุกที่ ส่วนเรื่องเอทีเอ็มต้องแก้ไขให้เหมาะสม สมเหตุสมผล ศึกษาว่าซอฟเเวร์ที่เหมาะสมเป็นอย่างงไร ต้องตกลงร่วมกันว่าผู้ใช้ต้องการแบบไหน และปรับแก้

ด้านสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า สมาคมรับทราบดี มีแผนในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2550 มีธนาคารเข้ามาปรึกษาเยอะ แต่ขาดมาตรฐาน เพราะแต่ละธนาคารคิดกันเองว่ามาตรฐานควรเป็นอย่างไร สิ่งที่อยากจะปรับคือกำหนดกรอบมาตรฐานขั้นต่ำ สโคปในการให้บริการ เพราะปัจจุบันเอทีเอ็มมีหลายหมื่นเครื่องตั้งแต่เก่าถึงใหม่ จึงอาจไม่สามารถทำได้ทันที

ด้านตัวแทนจากธนาคารกรุงไทยระบุว่า ปัจจุบันเอทีเอ็มที่คนตาบอดใช้ได้มี 5,000 กว่าตู้ และเปลี่ยนเป็นระบบสัมผัส 2,000 กว่าตู้ และไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังหารือกับบริษัทที่ซื้อเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป ส่วนธนาคารกสิกรไทยระบุว่า เครื่องรุ่นใหม่เป็นรุ่นทดลอง อาจจะมีแนวโน้มไม่ขยายต่อ หากมีการนำเครื่องรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาจะนำคำแนะนำมาใช้