Skip to main content

แม้เราเห็นพลังการแสดงออกของนักศึกษาในตลอดหลายการแฟลชม็อบเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล แต่ก็ยังมีคนพูดว่า นักเรียน นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรืออีกนัยหนึ่งคือการผลักนักศึกษาออกไปจากปัญหาบ้านเมือง ภาพของนักศึกษาพิการหลายคนแทรกตัวอยู่กับนักศึกษาคนอื่นๆ ในการชุมนุม ทำให้เราสงสัยว่า แล้วนักศึกษาพิการที่แม้ในสถานการณ์ปกติก็อยู่ในชายขอบของสังคม พวกเขาถูกผลักออกหรือมีส่วนร่วมในส่วนไหนของการเมืองไทย

Thisable.me ชวนนักศึกษาตาบอดคุยกันเรื่องความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองไทย  เขาคนนี้เคยเข้าร่วมการชุมนุมหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงแฟลชม็อบครั้งที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่คิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ชังชาติหรือไม่  ไปจนถึงความฝันที่พวกเขาอยากเห็นต่อไปในฐานะประชาชน

ภาพกลุ่มทหารกำลังถูกเชิดโดยมือปริศนาจากด้านบน

ชุมนุมครั้งแรก

ตอนปี 53 ทางบ้านสนใจการเมืองมาก (ลากเสียงยาว) เราก็ไปแบบไม่รู้อะไร เห็นที่บ้านดูก็ดูตาม ตอนหลังเริ่มหาข้อมูลเองไปเรื่อยๆ  ตอนช่วงสถานการณ์ที่มีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุม ช่วงนั้นเราไม่ได้ไปร่วม แต่สนใจและติดตามมาโดยตลอด

แล้วทำไมไม่ไป

ตอนนั้นผมรู้สึกว่า การชุมนุมยังไม่สามารถดึงคนกลุ่มใหญ่ออกมาได้ กลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจการเมืองก็มักพูดว่า ช่างมัน จะเลือกก็ได้ไม่เลือกก็ได้ ผมยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้การชุมนุมดึงคนพวกนี้ให้ออกมา ทำใหคนเห็นว่า ตอนนี้เดือดร้อนจริงๆ ถึงเวลาที่ต้องออกมา ในระหว่างที่ คสช.ยึดอำนาจก็มีการเดินขบวน การชุมนุมอยู่เรื่อยๆเป็นกลุ่มเล็กๆ คิดว่าสำหรับตอนนั้นถ้าไปก็เสี่ยง มีโอกาสแพ้มากกว่า แต่ว่าสำหรับตอนนี้มีหลายประเด็นที่ควรจัดชุมนุม เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถควบคุมเศรษฐกิจภายในประเทศได้ องค์กรอิสระถูกแทรกแทรงมากเกิน และไม่มีความชอบธรรม

ไปชุมนุมคนเดียวครอบครัวเป็นห่วงบ้างไหม

ก็มีบ้างแต่ว่าใช้ยุทธศาสตร์หลบพ่อแม่มาชุมนุม

ก็คือไม่ได้บอก

ไม่ได้บอกตรงๆ แต่ก็โพสต์ขึ้นสื่อโซเชียล เขาก็รู้อยู่ดี เราใช้ไปก่อนแล้วค่อยบอกทีหลัง เรานึกจะไปก็ไป

ถ้าบอกเขาจะห้ามรึเปล่า

เขาคงห้าม หรือไม่ก็มีวิธีทำให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องไปเพราะห่วงเรื่องอันตราย มีหลายครอบครัวนะแม้กระทั่งเพื่อนผมที่ทางบ้านบอกว่า เรียนกฏหมายได้ แต่สั่งห้ามไม่ให้ยุ่งการเมือง เราก็รู้สึกว่า เฮ้ยมันจะเป็นไปได้เหรอวะ มันเลี่ยงไม่ได้

แล้วคิดยังไงกับการชุมนุม แฟลชม็อบในปัจจุบัน

ผมว่าอาจจะเวิร์คในช่วงหนึ่ง แล้วก็อาจจะไม่เวิร์คในระยะยาว แม้มองว่าที่หลายมหาวิทยาลัยจัดการชุมนุมเป็นเรื่องปกติ แต่พอมีเด็กมัธยมออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น ก็รู้สึกแปลกใจที่เด็กตื่นตัวทางการเมืองทั้งๆ ที่พวกเขายังไม่เคยเลือกตั้งด้วยซ้ำไป จึงคิดว่าถ้าจะเกิดการชุมนุมใหญ่จริงๆ ก็ต้องชุมนุมแบบมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ไม่ใช่ชุมนุมแบบเลื่อนลอย

แฟลชม็อบตอนนี้ถือว่าเลื่อนลอยไหม

ตอนนี้เหมือนเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ไม่มีหัวข้อใหญ่ร่วมกัน เหมือนแสดงออกว่า เฮ้ยกูไม่พอใจศาลรัฐธรรมนูนที่ตัดสินแบบทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน ประชาชนเริ่มไม่ไหวแล้วนะ ทั้งที่ผ่านมาพวกเขาก็ทำแบบนี้กันเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นถ้าจะให้เกิดชุมนุมใหญ่ ก็ต้องมีเงื่อนไขมาต่อรองกับรัฐบาล เรียกร้องให้นายกลาออก เรียกร้องให้มีการยุบสภา เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายบางฉบับ ต้องมีการปฏิรูปกองทัพหรือองค์กรอิสระที่พยายามแทรกแซงอยู่ในทุกวันนี้

แล้วคิดว่าแฟลชม็อบช่วงนี้จะนำไปสู่ชุมนุมใหญ่ไหม

อาจจะเกิดขึ้นได้แต่ไม่ใช่เวลานี้ สถานการณ์ในปัจจุบันยังเป็นไปได้ยาก ถ้ามีชุมนุมใหญ่จริงๆ ก็คงต้องรอให้กระแสหมดก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาทำให้เกิดการตื่นตัวต่อ ตอนนี้พลังที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นพลังของนักเรียน นักศึกษา แต่อย่าลืมว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางที่เรายังไม่สามารถดึงเขาออกมาชุมนุมได้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้คนชั้นกลางกับชั้นล่างออกมาชุมนุมได้ยาก แค่เลี้ยงปากท้องก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ออกมาจะเอาเวลาไหนไปทำมาหากิน ส่วนคนชนชั้นนำในสังคมไม่ออกมาอยู่แล้ว เขาลอยตัวเหนือปัญหา จะเห็นได้จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ที่มีการต่อสู้มา ไม่มีชนชั้นนายทุนออกหน้ามาร่วมชุมนุม เขาอยู่เฉยๆ ก็ได้ผลประโยชน์

หากถามว่ารัฐบาลชุดนี้บริหารเป็นอย่างไร ให้วิจารณ์ตรงๆ ก็คือแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ คุณเล่นแจกเงิน ละลายงบเล่น แก้ปัญหาไม่ถูกจุด แก้ปัญหาความจนโดยการไปแจกเงินเขา ให้เอาไปซื้อของนายทุนกลุ่มเครือที่ใหญ่โตมากในประเทศ สรุปว่าเงินที่แจกมา ถึงชนชั้นล่างไหม คุณเอาบัตรพลังประชารัฐ ชิม ช๊อป ใช้ มาซื้อส้มตำก็ซื้อไม่ได้นะเพราะไม่ได้เข้าร่วมรายการ แล้วฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ออกมาพูดซะดีเลยว่าเศรษฐกิจบ้านเราไม่ถึงกับย่ำแย่หรอก ค่า GDP ยังดีอยู่ แต่คุณมองแค่ค่า GDP ไม่ได้มองสภาพความเป็นจริง ต่อให้พรรคการเมืองที่อ้างตัวว่าเป็นกลุ่มทุนเสรีก็ยังมีบางส่วนแบบประชานิยม ถ้าคุณบอกว่า อดีตนายกทักษิณเป็นประชานิยม ธนาธรเป็นประชานิยม หรือกรณีนโยบายรถยนต์คันแรก ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยเท่าไหร่หากแทนที่นโยบายประชานิยมเหล่านี้ ด้วยการปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้นก็คงดี ทำแกร็บให้ถูกกฎหมาย เพื่อขจัดปัญหาหลายอย่าง เช่น ช้าก็ช้า จอดไม่ตรงป้าย เห็นคนพิการก็ไม่รับ แม้ว่าตอนนี้แกร็บจะผิดกฎหมายแต่ผมกลับผมเห็นด้วยที่จะทำให้ถูกกฎหมาย อย่างแรกเพราะมันสะดวก ใช้ได้ ต่างจากแท็กซี่ที่โบก 7 คันไม่รับสักคัน ยิ่งถ้าคุณนั่งวีลแชร์ยิ่งตัวเลือกน้อย รถเมล์ก็ขึ้นยาก รถแท็กซี่ก็ขึ้นยาก

เจอปัญหาอะไรไหม เวลาไปชุมนุม

ไม่เจอ ปัญหาอย่างเดียวคือกลัวเจอทหารดัก

ถ้าทหารเข้าดักจะรู้ไหมเขาเป็นทหาร

อาจจะไม่รู้ก็ได้ บางทีผมก็อยากจะแหย่เขาสักหน่อยเหมือนกัน ให้เหมือนกับที่เขาทำทีเข้ามาตรวจสอบในที่ชุมนุม ทั้งที่การชุมนุมเป็นเรื่องของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คุณกลัวอะไรจนต้องให้คนไปขออนุญาต หากผู้ชุมนุมชุมนุมเพื่อเรียกร้องเงื่อนไขบางอย่างจากรัฐบาล แต่ดันต้องอนุญาตก่อน ฟังดูย้อนแย้งไหม  บางครั้งมันก็ขัดกับความรู้สึกเหมือนกัน

ไม่เห็นข้อเสนอร่วมของแฟลชม็อบ  แต่ทำไมยังไปร่วม

เพราะอารมณ์ร่วม เราไม่พอใจองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจเกินกว่าที่มีอยู่ รู้สึกว่าระบบยุติธรรมตอนนี้มีการคุมเกม แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะได้ผลขนาดนั้นเพราะ บางครั้งฝั่งประชาธิปไตยเองก็ไม่มีการสรุปบทเรียน ทำอะไรซ้ำๆ ชุมนุมได้ไม่นานเดี๋ยวทหารก็ออกมายึดอำนาจอีก แล้วก็เลือกตั้งใหม่ บางทีการล้มรัฐบาลก็อาจไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เราต้องดูด้วยว่าทุกวันนี้เราสู้อยู่กับระบอบเก่าแก่อะไร

เวลาไปชุมนุมมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ไหม

ผมไม่มีปัญหา ชิลมาก แต่เพื่อนผมนั่งวีลแชร์เข้าไปข้างในไม่ได้ แม้จะอยากไปอยู่หน้าเวทีแต่ก็เข้าไม่ได้เพราะพื้นเป็นสนามหญ้าทำให้วีลแชร์เลื่อนไปไม่ได้ เขาจึงให้ผมไปอยู่ข้างหน้าแทน การมาก็ดีเพราะทำให้ได้แสดงสัญลักษณ์ว่าเรามาอยู่ตรงนี้ด้วย

นักศึกษาสมัยนี้ชังชาติหรือเปล่า

ก็เป็นวาทะกรรมเดิมๆ วาทะกรรมชังชาติเป็นวาทะกรรมที่แยกคนไทยออกเป็นสองฝ่าย ผมว่ามันเป็นการปลูกฝังความเกลียดชังเสียมากกว่า ใครจะมาแบ่งแยกชาติได้ คุณเอาอะไรมาวัดว่าคนคนนั้นชังชาติ แบบไหนถึงเรียกว่าชังชาติ ในยุคนี้ยังมีการปลูกฝังเรื่องอย่างนี้อีกเหรอ

ฝากอะไรไปถึงรัฐบาล

ที่นายกบอกว่า นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมระวังอนาคตจะดับ ผมบอกเลยว่า ดับตั้งแต่ตอนที่พวกคุณเข้ามาแล้ว คนทนกันไม่ไหวจริงๆ ก็เลยออกมา อยากฝากถึงกลุ่มนักศึกษาที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยว่าเราต้องสรุปบทเรียน ต้องประเมินว่าสิ่งที่กำลังทำเราสู้กับอะไร ถ้าเราจะสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมันไม่คุ้มหรอก แต่เราต้องรู้ว่า เราสู้อยู่กับระบอบที่ฝังรากลึกกว่า 100 ปีแล้วแม้จะยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้